"... จำนวนผู้เสียชีวิตในนี้เป็นเด็กถึง 70% แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น คนที่อยู่บ้านเดียวกัน อย่างเด็กเล็กก็สามารถถ่ายทอดเชื้อกันได้ ผ่านสารคัดหลั่ง การไอจาม ซึ่งมีการติดตามข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า คนที่ป่วยและไปอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ 4 ชั่วโมงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้..."
นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิง (Mpox) เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก (Public Health Emergency of International Concern: PHEIC) เมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้กลายเป็นความน่ากังวลสำหรับนานาชาติ หลังจากโรคแพร่กระจายจากการระบาดประเทศคองโก มีผู้เสียชีวิตกว่า 450 คน ไปตามประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก
สถานะ PHEIC คือระดับการเตือนภัยสูงสุดของ WHO เพื่อให้มีการเร่งวิจัย จัดระดมเงินทุน วางมาตรการด้านสาธารณสุข และประสานความร่วมมือระดับโลกเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดดังกล่าว
โรคฝีดาษลิง หรือเอ็มพอกซ์ เกิดจากไวรัสที่มีชื่อว่า ออร์โธพอกซ์ไวรัส (Orthopoxvirus) เป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่มีอันตรายถึงชีวิต แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดจากสัตว์ฟันแทะและติดต่อสู่คนบ่อยเพิ่มมากขึ้นมานานหลายสิบปี แต่จำนวนผู้ป่วยในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องมาจากไวรัสนั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กังวลว่าอาจทำให้ไวรัสชนิดนี้อันตรายยิ่งขึ้น
Clade 1b ติดง่าย พบได้ในเด็ก อัตราเสียชีวิตสูง
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลถึงสายพันธุ์ฝีดาษลิง ภายในงานสัมมนาวิชาการด้านจีโนมิกส์และการแพทย์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ว่า ฝีดาษลิง (Mpox หรือ Monkeypox) มีสายตระกูลเรียกว่า เคลท1 (Clade 1) เคลท 2 (Clade 2) โดยเคลท 1 มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10%
แต่ขณะนี้ที่ระบาดไม่ใช่เคลท 1 แต่ปรับเปลี่ยนสายพันธุ์มาเป็นเคลท 1บี (Clade 1b) ซึ่งเคลท 1บี ยังน่ายินดีตรงที่อัตราการเสียชีวิตลดลงเหลือ 1% แต่ติดต่อง่ายกว่า ปี 2565 ที่มีการระบาด ของสายพันธุ์เคลท 2บี แต่ไม่รุนแรงเหมือนกัน โดยประเทศไทย ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์เคลท 2บี
ดังนั้น เห็นได้ว่า ฝีดาษลิงสายพันธุ์ เคลด 1 บี (Clade 1b) เป็นสายพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว แต่ปรับตัวเองให้ติดเชื้อง่ายขึ้น จากเดิมปี 2565 เคยระบาดเคลด 2 บี มีความแตกต่างกันโดยในอดีตติดต่อค่อนข้างยาก ต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิด พบมากในกลุ่มชายรักชาย แต่ปีนี้กลับเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสาธารณรัฐคองโก มีการติดต่อง่ายขึ้น ปัจจุบันมีคนติดเชื้อเคลด 1 บีไปแล้วประมาณ 18,000 คน เสียชีวิตกว่า 500 กว่าคน
“ที่น่าตกใจคือ จำนวนผู้เสียชีวิตในนี้เป็นเด็กถึง 70% แสดงให้เห็นว่าการติดเชื้อสายพันธุ์นี้ง่ายขึ้น คนที่อยู่บ้านเดียวกัน อย่างเด็กเล็กก็สามารถถ่ายทอดเชื้อกันได้ ผ่านสารคัดหลั่ง การไอจาม ซึ่งมีการติดตามข้อมูลจากแอฟริกาพบว่า คนที่ป่วยและไปอยู่ในบ้านเดียวกันประมาณ 4 ชั่วโมงมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ ทั้งจากการสัมผัสเชื้อจากสารคัดหลั่ง การใช้มือที่สัมผัสเชื้อขยี้ตา การไอหรือจาม โดยไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ ย่อมติดเชื้อได้ แต่ต้องย้ำว่า ไม่ใช่การติดเชื้อจากแอร์บอร์น” ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าว
สำหรับสายพันธุ์ที่มีการระบาดในประเทศคองโก ในปีนี้มีผู้ป่วยนับหมื่นราย และแพร่กระจายไปหลายประเทศในทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อยู่ในกลุ่มที่ 1 Clade 1 และมีการเปลี่ยนแปลงเป็น Clade 1b
โดยสายพันธุ์ Clade 1b พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ชายและหญิง และที่เสียชีวิตมากส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก เป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์กลุ่ม 2 การติดต่อนอกจากสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังพบว่าฝอยละอองทางการหายใจ ก็สามารถทำให้ติดได้ ดังนั้น สายพันธุ์นี้จึงเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจจะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ได้ทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ทุกรายของฝีดาษลิงจะต้องมีการเฝ้าระวัง ตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และแยกสายพันธุ์ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อมาตรการการป้องกันไม่ให้แพร่กระจายของสายพันธุ์กลุ่มที่ 2 ในประเทศไทย
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กYong Poovorawan เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ถึงการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง (ฝีดาษลิง) ว่า เดิมการระบาดของฝีดาษลิงใน 2 ปีที่ผ่านมา ระบาดมากนอกทวีปแอฟริกา เป็นสายพันธุ์กลุ่ม 2 Clade 2b รวมทั้งที่พบในประเทศไทยมากกว่า 400 ราย สายพันธุ์นี้ไม่รุนแรง พบในผู้ใหญ่เพศชาย ส่วนใหญ่จะเป็นการสัมผัสจากเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะในชายรักชาย 98% จึงเป็นเพศชาย
ฝีดาษลิงไม่ใช่โควิดสายพันธุ์ใหม่
ทั้งนี้ นายฮานส์ คลูจ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป กล่าวในการแถลงการณ์เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ว่า โรคฝีดาษลิง หรือ เอ็มพอกซ์ (mpox) จะไม่ระบาดรุนแรงเหมือนกับโรคโควิด-19 และความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปยังคงอยู่ในระดับต่ำ
“ดังนั้นเราจะเลือกใช้ระบบเพื่อควบคุมและกำจัดฝีดาษลิงทั่วโลกหรือไม่ หรือเราจะเข้าสู่วัฏจักรแห่งความตื่นตระหนกและการปล่อยปละละเลยอีกครั้ง วิธีการตอบสนองของเราในเวลานี้และในปีต่อๆ ไป จะเป็นการทดสอบที่สำคัญสำหรับยุโรปและโลก” นายฮานส์ กล่าว
สายพันธุ์ในคองโก มีแนวโน้มแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้ง่าย
ศูนย์จีโนมฯ หรือ Center for Medical Genomics โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่า ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade Ib ซึ่งพัฒนามาจาก Clade I มีบทบาทสำคัญในการระบาดครั้งใหญ่ DRC เป็นแหล่งกำเนิดการระบาดของฝีดาษลิง Clade I มาอย่างยาวนาน โดยมีการระบาดครั้งสำคัญในปี 2556 ที่จังหวัด Bokungu ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 600 เท่า ล่าสุดในปี 2567 พบไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade Ib ในจังหวัด South Kivu โดยการวิเคราะห์จีโนมพบความแตกต่างจาก Clade I และมีการกลายพันธุ์จาก APOBEC3 เป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้บ่งชี้ว่า Clade Ib อาจเกิดการกลายพันธุ์คล้ายกับ Clade IIb ซึ่งอาจนำไปสู่การระบาดที่แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสสารคัดหลั่ง
การระบาดของ Clade Ib ใน DRC เน้นย้ำถึงความจำเป็นในทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสฝีดาษลิงทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ป่วยในประเทศและแชร์ข้อมูลไปยังฐานข้อมูลไวรัสฝีดาษลิงโลก จีเสส (GISAID) เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด การวิวัฒนาการที่เกิดจาก APOBEC3 ในไวรัสฝีดาษลิง Clade Ib อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อที่รวดเร็วและปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ดีขึ้น คล้ายกับที่เกิดขึ้นในการระบาดทั่วโลกปี 2565 จาก Clade IIb สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัสฝีดาษลิงอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนากลยุทธ์ด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
การศึกษาในคองโกยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอัตราการกลายพันธุ์ในแต่ละสายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษลิง โดยพบว่า:
- สายพันธุ์ Ia มีการกลายพันธุ์จาก APOBEC3 เพียง 10.7% บ่งชี้ว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
- สายพันธุ์ Ib มีการกลายพันธุ์ 20.7% แสดงถึงการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนที่เพิ่มขึ้น
- สายพันธุ์ IIb มีการกลายพันธุ์สูงถึง 35.9% สอดคล้องกับการระบาดทั่วโลกในปี 2565 ที่แพร่เชื้อระหว่างคนเป็นหลัก
ความแตกต่างนี้สะท้อนถึงรูปแบบการแพร่เชื้อที่แตกต่างกัน โดยสายพันธุ์ Ib และ IIb มีแนวโน้มแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ Ia อย่างชัดเจน
พบผู้ติดเชื้อนอกแอฟริการายแรกที่สวีเดน
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับโลกยืนยันว่าพบผู้ติดเชื้อไวรัสโรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่ในสวีเดน และเชื่อมโยงการติดเชื้อดังกล่าวกับการระบาดที่เพิ่มขึ้นในแอฟริกา ซึ่งนับเป็นสัญญาณแรกของการระบาดออกนอกทวีปแอฟริกาภายในเวลาเพียงหนึ่งวันหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลก
ไทยพบผู้ป่วยเข้าข่าย รอยืนยันผล
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร (MPox) สายพันธุ์เคลด 1b (Clade 1b) ที่กำลังระบาดในบางพื้นที่แถบแอฟริกา ว่า ในประเทศไทย ได้รับรายงานว่าไทยพบผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร สายพันธุ์เคลด 1b แม้ว่ายังไม่ยืนยัน 100% แต่ค่อนข้างมั่นใจว่าไม่ใช่สายพันธุ์เคลด 2b
โดยรายนี้เป็นผู้ป่วยชายชาวยุโรป อายุ 66 ปี เดินทางมาจากประเทศต้นทางแถบแอฟริกา ที่กรมควบคุมโรคมีมาตรการคัดกรองผู้เดินทางอยู่แล้ว โดยต่อเครื่องบิน 1 ครั้ง ที่ประเทศแถบตะวันออกกลางถึงไทยเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เวลา 18.00 น.
ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยไข้ มีตุ่มบริเวณร่างกายเล็กน้อย ทางโรงพยาบาล (รพ.) ซักประวัติแล้วสงสัย จึงตรวจหาเชื้อไวรัสก่อโรคฝีดาษวานร ครั้งแรกตรวจหาสายพันธุ์เคลด 2b เป็นผลลบ จึงตรวจหาสายพันธุ์เคลด 1b ซ้ำ ผลออกมาไม่ชัดเจน
ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ซ้ำอีกครั้งด้วยการนำยีนไปตรวจ RT-PCR คาดว่าวันที่ 23 สิงหาคม จะทราบผลที่ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ป่วยไม่มีภาวะหรือโรคแทรกซ้อน และอาการป่วยไม่รุนแรง ถือว่าผู้ป่วยไปพบแพทย์เร็ว ทำให้มีช่วงเวลาที่สัมผัสกับผู้อื่นไม่มาก
“แม้ผลการตรวจผู้ป่วยยังไม่ยืนยัน 100% แต่ในการควบคุมป้องกันโรค การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร จึงต้องรีบมาแจ้งเตือนประชาชน เพราะถ้าเริ่มมีข้อมูลออกไปแล้ว คนไปหาข่าวกันเอง จะไปกันใหญ่” นพ.ธงชัยกล่าว
นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย จะเริ่มตั้งแต่ช่วงวันที่ 13 สิงหาคม ระหว่างอยู่บนเครื่องบิน โดยผู้โดยสารแถวที่ใกล้ชิด 2 แถวหน้าและหลัง รวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิดรวม 43 ราย ขณะนี้มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว ทางทีมสอบสวนโรคจึงประสานไปให้ผู้สัมผัสใกล้ชิด ในระยะ 21 วันนี้ ให้เฝ้าระวังตนเอง หากพบอาการป่วยให้รีบไปพบแพทย์ แต่ไม่ถึงขั้นต้องกักตัวเหมือนกับช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะการติดเชื้อฝีดาษวานรนั้น จะแพร่เชื้อได้ก็ต่อเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว
วัคซีนช่วยป้องกันได้ 68-80%
ล่าสุด สภากาชาดไทย โดยสถานเสาวภา ได้เปิดให้บริการวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 2,200 บาท ซึ่งได้มีคำแนะนำว่า วัคซีนฝีดาษลิง ที่เปิดให้บริการนี้ ยังไม่ใช่วัคซีนป้องกันโดยตรง แต่สามารถป้องกันความรุนแรงได้ถึง 68-80% โดยมีการบริการฉีด 2 วิธี ดังนี้
- วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง (ขนาดเต็มโดส 0.5 ML) ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน
- วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (ครั้งละ 0.1 ML) ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน (ต้องมาพร้อมกัน 4 ท่าน)
อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่ใช้ป้องกันฝีดาษลิงในปัจจุบัน มีราคาสูงและไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ของประชาชน ดังนั้นหากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่มีการสัมผัสใกล้ชิด ยังไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงกลุ่มบุคคลากรสาธารณสุขด่านหน้า ก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องรับวัคซีนเช่นกัน ทั้งนี้การฉีดวัคซีนคือกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อเท่านั้น จึงยังไม่จำเป็นสำหรับทุกคน
- ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับเชื้อ ได้แก่ ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาฝีดาษลิง และบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วย
- ผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยัน ควรได้รับภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือรับวัคซีนภายใน 2 สัปดาห์ หลังสัมผัสเชื้อ เพื่อลดความรุนแรงของอาการป่วย
กลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงหากติดเชื้อ
โรคฝีดาษลิง เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มีกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงมีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อฝีดาษวานร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ แบ่งออกเป็นทั้งหมด 8 กลุ่ม ดังนี้
- ผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีภูมิคุ้มกันต่ำ
- ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือด และโรคมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ
- ผู้ป่วยโรคมะเร็งอวัยวะต่างๆ
- ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยสาร/ยา/รังสี ที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง
- ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกอวัยวะต่างๆ
- ผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตนเอง
- เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 8 ปี
ข้อสังเกตลักษณะอาการโรคฝีดาษวานร
- ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศแถบแอฟริกา ควรต้องติดตามว่าประเทศเหล่านั้นมีการระบาดหรือไม่ และควรระมัดระวังการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคล
- หมั่นสังเกตอาการตนเอง ถ้ามีอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง
- เริ่มสังเกตเห็นมีผื่นขึ้นตามร่างกายเป็นตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนอง ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยรักษาตั้งแต่ต้น
ข้อเน้นย้ำการป้องกันโรคฝีดาษวานร
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่แออัด หรือคนพลุกพล่าน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดบุคคล และขอให้มีการทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวจุดสัมผัสร่วมสม่ำเสมอ
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
- หากผู้ที่มีอาการสงสัยสามารถขอเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านทุกแห่ง หากมีข้อสงสัยให้ติดต่อสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลเกี่ยวกับฝีดาษลิงที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม การรักษาความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้ลดอัตราเสี่ยงติดเชื้อได้เช่นกัน