อ่านชัดๆทีละประเด็น! คำพิพากษาองค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฉบับเต็ม คดี ‘อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์’ สส.มุกดาหาร เพื่อไทย เรียกเงิน 5 ล. อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แลกผ่านงบประมาณครั้งเป็นกมธ. พยานบุคคลแวดล้อมใกล้ชิดเหตุการณ์เบิกความสนับสนุนมีน้ำหนัก ยืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุก 6 ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 2567 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีอม.อธ.7/2566 ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จำเลย กรณีเรียกรับเงินจำนวน 5 ล้านบาท จากอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แลกกับการผ่านงบประมาณ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำคุก 6 ปี นายอนุรักษ์ และให้พ้นจากตำแหน่งตั้งแต่ 19 เม.ย. 2565 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพิกถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งและเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) สมาชิกวุฒิสภา (สว.) สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ (ข่าวเกี่ยวข้อง: ยืนโทษ! คุก 6 ปี 'อนุรักษ์' อดีตสส.เพื่อไทย คดีเรียกเงิน 5 ล.-เจ้าตัวทำใจได้ เป็นอุทาหรณ์)
ถือว่าปิดฉากเส้นทางทางการเมืองของนายอนุรักษ์อย่างถาวร
ล่าสุด สำนักข่าวอิศราเรียบเรียงคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ฉบับเต็มมารายงานในบรรทัดถัดไป
@ องค์คณะฯรับอุทธรณ์ 24 ม.ค.2567
จำเลย อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงวันที่ 25 เมษายน 2566
จําเลยอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ รับอุทธรณ์วันที่ 24 มกราคม 2567
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ รับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดมุกดาหาร สังกัดพรรคเพื่อไทย ได้รับเลือกตั้งให้ดํารงตําแหน่งตั้งแต่ วันที่ 24 มีนาคม 2562 และพ้นจากตําแหน่งวันที่ 15 ธันวาคม 2564 ตามคําพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ คมจ.1/2566
@ ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯร่างพ.ร.บ.งบปี 2564
ในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 2 ครั้งที่ 9 (สมัยสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 แล้ว ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คณะหนึ่ง จํานวน 72 คน โดยจําเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ในคณะดังกล่าว ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0014/ว185 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 เอกสารหมาย จ.15 การประชุมเกี่ยวกับงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 3 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นตอนการพิจารณาระดับกระทรวง (วันที่ 17 กรกฎาคม 2563) 2. ขั้นตอนการพิจารณา ระดับกลุ่มภารกิจ ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเป็นกลุ่มภารกิจน้ำ (วันที่ 21 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2563) และ 3. ขั้นตอนการพิจารณาระดับกรม โดยอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 (วันที่ 5 สิงหาคม 2563) สําหรับการพิจารณาระดับกระทรวง วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ในการประชุม ครั้งที่ 8/2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาภาพรวมงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนการพิจารณาระดับ กลุ่มภารกิจ วันที่ 21 ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ในการประชุมครั้งที่ 10/2563 และครั้งที่ 11/2563 คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
@ ซักยิบงบโครงการพัฒนาน้ำบาดาล
โดยในการประชุมวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 จําเลยตั้งข้อสังเกตและซักถามเกี่ยวกับโครงการพัฒนาน้ำบาดาล เพื่อการเกษตรสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำว่า เหตุใดมีการตั้งวงเงินงบประมาณราคาต่อพื้นที่ในการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลของแต่ละจังหวัดมีจํานวนเงินเท่ากัน และขอรายละเอียดโครงการกับแบบแปลน และประมาณราคาเพื่อพิจารณาว่ามีราคาแพงหรือไม่
ซึ่งนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากร น้ำบาดาล ชี้แจงตอบข้อซักถามว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลกําหนดอัตราราคาต่อหน่วยงานของการขุด เจาะบ่อน้ำบาดาลตามมาตรฐานของสํานักงบประมาณ และจะจัดส่งแบบแปลนและประมาณราคาให้ในภายหลัง ตามระเบียบวาระการประชุม รายงานการประชุม และสรุปผลการประชุม เอกสารหมาย จ.17 วันที่ 24 กรกฎาคม 2563
@ หมวก รองประธาน คณะอนุ กมธ.คนที่หนึ่ง
คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีมติตั้งคณะอนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯคณะละ 10 คน คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เป็นคณะที่ 8 มีนางสาวแนน บุณย์ธิดา สมชัย เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ จําเลยเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการคนที่หนึ่ง และนางนันทนา สงฆ์ประชา เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมาธิการ มีอํานาจ หน้าที่พิจารณางบประมาณเกี่ยวกับการบูรณาการทรัพยากรน้ำของ 9 กระทรวง 17 หน่วยงาน และ การบูรณาการด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ของ 8 กระทรวง 21 หน่วยงาน และสรุปรายงานผล การพิจารณาเสนอคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0017.13/3891 ลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 เอกสารหมาย จ.18 หนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0017.13/3973 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 และหนังสือด่วนที่สุด ที่ สผ 0017.13/4129 ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2563 เอกสารหมาย จ.19 จําเลยจึงเป็นเจ้าพนักงานและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐตามประมวลกฎหมายอาญา กับเป็นผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
@ โทร.หาอธิบดี 2 ครั้งช่วงค่ำ
วันที่ 31 กรกฎาคม 2563 กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีหนังสือชี้แจงตอบประเด็นคําถามและจัดส่งเอกสารประกอบการชี้แจง (เพิ่มเติม) ให้แก่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และจําเลย ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส 0702/3745 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เอกสารหมาย จ.20
วันที่ 4 สิงหาคม 2563 ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ครั้งที่ 3/2563 ประธานคณะอนุกรรมาธิการแจ้งต่อที่ประชุมว่า การประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 ให้ฝ่ายเลขานุการประสานให้มีการพิจารณา งบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามลําดับ จากนั้นเลิกประชุมเวลา 18.40 นาฬิกา ตามรายงานการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ครั้งที่ 3/2563 เอกสารหมาย จ.21
ภายหลังเลิกประชุม นางสาวแนน นางนันทนา จําเลย และนายจักรัตน์ พั้วช่วย อนุกรรมาธิการแผนงาน บูรณาการ 2 นั่งรับประทานอาหาร กับมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขานุการสรุปการประชุมและจัดเตรียม เอกสารการประชุมในวันถัดไปอยู่ในห้องประชุม
เวลา 19.07 นาฬิกา ขณะที่นายศักดิ์ดารับประทาน อาหารกับพลตํารวจตรีวิวัฒน์ ชัยสังฆะ และนายเต๋อ ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุล ที่ร้านอาหารเบียร์หิมะ มีหมายเลขโทรศัพท์ 06 2394 XXXX ซึ่งจดทะเบียนในนามของนางนันทนาติดต่อนายศักดิ์ดา ที่หมายเลข 06 1417 XXXX ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ประจําตําแหน่ง นายศักดิ์ดาใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 1191 XXXX ซึ่งจดทะเบียนในนามนางอภิรดี วิเชียรศิลป์ ภริยา ติดต่อไปยังโทรศัพท์หมายเลข 08 1872 XXXX แต่ไม่มีผู้รับสาย
ต่อมาจําเลยใช้หมายเลขโทรศัพท์ ดังกล่าวติดต่อกลับหานายศักดิ์ดา 2 ครั้ง เวลา 19.20 นาฬิกา และ 19.34 นาฬิกา เป็นระยะเวลา สนทนา 564 วินาที และ 364 วินาที ตามลําดับ ตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.25 วันที่ 5 สิงหาคม 2563
@ ประชุมช่วงเช้าซักถามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลตั้งงบสูง
ในการประชุมครั้งที่ 4/2563 ช่วงเช้า คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 พิจารณางบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในวาระของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จําเลยเข้าร่วมประชุมโดยมีข้อสังเกตและ ซักถามเกี่ยวกับโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรสูบน้ำด้วยไฟฟ้าแบบจุ่มใต้น้ำที่หน่วยงานเป็น ผู้ดําเนินการเองว่า ราคาต่อแห่ง 171,000 บาท มีราคาสูง และการเบิกจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าน้ำมัน เนื่องจากรถที่ใช้ขุดเจาะเป็นของราชการ พร้อมทั้งขอแบบแปลนและประมาณราคาจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล
@ ทีมอธิบดีแจงได้งานคุณภาพ
นายศักดิ์ดา นายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายสุรินทร์ วรกิจธํารง ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาน้ำบาดาล ร่วมกันชี้แจงและตอบข้อซักถามว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มีนักธรณีวิทยาและช่างขุดเจาะที่มีประสบการณ์ และ มีเครื่องขุดเจาะบ่อบาดาลที่สามารถขุดเจาะได้งานซึ่งมีคุณภาพสูงกว่าการว่าจ้างเอกชน ส่วนการเบิกจ่ายจะดําเนินการตามจริงตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ และผู้แทนจากสํานักงบประมาณชี้แจงว่า ราคา 171,000 บาท เป็นราคาตามบัญชีราคามาตรฐานในลักษณะงานดําเนินการเองซึ่งจะกําหนด ค่าน้ำมัน ค่าวัสดุ ตามอัตราราคางานต่อหน่วย ตามมาตรฐานของสํานักงบประมาณ ไม่มีการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อน ตามรายงานการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ครั้งที่ 4 เอกสารหมาย จ.21
@ คณะอนุกมธ.ปรับลดงบฯงานบูรณาการจัดการน้ำ 15 ล.
ในช่วงบ่ายเป็นการพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลต่อเนื่องจากช่วงเช้า แต่จําเลยไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ใช้เวลาประชุม ประมาณ 40 นาที จึงมีมติเห็นควรปรับลดงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จํานวน 15,000,000 บาท ตามรายงานการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ครั้งที่ 4 เอกสารหมาย จ.21 และบันทึกการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ครั้งที่ 4/2563 เอกสารหมาย จ.22
@ ศักดิ์ดาทำหนังสือแจงปลัดก.ทรัพยฯถูกบุคคลเรียกเงิน 5 ล.
วันที่ 10 สิงหาคม 2563 นายศักดิ์ดาทําบันทึกชี้แจง ข้อเท็จจริงกรณีบุคคลที่อ้างว่าเป็นคณะกรรมาธิการเรียกรับเงิน 5,000,000 บาท เสนอ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามเอกสารหมาย จ.24
วันที่ 24 สิงหาคม 2563 คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 รายงานผลการพิจารณางบประมาณต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ โดยสรุปการปรับลดงบประมาณรายจ่ายแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จํานวน 15,000,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 1.18 คงเหลือ 1,261,572,100 บาท
@ เรื่องถึง ป.ป.ช. ชี้มูลอาญา-พ่วงจริยธรรม – ‘นันทนา’รอด
มีผู้ร้องเรียนกล่าวหาอนุกรรมาธิการแผนงาน บูรณาการ 2 ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติรับเรื่อง และมีคําสั่งแต่งตั้ง คณะกรรมการไต่สวนเพื่อดําเนินการไต่สวน คณะกรรมการไต่สวนดําเนินการไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาให้จําเลยและนางนันทนาทราบแล้วสรุปสํานวนพร้อมความเห็นเสนอต่อ คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมากว่า การกระทําของจําเลยมีมูลความผิดอาญาตามข้อกล่าวหา และเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างร้ายแรง สําหรับคดีอาญา ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีนี้ ส่วนคดีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคําร้องต่อศาลฎีกาเป็นคดีหมายเลขดําที่ คมจ.4/2564 หมายเลขแดงที่ คมจ.1/2566 ซึ่งต่อมาศาลฎีกามี คําพิพากษาว่า ผู้คัดค้าน (จําเลย) ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 235 วรรคหนึ่ง (1) และมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และ หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 7 ข้อ 8 ข้อ 9 ประกอบข้อ 27 วรรคหนึ่ง สําหรับการกระทําของนางนันทนา คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้ส่งเรื่องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรดําเนินการตามอํานาจหน้าที่เกี่ยวกับการกระทําที่อาจจะฝ่าฝืนจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามกฎหมายต่อไป
@ ป.ป.ช.ไต่สวนชอบด้วย กม.หรือไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยประการแรกว่า การไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นไปโดยชอบหรือไม่ โดยจําเลยอุทธรณ์ว่า การตั้งคณะกรรมการไต่สวนเป็นไปโดยไม่ชอบนั้น
เห็นว่า แม้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 48 บัญญัติว่า “เมื่อความปรากฏต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ว่ามีการกระทําความผิดที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจโดยพลัน โดยในกรณีที่จําเป็นต้องไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด...” มาตรา 50 บัญญัติว่า “ในการไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจ มอบหมายเลขาธิการ หัวหน้าพนักงานไต่สวน หรือพนักงานไต่สวน เป็นผู้ไต่สวนเบื้องต้นได้...” และ มาตรา 51 บัญญัติว่า “ในการไต่สวนเรื่องใดที่เป็นเรื่องสําคัญมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง หรือ เป็นกรณีมีการไต่สวนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง.... ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดําเนินการไต่สวนเอง หรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสองคนและบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการไต่สวนก็ได้”
เมื่อพิจารณามาตราดังกล่าวตามลำดับแล้ว เห็นได้ว่า ในการไต่สวนไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องตั้งผู้ไต่สวนเบื้องต้นก่อนจึงจะตั้งคณะกรรมการไต่สวน โดยมาตรา 50 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจตั้งผู้ไต่สวนเบื้องตันก็ได้ แต่มาตรา 51 กลับกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนเองหรือจะแต่งตั้งกรรมการไม่น้อยกว่าสองคนและบุคคลอื่นเป็นคณะกรรมการไต่สวน ในกรณีที่ไต่สวนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเช่นจำเลย ซึ่งคำสั่งที่ 192/2563 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 เอกสารหมาย จ.6 ดังที่ปรากฏตามรายงานและสำนวนการไต่สวนเอกสารหมาย จ.1 คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนคดีนี้ก็มีคณะกรรมการสอดคล้องตรงตามมาตราดังกล่าว
@ ปมตั้งคกก.ไต่สวน ชอบด้วยกม.
ที่จำเลยอ้างว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเบื้องต้นโดยไม่ปรากฏคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เห็นว่า มาตรา 49 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่มีการกล่าวหาหรือไม่ ให้เลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายตรวจสอบเบื้องต้นก่อนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด...” ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 หมวด 3 การตรวจสอบ ข้อ 33 กำหนดหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจสอบไว้ โดยเลขาธิการหรือผู้ที่เลขาธิการมอบหมายมีอำนาจตรวจสอบได้ โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่จำต้องมอบหมาย อีกทั้งปรากฏตามรายงานและสำนวนการไต่สวนเอกสารหมาย จ.1 หน้าที่ 3 ข้อ 3. การไต่สวนและการรวบรวมพยานหลักฐานระบุว่า ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงได้นำพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการไต่สวน โดยให้ถือว่าพยานพลักฐานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่ของสำนวนการไต่สวนด้วย
ดังนั้น คณะกรรมการไต่สวนเบื้องต้นตามที่จำเลยข้างคงเป็นผู้ตรวจสอบตามมาครา 49 มิใช่ผู้ไต่สวนเบื้องต้น จึงหาต้องมีคำสั่งแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ การตั้งคณะกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ช.ช.จึงชอบแล้ว
ที่จำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการเร่งรัดการตรวจสอบโดยไม่ชอบนั้น เห็นว่า ก่อนที่จะมีการตรวจสอบการกระทำของจำเลยนั้น มีผู้กล่าวหาร้องเรียนเหตุที่เกิดขึ้นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามหนังสือร้องเรียนเอกสารหมาย จ.3 โดยมีข้อความระบุว่า “ระหว่างการประชุมอนุกรรมาธิการแผนบูรณาการ ซึ่งมี น.ส. แนน บุณย์ธิดา สมชัย เป็นประธานอนุกรรมาธิการในชุดคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ. 2564 ได้เกิดปัญหาขึ้น เนื่องจากอนุกรรมาธิการไม่ยอมปล่อยผ่านงประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จนทำให้นายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่ต้องไปร่วมประชุมชี้แจงในที่ประชุมดังกล่าวถึงกับระเบิดกลางที่ประชุมว่า มีอนุกรรมาธิการฯ บางคนโทรศัพท์เรียกเงิน 5 ล้านบาทแลกกับการผ่านงประมาณให้” ซึ่งถือเป็นข้อมูลเบื้องตันเพียงพอที่จะตรวจสอบได้
โดยเฉพาะมีการระบุชื่อนายศักดิ์ดาซึ่งเป็นผู้เกี่ยวโดยตรง แม้มิได้ระบุชื่อจำเลยว่าเป็นผู้ถูกร้องเรียนก็ตาม แต่ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 หมวด 3 การตรวจสอบ ข้อ 33 วรรคสอง กำหนดว่า ในการดำเนินการตรวจสอบ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเพื่อทราบรายละเอียตตามเรื่องกล่าวหาว่า ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลใด มีตำแหน่งหน้าที่ใด มีข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดเป็นประการใด มีพยานหลักฐานใด หรือบุคคลใดร่วมหรือสนับสนุนกระทำความผิด การตรวจสอบที่กระทำวันรุ่งขึ้นหลังจากได้รับหนังสือร้องเรียน โดยสอบปากคำนายศักดิ์ดาเพื่อทราบถึงผู้ถูกร้องเรียนและพฤติการณ์ในการกระทำผิดเช่นนี้ มิใช่เป็นการมุ่งเอาผิดจำเลยฝ่ายเดียว การตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบหาเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายหรือระเบียบอันเป็นการไม่ชอบแต่อย่างใดไม่
@ ปมไม่เรียกพยานเอกสารตามที่จำเลยร้องขอ มิใช่กระทำขัด กม.
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การไต่สวนของคณะกรรมการไต่สวนไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 46 และมาตรา 48 โดยคณะกรรมการไต่สวนไม่เรียกพยานหลักฐานที่จำเลยร้องขอ ไม่แสวงหาพยานพลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนนั้น
เห็นว่า แม้มาตรา 46 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการดำเนินการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น คณะกรรมการป.ป.ช. คณะกรรมการไต่สวน... แล้วแต่กรณี ต้องตำเนินการเพื่อให้ไห้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหา” และวรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาขอให้... คณะกรรมการไต่สวน... เรียกบุคคลหรือเรียกเอกสารจากบุคคลใด ให้...พนักงานไต่สวนดำเนินการตามที่ร้องขอ แต่ผู้ถูกกล่าวหาต้องร้องขอภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ เว้นแต่... คณะกรรมการไส่วน...เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาจงใจประวิงเวลา หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบุคคลหรือเอกสารที่ขอให้เรียกนั้นไม่มีผลต่อการวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการไต่สวน...” ซึ่งตามรายงานและสำนวนการไต่สวนเอกสารหมาย จ.1 หน้าที่ 77 และ 78 คณะกรรมการไต่สวนได้บันทึกเหตุที่ไม่เรียกพยานบุคคลที่จำเลยร้องขอ เนื่องจากจำเลยร้องขอให้เรียกพยานบุคคลเกินกว่าระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา และจำเลยยังมิได้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา อีกทั้งมิได้ระบุว่าพยานบุคคลดังกล่าวเกี่ยวข้องหรือรู้เห็นเหตุการณ์หรือไม่ อย่างไร พยานบุคคลที่จำเลยขอให้เรียกไม่มีผลต่อการวินิจฉัยและเป็นการจงใจประวิงเวลา หรือใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งเป็นการให้เหตุผลที่เหมาะสมสอดคล้องกับที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว
และการจงใจประวิงเวลาต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยทำให้การไต่สวนของคณะกรรมการล่าช้าหรือไม่ มิใช่พิจารณาจากระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องไต่สวนและมีความเห็นและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จ ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันเริ่มดำเนินการไต่สวน ตามมาตรา 48 วรรคหนึ่ง เพียงประการเดียว บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดกรอบเวลามิให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการล่าช้าเป็นที่เสียหายแก่ราชการและคู่กรณีที่เกี่ยวข้องมิใช่บทบัญญัติที่ที่กำหนตระยะเวลาแก่ผู้ถูกกล่าวหาในการต่อสู้คดี ที่จำเลยมีหนังสือขอขยายระยะเวลายื่นเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาตามเอกสารหมาย ล.5 และให้เรียกแบบแปลนและประมาณราคามาประกอบเพื่อแก้ข้อกล่าวหาเท่านั้น มิใช่ขอให้เรียกพยานประกอบการไต่สวนแต่อย่างใด การที่คณะกรรมการไต่สวนมิได้ดำเนินการให้จึงมิใช่การกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย
@ ปม ป.ป.ช.เชื่อคำเบิกความของพยานปากเดียว ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคณะกรรมการไต่สวนไม่รวบรวมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน โดยเชื่อคำเบิกความของนายศักดิ์ดา อย่างเดียวนั้น
เห็นว่า ตามรายงานและสำนวนการไต่สวนเอกสารหมาย จ.1 หน้าที่ 2 มีการระบุถึงการตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพยานบุคคล 9 ราย และเอกสารหลักฐานต่าง ๆ รวม 10 รายการ ต่อมาคณะกรรมการไต่สวนสอบปากคำพยานบุคคลเพิ่มเป็น 17 ราย ถือเป็นการไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องตรงตามความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งหากได้ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยมูลความผิดของจำเลยแล้วคณะกรรมการไต่สวนย่อมมีดุลพินิจที่จะมีคำสั่งได้ ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 72 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุผลดังได้ วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น การไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
@ ประเด็นกระทำผิดหรือไม่?
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
ทางไต่สวนได้ความจากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เบิกความว่า ในการจัดทำงประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดทำงบประมาณรายร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เสนอต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
ต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าชี้แจงงบประมาณต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยานพร้อมกับเจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุมชี้แจงในการประชุมดังกล่าว จำเลยซึ่งเป็นกรรมาธิการวิสามัญฯ ชักถามเกี่ยวกับงบประมาณและโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล พยานร่วมชี้แจงข้อมูลต่อที่ประชุม
วันที่ 21 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ในการพิจารณากลุ่มภารกิจและรายกรมตามลำดับ พยานและเจ้าหน้าที่เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จำเลยยังคงชักถามและโจมตีงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในเรื่องเดิม จากนั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมา โดยคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เป็นคณะอนุกรรมาธิการชุดหนึ่งใน 8 คณะดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดการประชุมเพื่อพิจารณางบประมาณแผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในส่วนของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในวันที่ 5 สิงหาคม 2563
ครั้นวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 19.07 นาฬิกา ขณะที่พยานนั่งรับประทานอาหารร่วมกับพลตำรวจตรีวิวัฒน์ ชัยสังฆะ และนายเต๋อ ไม่ทราบชื่อและชื่อสกุล ที่ร้านอาหารเบียร์หิมะ นางนันทนา สงฆ์ประชา เลขานุการคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 06 2394 65662 ติดต่อโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 06 1417 9600 ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์ประจำตำแหน่งของพยาน บอกให้โทรศัพท์ไปที่หมายเลข 08 1872 5959 พยานจึงใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 1191 9198 อีกเครื่องหนึ่งของพยานบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ดังกล่าวไว้ นางนันทนาไม่ได้แจ้งว่าเป็นหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ใด และให้ติดต่อเรื่องใด แต่พยานพอจะคาดคะเนได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในวันรุ่งขึ้น เวลา 19.10 นาฬิกา พยานใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 09 1191 91998 ติดต่อไปที่โทรศัพท์หมายเลข 08 18772 595959 แต่ไม่มีผู้รับสาย จากนั้นเวลา 19:20 นาฬิกา มีโทรศัพท์หมายเลข 18 1876 5959 ติดต่อกลับมา พยานจำเสียงได้ว่าเป็นจำเลย เพราะจำเลยเคยชักถามเกี่ยวกับงบประมาณในการประชุมของคณะกรรมการวิสามัญฯ และเคยพูดคุยกันมาก่อน พยานและจำเลยใช้เวลาสนทนา 9 นาทีเศษ
@ บทสนทนาช่วงทุ่มเศษ 4 ส.ค.2563 โทร.ขอเป็นเงินสด 5 ล้าน ถ้าไม่ได้จะตัดงบ
เวลา 19.34 นาฬิกา จำเลยโทรศัพท์ติดต่อพยานอีกครั้ง ใช้เวลาสนทนา 6 นาทีเศษ โดยจำเลย แนะนำตัวเองว่าเป็นรองประธานคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คนที่หนึ่ง แล้วพูดว่า “พรุ่งนี้ขอเงิน 5,000,000 บาท” พยานถามว่า “เหตุใดจึงตัดงประมาณเยอะจัง” จำเลยบอกว่า “ไม่ได้ตัดงบประมาณ แต่ขอเป็นเงินสด” พยานบอกว่า “เงินเยอะขนาดนั้นจะไปหาจากที่ไหน” จำเลยบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ของานโครงการในภาคอีสานทั้งหมด” พยานตอบว่า “ไม่ได้เนื่องจากงานโครงการของกรมฯ เป็นงานประเภท e-bidding” จำเลยจึงบอกว่า “ถ้าอย่างนั้น ของานที่ต่ำกว่า500,000 บาท” ซึ่งพยานเข้าใจว่างานประเภทดังกล่าว เป็นงานที่ใช้วิธีการตกลงราคาที่มีอยู่ประมาณ 360 แห่ง พยานตอบว่า "ไม่ได้ เนื่องจากโครงการที่ต่ำกว่า 500,000 บาท เจ้าหน้าที่ของกรมฯ ก็จะเป็นผู้ดำเนินการเองอยู่แล้ว” จำเลยบอกว่า “ถ้าไม่ได้ก็จะตัดงประมาณของกรม 10 เปอร์เซ็นต์” พยานจึงบอกว่า “หากจะตัดงบประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละโครงการแบบนั้น กรมฯ ก็จะทำงานไม่ได้ หากจะตัดให้ตัดเป็นโครงการ หรือเป็นรายแห่ง”
@ โทร.ไลน์เล่า อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ-ผอ. สำนักพัฒนาน้ำบาดาล ปมถูกเรียกเงิน
ขณะสนทนา พยานและจำเลยโทรศัพท์ติดต่อกันไปมาหลายครั้ง เนื่องจากสัญญาณหลุด ตามข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.25 ซึ่งในขณะนั้น พยานอยู่ภายในห้องรับประทานอาหาร แต่เมื่อเห็นว่าการสนทนาใช้เวลานาน จึงออกไปสนทนาภายนอกห้อง พยานไม่ได้บันทึกเสียงสนทนา และไม่ได้แจ้งให้เพื่อนของพยานทั้งสองคนทราบ ในวันเดียวกัน พยานใช้แอปพลิเคชันไลน์โทรศัพท์ติดต่อนายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิท เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง นายภาดลแจ้งว่าถูกเรียกเงินในลักษณะเดียวกัน และพยานยังได้โทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ไปหานายสุรินทร์ วรกิจธำรง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาน้ำบาดาล เล่าเรื่องการเรียกเงินดังกล่าวให้ฟัง และแจ้งให้เข้าร่วมชี้แจงในวันรุ่งขึ้น และให้แจ้งนายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ให้เข้าร่วมชี้แจงด้วย
@ โทร.เล่าเรื่องให้‘นริศ ขำนุรักษ์’ทราบ – วันประชุมรุ่งขึ้น ยังมุ่งซักถามโครงการเดิม
ต่อมาช่วงเช้าของวันที่ 5 สิงหาคม 2563 พยานโทรศัพท์ติดต่อนายนริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งรู้จักกันเป็นการส่วนตัว เล่าเหตุการณ์ดังกล่าวให้ฟัง นายนริศบอกกับพยานว่า “เรื่องแบบนี้ อย่าไปยอม”
ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 พยานชี้แจงเกี่ยวกับงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยตลอดการประชุมจำเลยคงซักถามเป็นส่วนมากเกี่ยวกับโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเพียงโครงการเดียว พยานจึงให้นายสุรินทร์เป็นผู้ชี้แจง จนกระทั่งเวลาใกล้เที่ยง พยานเดินออกจากห้องประชุมเพื่อเข้าห้องน้ำ ระหว่างทางพบนางวันทนา อาชีวะวิทธิ์ หรือ ผอ.เจี๊ยบ ผู้อำนวยการส่วนในสำนักงบบประมาณ พยานพูดกับนางวันทนาว่าตนรู้สึกอับอายที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลถูกชักถามจำนวนมาก และการพิจารณาไม่มีความคืบหน้า ทั้งที่มีวาระการพิจารณาถึง 6 วาระ แต่พิจารณาได้เพียงวาระแรกเท่านั้น นางวันทนาแสดงความเห็นใจ พยานจึงเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคืนเกิดเหตุให้ฟัง เมื่อกลับเข้าห้องประชุมพยานยืนพูดต่อที่ประชุมว่า “พูดกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเมื่อคืนนี้มีอนุกรรมาธิการคนหนึ่งโทรไปหาผมตบทรัพย์ 5,000,000 บาท ผมจะไปแถลงข่าว” หลังจากนั้นที่ประชุมไม่ได้มีการประชุมต่ออีกจนกระทั่งพักการประชุมในช่วงเที่ยง ขณะพักประชุม พยานพบนายนริศอีกครั้ง จึงเล่าเหตุการณ์ในที่ประชุมให้ฟัง และขอให้พาไปพบประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่อยู่สำหรับการประชุมในช่วงบ่าย คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ใช้เวลาพิจารณาเพียง 40 นาที ก็สามารถผ่านการพิจารณาได้ โดยพยานแถลงต่อที่ประชุมขอตัดลดงบประมาณลง 1 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 12,000,000 บาท ซึ่งประธานคณะอนุกรรมาธิการขอให้ตัดงบประมาณลง 15,000,000 บาท
@ ปลัด ก.สั่งรายงานข้อเท็จจริง
วันที่ 6 สิงหาคม 2563 พยานได้รับข้อสั่งการจากปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีมีบุคคลอ้างว่าเป็นกรรมาธิการเรียกรับเงิน 5,000,000 บาท
วันที่ 10 สิงหาคม 25663 พยานเข้าพบและส่งบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริง ตามเอกสารหมาย จ.24 นอกจากนี้ โจทก์ยังมีนายภาดล นายกุศล นายสุรินทร์ และนายนริศเบิกความสนับสนุน
@ พยานปากเดียวประกอบแวดล้อม เบิกความตามลำดับเป็นขั้นตอน
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมาก เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายศักดิ์ดาเป็นประจักษ์พยานเพียงปากเดียว ซึ่งคำเบิกความของประจักษ์พยานจะมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้หรือไม่นั้น ต้องประกอบด้วยพยานแวดล้อมและเหตุผลที่น่าเชื่อถืออันควรแก่การรับฟัง หาได้ขึ้นอยู่กับจำนวนประจักษ์พยานมากหรือน้อยไม่ และมีใช่ว่าประจักษ์พยานเบิกความอย่างไรแล้วศาลจะต้องรับฟังได้ตามนั้น
โดยนายศักดิ์ดาเบิกความถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่ตนได้ประสบพบมาเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่การพิจารณางบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในระดับกระทรวงเรื่อยมาจนถึงระดับกรมในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จนถึงคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ซึ่งในข้อนี้ นอกจากนายศักดิ์ดาแล้ว ยังมีนายกุศลและนายสุรินทร์มาเบิกความให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยที่ตั้งข้อสังเกตและชักถามงบประมาณเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาโดยตลอดตั้งแต่การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ วันที่ 17 วันที่ 21 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 ที่จำเลยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดราคาโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล การเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยงและค่าน้ำมันอันอาจเอื้อให้เกิดการทุจริตได้ แต่ไม่มีพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรรมสนับสนุนให้เห็นว่าเพราะเหตุใดจำเลยจึงเชื่อเช่นนั้น
@ มุ่งซักถามสร้างความกดดัน
ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 วันที่ 5 สิงหาคม 2563 จำเลยยังคงตั้งตั้งข้อสังเกตและซักถามเช่นเดิม ทั้งที่มีผู้แทนสำนักงบประมาณชี้แจงแล้วว่า การกำหนดราคาก่อสร้างโครงการดังกล่าวเป็นราคาตามบัญชีราคามาตรฐานในลักษณะงานดำเนินการเอง โดยคำนวณค่าเฉลี่ยแบบประมาณราคา (Unit Cost) ไม่มีการตั้งบประมาณซ้ำซ้อนแม้จะมีกรรมาธิการวิสามัญฯ หรืออนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 คนอื่นร่วมตั้งข้อสังเกตหรือชักถาม แต่ก็ไม่มีลักษณะที่เน้นย้ำถึงโครงการของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลโดยตลอดเช่นจำเลย การตั้งข้อสังเกตและการชักถามของจำเลยจึงมิได้มีลักษณะเป็นการตรวจสอบการใช้งประมาณของหน่วยงานรัฐตามปกติ แต่เป็นการสร้างความกดดันและความกังวลแก่ผู้รับการพิจารณาว่าจะถูกตัดหรือลดงบประมาณหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อต่อรองในการแสวงหาประโยชน์ อันทำให้เห็นมูลเหตุชักจูงใจให้จำเลยโทรศัพท์หานายศักดิ์ดาผ่านการติดต่อของนางนันทนาในคืนวันที่ 4 สิงหาคม 2563 โดยนายศักดิ์ดาและจำเลยใช้เวลาสนทนาครั้งแรก 9 นาทีเศษ และใช้เวลาสนทนาครั้งที่สอง 6 นาทีเศษ สอดคล้องกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.25 ข้อความที่มีการสนทนาโต้ตอบกันทางโทรศัพท์ระหว่างนายศักดิ์ดากับจำเลยตั้งแต่การเรียกเงินจำนวน 5,000,000 บาท เมื่อนายศักดิ์ดาปฏิเสธก็เปลี่ยนมาเป็นของานแทน เพื่อแลกกับการไม่ตัดลดงบประมาณ มีลักษณะพูดต่อรองกันไปมา ซึ่งมีรายละเอียดมาก ยากที่จะแต่งเรื่องขึ้นมาให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะข้อความที่สนทนากันระหว่างจำเลยและนายศักดิ์ดาในเรื่องของานยังสอดคล้องกับการตั้งข้อสังเกตและชักถามของจำเลยในการประชุม ซึ่งมุ่งเฉพาะโครงการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล ที่มีงบประมาณไม่มาก แต่ดำเนินการหลายแห่ง
@ ข้ออ้างโทร.หา ‘ศักดิ์ดา’ เพียงขอเอกสาร ไม่สมเหตุสมผล
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การติดต่อทางโทรศัพท์เป็นการขอให้นายศักดิ์ดาส่งแบบแปลนและประมาณราคาก่อสร้าง จำเลยในฐานะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 มีอำนาจในการขอแบบแปลนและประมาณราคาเพื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณได้ ซึ่งในประเด็นเดียวกันนี้จำเลยเคยตั้งข้อสังเกตไว้แล้วตั้งแต่ในชั้นพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งขณะนั้นไม่มีข้อห้ามมิให้อนุกรรมาธิการติดต่อกับหน่วยงานโดยตรง จำเลยไม่เคยรู้จักนายศักดิ์ดามาก่อนย่อมไม่กล้าเรียกเงินหรือของาน โดยมีนายจักรัตน์ พั้วช่วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 เบิกความสนับสนุนนั้น
ข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนได้ความว่า นายศักดิ์ดาเบิกความถึงการติดต่อทางโทรศัพท์ระหว่างจำเลยและนายศักดิ์ดาที่มีเวลาสอดคล้องตรงกับข้อมูลการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เอกสารหมาย จ.25 ว่า นายศักดิ์ดาและจำเลยสนทนากันครั้งแรก เวลา 19:20 นาฬิกา ซึ่งในข้อนี้ นายสรเดช ธรรมสาร นิติกรชำนาญการ และพันจ่าอากาศเอกศักดิ์สิทธิ์ ภู่สิโรรังสี ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานแก้ปัญหาหนี้สินแห่งชาติ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายเลขานุการและสนับสนุนการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 และเข้าคณะอนุกรรมาธิการดังกล่าวด้วย ต่างเบิกความตรงกันว่า ภายหลังเลิกประชุมวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เวลา 18.40 นาฬิกา พยานยังคงอยู่ในห้องประชุมเพื่อจัดเตรียมเอกสารสำหรับการประชุมในวันถัดไป จำเลยและอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 นั่งรับประทานอาหารเย็นเป็นเวลา 20 ถึง 30 นาที โดยออกจากห้องประชุมเวลาประมาณ 19 นาฬิกา แม้จำเลยนำนายจักรัตน์มาให้ศาลไต่สวนเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของตน แต่นายจักรัตน์ก็เบิกความในทำนองเดียวกับนางสาวแนนรับว่า ต่างอยู่ในห้องประชุมภายหลังเลิกงานจริง แต่ไม่ทราบว่าจำเลยพูดคุยกับนายศักดิ์ดาเรื่องใด
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การโทรศัพท์ติดต่อนายศักดิ์ดาเพื่อติดตามเอกสารเป็นการกระทำในขอบอำนาจหน้าที่ของอนุกรรมาธิการนั้น แม้อนุกรรมาธิการจะมีอำนาจในการขอเอกสาร แต่วิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวย่อมจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของคณะอนุกรรมาธิการที่เคยปฏิบัติมาเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับเรื่องนี้นายสรเดชและพันจ่าอากาศเอกศักดิ์สิทธิ์เบิกความตรงกันว่า กรณีที่อนุกรรมาธิการขอเอกสารเพิ่มเติม อนุกรรมาธิการต้องแถลงให้ที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการทราบ จากนั้นฝ่ายเลขานุการจะมีหนังสือแจ้งหน่วยงานและติดตามเอกสารดังกล่าว ตรงกับข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 97 และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่นายศักดิ์ดา นายสุรินทร์ และจำเลยเบิกความว่า จำเลยเคยขอเอกสารแบบแปลนและประมาณราคา โดยติดตามทวงถามตั้งแต่การประชุมเมื่อวันที่ 17 และวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 นายสุรินทร์ได้รับการประสานจากฝ่ายเลขานุการจึงจัดเตรียมเอกสารและนำส่งให้ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวมถึงจำเลยโดยตรงที่บ้านพัก ซึ่งก็เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่นายสรเดชและพันจ่าอากาศเอกศักดิ์สิทธิ์เบิกความแสดงให้เห็นว่าจำเลยย่อมทราบข้อบังคับและแนวทางปฏิบัติ แต่กลับประสานขอเอกสารดังกล่าวโดยตรง
อีกทั้งจำเลยในฐานะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยตรง ย่อมจะต้องระมัดระวังตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเช่นว่านั้น หากหน่วยงานจัดเตรียมเอกสารไม่เพียงพอจำเลยก็ควรต้องดำเนินการผ่านเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามข้อบังคับการประชุมและแนวทางปฏิบัติที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวดำเนินการสืบกันมา เพื่อเป็นการป้องกันข้อครหา ข้อต่อสู้ของจำเลยจำเลยที่อ้างว่าติดต่อทางโทรศัพท์กับนายศักดิ์ดาเพื่อขอแบบแปลนและประมาณราคาเช่นนี้ไม่สมเหตุสมผลจึงเป็นพิรุธและไม่น่าเชื่อถือ
@ พล.ต.ต.สุรินทร์-นายเต๋อ ผู้ร่วมโต๊ะอาหาร‘ศักดิ์ดา’ ไม่ใช่ประจักษ์พยาน-ถ้าสำคัญไฉนไม่นำมาให้ศาลไต่สวน
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะสนทนาทางโทรศัพท์ นายศักดิ์ดาอยู่ร่วมกับพลตำรวจตรีวิวัฒน์ และนายเต๋อ ซึ่งเป็นพยานคู่ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กับโจทก์ต่างไม่นำมาไต่สวนนั้น นายศักดิ์ดายืนยันมาตั้งแต่ที่ให้การต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่า ขณะที่จำเลยโทรศัพท์ติดต่อนายศักดิ์ดา นายศักดิ์ดากำลังรับประทานอาหาร เมื่อเห็นว่าการสนทนาใช้เวลานานจึงออกไปสนทนากับจำเลยด้านนอกห้องรับประทานอาหาร พลตำรวจตรีวิวัฒน์และนายเต๋อไม่ทราบเรื่อง อีกทั้งไม่มีเหตุที่นายศักดิ์ดาต้องเล่าถ้อยคำสนทนาทางโทรศัพท์ให้ทั้งสองฟัง บุคคลทั้งสองจึงไม่ใช่ประจักษ์พยานที่รับรู้ถ้อยคำสนทนาระหว่างจำเลยและนายศักดิ์ดา การที่โจทก์ไม่นำพลตำรวจตรีวิวัฒน์และนายเต๋อมาให้ศาลไต่สวนนั้นหาใช่เป็นข้อพิรุธแต่อย่างใดไม่ ทั้งหากจำเลยเห็นว่า พยานทั้งสองปากมีความสำคัญและสามารถให้ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยก็ชอบที่จะนำบุคคลทั้งสองมาให้ศาลไต่สวนได้ แต่จำเลยกลับไม่ได้กระทำ
@ เหตุไม่บันทึกเสียงเพราะเหตุเฉพาะหน้า-ไม่คาดคิดต้องดำเนินคดี
ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่าไม่มีการบันทึกเสียงสนทนาไว้เป็นหลักฐานนั้น ก็อาจเป็นเพราะในขณะนั้นนายศักดิ์ดาไม่คาดคิดว่าจะต้องบันทึกเสียงสนทนาไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ดำเนินคดีแก่จำเลย ประกอบกับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าทันทีทันใด โอกาสที่จะบันทึกเสียงสนทนาย่อมไม่มี
ส่วนที่นายศักดิ์ดากล่าวต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 และให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพและเสียงผ่านทางสื่อมวลชนในทำนองว่า นายศักดิ์ดาได้บันทึกเสียงการสนทนาไว้ แต่เมื่อเข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพิ่มเติม วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และเบิกความต่อศาลกลับให้ถ้อยคำและเบิกความว่าไม่มีการบันที่การสนทนาไว้นั้น ก็น่าเชื่อว่าเป็นการพูดต่อที่ประชุมและสื่อมวลชนด้วยความไม่พอใจ และแสดงให้เห็นว่า ตนมีพยานหลักฐานที่มั่นคงที่จะกล่าวหาจำเลยได้ ในทำนองข่มจำเลยอยู่ในที
@ พยานเบิกความแตกต่างกันบ้าง ไม่ทำให้น้ำหนักน้อยลง
อย่างไรก็ดี เมื่อตรวจดูบันทึกชี้แจงข้อเท็จจริง คำให้การ และคำเบิกความแล้ว นายศักดิ์ดาคงยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์โทรศัพท์เรียกเงินหรือของานของจำเลยมาโดยตลอด ดังนั้น แม้คำเบิกความพยานโจทก์ในส่วนนี้จะแตกต่างกันไปบ้าง แต่ส่วนพฤติการณ์ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งคดีมิได้เปลี่ยนแปลง ข้อแตกต่างดังกล่าวจึงเป็นเพียงพลความ การที่บันทึกการสนทนาจะไม่มีอยู่จริงก็เป็นเพียงการขาดพยานหลักฐานอย่างหนึ่งเท่านั้น กรณีไม่ถึงกับเป็นเหตุให้คำเบิกความของนายศักดิ์ดามีน้ำหนักน้อยลง
ส่วนที่นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ อนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 พยานจำเลย เบิกความว่า หลังจากนายศักดิ์ดากล่าวในที่ประชุมแล้ว นายศรัณย์วุฒิจะพานายศักดิ์ดาไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน นายศักดิ์ดาพูดในทำนองว่า ไม่มีใครเรียกเงิน แต่ที่กล่าวไปเช่นนั้น เพราะโมโหจำเลยจากการซักถาม การที่นายศักดิ์ดากล่าวเช่นนั้นก็อาจเป็นเพราะนายศักดิ์ดาไม่ต้องการไปแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนให้เรื่องลุกลามมากขึ้น โดยนายศรัณย์วุฒิยังรับว่าให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตามเอกสารหมาย จ.3 หน้าที่ 138 ถึง 140 ภายหลังเกิดเหตุไม่นานในทำนองว่า ตนอยู่เคียงข้างอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล อธิบดีซึ่งน่าจะหมายถึงนายศักดิ์ดาอึดอัดมาจากการชักถามในลักษณะไล่บี้ไล่ต้อน โดยกรรมาธิการฯ บางคนใช้วิธีดังกล่าวเรียกผลประโยชน์จากหน่วยงานเพื่อผ่านงบประมาณให้ ซึ่งสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่ได้จากการไต่สวนนายศักดิ์ดา และที่จำเลยอุทธรณ์ว่า นายศักดิ์ดามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อนโดยเบิกความและอ้างบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและความเห็นของนายชาดา ไทยเศรษฐ์ เอกสารหมาย ล.31 เพื่อสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าวนั้น ก็เป็นเพียงความเห็น การตั้งข้อสังเกตและชักถามของจำเลย และการชี้แจงของนายศักดิ์ดาเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตามธรรมดาย่อมมีเหตุกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นได้ หากจะมีความไม่พอใจเกิดขึ้นระหว่างการประชุมบ้างก็เป็นเรื่องปกติไม่น่าจะร้ายแรงถึงขนาดว่าจะต้องปั้นแต่งเรื่องขึ้นเพื่อปรักปรำจำเลย
อีกทั้งในคืนวันเดียวกันแทบจะในทันทีภายหลังเกิดเหตุ นายศักดิ์ดาได้โทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ไปหานายภาดล และนายสุรินทร์ เล่าเรื่องการเรียกเงินดังกล่าวให้ฟังทันที ย่อมไม่มีเวลาคิดปรุงแต่งเรื่อง โดยในส่วนนี้ โจทก์ยังมีนายภาดลและนายสุรินทร์มาเบิกความยืนยัน โดยเฉพาะนายภาดลยังเบิกความสนับสนุนได้ความทำนองว่า นางนันทนาแจ้งให้นายภาดลโทรศัพท์ติดต่อหาจำเลยเช่นกัน จำเลยพูดกับนายภายภาดลเกี่ยวกับงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำที่นายภาดลดูแล มีการชักถามจนนำไปสู่การพูดในเชิงขอเข้ามาดูแลงานโครงการ ซึ่งตามความเข้าใจของนายภาดลมีลักษณะในเชิงของานของกรมดังกล่าว ส่วนที่นายภาดลจะถูกจำเลยเรียกเงินด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องระหว่างนายภาดลและจำเลย
@ เชื่อพยานให้การตามจริง-ไม่มีเหตุโกรธเคืองจำเลยมาก่อน
และในวันรุ่งขึ้น นายศักดิ์ดายังโทรศัพท์ติดต่อนายนริศเล่าเรื่องที่ถูกจำเลยเรียกเงินให้นายนริศฟังด้วย แม้นายภาดล นายสุรินทร์ และนายนริศ เป็นคนรู้จักในฐานะเพื่อน และผู้ใต้บังคับบัญชาของนายศักดิ์ดาก็ตาม แต่ต่างก็เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และเป็นถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองหรือขัดแย้งกับจำเลยมาก่อน พยานบุคคลทั้งสามยังเบิกความเชื่อมโยงกับที่นายศักดิ์ดา เบิกความ จึงเชื่อว่าเบิกความไปตามจริง แม้เป็นพยานบอกเล่าแต่โดยสถานะหน้าที่ของพยานดังกล่าวล้วนเกี่ยวข้องกับข้อความที่ตนรับทราบมา น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพยานเหล่านี้เป็นพยานบอกเล่า และเป็นคนรู้จักสนิทสนม หรือเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายศักดิ์ดาไม่น่ารับฟัง จึงฟังไม่ขึ้น พยานพฤติเหตุแวดล้อมของโจทก์ดังกล่าวที่ใกล้ชิดต่อเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมสนับสนุนคำเบิกความของนายศักดิ์ดาประจักษ์พยานให้มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น
@ รับฟังได้ข้อยุติโทร.เรียกเงินจริง-องค์คณะเสียงข้างมากพิพากษายืน
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยดำรงตำแหน่งสมาชิกสกสภาผู้แทนราษฎรกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณาณ พ.ศ. 2564 และอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 แม้คณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 จะไม่มีอำนาจในการพิจารณาปรับลดงบประมาณโดยเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่คงไว้ซึ่งอำนาจในการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับคำของบประมาณได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ย่อมมีอำนาจในการแสดงความคิดเห็นสนับสนุนรายงานของคณะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ที่จัดทำขึ้นตามที่จำเลยตั้งข้อสังเกตไว้ไว้ได้ ดังนั้น ความเห็นของจำเลยในฐานะอนุกรรมาธิการแผนงานบูรณาการ 2 ที่อภิปราย ตั้งข้อสังเกต และชักถามไว้ต่อที่ประชุม ย่อมมีส่วนส่งผลให้เป็นคุณหรือเป็นโทษต่อหน่วยงานที่ขอรับการจัดสรรงบประมาณได้ ด้วยเหตุที่ได้วินิจฉัยไว้แล้ว
การที่จำเลยโทรศัพท์เรียกเงินหรือขอผลประโยชน์จากโครงการในการจัดทำงบประมาณของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นการอาศัยโอกาสในตำแหน่งที่ตนมีอำนาจและหน้าที่ที่สามารถเสนอปรับลดงบประมาณได้ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความชื่อสัตย์สุจริต อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น และเป็นการขอ เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งของจำเลยไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 173 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน เมื่อคดีฟังได้ดังกล่าวแล้วอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยเป็นข้อปลีกย่อย และไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้น องค์คณะชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติเสียงข้างมากเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน