"…จำเลยที่ 1 มาขอหมายเลขบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ไปใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 โดยจำเลยที่ 2 มอบเลขบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม พร้อมทั้งได้ไปติดต่อธนาคารเพื่อขอเปิดใช้ระบบโมบายแบงก์กิ้ง โดยให้ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตั้งรหัสการใช้เองด้วย ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 1 มีสถานะเสมือนเป็นเจ้าของบัญชีเอง โดยจำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 จะนำไปใช้เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสามนั้น ก็เป็นการผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบการค้าเช่นจำเลยที่ 2 จะพึงกระทำ…"
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)รายงาน คำพิพากษาน่าสนใจ เกี่ยวกับการกระทำผิดของเจ้าของ 'บัญชีม้า' หรือบัญชีที่ตัวแทนในการใช้ทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอน รับโอน หรือชำระเงิน เป็นต้น ซึ่งการมีบัญชีม้าจะสามารถช่วยปิดบังตัวตนที่แท้จริงของผู้ดำเนินธุรกรรมได้
คดีนี้เป็นคดีการหลอกให้ลงทุนซื้อเครื่องนวดสปา โดยจำเลยที่ 1 (มิจฉาชีพ) และจำเลยที่ 2 (เจ้าของบัญชีม้า) มีความสัมพันธ์เป็นสามีภรรยา ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 20 ปี ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายทั้งสิบสามราย และยกฟ้องจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และอัยการอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการฉ้อโกงประชาชน จำคุก 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา จึงเป็นที่มาของคดีนี้
โดยศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมคืนเงินให้ผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ส่วนโทษจำคุกยืนตามศาลอุทธรณ์
มีรายละเอียด ดังนี้
ฎีกาตัดสินเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1173/2566
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์
นาง ภ. กับพวก จำเลย
การที่จำเลยที่ 2 รู้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนยังยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้รับโอนเงินลงทุนที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสาม ถือว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 การกระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดดังกล่าวตาม ป.อ.มาตรา 86 และต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งกับจำเลยที่ 1 ด้วย
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 341, 343 พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4,5,9,9, 12 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14 และให้จำเลยที่ 2 คืนหรือชดใช้เงินต้นที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 52,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินที่ยังไม่ได้คืน จำนวน 820,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 150,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 180,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 210,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 60,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 1,230,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 90,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 300,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 1,200,000 บาท แก่ผู้เสีย หายที่ 11 จำนวน 1,140,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 240,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 13 พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายของเงินต้นของผู้เสียหายแต่ละรายนับแต่วันที่กู้ยืมไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้แก่ผู้เสียหายแต่ละคนเสร็จ และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
@ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 20 ปี-ยกฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) (ที่ถูก 14 วรรคหนึ่ง (1)) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 13 กระทง ความผิดแต่ละกระทงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 65 ปี แต่ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปีแต่ไม่เกินสิบปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลงโทษได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (2) ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินต้นที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 820,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 450,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 150,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 180,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 210,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 60,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 1,230,000 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 90,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 300,000 บาท ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 1,200,000 บาท ผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 1,140,000 บาท ผู้เสียหายที่ 13 จำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้กู้ยืมเงินไป ข้อหาอื่นและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
@ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการฉ้อโกงประชาชน จำคุก 2 ปี 2 เดือน 20 วัน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคหนึ่ง พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูก การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 3 ปี 4 เดือน ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 39 ปี 52 เดือน แต่ลงโทษจำเลยที่ 1 ได้เพียง 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (2) จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
@ จำเลยที่ 1 ให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีจำเลยที่ 2
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ ภ. ผู้เสียหายทั้งสิบสามเป็นเพื่อนในบัญชีเฟซบุ๊กของจำเลยที่ 1 ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ลงข้อความในบัญชีเฟซบุ๊กเกี่ยวกับผลกำไรที่เกิดจากการลงทุนซื้อเครื่องนวดสปา และแจ้งว่าหากลงทุนเป็นเคส เคสละ 30,000 บาท ภายในกำหนด 7 วัน จะได้รับเงินลงทุนคืนพร้อมผลกำไร 3,500 บาท ถึง 5,000 บาท ซึ่งคิดเป็นอัตราร้อยละ 608.455 ถึง 868.70 ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบียสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยให้กู้ยืมของสถาบันการเงินจะพึงจ่ายได้ คือ อัตราร้อยละ 3.50 ต่อปี
ผู้เสียหายทั้งสิบสามมีความสนใจจึงเข้าร่วมกลุ่มในบัญชีเฟซบุ๊กพึ่งจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นในชื่อ บ้านกำไรงาม เครื่องสปาหน้า สปาตัว ในการดำเนินการจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนจากส่วนต่างของเงินลงทุนที่ผู้เสียหายทั้งสิบสามโอนให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 จะโอนเงินลงทุนต่อไปเพียงเคสละ 27,800 บาท กับผลกำไรส่วนต่างซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับเคสละ 5,000 บาท หลังจากนั้นผู้เสียหายทั้งสิบสามโอนเงินลงทุนให้จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้งโดยผ่านเข้าบัญชีธนาคาร ท. ของจำเลยที่ 2
จากนั้นมีการโอนเงินจากบัญชีของจำเลยที่ 2 เข้าบัญชีของนางชนัญญรัตน์ นางสาวณัฏฐนิช บุตรของ จำเลยที่ 1 และนางชลธิชา เลขานุการของจำเลยที่ 1 จนกระทั่งวันที่ 21 กันยายน 2561 จำเลยที่ 1 ไม่สามารถคืนเงินที่ผู้เสียหายทั้งสิบสามลงทุนเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 พร้อมผลกำไรให้แก่ผู้เสียหายทั้งสิบสามได้ ผู้เสียหายทั้งสิบสามจึงแจ้งเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสอง
หลังจากนั้นเจ้าพนักงานตำรวจได้ขอออกหมายจับจำเลยทั้งสองและจับกุมจำเลยทั้งสองได้ ขั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตรงกันว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยทุจริตหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสามและประชาชนด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น พิพากษาลงโทษจำเลยที 1 ว่ากระทำความผิดตามฟ้อง รวม 13 กระทง โดยศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี และศาลอุทธรณ์เห็นฟ้องในกำหนดโทษดังกล่าว แต่เห็นว่าคำเบิกความของจำเลยที 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษจำคุกแก่จำเลยที่ 1 กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จำเลยที่ 1 จะขอฎีกาว่า มิได้กระทำความผิดตามฟ้อง อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 จึงขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221
แต่ผู้พิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ดังกล่าวพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อความที่ตัดสินในส่วนของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและไม่อนุญาตให้ฎีกา ข้อเท็จจริงในส่วนว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
และปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า ตามพฤติการณ์และพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ แต่การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้บัญชีเงินฝากธนาคาร ท. ของจำเลยที่ 2 รับโอนเงินที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจากผู้เสียหายทั้งสิบสามย่อมเป็นการช่วยเหลือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าวแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้ง ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ของจำเลยที่ 2 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
@ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 สนับสนุนการฉ้อโกงหรือไม่
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่
เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นสามีภริยากันตั้งแต่ปี 2557 และยังคงอยู่กินกันมาโดยตลอด ไม่ปรากฏว่ามีปัญหาครอบครัวแต่อย่างใด และจำเลยที่ 1 ยังได้แสดงภาพและข้อความให้ผู้เสียหายทั้งสิบสามและประชาชนทั่วไปทางเฟซบุ๊กให้ทราบว่าจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นสามีภริยากันและอยู่ร่วมกัน แม้จำเลยทั้งสองจะกล่าวอ้างว่าต่างคนต่างพักอาศัยอยู่คนละจังหวัดไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลาก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็สามารถทำการติดต่อสื่อสารกันได้โดยใช้เครื่องมือสื่อสาร และเชื่อว่าจำเลยทั้งสองต่างก็ติดตามและทราบความเป็นอยู่ของกันและกันว่าดำเนินชีวิตอย่างไร
ทั้งยังได้ความจากจำเลยที่ 2 ที่ยอมรับว่าในช่วงวันที่ 14 ถึง 15 กันยายน 2561 จำเลยที่ 1 ได้บอกจำเลยที่ 2 ถึงเรื่องการจ่ายเงินตอบแทนล่าช้าของบริษัท น. และวันที่ 20 กันยายน 2561 จำเลยที่ 1 ก็อยู่กับจำเลยที่ 2 ที่จังหวัดลพบุรี และขับรถกลับจังหวัดเชียงใหม่
ดังนั้น ที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าพักอยู่คนละจังหวัดกับจำเลยที่ 1 พบกัน 1 ถึง 2 เดือน ต่อครั้ง ต่างไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกันในเรื่องการทำงานของแต่ละคนจึงไม่อาจรับฟังได้ และในการลงทุนซื้อเครื่องนวดสปา จำเลยที่ 2 ก็ยอมรับว่าทราบข้อมูลมาจากจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 แต่ยังไม่เข้าร่วมลงทุนด้วย เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าย่อมต้องรู้ว่าการเข้าร่วมลงทุนดังกล่าวนั้นไม่สามารถที่จะให้ผลตอบแทนจำนวนสูงมากเช่นนี้ได้โดยตลอดเพราะกรณีเป็นเพียงการระดมทุนมาใช้หมุนเวียนตอบแทนแก่ผู้ที่ลงทุนก่อน โดยไม่มีการประกอบการจริงและหากไม่มีผู้เข้าร่วมลงทุนรายใหม่ก็จะทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนเพื่อนำมาจ่ายเป็นค่าตอบแทนได้
แต่ในเดือนสิงหาคม 2561 ที่จำเลยที่ 1 มาขอบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ไปใช้รับโอนเงินลงทุน และจำเลยที่ 2 ได้เข้าร่วมลงทุนด้วย ก็น่าจะเป็นเพราะเห็นว่าตนได้จ่ายค่าลงทุนเพียงเคสละ 27,800 บาทและยังมีจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้รับลงทุนเป็นภริยา ทั้งการเข้าร่วมลงทุนด้วยอาจเป็นการเพิ่มความน่าเชื่อถือแก่ผู้ที่เข้าร่วมลงทุนอื่น
ส่วนการที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนดังกล่าวไปใช้รับโอนเงินลงทุนจากผู้เสียหายทั้งสิบสามและบุคคลอื่นนั้น จำเลยทั้งสองก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยที่ 1 มาขอหมายเลขบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ไปใช้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2561 โดยจำเลยที่ 2 มอบเลขบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม พร้อมทั้งได้ไปติดต่อธนาคารเพื่อขอเปิดใช้ระบบโมบายแบงก์กิ้ง โดยให้ผูกกับหมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ตั้งรหัสการใช้เองด้วย ซึ่งเท่ากับจำเลยที่ 1 มีสถานะเสมือนเป็นเจ้าของบัญชีเอง โดยจำเลยที่ 2 กล่าวอ้างว่าไม่ทราบว่า จำเลยที่ 1 จะนำไปใช้เพื่อหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสิบสามนั้น ก็เป็นการผิดปกติวิสัยของผู้ประกอบการค้าเช่นจำเลยที่ 2 จะพึงกระทำ เพราะการกระทำเช่นนี้หากมีการนำบัญชีเงินฝากไปใช้ในการกระทำความผิด อาจส่งผลให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ต้องทราบว่า จำเลยที่ 1 ได้นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้ใช้ในการหลอกลวงรับโอนเงินลงทุนจากกลุ่มผู้เสียหายอย่างแน่นอน
นอกจากนั้นจากการตรวจดูความเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ก็พบว่า ในแต่ละวันมีการโอนเงินเข้าบัญชีจำนวนมากและหลายรายการ และมีการโอนเงินออกเป็นเงินหลักล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าทางธนาคารต้องส่งข้อความแจ้งการโอนเงินเข้าและออกให้จำเลยที่ 2 ทราบอย่างแน่นอน ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่า ไม่ได้รับแจ้งก็ดี หรือที่อ้างว่าสมุดบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 สูญหายก็ดี จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ดังนั้น จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบความเคลื่อนไหวของบัญชีเงินฝากของตนที่มีการโอนเงินเข้าจำนวนมากและหลายรายการต่อวัน แต่จำเลยที่ 2 กลับนิ่งเฉยจึงเป็นข้อพิรุธที่บ่งชี้ว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้อย่างไร ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถเปิดบัญชีเงินฝากเองได้เพราะติดแบล็กลิสต์ นั้นจำเลยทั้งสองก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้รับฟังได้เช่นนั้น กลับปรากฏข้อเท็จจริงจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่าบัญชีเงินฝากของตนสามารถใช้โอนเงินได้วันละ 50,000 บาท ซึ่งจำนวนเงินลงทุนที่จะต้องโอนมีจำนวนมากกว่า และจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าบัญชีเงินฝากของตนดังกล่าวสามารถใช้หมุนเวียนในการโอนเงินได้จำนวนหลายล้านบาท
@ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ดังนั้น เชื่อว่าสาเหตุที่จำเลยที่ 1 ต้องการใช้บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว เกิดจากความจำเป็นที่ต้องใช้รับโอนเงินจำนวนมากนั่นเอง ซึ่งจำเลยที่ 2 ก็ทราบในเรื่องนี้ การที่จำเลยที่ 2 ยอมให้จำเลยที่ 1 นำบัญชีเงินฝากของตนไปใช้รับโอนเงินลงทุนที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงจากผู้เสียหายทั้งสิบสาม จึงเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดดังกล่าว พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่อาจรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนฯมาตรา 9 บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานอัยการได้ฟ้องคดีอาญาแก่ผู้ใดในความผิดตามมาตรา 4 หรือมาตรา 5 ถ้าผู้ให้กู้ยืมเงินร้องขอให้พนักงานอัยการมีอำนาจเรียกต้นเงินคืนให้แก่ผู้นั้นได้ และจะเรียกผลประโยชน์ตอบแทนที่เป็นสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายให้แก่ผู้นั้นด้วยก็ได้..."
ดังนั้น เมื่อตามฟ้องโจทก์มีคำขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินต้นที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายทั้งสิบสามเนื่องจากต้องสูญเสียไปพร้อมดอกเบี้ย และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามฟ้อง แม้จะเป็นเพียงผู้สนับสนุนก็ถือว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนในการกระทำความผิดด้วยจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งนี้กับจำเลยที่ 1 แต่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ซึ่งวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ยังมิได้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชอบในการคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนให้แก่ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 13 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง กรณีสมควรแก้ไขโดยให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในส่วนแพ่งกับจำเลยที่ 1 อันเป็นการบังคับตามคำฟ้อง
และปรากฏว่าต่อมามีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทนเป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นร้อยละ 5 ต่อปี หรือเป็นอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ กรณีจึงต้องบังคับใช้ตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ ปัญหาทั้งสองดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีมีคู่ความฝ่ายใดหยิบยกขึ้นว่ากล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
@ ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินต้นที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 820,000 บาท ผู้เสียหายที่ 3 จำนวน 450,000 บาท ผู้เสียหายที่ 4 จำนวน 150,000 บาท ผู้เสียหายที่ 5 จำนวน 180,000 บาท ผู้เสียหายที่ 6 จำนวน 210,000 บาท ผู้เสียหายที่ 7 จำนวน 60,000 บาท ผู้เสียหายที่ 8 จำนวน 1,230,000 บาท ผู้เสียหายที่ 9 จำนวน 90,000 บาท ผู้เสียหายที่ 10 จำนวน 300,000 บาท ผู้เสียหายที่ 11 จำนวน 1,200,000 บาท ผู้เสียหายที่ 12 จำนวน 1,140,000 บาท และผู้เสียหายที่ 13 จำนวน 240,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้กู้ยืมเงินเป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนตามพระราชกฤษฎีกานับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหายที่ 2 ถึงที่ 13 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์