“…โปรไฟล์นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ เป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ทั้งสมัยนายสมชาย นายสมัคร สุนทรเวช หรือย้อนไปไกลถึงสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ประสบการณ์การเมืองสั่งสมเข็มไมล์มายาวนานกว่า 30 ปี ที่สำคัญนายสมพงษ์ คือหนึ่งใน ‘สายตรง’ กลุ่มวังบัวบานของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร…”
ควันหลงหลังการโหวต ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 สมัยที่ 2 ยังไม่จบ เพราะ 13 ชั่วโมงแห่งการอภิปรายคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ระหว่าง ส.ส. ฝ่ายต้าน ‘บิ๊กตู่’ กับฝ่ายหนุน ‘บิ๊กตู่’ รวมถึง ส.ว. ถูกสื่อหลายสำนักนำมาเสนออย่างต่อเนื่อง
ท่ามกลางกระแสข่าวว่าดีลจัดตั้งรัฐบาลซีกพรรคพลังประชารัฐ + พรรคร่วมรวม 19 พรรค ‘ล่ม’ เนื่องจากดีลแรกระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทยกับ ‘ผู้มีบารมีนอกพรรค’ ไม่ถูกใจกับกลุ่มการเมือง ‘ตัวจริง’ ภายในพรรคพลังประชารัฐ ทำให้เกิดการ ‘เกลี่ยเก้าอี้’ กันใหม่ ว่ากันว่า คราวนี้อาจให้ ‘บิ๊กตู่’ เป็นคนดูโผคณะรัฐมนตรีด้วยตัวเอง ขณะที่ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ไม่ยินยอม ขอให้เป็นไปตามดีลแรก
เหลือเพียงเก้าอี้กระทรวงเกรด A แค่ 3 กระทรวงเท่านั้นที่ยังไม่ลงตัวคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ ที่ประชาธิปัตย์ต้องการ แต่แกนนำพรรคพลังประชารัฐไม่อยากคาย รวมถึงกระทรวงคมนาคม ที่ตอนแรกเป็นโควตาภูมิใจไทย แต่พรรคพลังประชารัฐต้องการเรียกคืน เพื่อป้องกันข้อครหา ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ ท้ายที่สุด 3 กระทรวงเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพรรคใดต้องรอดูกันต่อไป ตามที่พรรคพลังประชารัฐขีดเส้นจัดตั้งรัฐบาลให้เสร็จภายใน 13 มิ.ย. 2562
ข้ามมาซีกของพลพรรคฝ่ายต้าน ‘บิ๊กตู่’ 7 พรรคปัจจุบันเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ อย่างเป็นทางการนั้น มีปัญหาไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ 2 พรรคแกนนำอย่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ที่ยังหา ‘เฮด’ เข้าไปในสภาไม่ได้ ?
พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายภูมิธรรม เวชชยชัย และแกนนำฝ่ายเพื่อไทยที่เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ไม่สามารถเข้าสภาได้แม้แต่คนเดียว เนื่องจากได้สัดส่วน ส.ส.พึงมี เกินกว่าการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตามสูตรของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ส่วนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถูกคดีความรุมเร้า โดยเฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ปมถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ธุรกิจสื่อ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว ขณะที่ขั้นตอนในชั้นศาล นายธนาธรได้ขอยื่นคำร้องขอขยายเวลาเข้าชี้แจงอีก 30 วัน จากเดิม 15 วัน รวมเป็น 45 วัน (อ่านประกอบ : จับตา 2 คดีใหญ่ศาลรธน.! กรณี 4 รมต.รอหลักฐานเพิ่ม- ธนาธร ปม บ. วี-ลัค ขอขยายเวลา 30 วัน)
ขณะที่ฝ่าย 19 พรรคกำลังง่วนเจรจาต่อรองดีลเก้าอี้จัดตั้งรัฐบาลนั้น 7 พรรคฝ่ายค้านจำเป็นต้องเฟ้นหาบุคคลมานั่งเก้าอี้ผู้นำฝ่ายค้านในสภา หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘ผู้นำฝ่ายค้าน’ เช่นกัน
รัฐธรรมนูญ มาตรา 106 บัญญัติว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในกรณีที่พรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง มีสมาชิกเท่ากัน ให้ใช้วิธีจับสลาก
ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรย่อมพ้นจากตำแหน่งเมื่อขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่ง หรือเมื่อมีเหตุตามมาตรา 118 (1) ขาดสมาชิกภาพแห่งสภา (2) ลาออกจากตำแหน่ง (3) ดำรงตำแหน่งนายกฯ รัฐมนตรี หรือข้าราชการการเมืองอื่น หรือ (4) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่สิ้นสุด เว้นความผิดลหุโทษ หรือผิดฐานหมิ่นประมาท ในกรณีเช่นนี้ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่าง
หากพิจารณาจากมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญ จะเห็นได้ว่า พรรคฝ่ายค้านในสภา 7 พรรคที่เหลือ คือ พรรคเพื่อไทย 136 ที่นั่ง รองลงมาคือพรรคอนาคตใหม่ 81 ที่นั่ง พรรคเสรีรวมไทย 10 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 7 ที่นั่ง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 ที่นั่ง พรรคเพื่อชาติ 5 ที่นั่ง พรรคพลังปวงชนไทย 1 ที่นั่ง
หัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่สมาชิกเยอะสุดอย่างพรรคเพื่อไทย ได้แก่ พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 1 ไม่ได้เข้าสภา ดังนั้นพรรคลำดับถัดมาอย่างพรรคอนาคตใหม่ คือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 1 อาจได้เป็น ‘ผู้นำวิปฝ่ายค้าน’ ?
อย่างไรก็ดีกรณีของนายธนาธรนั้น ยังถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว จึงไม่อาจเสนอชื่อเพื่อให้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาได้ในขณะนี้ ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ไม้จะถูกส่งต่อมายังพรรคเสรีรวมไทย อย่างไรก็ดีตามธรรมเนียมปฏิบัติแล้ว โอกาสที่ผู้นำฝ่ายค้านจะมาจากสมาชิกพรรคฝ่ายค้านที่เสียงน้อยมากในสภา เป็นไปได้ยาก
จึงเหลือแค่ 2 ตัวเลือกคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคอนาคตใหม่ ใครจะมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา หากพิจารณาจากปัจจัยขณะนี้ เป็นไปได้ 2 ทาง
หนึ่ง พรรคเพื่อไทย ประชุมเลือกหัวหน้าพรรคใหม่แทน พล.ต.อ.วิโรจน์ เปาอินทร์ วิธีนี้อาจเป็นไปได้มากที่สุด เพราะพรรคเพื่อไทย แม้จะไร้ ‘ตัวเก๋า’ เข้าสภา แต่ยังมี ส.ส. ‘ชั่วโมงบินสูง’ บางส่วนเหลืออยู่ เช่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงดำประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่แพ้ให้กับนายชวน หลีกภัย เป็นต้น
สอง พรรคอนาคตใหม่ เลือกกรรมการบริหารพรรคใหม่ โดยให้บุคคลอื่นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนนายธนาธร รอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เพื่อทำหน้าที่ในสภา แต่กรณีนี้ค่อนข้างเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสมาชิกพรรคอนาคตใหม่หลายคน รวมถึงประชาชนจำนวนไม่น้อย มีความเชื่อมั่นในตัวนายธนาธรเป็นอย่างสูง แถมนายธนาธรยังยืนยันจะสู้ต่อแม้ว่าจะเป็นนอกสภาก็ตาม ดังนั้นโอกาสให้คนอื่นมานำพรรคแทนคงเกิดขึ้นได้น้อยมาก
เมื่อพิจารณาจาก 2 แนวทางแล้ว แนวทางให้พรรคเพื่อไทย ‘เปลี่ยนหัวใหม่’ เป็นไปได้มากที่สุด โดยเฉพาะนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้หลายหนแล้วว่า อาจมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน เพื่อขับเคลื่อนการเมืองในสภา
โปรไฟล์นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่ เป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ทั้งสมัยนายสมชาย นายสมัคร สุนทรเวช หรือย้อนไปไกลถึงสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ประสบการณ์การเมืองสั่งสมเข็มไมล์มายาวนานกว่า 30 ปี
ที่สำคัญนายสมพงษ์ คือหนึ่งใน ‘สายตรง’ กลุ่มวังบัวบานของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย น้องสาวนายทักษิณ ชินวัตร
ด้วยเหตุผล-สถานการณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง รวมกับโปรไฟล์-ชั่วโมงบินขณะนี้ ทำให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนต่อไปอาจหนีไม่พ้นชื่อของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ มานำทัพนั่งเก้าอี้ ผู้นำฝ่ายค้าน อภิปรายซักฟอกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในสภาต่อไป !
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสมพงษ์ จาก bright TV