ขณะที่สำนักข่าว SVT จากสวีเดนรายงานว่าอาชญากรสามารถเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในดูไบได้ง่ายมาก เพราะพนักงานขายจากบริษัทชั้นนำบอกกับลูกค้าอย่างไปตรงมาว่าพวกเขาสามารถซื้อแฟลตในเมืองได้ ถ้าหากว่ามีเงินสดหรือว่าเงินดิจิทัลเป็นจำนวนที่มากพอ แล้วลูกค้าก็จะไม่ถูกตั้งคำถามใดๆเลยเกี่ยวกับที่มาของเงิน
ข่าวผู้ร้ายหนีคดี ซึ่งเป็นที่น่าสนใจในสัปดาห์นี้ คงหนีไม่พ้นข่าวที่ทางการไทยควบคุมตัวนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหา “คดีโกงหุ้นสตาร์ค” ซึ่งก่อนหน้านี้หนีคดีไปอยู่ที่นครดูไบ สหรัฐเอมิเรตส์
อย่างไรก็ตาม นายชนินทร์ไม่ใช่ผู้ต้องหาไทยคนแรกที่มีข่าวว่าไปหลบหนีอยู่ที่ดูไบ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าอดีตนายกรัฐมนตรีอย่างนายทักษิณ ชินวัตร หรือว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เคยหนีคดีข้อกล่าวหาทุจริตไปที่ดูไบเช่นกัน หรือผู้ต้องหาอย่างนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา และ น.ส.อาเมเรีย จาคอป อดีตดาราที่ต้องข้อหายาเสพติด ก็เคยหนีคดีไปดูไบเช่นกัน
นี่ทำให้เกิดคำถามเดิมๆวนกลับมาอีกครั้งว่าทำไมดูไบจึงเป็นเหมือนกับสถานที่นักโทษหลบหนีคดีชอบไปอยู่ที่นั่น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้สืบค้นข้อมูลจากสื่อต่างประเทศเพื่อหาคำตอบนี้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ในช่วงเดือน พ.ค. สำนักข่าวหลายแห่งทั่วโลกได้ทีการทำข่าวที่เรียกว่า Dubai Unlocked ซึ่งรายงานตัวนี้เป็นการสืบสวนเกี่ยวกับเจ้าของอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งในนครดูไบ ซึ่งมีภูมิหลังและประวัติอันน่าสงสัย
จากข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่รั่วไหลจํานวนมากจากดูไบ พบว่าอาชญากรข้ามชาติ หรือใครก็ตาม สามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่หรูหราเป็นเวลาหลายปีโดยได้รับผลกําไรจากการลงทุนมากมายในกระบวนการนี้ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ครั้งแรกย้อนกลับไปในปี 2554 แต่ธุรกรรมอื่น ๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
@ทรัพย์สินมูลค่า 56 ล้านยูโร
โดยเฉลี่ยแล้วอาชญากร ผู้ค้ายาเสพติดหรือญาติของพวกเขาจ่ายเงินเกือบ 1 ล้านยูโร (39,328,180 บาท) ต่ออสังหาริมทรัพย์หนึ่งแห่ง โดยอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาถูกที่สุดอยู่ที่ประมาณ 216,000 ยูโร (8,493,033 บาท) และแพงที่สุดมากกว่า 5 ล้านยูโร (196,598,004 บาท)
ตอนนี้กลุ่มอาชญากรเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในดูไบอย่างน้อยจำนวน 53 แห่ง อันประกอบไปด้วย แฟลต 44 หลัง วิลล่า 5 หลัง ที่ดิน 3 แปลง และสํานักงานในดูไบอีก 1 แห่ง ทั้งหมดนี้มีมูลค่าอยู่ที่ 56 ล้านยูโร (2,201,041,552 บาท)
อสังหาริมทรัพย์บางส่วนที่ว่ามานี้ (อย่างน้อย 29 แห่ง) พบว่ามีการปล่อยเช่าให้กับผู้เช่าชาวจอร์แดน อังกฤษ ฝรั่งเศส เซิร์บ โรมาเนีย รัสเซีย ซีเรีย ตุรเคียอินเดีย อิตาลี และอเมริกัน นี่ส่งผลทำให้อาชญากรมีรายได้จากการปล่อยให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกือบ 3 ล้านยูโร (117,895,922 บาท)
ขณะที่สำนักข่าว SVT จากสวีเดนรายงานว่าอาชญากรสามารถเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในดูไบได้ง่ายมาก เพราะพนักงานขายจากบริษัทชั้นนำบอกกับลูกค้าอย่างไปตรงมาว่าพวกเขาสามารถซื้อแฟลตในเมืองได้ ถ้าหากว่ามีเงินสดหรือว่าเงินดิจิทัลเป็นจำนวนที่มากพอ แล้วลูกค้าก็จะไม่ถูกตั้งคำถามใดๆเลยเกี่ยวกับที่มาของเงิน
แม้ในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา จะมีข่าวว่าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีการบังคับใช้กฎหมายทางการเงินที่เข้มข้นมากขึ้น โดยบริษัทผู้ขายอสังหาริมทรัพย์อาจจะถูกปรับได้ ถ้าหากพวกเขาทำผิดกฎ
รายงานข่าว Dubai Unlocked (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านทุจริตมองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในดูไบยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสําคัญ และบริษัทตัวแทนผู้ขายอสังหาริมทรัพย์จํานวนมากยังไม่ประกาศข้อตกลงระเบียบด้านอสังหาริมทรัพย์ ตัวตนของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ยังคงสามารถซ่อนตัวอยู่หลังกองทุนทรัสต์ บริษัทโฮลดิ้ง และมูลนิธิต่างๆ ที่ใช้ในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ดูไบได้
@ดูไบ ชุมทางของการค้าและอาชญากร
ในอดีตดูไบนั้นทำหน้าที่เป็นเสมือนกับชุมทางสำหรับกิจกรรมทางการค้า ตอนนี้กำลังถูกวิจารณ์ว่าเป็นจุดชุมทางสำหรับหนุ่มสาวทั่วโลก ที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมก่ออาชญากรรมและการทุจริต
ตามรายงาน Dubai Unlocked ระบุว่าสำหรับผู้ที่ต้องการจะฟอกหรือซ่อนเงินสด ดูไบมีชื่อเสียงในเรื่องของการเก็บความลับทางการเงิน อัตราภาษีที่ต่ำ และการแพร่กระจายของอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ดูไบเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ตอบคำถามว่าทำไมดูไบจึงกลายเป็นเมืองแห่งเดียวที่ดึงดูดอาชญากรให้มาสะสมความมั่งคั่งของตัวเอง
“อสังหาริมทรัพย์ในนครนิวยอร์กและกรุงลอนดอน ต่างก็เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นที่ดึงดูดเงินสกปรก” รายงานระบุ
@ทำไมดูไบ
ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเครือข่ายรายงานเกี่ยวกับองค์กรอาชญากรรมและการทุจริต (OCCRP) ระบุว่ามีหลายปัจจัยที่ทําให้ดูไบกลายเป็นสถานที่เก็บความมั่งคั่ง "โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับผู้ที่ถูกคว่ำบาตรและถูกขัดขวางจากการเป็นเจ้าของทรัพย์สินในระบอบประชาธิปไตยตะวันตก หรือว่ากำลังหนีคดี หลบหนีมาตรการบังคับใช้กฎหมาย"
ปัจจัยหนึ่งก็คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักจะไม่ตอบสนอง หรือดำเนินการสอดคล้องกับคำขอจากหน่วยงานต่างประเทศเพื่อขอความช่วยเหลือในการจับกุมและส่งผู้ร้ายข้ามแดน
ทางด้านของนางราดา สเตอร์ลิง ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้นําองค์กรช่วยเหลือทางกฎหมายชื่อว่าองค์กร ‘'Detained in Dubai’ กล่าวว่าทางการสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักจะมีการใช้ผู้ลี้ภัยที่มีชื่อเสียงเป็นเครื่องมือต่อรอง
“การมีข้อตกลงส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศระหว่างกัน ไม่ใช่สิ่งที่จะยืนยันว่าจะมีการส่งตัวเกิดขึ้นจริงหรือไม่” นางสเตอร์ลิงกล่าว
ขณะที่นายซาอูด อับดุลอาซิซ อัลมูตาวา เจ้าหน้าที่จากแผนกป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของตํารวจดูไบกล่าวยอมรับว่าสิ่งที่สําคัญคือสิ่งที่ดูไบต้องการเป็นการตอบแทน และประเทศนั้นมีสิ่งที่ดูไบต้องการมากพอที่จะแลกเปลี่ยนหรือไม่
เรียบเรียงจาก:https://www.wionews.com/world/dubai-unlocked-why-has-the-city-becomes-a-safe-haven-for-alleged-criminals-and-corrupt-figures-721722,https://www.brusselstimes.com/1046338/dubai-drug-haven-high-level-traffickers-wanted-in-belgium-making-millions-with-uae-property