"...ชมรมแพทย์ชนบท ขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง 48 ปี ด้วยกลไกสำคัญ 3 กลไกของขบวนการแพทย์ชนบทคือ ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท และกลุ่มสามพราน ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ที่สากลยอมรับคือการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย และการเฝ้าระวังป้องกันการคอรับชั่นระดับประเทศ..."
'รางวัลแมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award)' เป็นรางวัลที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็น Nobel Peace Prize of Asia เริ่มให้รางวัลตั้งแต่ปี 1957 (พ.ศ.2500) เพื่อระลึกถึงคุณความดีและความตั้งใจของประธานาธิบดีรามอน แมกไซไซ แห่งประเทศฟิลิปปินส์
ในปีนี้ เป็นการมอบรางวัลเป็นครั้งที่ 66 มูลนิธิรางวัลแมกไซไซได้คัดเลือกผู้มีผลงานดีเด่นเข้ารับรางวัลจำนวน 5 ท่านได้แก่ Karma Phuntsho จากภูฏาน Miyazaki Hayao จากญี่ปุ่น Nguyen Thi Ngoc Phuong จากเวียดนาม Farwiza Farhan จากอินโดนีเซีย และขบวนการแพทย์ชนท จากประเทศไทย
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อยและประธานชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท ได้รับรางวัลแมกไซไซ ในปีนี้ เป็นสิ่งที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
ชมรมแพทย์ชนบท ขับเคลื่อนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง 48 ปี ด้วยกลไกสำคัญ 3 กลไกของขบวนการแพทย์ชนบทคือ ชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท และกลุ่มสามพราน ผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ที่สากลยอมรับคือการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย และการเฝ้าระวังป้องกันการคอรับชั่นระดับประเทศ
"สิ่งที่เราได้รางวัลเนี่ย เราได้รางวัลในนามขบวนการแพทย์ชนบท ตัวขบวนการ ก็หมายถึงชมรมแพทย์ชนบท มูลนิธิแพทย์ชนบท กลุ่มสามพรานซึ่งเป็นกลุ่มของพี่ ๆ ผู้อาวุโสในกลุ่มแพทย์ชนบทที่รวมตัวกันคุยกันทุกเดือนเพื่อผลักดันงานต่างๆ รวมถึงเครือข่ายหรือวิชาชีพอื่นๆ ที่ช่วยกันทำงานด้วย" นพ.สุภัทรกล่าว
นพ.สุภัทร กล่าวว่า การขับเคลื่อนของแพทย์ชนบทที่่านมาอย่างยาวนาน โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือด้วยความเหลื่อมล้ำ และต่อสู้เรื่องการคอร์รัปชั่นเนี่ย ก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ของระดับโลก เนื่องจากนานาชาติก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน
สำหรับผลงานที่คิดว่าสังคมโลกยอมรับที่สุด คือ ผลงานเรื่องของการขับเคลื่อนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 'บัตรทอง' ซึ่งเป็นผลงานที่สำคัญที่เชื่อว่าทำให้เราได้รับรางวัลแม็กไซไซ
"แม้ปัจจุบัน 'บัตรทอง' หรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นนโยบาย และมีองค์กร สปสช.ขึ้นมากำกับดูแลแล้ว แต่ทางแพทย์ชนบทก็ยังทำหน้าที่ในการดูแลระบบ ประคองระบบ หรือ ช่วยกันทำให้ดีขึ้น เพราะว่าอุปสรรคก็เยอะมาก ในเรื่องของทำให้คนไทยมีหลักประกัน" นพ.สุภัทร กล่าวทิ้งท้าย
ขบวนการแพทย์ชนบท เป็นกลุ่มแพทย์และเครือข่ายที่มุ่งทำงานเพื่อพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท เริ่มก่อตัวเมื่อกระทรวงสาธารณสุขออกมาตรการบังคับชดใช้ทุนกับนักศึกษาแพทย์ ทำให้เกิด 'โครงการสัมผัสชนบท' ซึ่งต่อมาพัฒนามาเป็นศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย
เมื่อขบวนการนักศึกษาเริ่มก่อตัวและเริ่มนำการเคลื่อนไหวจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แพทย์ใช้ทุนรุ่นแรกๆที่ออกไปปฏิบัติงานในชนบทตั้งแต่เดือนเมษายน 2516 ประสบปัญหามาก ส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อเมื่อหมดสัญญาชดใช้ทุนแพทย์ที่คิดจะอยู่ทำงานต่อไปในชนบทจำนวนหนึ่งเริ่มปรับทุกข์และเชิญชวนไปประชุมกัน และก่อตั้ง 'สหพันธ์แพทย์ชนบท' เมื่อต้นปี 2519 และหยุดบทบาทหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
เมื่อรัฐบาลเริ่มนโยบายเปิดกว้าง ได้มีการรวมตัวอีกครั้ง ในปี 2521 และฟื้นบทบาทสหพันธ์แพทย์ชนบท โดยเปลี่ยนชื่อเป็น 'ชมรมแพทย์ชนบท' แต่ยังคงวัตถุประสงค์เดิมคือมุ่งการทำงานเพื่อพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขในชนบทเป็นหลัก
ชมรมแพทย์ชนบทมีหลักการในการประสานความร่วมมือทั้งกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงเรียนแพทย์รวมทั้งบุคคลและองค์กรภาคประชาสังคมอื่น จึงถือว่าผู้ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการมุ่งลดช่องว่าง ด้านการพัฒนาแพทย์และสาธารณสุขในชนบทล้วนเป็นผู้ร่วมอยู่ในขบวนการแพทย์ชนบท. สมาชิกขบวนการแพทย์ชนบทจึงครอบคลุมทั้งแพทย์ที่ปฏิบัติการในชนบท ในกระทรวงสาธารณสุข ในโรงเรียนแพทย์ และบุคลากรสาขาต่างๆ ในองค์กรอื่นๆด้วย
ไทม์ไลน์เหตุการณ์ขบวนการแพทย์ชนบท
2485
ตั้งกระทรวงสาธารณสุข มุ่งสร้างโรงพยาบาลจังหวัด จนครบทุกจังหวัด
กรมอนามัยมีปัญหาขาดแคลนแพทย์มาโดยต่อเนื่อง. มีการให้ทุนนักศึกษาแพทย์ เริ่มต้นเดือนละ 200 บาท มีข้อผูกมัด คือ เมื่อจบแล้วให้เข้ารับราชการในกรมอนามัย มีผู้รับทุนไม่มาก จบแล้วไปทำงานชดใช้ทุนน้อยมากเพราะกรมอนามัยยอมให้เพียงคืนเงินทุนที่รับไปโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยและค่าปรับ
2506
กิดปัญหา "สมองไหล" (Brain drain) เพราะสหรัฐเปิดโอกาสให้แพทย์ต่างชาติไปทำงานได้โดยง่าย ทดแทนแพทย์ที่ส่งไปในสงครามเวียดนาม มีแพทย์ไทยหลั่งไหลไปสหรัฐจำนวนมาก
2511
กระทรวงสาธารณสุขเริ่มบังคับนักศึกษาแพทย์ให้ "รับทุน" โดยมีเงื่อนไขว่า จบแล้วต้องเข้ารับราชการ 3 ปี มีการชุมนุมต่อต้าน แต่ไม่สำเร็จ เพราะการบังคับทำกับนักศึกษาแพทย์ปี 3 และยื่นคำขาดให้เซ็นสัญญา 1 วัน ก่อนสอบไล่
นักศึกษาแพทย์ วิชัย โชควิวัฒน เขียนบทความเรื่อง "ปัญหาแพทย์ไปนอก" เผยแพร่ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ฉบับนิสิตนักศึกษา
นิสิตนักศึกษาแพทย์ ทำโครงการสัมผัสชนบท เพื่อไปศึกษาสภาพของโรงพยาบาลในต่างจังหวัดเพื่อเตรียมพร้อมออกไปทำงานตามสัญญาชดใช้ทุน ต่อมามีการ จัดตั้งเป็นศูนย์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย
มีการต่อรองให้นับเวลา 3 ปี รวมระยะเวลา 1 ปี ที่เป็นแพทย์ฝึกหัดด้วย. รัฐบาลยินยอม
การบังคับรับทุนระยะแรก บังคับเพียง 70% ผู้ที่ไม่รับทุนให้จ่ายค่าบำรุงการศึกษาปีละ 10,000 บาท ต่อมานักศึกษาเรียกร้องให้บังคับ 100%. รัฐบาลยินยอม
หลังใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญมา 10 ปีเศษ รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เมื่อ 20 มิถุนายน 2511. วันรุ่งขึ้นมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง และมีการเดินขบวน คัดค้านการขึ้นค่าโดยสารรถเมล์จาก50 สตางค์ เป็น 75 สตางค์. รัฐบาลยอมลด ค่าโดยสารรถเมล์เหลือ 50 สตางค์
2512
มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก หลังจาก พ.ศ. 2500. นิสิตนักศึกษาทำโครงการสังเกตการณ์การเลือกตั้ง
2514
ศ.นพ. ประเวศ วะสี เขียนหนังสือ " สาธารณสุขเพื่อมวลชน" ในหนังสือชุดรักเมืองไทย จัดพิมพ์ร่วมกับ พุทธธรรม ของพระศรีวิสุทธิโมลี ซึ่งปัจจุบันคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต). ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ 25 สิงหาคม 2514
จอมพลถนอมยึดอำนาจ 17 พ.ย.2514
2516
แพทย์รับทุนรุ่นแรกเริ่มปฏิบัติงานชดใช้ทุนหลังผ่านการฝึกอบรมแพทย์ฝึกหัด 1 ปี
เกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ของผู้เข้าไปล่าสัตว์ป่าที่ทุ่งใหญ่ ตกที่อำเภอบางเลน นครปฐม. มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงออกคำสั่งลบชื่อนักศึกษา 9 คน ที่ออกมาคัดค้าน. เกิดการชุมนุมข้ามคืนครั้งแรกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 21-22 มิถุนายน 2516 รัฐบาลสั่งให้นักศึกษาที่ถูกลบ ชื่อกลับเข้าเรียน
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เขียนจดหมาย “นายเข้มแข็ง เย็นยิ่ง” ถึงผู้ใหญ่ “ทำนุ เกียรติก้อง” เรียกร้องให้คืน “กติกาหมู่บ้าน” ให้ประชาชน
เกิดขบวนการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แพทย์ชนบทที่เข้าร่วมลงชื่อ 1 ในร้อยคน คือ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน
เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เสนอบทความ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน : ความหวังของประชาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
2517
มีการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวงสาธารณสุขครั้งสำคัญ สร้างเอกภาพทั้งระดับจังหวัด และส่วนกลาง ให้หน่วยงานทางด้านรักษาพยาบาลและด้านป้องกันโรคอยู่ในโครงสร้างเดียวกันภายใต้ "สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข"
ผู้นำการปฏิรูป คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข, ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุข, อาจารย์ฝ่ายก้าวหน้าในโรงเรียนแพทย์. แพทย์ชนบทหลายคนร่วมสนับสนุนการปฏิรูปครั้งนี้ด้วย
มีการผลักดันในการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดบทบัญญัติโดยแพทย์กลุ่มก้าวหน้า รวมทั้งแพทย์ชนบท ทำให้รัฐธรรมนูญ 2517 มีบทบัญญัติสำคัญครั้งแรก ดังนี้
มาตรา 92 รัฐพึงส่งเสริมการสาธารณสุข ตลอดถึงการอนามัยครอบครัว และพึงคุ้มครองสุขภาพของบุคคล และสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย รัฐพึงให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ยากไร้โดยไม่คิดมูลค่าการป้องกันและปราบปรามโรคติดต่ออันตราย รัฐจะต้องกระทำให้แก่
ประชาชน โดยไม่คิดมูลค่า
สาระสำคัญในบทบัญญัตินี้ คงอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับ มาตรา 92 วรรคสอง เป็นรากฐานสำคัญทำให้เกิดนโยบายรักษาฟรีในรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2518 และพัฒนาต่อมาเป็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “ระบบบัตรทอง” ในเวลาต่อมา
มาตรา 92 วรรคสาม เป็นรากฐานสำคัญ ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมและป้องกันโรคติดต่ออันตรายอย่าง โควิด-19 ได้ดีพอสมควร จนได้รับยกย่องอย่างสูงจากองค์การอนามัยโลกและนานาชาติ
2518
รัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ประกาศนโยบายรักษาฟรีและนโยบายสร้างโรงพยาบาลอำเภอทุกอำเภอ เพิ่มงบประมาณก้อนใหญ่ให้กระทรวงสาธารณสุข
2519
มีการรวมตัวครั้งแรกของแพทย์ชนบท จำนวน 50-60 คน ที่เขาใหญ่ จัดตั้ง "สหพันธ์แพทย์ชนบท" โดยมุ่งทำงาน เพื่อยกระดับการแพทย์และสาธารณสุขใน ชนบทเป็นหลัก
สหพันธ์แพทย์ชนบท สามารถผลักดันให้มีการประชุมผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศที่หอประชุมโรงพยาบาลสงฆ์ และออกวารสารได้ 1 ฉบับ
หลักการ มุ่งทำงานเพื่อชาวชนบทเป็นเป้าหมายหลัก เป็นไปตามพระราโวาชของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกที่ว่า “ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
2520
รัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เชิญชวนประชาชนบริจาคสร้าง “โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช" เพื่อเป็นที่ระลึกในวโรกาส ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารทรงอภิเษกสมรส. ประชาชน ถวายความจงรักภักดีร่วมบริจาคจนทำ ให้สามารถสร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชได้ถึง 21 แห่ง ในอำเภอห่างไกล และทุรกันดารทั่วประเทศ
2521
เกิดรัฐประหารล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร หลังรัฐประหาร พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเริ่มนโยบายปรองดอง
แกนนำสหพันธ์แพทย์ชนบทราว 20 คน ประชุมกันที่จังหวัดขอนแก่น ฟื้นบทบาทของกลุ่ม เปลี่ยนชื่อเป็น "ชมรมแพทย์ชนบท "เน้นวัตถุประสงค์เดิม มุ่งพัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขในชนบท
สังคมแสดงความห่วงใยการให้บริการของโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เกรงจะมีปัญหา เพราะผู้บริหารเป็นแพทย์จบใหม่ ขาดทักษะการบริหาร และต้องทำงานภายใต้ความขาดแคลน. กระทรวงสาธารณสุขจึงจัดอบรมผู้ที่จะไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช โดยเชิญแพทย์ที่มีประสบการณ์ในชมรมแพทย์ชนบทมาร่วมตั้งแต่การจัดหลักสูตร และการเป็นวิทยากร
กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบายที่ " ชาญฉลาด" แทนที่จะดึงทรัพยากร มารวบรวมไว้ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช เพื่อให้มั่นใจว่าโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชจะให้บริการได้ดี ซึ่งจะมีผลให้โรงพยาบาลอำเภออื่นๆ ขาดแคลนยิ่งขึ้น. กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเป็น "ต้นแบบ" ของโรงพยาบาลอำเภอขนาด 30 เตียง
เดิมหน่วยงานที่มีอำนาจต่างๆพยายามจำกัดกรอบอาคาร, ครุภัณฑ์, เครื่องมือแพทย์, บุคลากรของโรงพยาบาลขนาดเล็ก
แต่เมื่อเป็น "โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช " หน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ และสำนักงาน กพ.จึงยอมกำหนด "กรอบที่เหมาะสม" ให้
เป็นผลให้โรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศ ได้รับอานิสงส์จากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ซึ่งผลที่ได้คือ "ประโยชน์สุข" ของประชาชนในชนบททั่วประเทศ
กระทรวงสาธารณสุข ให้ความไว้วางใจชมรมแพทย์ชนบทอย่างสูง ในการพัฒนาโรงพยาบาลอำเภอทั่วประเทศ ได้แก่
- มอบให้เป็นผู้ร่าง นิยาม และบทบาทหน้าที่ของโรงพยาบาลอำเภอ
- ให้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบอาคาร, เครื่องมือ และบุคลากร
- ให้เป็นผู้จัดทำ "คู่มือโรงพยาบาลอำเภอ"
- ให้เป็นผู้จัดทำ"คู่มือการบริหารและการบริการโรงพยาบาลอำเภอ" ในทุกด้านทั้งการบริหารบุคลากร, เงิน, สิ่งของ; การปฏิบัติงาน ด้านการรักษาพยาบาล, การส่งเสริมสุขภาพ, การเภสัชกรรม, การทันตกรรม, การสุขาภิบาลและการป้องกันโรค ทำให้ได้ชุดคู่มือปฏิบัติงานขนาดใหญ่. แพทย์จบใหม่ทุกคน ที่ใช้คู่มือเหล่านี้ ประเมินผลว่า คู่มือดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการทำงานในโรงพยาบาลอำเภอได้กว่า 90% ที่เหลือก็สามารถขอคำปรึกษาจากพี่ๆในชมรมแพทย์ชนบทได้
- ร่วมในการจัดหลักสูตร และการดำเนินการฝึกอบรมปฐมนิเทศผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอจบใหม่
- ร่วมในโครงการพัฒนาโรงพยาบาลอำเภอที่จัดโดยกองการพยาบาล
2523
เกิดวิกฤตการณ์พลังงาน รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และประกาศลาออก. สภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี. ชมรมแพทย์ชนบทลงชื่อเสนอให้พล.อ. เปรม เสนอแต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข ซึ่ง ศ.นพ.เสม ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่เสนอ
ช่วงนั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องลดค่าเงินบาท และขอกู้เงินจากไอเอมเอฟ; แต่รัฐบาล พล.อ.เปรม ประกาศนโยบายสร้างโรงพยาบาลอำเภอครบทุกอำเภอ และสถานีอนามัยครบทุกตำบล. ทั้งนี้โดยการเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งสำคัญ ถือว่าความมั่นคงทางสุขภาพของประชาชนเป็นส่วนสำคัญในความมั่นคงของประเทศ
แพทย์ชนบทได้ทราบข่าวว่า จะมีการสร้างอาคารขนาดใหญ่ ที่โรงพยาบาลเลิดสิน จึงคัดค้าน และโครงการนั้นก็ระงับไป. นโยบายสร้างโรงพยาบาลอำเภอครบทุกอำเภอ และสถานีอนามัยครบทุกตำบล ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาล พล.อ.เปรม มีนโยบายชะลอการก่อสร้างในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นเวลา 5 ปี
2525
นายแพทย์มานิตย์ ประพันธ์ศิลป์ และนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลย์ผลประเสริฐ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภาครั้งแรก ไม่ได้รับเลือกตั้ง. 2 ปีต่อมา สมัครอีก และได้รับเลือกตั้งเข้าไปครั้งแรก แต่ "ทำอะไรไม่ค่อยได้" เพราะมีเพียง 2 เสียง สมัยต่อมา จึง "จัดทีม" ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งเป็นกลุ่มใหญ่ของกรรมการจากการเลือกตั้ง
นายแพทย์สุวิทย์ ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการแพทยสภา นายแพทย์วิชัย เป็นรองเลขาธิการ และนายแพทย์สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เป็นเหรัญญิก. เป็นครั้งแรกที่มีการปฏิรูประบบงานของแพทยสภา โดยนายแพทย์สุวิทย์ จัดทำแผนปฏิบัติการระยะ 2 ปี ตามวาระของคณะกรรมการ ทำให้งานต่างๆ ทั้งงานนโยบายและงานประจำได้รับการพิจารณารวมครั้งเดียว ไม่ต้องนำเสนอทีละเรื่อง. ทีมแพทย์ชนบทได้รับเลือกอีกหลายครั้ง และมีโอกาสเข้าไปเป็นบรรณาธิการ "แพทยสภาสาร" โดยนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เข้ารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการ นายแพทย์วิชัย เขียนบทความชุด " ทัศนะใหม่ในการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลอำเภอ" 10 ตอน ส่งเสริมให้แพทย์ชนบท สามารถทำงานอย่างมีความสุขประสบความสำเร็จและอยู่ได้ยาวนาน
2529
แพทย์ชนบทส่วนหนึ่ง ย้ายเข้ามาทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ในตำแหน่งหน้าที่ต่างกัน และเข้ามาอยู่ใกล้กัน เริ่มมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน. นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เสนอให้ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เรียกประชุมเพื่อ "ปรับความเข้าใจกัน" อาจารย์ประเวศแนะนำว่า การประชุมปรับความเข้าใจไม่มีประโยชน์ และจะไม่สำเร็จแม้ทุกคนจะรับปาก. จึงแนะนำให้จัดประชุมกันอย่างสม่ำเสมอตามหลักอปริหานิยธรรม และเน้นความเป็นกัลยาณมิตรกัน โดยให้คิดประเด็นทำงานร่วมกัน ไม่ต้องพูดถึงความขัดแย้ง แต่ความขัดแย้งจะคลี่คลายไปเอง เมื่อทุกคนเผชิญปัญหาร่วมกัน
การประชุมครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2529 และมีการประชุมต่อมาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน โดยอาจารย์ประเวศนั่งหัวโต๊ะร่วมประชุมทุกครั้งไม่เคยขาด ต่อเนื่องมา 37 ปี
ผู้นำเสนอในที่ประชุมกลุ่มสามพราน คนแรก คือนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ซึ่งเพิ่งกลับจากการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา. นายแพทย์สุวิทย์ ได้สร้างมาตรฐานไว้สูงตั้งแต่ต้น เตรียมเอกสารมาถึง 50 หน้า พูดถึงปัญหาสาธารณสุขของประเทศโดยรวมอย่างเป็นระบบ
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ได้รับคัดเลือกเป็นแพทย์ชนบทดีเด่นของคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มีผลให้ได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการแพทยสภาด้วยคะแนนที่ 1 ของประเทศ
2530
แพทย์ชนบทในกลุ่มสามพรานร่วมกันทำงานชิ้นแรก คือ การวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จาก 4 ภาคของประเทศ รวม 5 สาย จากอุบลราชธานี, หนองคาย, เชียงใหม่, สุราษฎร์ธานี และตราด
ใช้เวลา 1 สัปดาห์ รวบรวมรายชื่อ ได้ราว 10 ล้านรายชื่อ สนับสนุนการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นำมามอบให้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาที่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มอบต่อให้ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเก็บรักษาไว้
ผลการรณรงค์ดังกล่าว มีส่วนสำคัญ ทำให้สามารถต่อสู้กับธุรกิจบุหรี่ข้ามชาติ
กล่าวคือ แม้จะถูกบังคับให้ต้องเปิดตลาดให้แก่บุหรี่ต่างชาติ แต่สามารถออกมาตรการรณรงค์ เรื่องบุหรี่ เช่น ขึ้นภาษี, ห้ามโฆษณา, จำกัดสถานที่สูบ, จำกัดอายุผู้ซื้อ, จำกัดวิธีการขาย. ผู้มีบทบาทสำคัญในการวิ่งรณรงค์ครั้งนั้น คือ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการแพทยสภา
2533
ประกาศใช้ พ.ร.บ. ประกันสังคม. ศาสตราจารย์นิคมจันทรทุร เชิญนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เข้าไปวางระบบบริการทางการแพทย์ มีนายแพทย์ถาวร สกุลพาณิช ช่วยทำงานทางวิชาการ. นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร จบปริญญาเอกสาขา เศรษฐศาสตร์สาธารณสุข จากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัย ลอนดอน เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเสนอระบบและอัตราเหมาจ่ายรายหัว
นายแพทย์ สงวนชักชวนนายแพทย์วิชัย เข้าไปร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคมชุดแรก. ร่วมกันผลักดันในเรื่องต่างๆ ได้แก่ (1) คัดค้าน มิให้มีการสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม ให้ใช้โรงพยาบาลที่มีอยู่เดิมทั้งรัฐและเอกชน ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาลขึ้นเป็นการเฉพาะ
เพราะประกันสังคมเริ่มต้นบังคับใช้กับกิจการที่มีผู้ประกันตน 20 คนขึ้นไป ปีแรกจึงมีผู้ประกันตนราว 1.8 ล้านคนเท่านั้น
การสร้างโรงพยาบาลจะต้องใช้เงินมากและมีปัญหาการบริหาร
ข้อสำคัญจะเป็นการรวมศูนย์การบริการไม่กระจายไปทั่วประเทศตามการกระจายตัวของผู้ประกันตน (2) ให้ใช้ระบบเหมาจ่ายรายหัว (Capitation) ซึ่งจะควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ไม่เป็นภาระต่อผู้ประกันตน นายจ้าง และรัฐบาล (3) เสนอตัวเลขเหมาจ่ายคนละ 750 บาทต่อปี
นายอำพล สิงหโกวินท์ เลขาธิการประกันสังคมและคณะกรรมการการแพทย์ตัดสินที่ 700 บาท และคงตัวเลขนี้ตลอด 4 ปีแรก
นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ขอเป็น 1,200 บาท ถ้าไม่ได้จะไม่ให้สมาชิกเข้าร่วมตั้งแต่แรก. คณะกรรมการการแพทย์แก้เกมโดยเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งเห็นชอบและมีมติให้โรงพยาบาลรัฐทุกแห่งรับประกันสังคม
2535
สภานิติบัญญัติออกกฎหมายบุหรี่ 2 ฉบับ ช่วยให้การรณรงค์เรื่องสูบบุหรี่ได้ผลดีมากในประเทศไทย
แชมเปี้ยนในเรื่องบุหรี่ คือนายแพทย์หทัย ชิตานนท์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาทกกิจ
โดยการนำและการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี
แพทย์ชนบทที่มีบทบาทสำคัญในช่วงนั้นคือ นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ และนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพธราดล. ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
รุ่นต่อมาคือ นายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายประจำของสำนักงานองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ กรุงนิวเดลี
ตราพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข แพทย์ชนบทที่มีบทบาทสำคัญเรื่องนี้ คือ นายแพทย์สงวน นิตยารัมพงค์ โดยการมอบหมายของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี
เกิดกรณีโยกย้ายเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และอธิบดีกรมควบคุมโรคติดต่ออย่างไม่เป็นธรรม แพทย์ชนบทอย่างแข็งขัน โดยการนำของนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ, นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล, นายแพทย์ทรงกิจ อติวนิชย์พงศ์. ฯลฯ จนเกิดการปรับคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ ให้ย้ายกลับ
2536
เริ่มผลักดันแนวคิด " การคลังเพื่อสังคม" ( Social financing) และเริ่มคณะทำงาน 2 คณะ เพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรและกลไกที่เป็นรูปธรรม
2537
รต.ฉลาด วรฉัตร ประกาศจะอดข้าวจนตาย ถ้าไม่มีรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยประชาชน ศาสตราจารย์มารุต บุนนาค ประธานรัฐสภา แต่งตั้งศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย แพทย์ชนบทได้รับแต่งตั้งเข้าร่วมเป็นกรรมการ คือ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน และนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์
2538
มีการต่อต้านการทุจริตโครงการเทเลเมดิซีน (Telemedicine) โดยแพทย์ชนบท คือ นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ. ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมจนโครงการต้องระงับไป
แต่ยังมีการทุจริตการจัดซื้อรถพยาบาลและเครื่องมือแพทย์จากสวีเดน และการทุจริตการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในโรงพยาบาลต่างๆ จำนวนมาก
2540
เกิดรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่งเสริมพัฒนาการของพรรคการเมือง และมุ่งสร้างให้เกิด "รัฐบาลเข้มแข็ง" (Strong Government) โดยมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ เพื่อเปิดโอกาสให้เทคโนแครตเข้ามาเป็น ส.ส. และรัฐมนตรีได้ และส่งเสริมให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียวให้สามารถผลักดันนโยบายสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเจริญให้แก่ประเทศได้
เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ครั้งใหญ่
เกิดกรณีทุจริตยา 1400 ล้าน แพทย์ชนบท เช่น นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงษา, นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน, นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ, นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ, นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์, ฯลฯ ออกมาต่อสู้คัดค้านอย่างแข็งขัน ร่วมกับภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน
ในที่สุด เกิดการสอบสวนทั้งโดยคณะกรรมการที่มีนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน, ป.ป.ช, กระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้องประกาศลาออก นายแพทย์วิชัย ได้รับแต่งตั้งจากนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
คณะกรรมการมีนายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ และนายแพทย์ จักรธรรม ธรรมศักดิ์ ร่วมด้วยได้สอบสวนและจัดทำรายงานที่เป็นหลักฐานสำคัญ และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินลงโทษจำคุกอดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข (นายแพทย์รักเกียรติ สุขธนะ) เป็นเวลา 15 ปี เป็นรัฐมนตรีคนที่ 2 ในประวัติศาสตร์ที่ถูกจำคุก คดีทุจริต
2542
โรงพยาบาลบ้านแพ้วออกนอกระบบ เป็นองค์การมหาชนแห่งแรก ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ผู้มีบทบาทสำคัญที่เข้าไปทำหน้าที่บริหารโรงพยาบาลนี้มาก่อนหน้านั้น คือนายแพทย์วิทิต อรรถเวชกุล
2544
ตราพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้มีบทบาทสำคัญเรื่องนี้ คือ นายแพทย์หทัย ชิตานนท์, ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาทกกิจ และนายแพทย์สุภกร บัวสาย
2545
รัฐบาลเริ่มนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ซึ่งเริ่มจากการนำเสนอต่อพรรคไทยรักไทย ช่วงปลายปี 2543 โดยนายแพทย์สงวน นิตยารัมพงศ์ และนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน
เมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง ได้เริ่มดำเนินการนโยบาย “30 บาท รักษาทุกโรค” ตั้งแต่ต้นปี 2544 และผลักดันจนเกิดพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แพทย์ชนบทที่มีบทบาทสำคัญเรื่องนี้ คือนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, นายแพทย์มงคล ณ สงขลา, นายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร, นายแพทย์สุวิทย์
วิบุลย์ผลประเสริฐ, นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน, นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ
มีการก่อตั้งสำนักพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ( International Health policy Program : IHPP) ซึ่งเริ่มจากการรวมโครงการเมธีวิจัยอาวุโส ( Senior Research Scholar : SRS) ของนายแพทย์วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กับโครงการเมธีสุขภาพระหว่างประเทศ ( International Health Scholar: IHS) ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นมันสมองสำคัญ ในการวิจัยด้านสาธารณสุข
มีการก่อตั้งโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (Health Intervention and Technology Assessment Program : HITAP) เป็นหน่วยงานสำคัญในการคัดกรองเทคโนโลยีต่างๆ เข้าสู่สิทธิประโยชน์ของ สปสช. ทำให้สามารถนำยา และเทคโนโลยีทันสมัยต่างๆเข้าสู่ระบบบริการ โดยควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างเหมาะสม. งานนี้ผู้นำคนสำคัญคือนายแพทย์ยศ ธีระตันติกานนท์ ศิษย์เอกของนายแพทย์วิโรจน์
2549
เริ่มการบังคับใช้สิทธิ์ กับสิทธิบัตรยา 7 ชนิด เริ่มจากยาเอดส์ ต่อด้วยยาโรคหัวใจ และยามะเร็ง ถูกต่อต้านมากจากธุรกิจยาข้ามชาติ แต่ฟันฝ่ามาได้ด้วยดี สามารถทำให้ประชาชน เข้าถึงยาจำเป็นเพื่อช่วยชีวิตได้อย่างกว้างขวาง ทั่วประเทศ และประหยัดงบประมาณได้ราว 1 แสนล้านบาท. ผู้มีบทบาทสำคัญ คือ นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ, นายแพทย์มงคล ณ สงขลา, นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ, นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพธราดล, นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน. เครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคม มอบรางวัลแก่แกนนำ 4 คน คือ นายแพทย์มงคล, นายแพทย์สุวิทย์, นายแพทย์วิชัย และนายแพทย์ศิริวัฒน์
2550
เกิดพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ แพทย์ชนบทผู้มีบทบาทสำคัญเรื่องนี้ คือ นายแพทย์อําพล จินดาวัฒนะ
เกิดไทยพีบีเอส โดยการริเริ่ม และสนับสนุนของ สสส. ให้ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ ทำการศึกษาและร่างกฎหมายไว้. เมื่อหน้าต่างแห่งโอกาสเปิด จึงผลักดันผ่านรองนายกรัฐมนตรี ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม โดยทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการ สสส. มีบทบาทสำคัญโดยเข้าไปรับตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และคณะ
2551
ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พัฒนา ขึ้นในระบบบัตรทอง ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก. ต่อมาขยายการครอบคลุมประชาชน ในระบบประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ โดยออกเป็นพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ. 2551 แพทย์ชนบทที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ คือ นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย และนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ
เกิดพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 แพทย์ชนบทที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน คือ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา และนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ
2552
เกิดสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาตามพระราชบัญญัติองค์กรมหาชน แพทย์ชนบทผู้มีบทบาทสำคัญคือ นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล
รัฐบาลมีโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” ของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสร้างอาคาร และจัดซื้อครุภัณฑ์จำนวนมาก วงเงิน 86,685.61 ล้านบาท. แพทย์ชนบทจำนวนมากออกมาเปิดโปงการจัดซื้อ จัดจ้างในราคาสูงเกินเหตุ จนเป็นข่าวครึกโครมต่อเนื่อง. รัฐบาลทนแรงกดดันไม่ได้ จึงแต่งตั้งนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ฉายา “เปาบุ้นจิ้น” เมืองไทย ในวัย 80 เศษ เป็นประธานกรรมการสอบข้อเท็จจริง นายแพทย์บรรลุเสนอแต่งตั้งนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นกรรมการและเลขานุการ มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ เป็นกรรมการร่วมด้วย. และมีแพทย์ชนบทร่วมเป็นกรรมการ คือ นายแพทย์สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย, นายแพทย์นิวัติชัย สุจริตจันทร์ และนายแพทย์วชิระ บถวิบูลย์ ร่วมเป็นกรรมการ
คณะกรรมการฯ ใช้เวลาสอบข้อเท็จจริงรวม 69 วัน เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล. รุ่งขึ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศลาออก
ต่อมารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขลาออกหลังจากการถูกกดดันทางสื่อโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีฟ้องคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งทางอาญา
และทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 300 ล้านบาท ศาลไม่รับฟ้อง ทั้งศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
แพทย์ที่รายงานของคณะกรรมการส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. สอบสวนแจ้งความดำเนินคดีที่นครศรีธรรมราช. ผู้ถูกกล่าวหาต้องไปประกันตัว และต่อสู้คดีที่นครศรีธรรมราชหลายครั้ง ในที่สุดศาลยกฟ้อง และแจ้งว่าคดีนี้ไม่ควรรับฟ้องตั้งแต่ต้น
รัฐมนตรีสาธารณสุขคนใหม่ สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามรายงานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้สิ่งก่อสร้างและเครื่องมือแพทย์ที่มีคุณภาพ และราคาเหมาะสม มีผลต่องบประมาณ 11,515 ล้านบาท ที่เริ่มดำเนินการไปแล้ว ส่วนที่เหลือรัฐสภาไม่อนุมัติเงินกู้ จึงระงับไป
เกิดระบบจูงใจแพทย์ใช้ทุนที่หมดพันธะชดใช้ทุนแล้ว ให้คงทำงานอยู่ในชนบทต่อไป (Retention of health Professional in rural area) โดยการเพิ่มเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายให้แก่ 4 วิชาชีพ ในโรงพยาบาลชุมชน ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลวิชาชีพ
2553
เกิดกองทุนหลักประกันสุขภาพผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ เป็นการคืนสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข ให้กับคนไร้รัฐหรือบุคคลในพื้นที่สูงที่อยู่ระหว่างการพิสูจน์สิทธิ จำนวน 457,409 คน ตามมติ ครม. วันที่ 23 มีนาคม 2553 แต่ก็ยังมีคนชายขอบอีกกว่า 250,000 คน ที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ
2556
เสนอแนะการแก้ปัญหากำลังคนในชนบทต่อรัฐบาล ไม่เห็นด้วยกับการตัดเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพราะจะทำให้เกิดสภาวะสมองไหลออกจากชนบท และให้ใช้ระบบการจ่ายค่าตอบแทนตามการปฏิบัติงาน (P4P) แทน
เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างเสริมสุขภาพ (คศน.) (Leadership Development Network for Health) มีกิจกรรมให้ผู้นำที่เข้ารับการฝึกอบรมทำโครงการร่วมกัน. มีโครงการ 1 คือ โครงการพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ เป็นการวิจัย ปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมนำร่องในอำเภอนำร่องราว 60 อำเภอ โครงการนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี
ต่อมากระทรวงมหาดไทยได้ออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี สนับสนุนโครงการให้ดำเนินการทั่วประเทศ เป็นกรอบการขับเคลื่อนประเด็นด้านสุขภาพ โดยความร่วมมือของทุกส่วนราชการในระดับอำเภอ มีนายอำเภอเป็นประธาน ใช้กรอบความคิดเรื่อง “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” (Social determinants of health) เป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อน แพทย์ชนบทที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ คือ นายแพทย์ประสิทธิชัย มั่งจิตร, นายแพทย์สุวัฒน์ วิริยะพงษ์สุกิจ, นายแพทย์เดชา แซ่หลี เป็นต้น โดยแพทย์ชนบทผู้มีบทบาทคนสำคัญในโครงการ คศน. คือ นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
2561
เกิดกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมีการก่อตัวขึ้นใน สสส. เป็นเวลายาวนาน ผู้มีบทบาทสำคัญคือนายแพทย์สุภกร บัวสาย
2562
เกิด พ.ร.บ. วิสาหกิจเพื่อสังคม โดยมีการก่อตัวขึ้นใน สสส. เป็นเวลายาวนานผู้มีบทบาทสำคัญคือนายแพทย์สุภกร บัวสาย. ดร.ทันตแพทย์สุปรีดา อดุลยานนท์, ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ และนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน
การขับเคลื่อนเรื่องการบริการปฐมภูมิมีการศึกษาต่อเนื่องและมีการผลักดันในรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับบริการปฐมภูมิ. ผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้คือแพทย์หญิงสุพัตรา ศรีวณิชชากร อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทและคณะ
2563
การระบาดของโควิด-19 ควบคุมได้ค่อนข้างดีในปี 2563 แต่มีปัญหาและบาดใหญ่ช่วงกลางปี 2564
2564
แหล่งระบาดใหญ่ ใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ ชมรมแพทย์ชนบท นำโดยนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ และทีมงาน จากหลายโรงพยาบาลชุมชน จัดทีม "บุกกรุง " ช่วยในการควบคุมป้องกันโควิด-19 ในกรุงเทพฯหลายช่วงจนสถานการณ์คลี่คลาย
มีการสรุปบทเรียนเป็นข้อเสนอแนะรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรวัคซีนอย่างทั่วถึงเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ. แพทย์ชนบทที่มีบทบาทสำคัญ คือ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ซึ่งเป็นประธานชมรมแพทย์ชนบทในขณะนั้น