"...หากโฟกัสข้อมูลในส่วนของ กองทัพอากาศ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะพบว่า ในช่วงปี 2560 -2563 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญากับทั้ง 3 หน่วยงานนี้ จำนวน 8 สัญญา แยกเป็นกรมทางหลวง 5 สัญญา รวมวงเงิน 127,104,036 บาท กรมทางหลวงชนบท 1 สัญญา รวมวงเงิน 41,310,000 บาท กองทัพอากาศ 2 สัญญา รวมวงเงิน 16,290,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 184,704,036 บาท..."
กรณี สื่อต่างประเทศ รายงานข่าวอ้างอิงจากข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (SEC) ระบุว่า บริษัทเดียร์ แอนด์ คอมพานี (Deere & Company) หรือจอห์นเดียร์ ผู้ผลิตรถแทรกเตอร์ชื่อดังได้ตกลงที่จะจ่ายเงินเกือบสิบล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพื่อยุติข้อกล่าวหาของ SEC ว่า ละเมิดกฎหมายการทุจริตในต่างประเทศหรือ FCPA
โดยข้อกล่าวหานั้นระบุว่า บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด (Wirtgen Thailand) ซึ่งเป็นบริษัทลูกในประเทศไทยได้มีการจ่ายเงินสินบนให้กับทางไทย
นับจนถึงเวลานี้ ยังไม่มีหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณชนให้รับทราบเป็นทางการ
แต่หากโฟกัสรายงานข่าวต่างประเทศที่ปรากฏไปแล้ว จะพบว่าข้อมูลสำคัญ ดังนี้
1. ตั้งแต่ปลายปี 2560 ถึง 2563 พนักงานของบริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ได้มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยในหลายหน่วยงาน เช่น กองทัพอากาศ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อชนะสัญญารัฐในหลายรายการ
2. มีการติดสินบนพนักงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อชนะการขายงานให้กับบริษัท
3. สิ่งที่เป็นสินบนนั้นมีทั้งการจ่ายเงินสด การพาไปเที่ยวร้านนวด และการพาเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานบริษัทเอกชนไปเที่ยวยังต่างประเทศ
4. การกระทำดังกล่าว ส่งผลทำให้บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) สามารถหากำไรได้ประมาณ 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (144,731,536 บาท) จากสินบนเหล่านี้
5. บริษัทเดียร์ที่ได้แสดงความร่วมมือกับ SEC ด้วยการปลดพนักงานที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว และบริษัทได้ปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของรัฐ และจัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับการต่อต้านการให้สินบน
ทั้งนี้ เกี่ยวกับข้อมูลการปรากฏชื่อ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐนั้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเบื้องต้นพบไปแล้วว่า นับตั้งแต่ปี 2557 - 2566 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด เป็นคู่สัญญาหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ได้แก่ กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กองทัพอากาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) อบจ.สมุทรสงคราม จำนวน 16 โครงการ รวมวงเงิน 243.03 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีงานว่าจ้างซื้อรถบดล้อยาง รถบดสันสะเทอกล้อเหล็ก รถขูดไสผิวถนน กรมทางหลวงมากสุด 7 สัญญา
แต่หากโฟกัสข้อมูลในส่วนของ กองทัพอากาศ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จะพบว่า ในช่วงปี 2560 -2563 บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ปรากฏชื่อเป็นคู่สัญญากับทั้ง 3 หน่วยงานนี้ จำนวน 8 สัญญา แยกเป็นกรมทางหลวง 5 สัญญา รวมวงเงิน 127,104,036 บาท กรมทางหลวงชนบท 1 สัญญา รวมวงเงิน 41,310,000 บาท กองทัพอากาศ 2 สัญญา รวมวงเงิน 16,290,000 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 184,704,036 บาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
เมื่อตรวจสอบรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างงานทั้ง 8 สัญญา พบรายละเอียดตามตารางต่อไปนี้ (ดูตาราง)
จากข้อมูลตามตารางด้านบน จะพบข้อสังเกตสำคัญ 2 ประการ คือ
1. มีงานหลายสัญญา ที่มีผู้เข้าซื้อซองหลายราย แต่เมื่อช่วงการยื่นซอง บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จะเป็นเอกชนรายเดียวที่ยื่นซองและได้รับงานไป โดยเฉพาะงานในส่วนของ กองทัพอากาศ ทั้ง 2 สัญญา
2. มีงาน 3 สัญญา ที่มีการยื่นซองแข่งขันราคากัน บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) เสนอราคาชนะคู่แข่งหลักแสนหลักหมื่นบาทเท่านั้น คือ
(1.) จัดซื้อรถบดสั่นสะเทือนล้อหน้าเหล็กล้อหลังยาง ขนาดไม่น้อยกว่า 3 ตัน จำนวน 18 คัน ของกรมทางหลวง บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) เสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่ง 200,000 บาท ได้รับงานไป
(2.) ประกวดราคาซื้อรถขูดไสผิวถนน ความกว้างของเพลาขูดไส (DRUM) ขนาดไม่น้อยกว่า 500 มม. จำนวน 2 คัน ของ กรมทางหลวง บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) เสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่ง 1 ราย 50,000 บาท ได้รับงานไป
(3.) ประกวดราคาซื้อรถบดแบบผสม (ล้อเหล็ก-ล้อยาง) ขนาดเล็กไม่เกิน 4 ตัน จำนวน 18 คัน ของ กรมทางหลวงชนบท มีเอกชนยื่นซองเสนอราคาแข่งขันงาน 3 ราย บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด เสนอราคา 41,400,000 บาท บริษัท แทนธัญ จำกัด เสนอราคา 32,607,180 บาท บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด เสนอราคา 41,346,000 บาท
บริษัท แทนธัญ จำกัด ไม่ผ่านคุณสมบัติ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด เสนอราคาต่ำกว่า บริษัท อิตัลไทยอุตสาหกรรม จำกัด เป็นจำนวนเงิน 54,000 บาท ได้รับงานไป
***********
เหล่านี้ คือ ข้อมูลรายละเอียดและข้อสังเกตจัดซื้อจัดจ้างงานทั้ง 8 สัญญา ของ กองทัพอากาศ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท กับ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) จำกัด ในช่วงปี 2560-2563 ตามคำสั่งของ SEC ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลยืนยันเป็นทางการว่า โครงการฯ เหล่านี้ เป็นโครงการที่มีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ จริงหรือไม่?
รวมไปถึงข้อกล่าวหาของ บริษัท เวิร์ทเก้น (ประเทศไทย) ว่ามีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ กองทัพอากาศ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้ได้รับงานว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่?
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องรอผลการตรวจสอบจากหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นทางการอีกครั้ง