"...สัตว์แต่ละชนิดอาศัยอยู่ในถิ่นฐานของมัน แต่ถ้าเราปล่อยให้สายพันธุ์อื่นมาผสม มันจะกลายเป็นพันธุ์ไปในที่สุด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีผลกระทบกันมาก และนกยูงไทยก็ยังเยอะ เพียงแต่ว่าไม่อยากให้เกิดจุดเริ่มต้น ไม่งั้นเดี๋ยวจะขยายวงกว้างไปแล้วมันก็จะยุ่ง..."
จุดเริ่มต้นจากที่ช่างภาพถ่ายภาพนกยูงอินเดียสีขาว และนกยูงพันธุ์ผสม หากินปะปนร่วมกับฝูงนกยูงไทยประมาณ 10 ตัว ได้ในพื้นที่ป่าบริเวณหอดูสัตว์หอนกยูงบริเวณโป่งช้างเผือกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบทางระบบนิเวศน์ที่อาจจะเกิดขึ้น จนมีการประกาศปิดการท่องเที่ยวบริเวณดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2567
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้มีคำสั่งการให้ นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จับนกยูงดังกล่าวออกมาให้หมด ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2567 โดยมีการระดมเจ้าหน้าที่กว่า 20 นาย ทั้งฝ่ายวิชาการป่าไม้และสัตว์ป่า เจ้าหน้าที่จุดสกัด และเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนจากหน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ เพื่อค้นหาและดักจับนกยูงดังกล่าว มีการวางกรงดักและโรยอาหารเพื่อล่อ เพื่อป้องกันผสมกับนกยูงพันธุ์ไทยที่มีตามธรรมชาติ และเหลือน้อย
อย่างไรก็ตาม การจับกุมยังไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความว่องไวของนกยูงอินเดียสีขาวและพื้นที่ป่าที่กว้างใหญ่ถึง 1.7 ล้านไร่
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ก.ค.67 นายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาต หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ว่าพบเศษขนและรอยเลือดของนกยูงอินเดียสีขาว คาดว่าอาจถูกสัตว์ผู้ล่าทำร้าย เนื่องจากนกยูงอินเดียมีพฤติกรรมที่ไม่ระมัดระวังตัวเท่านกยูงไทย ส่วนนกยูงพันธุ์ผสมยังไม่พบร่องรอย เจ้าหน้าที่จึงวางแผนเพิ่มจุดติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพและเดินสำรวจพื้นที่ต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีการตัดสินใจเก็บกรงดักออกเนื่องจากพบโขลงช้างป่าเข้ามาหากินใกล้บริเวณที่ตั้งกรง แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการจัดการปัญหาในพื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง
ทางด้าน นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจนักอนุรักษ์ และนักสื่อสารเรื่องธรรมชาติ ได้โพสต์ข้อความแสดงความเป็นห่วงหลังจากที่มีภาพถ่ายนกยูงอินเดียผ่าน เฟซบุ๊ก Rungsrit Kanjanavanit ระบุว่า เรื่องใหญ่ พบนกยูงอินเดีย นกยูงเผือก ที่โป่งช้างเผือก ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นศุนย์กลางของ ประชากรนกยูงไทยแท้ ที่ใหญ่และสำคัญที่สุด
หากมีการผสมข้ามพันธุ์กับนกยูงไทยจะเกิดการปนเปื้อนทางพันธุกรรม ทำให้นกยูงไทยสูญเสียความเป็นนกยูงไทยแท้จึงใคร่วิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
และขอร้องมายังสาธารณะ ให้ความสำคัญของ ปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมของนกยูงไทยอย่างจริงจัง คนไทยต้องจำแนกแยกแยะนกยูงทั้งสองชนิดออกจากกันให้เป็น และห้ามมีการปล่อยนกยูงพันธุ์อินเดียเข้าสู่พื้นที่ธรรมชาติโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นนกยูงไทยจะสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยได้ในที่สุด ซึ่งคงไม่ต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
นอกจากนี้ นพ.รังสฤษฎ์ ยังได้มีการอธิบายถึงเรื่องนี้ หลังจากที่มีกระแสสังคมออนไลน์บางส่วนไม่เห็นด้วยและไม่เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องจัดการนกยูงอินเดียและลูกผสม ว่า เรื่องนกยูงอินเดีย นกยูงเผือก หลุดเข้าไปอาศัยปะปนกับประชากร นกยูงไทยแท้ ที่ห้วยขาแข้งอันจะเป็นเหตุให้ มีการปนเปื้อนทางพันธุกรรมจนนกยูงไทยแท้เสี่ยงสูญพันธุ์
"คนไทยบางคน ยังบอกว่า “มันเป็นเรื่องธรรมชาติ” “ไม่ต่างกับชาวต่างชาติ มาเมืองไทยแต่งงานกับคนไทย มีลูกครึ่ง เฮ้อ คุณครับ ตอนเรียนชีวะ นี่ไม่สนใจเรียน กันหรือเปล่า คนน่ะ ไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน ก็คือ Homo sapiens มันคือ species เดียวกัน"
ส่วนนกยูงไทย Pavo muticus กับ นกยูงอินเดีย Pavo cristatus มันคนละ species กัน ประชากรของบรรพบุรุษนกยูงทั้งสองชนิด ต่างคนต่างอยู่ ถิ่นอาศัยแยกจากกันด้วยปราการทางธรรมชาติ เวลาผ่านไปนานหลายล้านปี จึงแยกสายวิวัฒนาการกัน จนเกิดเป็นพันธุ์ใหม่ 2 ชนิด เพื่อเหมาะสม กับถิ่นอาศัย ระบบนิเวศที่แตกต่างกัน การแยกสายพันธุ์ของมัน มีเหตุผล มีที่มาที่ไป
และถ้าจะเถียงว่า สมัยโบราณ Homo neanderthalensis ก็เคยผสมข้ามพันธุ์กับ Homo sapiens (เอาจริงๆ มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล นี้ก็อาจเพียง subspecies ของ H.sapiens) ปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นตามการเคลื่อนตัว อพยพของประชากร ที่ขอบเขตการกระจายของประชากร ทั้งสอง ไม่ใช่มีคนเอาอีกพันธุ์มาหย่อนใจกลางประชากร แบบที่มนุษย์เราทำกับ สัตว์ alien หลายชนิด จนเกิดความวุ่นวายทางนิเวศ โดยมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย
"ปัจจุบัน นกยูงไทย มีสถานภาพระดับโลก ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่นกยูงอินเดีย ประชากรยังมีอยู่ดาษดื่น ยังไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด เราจะปล่อยให้ สถานการณ์นกยูงไทย ย่ำแย่ไปกว่านี้อีกเหรอครับ"
นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงกรณีการจับนกยูงอินเดียว่า เรื่องนี้มีความสำคัญในแง่การเปลี่ยนแปลงทางด้านระบบนิเวศอย่างใหญ่หลวงมาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้มีการเสนอมาว่า หากจับไม่ได้ ก็ควรทำการการุณยฆาต หรือฆ่าทิ้งไปเสียเลย ซึ่งในหลายประเทศก็ทำกันเช่นนี้ แม้ไม่ได้อยากทำแต่ต้องคิดถึงผลเสียที่จะตามมาก่อน
"จริงๆ ไม่อยากฆ่าหรือจับตาย เพราะก็เป็นชีวิตหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่จับไม่ได้เสียที จึงสั่งการไปว่า หากจับไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องทำ เพราะต้องคิดถึงผลเสียที่จะตามมาก่อน สัตว์แต่ละชนิดอาศัยอยู่ในถิ่นฐานของมัน แต่ถ้าเราปล่อยให้สายพันธุ์อื่นมาผสม มันจะกลายเป็นพันธุ์ไปในที่สุด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ได้มีผลกระทบกันมาก และนกยูงไทยก็ยังเยอะ เพียงแต่ว่าไม่อยากให้เกิดจุดเริ่มต้น ไม่งั้นเดี๋ยวจะขยายวงกว้างไปแล้วมันก็จะยุ่ง" นายอรรถพลกล่าว
นายอรรถพล กล่าวถึงการนำเข้าสัตว์ต่างประเทศเข้าสู่ไทยว่า สำหรับนกยูกอินเดีย มีข้อกฎหมายที่อนุญาตให้เลี้ยงได้ และมีการนำเข้ามานานแล้ว โดยเฉพาะในสวนสัตว์ต่างๆ เนื่องจากนกยูกอินเดียสวยงามกว่านกยูงไทย อีกทั้งในอดีตมีกฎหมายคุ้มครองนกยูงไทย การเลี้ยงนกยงอินเดียจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า แต่นี่ปัญหาคือคนเลี้ยง เวลาเลี้ยงแล้วเนี่ยก็มีประเภทที่เลี้ยงแล้วดูแลได้ไม่สุด
"สัตว์เลี้ยงทั้งหลาย ไม่ว่าจะชนิดไหนก็แล้วแต่ เมื่อตัดสินใจนำเข้ามาหรือเลี้ยงแล้ว จะต้องเลี้ยงเขาจนสิ้นอานยุขัย ยิ่งถ้าเป็นสัตว์จากต่างประเทศ ถ้าไม่อยากเลี้ยงแล้ว นำไปปล่อย ก็ถือว่าผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นจะต้องเลี้ยงและดูแลให้ดี หากปล่อยปะละเลย ก็จะถือเป็นเรื่องอันตราย" นายอรรถพล กล่าวเน้นย้ำ
นายอรรถพล กล่าวว่า ภายหลังจากการขออนุญาตนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศแล้ว จะต้องมีการต่ออายุใบอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาตสวนสัตว์ ใบอนุญาตเพาะเลี้ยง ใบอนุญาตครอบครอง โดยจะเป็นการตรวจประจำเดือน หรือตรวจเพื่อต่ออายุใบอนุญาตว่า สัตว์มีคุณภาพชิวิตที่ดี และมีการเลี้ยงที่ถูกต้อง ปลอดภัยหรือไม่
"ส่วนใหญ่ที่เรากังวลจะเป็นพวกสัตว์ประเภทดุร้ายมากกว่า อย่างเช่น เสือ สิงโต รวมถึงงูบางชนิด โดยเฉพาะเนี่ยสิงโตเนี่ย จะมีปัญหา ซึ่งปัจจุบัน เรากำหนดให้เป็นสัตว์ควบคุมซึ่งก็ต้องขออนุญาตถึงจะเลี้ยงได้ ต้องมีการประเมินความพร้อมในการเลี้ยง และการขออนญาต หากจะนำเคลื่อนที่ออกไปแต่ละพื้นที่"
นายอรรถพล กล่าวเน้นย้ำด้วยว่าว่า ในพื้นที่ธรรมชาติ จะต้องไม่มีการปล่อยสัตว์ ซึ่งการปล่อยถือเป็นการทำผิดกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดี นอกจากผิดกฎหมายแล้ว ยังทำให้มีผลกระทบต่อพันธุกรรมของสัตว์พื้นถิ่น และนำมาสู่ปัญหาการกลายพันธุ์ เสียระบบนิเวศน์
นายอรรถพล เจริญชันษา
จากเหตุการณ์นี้ เป็นบทเรียนสำคัญให้กับสังคมไทยเห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศน์และความสำคัญของการอนุรักษ์สัตว์พื้้นถิ่น แม้ว่าวิธีการบางครั้งอาจจะดูโหดร้าย แต่ก็จำเป็นจะต้องทำเพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์และปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในระยะยาว