"...เมื่อ ‘ค่ายสีแดง’ โดนรุกหนักจาก ‘มือที่มองไม่เห็น’ ในประเด็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฯ ดังกล่าว จึงมีสิทธิเป็นไปได้ว่าจะ ‘ชักกลับ’ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะประชุมร่วมรัฐสภา 14-15 ม.ค.ปีหน้าไว้ก่อน และอาจลงมติไม่หนุน ‘ค่ายสีส้ม’ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ ตัดขาด ‘พันธมิตรนิติบัญญัติ’ เดินหน้าสู่ ‘ศัตรูการเมือง’ หมายเลข 1 อย่างเต็มกำลังแทน..."
เรียกได้ว่า ‘นกกระจอกไม่ทันกินน้ำ’ หลังจาก ‘เพื่อไทย’ หยิบยกบทเรียนประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ที่ประธานาธิบดี ‘ยุน ซ็อก ยอล’ ประกาศกฎอัยการศึก ให้กองทัพเข้ามาแทรกแซงการเมือง แต่กลับถูกฝ่ายค้าน-ประชาชนโต้กลับอย่างหนัก
กระทั่งกลางดึกฝ่ายค้านที่มี สส.ในสภาฯเยอะกว่า ได้โหวตคว่ำประกาศกฎอัยการศึกดังกล่าว นำมาสู่การตั้งข้อหาทางการเมืองกับ ‘ยุน ซ็อก ยอล’ อยู่ ณ เวลานี้
สำหรับ ‘ค่ายสีแดง’ เมื่อเห็นดังนั้น สบช่องเปิดฉากเตรียมแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ เพื่อหวังให้ ‘กองทัพ’ อยู่ภายใต้ ‘รัฐบาลพลเรือน’ โดยเนื้อหาใจความสำคัญคือการแต่งตั้ง ผบ.เหล่าทัพ ต้องผ่านมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เหมือนกับการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระดับสูงอื่น ๆ ทำให้เกิด ‘คลื่นใต้น้ำ’ ภายในกองทัพขึ้นทันที เพราะถูกมองว่า ‘การเมือง’ เข้ามาล้วงลูก ‘โผทหาร’ และอาจนำไปสู่ ‘ความไม่เป็นกลาง-ไม่เป็นเอกภาพ’ ของกองทัพ ซึ่งดำรงอยู่มายาวนานนับศตวรรษได้
เมื่อเกิดแรงต้านอย่างหนัก ทำให้ ‘เพื่อไทย’ ถอยกราวรูดพับแผนดังกล่าวทัน พร้อมกับโยนเผือกร้อนไปที่ ‘ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่เป็นเจ้าของไอเดียดังกล่าว โดยนักการเมืองฉายา ‘หัวเขียง’ รายนี้ ชี้แจงเผือกร้อนเมื่อ 12 ธ.ค.ว่า ได้ยอมถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ออกจากการบรรจุเข้าที่ประชุมสภาฯแล้ว เพื่อแก้ไขข้อบกพร่องรวม 24 ข้อ ยืนยันว่าไม่ได้เป็น ‘คนต้นคิด’ ไอเดียนี้ แต่อ้างว่า เห็นรูปแบบมาจากสมัย ‘สุทิน คลังแสง’ รมว.กลาโหม จากพลเรือนคนแรกของไทย ที่ดำรงตำแหน่งนี้โดยไม่ได้ควบเก้าอี้นายกรัฐมนตรี (ปัจจุบันเขาถูกปรับพ้นตำแหน่ง กลับไปเป็น สส.ในสภาฯเช่นเดิม)
“ผมไม่ได้เขียนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยตัวเอง เพียงแต่เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ควรเสนอได้ จึงมาสอบถามว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ใครเป็นผู้จัดทำขึ้น และได้คำตอบว่ากระทรวงกลาโหมเป็นผู้จัดทำ ในสมัยของนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม และเมื่อพ้นตำแหน่งไปก็ได้ ส่งเรื่องกฎหมายฉบับนี้มายังพรรคเพื่อไทย คณะกรรมการกฎหมายของพรรคจึงได้ดำเนินการต่อมีการเติมพริก เติมเกลือ เติมมะนาวบ้าง เพื่อให้เกิดรสชาติ และอาจจะมีความผิดเพี้ยนจากร่างกระทรวงกลาโหมไปบ้างเล็กน้อย แต่ถามว่าสิ่งที่เพิ่มเติมนั้นผิดวิสัยในการเสนอกฎหมายหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วโลกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ประเทศไทยอาจทำแบบอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ปฏิเสธ” ประยุทธ์ กล่าว
@ ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์
การเสนอร่างแก้ไขกฎหมายกลาโหมฯ ฉบับดังกล่าว สะท้อนถึงนัยทางการเมืองที่น่าสนใจ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเสนอคือ ‘ประยุทธ์ ศิริพาณิชย์’ สส.ระดับ ‘ลายคราม’ เคยขึ้นชั้นเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่สำคัญเป็นหนึ่งในคนที่ ‘จงรักภักดี’ กับค่ายสีแดงมานาน จึงน่าจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจาก ‘นายใหญ่’ ระดับหนึ่ง ดังนั้นอาจเป็นไปได้ว่า คงมีการหารือกับ ‘บิ๊กเนมบางคน’ มาแล้ว จึงเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้
สิ่งที่หลายคนอาจลืมไปแล้วคือ ‘ประยุทธ์’ ผู้นี้ เมื่อครั้งเป็นรองประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ สมัย ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ เป็นนายกฯ ได้เสนอให้ ‘นิรโทษกรรมทุกสีทุกฝ่าย’ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ‘นิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอย’ จนนำไปสู่การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของ ‘วรชัย เหมะ’ สส.เพื่อไทย และเป็นหนึ่งในชนวนเหตุสำคัญ นำไปสู่จุดจบของ ‘รัฐบาลนารีขี่ม้าขาว’ ในที่สุด
ที่สำคัญ ‘ตระกูลชินวัตร’ ที่ขึ้นเป็น ‘นายกฯ’ 2 คนก่อนหน้านี้อย่าง ‘ทักษิณ’ และ ‘ยิ่งลักษณ์’ ต่างมีจุดจบเดียวกันคือถูก ‘รัฐประหาร’ ในปี 2549 และปี 2557 จึงเป็นไปได้ว่าคราวนี้เมื่อ ‘ลูกสาว’ อย่าง ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ได้เป็นนายกฯ จึงไม่อยากเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือน ‘พ่อ-อา’ ก็เป็นไปได้?
แต่ ‘ผู้นำค่ายแดง’ อย่าง ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว เมื่อครั้งลงพื้นที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี ว่า เรื่องนี้เป็นความคิดริเริ่มของบางคน โดยไม่ผ่านการกลั่นกรอง แต่ถ้าผ่านแล้วต้องรู้ว่าอะไรควรไม่ควร แต่การที่มีคนบอกว่านายใหญ่สั่งมา ตนเองไม่รู้เรื่อง ได้ยินยังตกใจจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องแก้กฎหมาย แก้แค่ระเบียบการก็พอจะทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น เรื่องนี้ น.ส.แพทองธาร ก็ตกใจ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการของพรรคเพื่อไทย พร้อมทั้งยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่เกิดรัฐประหารอย่างแน่นอน
@ ‘ทักษิณ ชินวัตร’
ไม่ว่าคนต้นคิดเรื่องนี้จะเป็นใครก็ตาม เป็นอันว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ต้องถูกเก็บเข้าลิ้นชักไว้ตามเดิม แม้ ‘ฝ่ายค้าน’ อย่าง ‘พรรคประชาชน’ (ปชน.) พยายามออกตัวสนับสนุน และผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทยอย่างเต็มที่ เพราะเมื่อครั้งเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ เคยเสนอร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต่อสภาฯมาแล้วในปี 2566 แต่ยังไม่ทันได้หารือกันในสภาฯ ครม.ขณะนั้น (รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน) ได้ขอรับร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไปพิจารณาก่อน
ทว่าร่างแก้ไขกฎหมายของ ‘ค่ายส้ม’ ส่อวี่แวว ‘แท้ง’ เต็มที เพราะเมื่อรับฟังเสียงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ ‘กองทัพ’ และ ‘สภาความมั่นคงแห่งชาติ’ (สมช.) ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ‘ไม่รับหลักการ’ ร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ ก่อนจะส่งกลับคืนสู่สภาฯ เพื่อบรรจุเข้าวาระการพิจารณาต่อไป
ดังนั้นในเมื่อร่างแก้ไขกฎหมายกลาโหมฯ ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น ‘ฉบับเพื่อไทย’ ที่ยอมถอยไปแล้ว ‘ฉบับ ปชน.’ ก็ไม่น่าจะผ่านในสภาฯได้เช่นเดียวกัน
แต่อาจจะไม่ใช่แค่ร่างแก้ไขกฎหมายกลาโหมฯ เพียงฉบับเดียวที่เพื่อไทยยอมถอย เป็นไปได้ว่า ‘ค่ายสีแดง’ อาจถอยร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ‘ค่ายสีส้ม’ ซึ่งบางฉบับเสนอประกบคู่กัน หรือบางฉบับสนับสนุนซึ่งกันและกันทั้งหมดด้วย เพราะการเสนอไอเดียแก้ไขกฎหมายกลาโหม หวังล้วงลูกกองทัพ อ้างว่าสกัดรัฐประหารได้ อาจเป็นการ ‘ล้ำเส้น’ กับ ‘สิทธิพิเศษ’ บางอย่างที่ ‘ใครบางคน’ เคยดีลเอาไว้
ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือ ในวันนัดประชุมร่วมรัฐสภา (สส. และ สว.) ครั้งที่ 2 ของสมัยประชุม ระหว่างวันที่ 14-15 ม.ค. 2568 เพื่อพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เป็นรายมาตรา ซึ่งได้บรรจุวาระไปแล้วก่อนหน้านั้น 17 ฉบับและมีเพิ่มเติมในส่วนของรัฐบาลและฝ่ายค้าน แล้ว รวม เป็น 20 ฉบับนั้น จะยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของ “เพื่อไทย” อยู่หรือไม่
เพราะก่อนหน้านี้ ‘พันธมิตรชั่วคราว’ อย่าง ‘แดง-ส้ม’ พยายามรื้อรัฐธรรมนูญปี 60 ทั้ง 2 ช่องทางคือ แก้ไขทั้งฉบับ และแก้ไขรายมาตรา โดยเฉพาะร่างของ ปชน.ที่ต้องการแก้ไขหัวใจสำคัญคือ ‘มาตรา 256’ ตัดเงื่อนไขการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องใช้เสียง สว.มาร่วมโหวต เปลี่ยนเป็นใช้มติของ สส.ทั้งหมดแทน
ทว่าเมื่อ ‘ค่ายสีแดง’ โดนรุกหนักจาก ‘มือที่มองไม่เห็น’ ในประเด็นการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กลาโหมฯ ดังกล่าว จึงมีสิทธิเป็นไปได้ว่าจะ ‘ชักกลับ’ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่จะประชุมร่วมรัฐสภา 14-15 ม.ค.ปีหน้าไว้ก่อน และอาจลงมติไม่หนุน ‘ค่ายสีส้ม’ ในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ ตัดขาด ‘พันธมิตรนิติบัญญัติ’ เดินหน้าสู่ ‘ศัตรูการเมือง’ หมายเลข 1 อย่างเต็มกำลังแทน
นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังเผชิญแรงกระเพื่อมเขย่าปรับ ครม.รอบใหม่ จาก ‘พรรคกล้าธรรม’ ที่รับเอากลุ่ม ‘20 สส.ผู้กอง’ ซึ่งถูก พปชร.อัปเปหิออกไป มาเข้าพรรค โดย ‘ตัวจริง’ ต้องการนั่งเก้าอี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยังมีเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังคาราคาซัง หาจุดสิ้นสุดไม่ได้อยู่ รวมไปถึงศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่ สารพัดพรรคการเมือง-บ้านใหญ่ แข่งขันกันดุเดือด ต่อมาเดือน เม.ย. กับกระแสข่าว ‘นายหญิง’ กลับไทยอีก
สถานการณ์การเมืองไทยจึงน่าจะยังระอุร้อนแรงลากยาวไปถึงกลางปีหน้ากันเลยทีเดียว บทสรุปแต่ละเรื่องจะออกมาอย่างไร น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง