“…ดังนั้นการที่ ส.ส. ผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีในขณะเดียวกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 184 (1) อันเป็นผลให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง ตามมาตรา 101 (7) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งนี้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 123/2551…”
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการแต่งตั้งข้าราชการทางการเมือง ทั้งที่ปรึกษา เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี หลายตำแหน่ง หลายกระทรวง โดยส่วนใหญ่เป็นบรรดาอดีต ส.ส. สอบตก และคนใกล้ชิด-เครือญาติ เข้ามานั่งเก้าอี้
อย่างไรก็ดีก่อนหน้านี้ฝ่ายรัฐบาลเตรียมการให้ ส.ส. ‘สอบได้’ ที่ไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี จะแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการการเมืองนัยว่า ‘ปลอบใจ’ ทว่ามีการทักท้วงขึ้นว่าการกระทำดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่งผลให้สำนักงาน
เลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือด่วนหารือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าสามารถกระทำได้หรือไม่ ?
คณะกรรมการกฤษฎีกา ‘คอนเฟิร์ม’ ชัดเจนว่า ส.ส. ที่สอบได้ ไม่สามารถนั่งเก้าอี้ข้าราชการทางการเมืองได้ สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ 'ซือแป๋กฎหมาย' นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
ทำให้ฝ่ายรัฐบาลแก้เกมด้วยการนำ ‘ส.ส.สอบตก-คนใกล้ชิด-เครือญาติ’ มาเป็นข้าราชการทางการเมืองแทนนั่นเอง
เหตุผลคืออะไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกาที่วินิจฉัยเรื่องดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ทราบ ดังนี้
เรื่องเสร็จที่ 882/2562 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0508/23609 ลงวันที่ 12 ก.ค. 2562 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ความว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ส.ส. จะเป็นข้าราชการการเมืองในตำแหน่งต่าง ๆ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 ได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (12) บัญญัติให้บุคคลที่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และมาตรา 101 (6) บัญญัติให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง เมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ประกอบกับมาตรา 184 (1) บัญญัติให้ ส.ส. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจึงขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นกฎหมายข้างต้น เพื่อประกอบการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการการเมืองของคณะรัฐมนตรีต่อไป
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี โดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว
ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีว่า ประสงค์จะหารือเฉพาะการแต่งตั้ง ส.ส. ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองซึ่งมิใช่ตำแหน่งรัฐมนตรีในขณะเดียวกันเท่านั้น จากคำชี้แจงของผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) จึงเห็นสมควรกำหนดประเด็นการพิจารณาเสียใหม่ให้ชัดเจนว่า การแต่งตั้ง ส.ส. ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองซึ่งมิใช่รัฐมนตรีในขณะเดียวกันจะมีผลให้ความเป็น ส.ส. สิ้นสุดลงหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) เห็นว่า มาตรา 101 (6) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (12) ได้กำหนดลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ว่า “เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง”
บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทั้ง 2 มาตราดังกล่าว จึงเป็นการกำหนดข้อห้ามของการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และเหตุแห่งการพ้นจากสมาชิกสภาพของ ส.ส. ไว้เป็นการเฉพาะการเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำโดยไม่รวมข้าราชการการเมือง และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมืองฯ ก็ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้ ส.ส. ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่น
แต่โดยที่มาตรา 98 ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติที่มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เป็นหลัก โดยให้ผู้ที่ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมืองสามารถใช้สิทธิสมัครเป็น ส.ส. ในขณะเดียวกันได้ แต่การจะแต่งตั้งผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส. แล้วให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในขณะเดียวกันนั้น ย่อมต้องพิจารณาบทบัญญัติอื่นที่กำหนดลักษณะหรือการกระทำต้องห้ามของ ส.ส. ประกอบด้วย
เมื่อมาตรา 101 (7) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงเมื่อกระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 184 ซึ่งมาตรา 184 (1) บัญญัติว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น โดยมิได้บัญญัติยกเว้นให้ ส.ส. สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นนอกจากรัฐมนตรีได้ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับมาตรา 265 (1) ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่มิได้บัญญัติให้มีข้อยกเว้นในลักษณะเดียวกันกับมาตรา 103 (1) ของรัฐธรรมนูญปี 2517 มาตรา 108 (1) ของรัฐธรรมนูญปี 2534 มาตรา 110 (1) ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า “ส.ส. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้นอกจากข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรี”
จึงเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญปี 2550 และปี 2560 มีเจตนารมณ์แตกต่างกันอกไป ประกอบกับข้าราชการการเมืองอื่นนอกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ข้าราชการการเมืองฯ ต่างเป็นตำแหน่งหรือการปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานราชการทั้งสิ้น เช่น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เป็นตำแหน่งที่สังกัดอยู่ในกระทรวง
ดังนั้นการที่ ส.ส. ผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งมิใช่รัฐมนตรีในขณะเดียวกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำอันต้องห้ามตามมาตรา 184 (1) อันเป็นผลให้สมาชิกสภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง ตามมาตรา 101 (7) ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งนี้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เคยให้ความเห็นไว้ในเรื่องเสร็จที่ 123/2551
----
สำหรับรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 (1) บัญญัติว่า ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/