"...ด้วยรูปเกมออกมาแบบนี้ คาดว่า ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร มีโอกาสบุญพาวาสนาส่งให้นั่งเก้าอี้นายกฯคนที่ 31 นับเป็นนายกฯหญิงคนที่ 2 ต่อจาก ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ และเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข ‘ชินวัตร’ ต่อจาก ‘พ่อทักษิณ-อายิ่งลักษณ์’ แม้ว่าการมาของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ คราวนี้เปรียบเสมือน ‘เดินบนเส้นลวด’ ก็ตาม..."
พลันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5:4 วินิจฉัยให้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ พ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ความระส่ำระส่ายก็เกิดขึ้นใน ‘พรรคเพื่อไทย’ ในทันที เพราะเป็นเรื่อง ‘บิ๊กเซอร์ไพรส์’ ไม่มีใครคาดคิดว่า ‘นายกฯนิด’ จะต้องพ้นเก้าอี้ แม้แต่เจ้าตัวเองในวันนัดฟังคำวินิจฉัยยังมีท่าทีไม่เครียด และส่ง ‘หมอมิ้ง’ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ ไปฟังคำวินิจฉัยแทนด้วยซ้ำ
- ครม.พ้นทั้งคณะ! ศาล รธน. มติ 5: 4 'เศรษฐา' ไม่รอด สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี
- ฉบับเต็ม! คำวินิจฉัยศาล รธน. 5:4 คดี 'เศรษฐา' อวสานนายกฯ เซลส์แมน 358 วัน
อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ว่ากันว่า ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ระแคะระคายคำวินิจฉัยมาล่วงหน้า 1 วัน จึงเริ่มมีการวางแผนล่วงหน้าไว้กะทันหัน ในช่วงที่เกิดกระแสข่าวปล่อย ‘เลขเด็ด’ 9:0 บ้าง 6:3 บ้าง ซึ่งเป็น ‘เลขปลอม’ และสื่อหลายสำนักนำมา ‘เก็ง’ กันทั้งวัน กระทั่งหวยออกที่ 5:4 ปิดฉากชีวิตทางการเมือง ‘เศรษฐา’ ลงไป โดยศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ ครม.พ้นทั้งคณะ ทำให้ต้องมาโหวตเลือกนายกฯคนใหม่กันในสภาผู้แทนราษฎร
สำหรับขั้นตอนการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่นั้น ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ประกอบมาตรา 160 ต้องเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น สส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 25 คน นอกจากนี้การเสนอชื่อดังกล่าวต้องมี สส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 50 คน
เท่ากับว่าปัจจุบันมีรายชื่อแคนดิเดตนายกฯในบัญชีพรรคการเมือง 4 พรรค รวม 6 คน ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 2 คน ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายชัยเกษม นิติสิริ พรรคภูมิใจไทย 1 คน ได้แก่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย พรรคพลังประชารัฐ 1 คน ได้แก่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 2 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา องคมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค สส.บัญชีรายชื่อ รักษาการ รมว.พลังงาน
หลังจากนั้นถนนทุกสายต่างมุ่งหน้าสู่ ‘บ้านจันทร์ส่องหล้า’ ในฐานะ ‘วอร์รูมรัฐบาล’ เพื่อหารือส่งแคนดิเดตนายกฯคนที่ 31 ทันที โดยรถยนต์ที่แล่นเข้าออกบ้านจันทร์ส่องหล้า มีทั้งรถยนต์ของแกนนำพรรคเพื่อไทย รวมถึงของพรรคร่วมรัฐบาล เช่น ‘เสี่ยหนู’ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ‘ท็อป’ วราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-เอกนัฏ พร้อมพันธุ์’ หัวหน้า-เลขาฯพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ‘สันติ พร้อมพัฒน์-ร.ต.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ รองหัวหน้า-เลขาฯพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นต้น
ว่ากันว่าในวงหารือดังกล่าวตั้งแต่ช่วงเย็น จนถึงค่ำมืด มีมติเคาะชื่อ ‘ชัยเกษม นิติสิริ’ มือกฎหมายประจำพรรค อดีต รมว.ยุติธรรม ยุครัฐบาล ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ และอดีตอัยการสูงสุด (อสส.) เป็นนายกฯคนใหม่ อย่างไรก็ดียังคงมีเสียงค้านจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหลายคน แม้แต่คนในพรรคเพื่อไทยเอง ที่เห็นว่า ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร น่าจะมีความเหมาะสมกว่า และสามารถเรียกคะแนนเสียงจากมวลชนได้มากกว่า
@ ชัยเกษม นิติสิริ
ทำให้ตั้งแต่เช้าวันที่ 15 ส.ค.แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น พรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา แม้จะมีท่าทีสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย แต่ออกตัวไม่เห็นด้วยกับบุคคลที่เคยมีส่วนสนับสนุนแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งหวยไปออกที่ ‘ชัยเกษม’ พอดี
โดยในช่วงปี 2564 สมัย ‘ชัยเกษม’ เป็น ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย เคยออกแถลงการณ์เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ในช่วงเวลาที่ ‘ม็อบราษฎร’ ยังมีกระแสสูง และเกิดม็อบไปทั่ว กทม. ทว่าเกิด ‘กระแสตีกลับ’ อย่างหนัก ทำเอา ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ต้องรีบเผยแพร่แถลงการณ์ออกมาสยบเรื่องนี้ทันทีว่า มาตรา 112 ไม่ได้เป็นปัญหา หลังจากนั้นบทบาทของ ‘ชัยเกษม’ ก็เงียบหายไปอยู่หลังฉาก โดยอ้างว่ามีปัญหาด้านสุขภาพ
นอกจากนี้ ‘ชัยเกษม’ ยังมีแผลเมื่อครั้งเป็น อสส. ระหว่างปี 2550-2552 โดยเฉพาะกับกรณี ‘ถุงขนม 2 ล้านบาท’ ที่แม้ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้ว ‘ชัยเกษม’ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาฐานให้สินบนของ ‘พิชิต-พวก’ ก็ตาม แต่ในฐานะ ‘เบอร์ 1’ ของสำนักงานอัยการฯ จึงอาจต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบเรื่องนี้เช่นกัน
นั่นจึงทำให้ ‘พรรคเพื่อไทย’ ต้องหารือด่วนอีกครั้งในช่วงสายวันที่ 15 ส.ค. ก่อนที่ ‘ผู้มีบารมีนอกพรรค-แกนนำพรรค’ จะลงมติเคาะชื่อ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ชิงเก้าอี้นายกฯคนที่ 31 แทน แม้ว่าก่อนหน้านี้ ‘สตรีเหล็กหลังม่าน’ จะยังเป็นห่วง ‘อุ๊งอิ๊ง’ ว่าจะไม่ปีกกล้าขาแข็งในทางการเมือง และยังไม่พร้อมนั่งเก้าอี้นายกฯ จึงเสนอชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เป็นนายกฯคนที่ 30 ไปก่อนภายหลังการเลือกตั้ง 2566
“อิ๊งยังอายุน้อย ประสบการณ์ก็น้อย แต่การที่เข้ามาทำงานการเมือง ก็เพื่ออยากทำให้พรรคเพื่อไทยเข้มแข็ง ส่วนทิศทางการเมืองของอิ๊ง ให้เป็นไปตามสเต็ป ขณะเดียวกันตัวอิ๊ง ก็บอกพ่อว่า เที่ยวบินตัวเองยังไม่ได้ ซึ่งพ่อเค้าก็เข้าใจ” เป็นคำที่ ‘สตรีหลังม่านเหล็ก’ กล่าวในวงกินข้าวก่อนการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปี 2566
ทว่าตอนนี้หมากการเมืองของ ‘เพื่อไทย’ จำเป็นต้องกู้วิกฤติศรัทธากลับมาให้ทันท่วงที โดยเฉพาะโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่กำลังเริ่มนับ 1 ก็แท้งลงเสียแล้วจากการที่ ‘เศรษฐา’ พ้นเก้าอี้ ทำให้ต้องอาศัยชื่อ ‘ชินวัตร’ กลับมานำพรรค เพื่อสานต่อโครงการเรือธงอีกครั้ง ซื้อใจบรรดา ‘แม่ยกแฟนคลับ’ ที่ตอนนี้ลดน้อยถอยลงไปทุกที
แต่ยังมี ‘เสี้ยนหนาม’ อีกอย่างที่ประมาทไม่ได้ นั่นคือความพยายาม ‘กลับขึ้นหลังเสือ’ ของ ‘พี่ใหญ่บ้านป่าฯ’ ที่เดินเกมมาโดยตลอดในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่ายพรรคเพื่อไทยรับรู้ และพยายามเดินหมาก ‘ขับออก’ จากพรรคร่วมรัฐบาลเช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน สส.ในสภาผู้แทนราษฎร เท่าที่มีอยู่ในขณะนี้มี 493 คน แบ่งเป็น สส.พรรคร่วมรัฐบาลรวม 314 เสียง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคภูมิใจไทย 71 เสียง หยุดปฏิบัติหน้าที่ 1 คน เหลือ 70 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคชาติไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 3 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง
สส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวม 179 เสียง ได้แก่ พรรคประชาชน (เดิมพรรคก้าวไกล) 143 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคไทยก้าวหน้า 1 เสียง
หากดูตามหน้าคณิตศาสตร์การเมือง ‘พรรคประชาชน’ แถลงยืนยันไม่โหวตนายกฯจากพรรคเพื่อไทย เนื่องจากเห็นว่าเสียงของรัฐบาลเพียงพอแล้ว จะทำให้เสียง สส.หายไป 143 เสียง เหลือเสียงในสภาฯเพื่อโหวตนายกฯ 350 เสียง โดยในจำนวนนี้เป็นของพรรคร่วมรัฐบาล 314 เสียงด้วยกัน
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ มีจำนวน สส.เพียง 40 เสียง หากยังดึงดันพยายามผลักดัน ‘พี่ใหญ่บ้านป่าฯ’ ชิงเก้าอี้นายกฯ น่าจะรวมเสียงได้ไม่เพียงพอ เพราะแม้แต่ ‘ลูกพรรค’ หลายคนก็ส่ายหัว ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ ควรเดินตามน้ำ เล่นตามบท เกาะค่ายสีแดงอยู่ฝ่ายรัฐบาลไปก่อน
แม้จะมีแผน ‘ซื้อตัวงูเห่า’ จากบรรดา ‘สส.ค่ายสีส้ม’ แต่แผนนี้เหมือนจะรับรู้กันโดยทั่วไป และเป็นไปได้ยากที่ สส.สีส้ม จะกล้า ‘แหกมติพรรค’ มาโหวตให้ ‘พี่ใหญ่บ้านป่าฯ’ เพราะผลการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ‘งูเห่า’ ไปไม่รอด หากต้องการยืนบนเวทีการเมืองระยะยาว การรับงานดังกล่าวย่อมไม่คุ้มค่า
ด้วยรูปเกมออกมาแบบนี้ คาดว่า ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร มีโอกาสบุญพาวาสนาส่งให้นั่งเก้าอี้นายกฯคนที่ 31 นับเป็นนายกฯหญิงคนที่ 2 ต่อจาก ‘ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร’ และเป็นผู้นำรุ่นที่ 3 ที่เป็นเลือดเนื้อเชื้อไข ‘ชินวัตร’ ต่อจาก ‘พ่อทักษิณ-อายิ่งลักษณ์’ แม้ว่าการมาของ ‘อุ๊งอิ๊ง’ คราวนี้เปรียบเสมือน ‘เดินบนเส้นลวด’ ก็ตาม
ภาพ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร จาก www.innnews.co.th
ส่วนการรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าเกือบทั้งหมดจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เหลือแค่การตัดสินใจของพรรคพลังประชารัฐว่าหลังจากนี้จะเดินเกมอย่างไรต่อ หากยังดื้อดึงเรื่อง ‘พี่ใหญ่บ้านป่าฯ’ ก็อาจถูกลอยแพพ้นตำแหน่งแห่งที่ในรัฐบาล พร้อมเตรียมดึง ‘พรรคอะไหล่’ ค่ายสีฟ้า ที่ว่ากันว่ามี ‘สัญญาใจ’ กันก่อนหน้านี้มาร่วมรัฐบาลแทน แม้ว่าเสียงจะหายไป แต่ก็ยังคงครองเสียงข้างมากเกือบ 300 เสียงในสภาฯได้เช่นเดิม
เดินหน้าผลักดันโครงการเรือธงอย่าง ‘แจกเงินดิจิทัล’ ให้สำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรม ดึงฐานเสียงแฟนคลับ ‘คนเสื้อแดง’ ให้กลับมาหนุน ‘เพื่อไทย’ อีกครั้ง หวังผลการเลือกตั้งครั้งหน้าตามที่ ‘ทักษิณ’ เคยประกาศว่าจะคว้าชัยมากถึง 300 เสียง ข่ม ‘พรรคประชาชน’ ที่ประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวในปี 2570
สูตรนี้จะทำให้ ‘ชินวัตร’ กลับมาผงาดในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยอีกครั้งหรือไม่ ต้องติดตาม