"...ผู้ฟ้องคดีในฐานะนายอําเภอ มีอํานาจหน้าที่ในการอนุมัติและออกใบสั่งซื้อตามที่นางมยุรีได้ตกลงราคากับผู้ขายไว้แล้วเท่านั้น การที่ผู้ฟ้องคดีจะควบคุมตรวจสอบการจัดซื้อสารเคมีดังกล่าวในรายละเอียดอย่างเคร่งครัดดังเช่นการจัดซื้อในภาวะปกติ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทําได้และมีข้อจํากัดด้วยความจําเป็นเร่งด่วน..."
กรณีสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวคำพิพากษาเกี่ยวกับคดีที่ นายวีระเกียรติ รัมณีย์รัตนากุล อดีตนายอำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กรณีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่ง กรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เนื่องจากสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินวินิจฉัยว่า การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555 ของจังหวัดอุบลราชธานี มิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย
โดยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นเพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้ การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคําสั่งดังกล่าว คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และมีข้อสังเกต เกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาว่า เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวให้ลิ้นผลแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหน้าที่ดําเนินการให้ ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตําแหน่งนายอําเภอ และคืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะพึงได้รับตามที่ระเบียบและกฎหมายกําหนดไว้ ทั้งนี้ ในโอกาสแรกที่อาจกระทําได้
เพื่อให้สาธารณชน รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำพิพากษาฉบับเต็มมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี่
คดี ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2567
นายวีระเกียรติ รัมณีย์รัตนากุล เป็นผู้ฟ้องคดี
อธิบดีกรมการปกครอง เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคําสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอุทธรณ์คําพิพากษาศาลปกครองนครราชสีมา คดีหมายเลขดําที่ บ. 45/2561 หมายเลขแดงที่ บ. 47/2564
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งนายอําเภอ อําเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่ง กรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ กรณีสืบเนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักตรวจสอบพิเศษ ภาค 5 (จังหวัดอุบลราชธานี) ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555 ของจังหวัดอุบลราชธานี แล้วพบว่า เมื่อครั้งเกิดการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง จังหวัดอุบลราชธานีได้จัดสรรเงินทดรองราชการให้อำเภอนาตาลเพื่อจัดซื้อสารเคมีกําจัดศัตรูพืชแจกจ่ายแก่ราษฎร แต่ในกระบวนการจัดซื้อสารเคมีดังกล่าว มิได้มีการสอบถามราคาซื้อขายสารเคมีในท้องตลาดในท้องที่ที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น ไม่มีการเสนอราคาจากผู้ขาย และไม่มีการเจรจาต่อรองราคาและตกลงราคากับผู้ขาย ไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ต่อมา สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้วินิจฉัยว่า การใช้งบประมาณดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 652/2557 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 คําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 787/2557 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2557 คําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1067/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 186/2559 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี
เมื่อทําการสอบสวนทางวินัยแล้วเสร็จ คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีขณะดํารงตําแหน่งนายอําเภอนาตาล และเป็นประธานคณะกรรมการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอําเภอนาตาล (ก.ช.ภ.อ. นาตาล) ได้ประชุม ก.ช.ภ.อ. นาตาล ครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินทดรองราชการ เพื่อจัดซื้อสารเคมี รวมเป็นเงิน 2,900,000 บาท ต่อมา เสมียนตราอําเภอผู้จัดทําเอกสาร การจัดซื้อยอมรับว่า ก่อนขออนุมัติซื้อสารเคมีดังกล่าวได้มีการจัดส่งสารเคมีให้อําเภอนาตาลแล้ว จากนั้นจึงได้ทําเอกสารการจัดซื้อเสนอผู้ฟ้องคดีอนุมัติ และคณะกรรมการได้ลงลายมือชื่อ ในเอกสารต่าง ๆ โดยไม่มีการสอบถามราคาสารเคมีในท้องตลาด ไม่มีการเสนอราคาจากผู้ขาย และไม่มีการเจรจาต่อรองราคาและตกลงราคากับผู้ขาย แต่เป็นการจัดซื้อตามเอกสารที่ได้รับจากจังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ทําให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 (2) และมาตรา 85 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ควรลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ประชุมครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 มีมติให้ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงได้มีคําสั่ง กรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม 2560 อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา
@ รายละเอียดการฟ้องคดี: ได้งบซื้อสารเคมีขวดละ 1,450 บาท จำนวน 2,000 ขวด
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า อําเภอนาตาลเคยได้รับจัดสรรเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ในการจัดซื้อสารเคมีเพื่อแจกจ่ายแก่ราษฎรทั้งหมด 11 ครั้ง เป็นเงิน 32,999,360 บาท ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ต่อมา เมื่อเดือนธันวาคม 2554 ผู้ฟ้องคดีย้ายมาดํารงตําแหน่งนายอําเภอนาตาล ได้จัดซื้อสารเคมีเพียง 1 ครั้ง เป็นครั้งที่ 11 ช่วงเดือนพฤษภาคม 2555 เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง และอําเภอนาตาลได้รับจัดสรรเงินทดรองราชการ เป็นเงิน 2,900,000 บาท ซึ่งในการประชุม ก.ช.ภ.อ. นาตาล ครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ได้มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินทดรองราชการในการจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl ขนาด 500 ซีซี ราคาขวดละ 1,450 บาท จํานวน 2,000 ขวด รวมเป็นเงิน 2,900,000 บาท ตามราคาที่เคยซื้อ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 และปลัดอําเภอได้จัดทํารายงานการประชุมและบัญชีสรุป การให้ความช่วยเหลือเสนอจังหวัดทราบ และทําบันทึกข้อความลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ขออนุมัติใช้จ่ายเงินทดรองราชการต่อผู้ฟ้องคดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ รวมทั้งเสนอให้แต่งตั้งนางมยุรี พูลชาติ เสมียนตราอําเภอ เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ ผู้ฟ้องคดีจึงอนุมัติจ่ายเงินตามมติของ ก.ช.ภ.อ. นาตาล ภายในวงเงินที่จังหวัดอุบลราชธานีจัดสรรให้ตามข้อ 4 ข้อ 20 และข้อ 21 ของระเบียบดังกล่าว จากนั้น นางมยุรีได้ทําบันทึกข้อความลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 ขออนุมัติดําเนินโครงการ และแต่งตั้งคณะกรรมการดําเนินการ ผู้ฟ้องคดีจึงมีคําสั่งลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 แต่งตั้งคณะกรรมการดําเนินการตามโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการปฏิบัติ ตามข้อ 40 และข้อ 41 ของระเบียบเดียวกัน ผู้ฟ้องคดีได้กําชับนางมยุรีให้สอบถามราคาสารเคมี ในท้องตลาดหรือสืบค้นราคาจากอินเทอร์เน็ต และให้แจ้งผู้มีอาชีพขายสารเคมีมาเสนอราคา อย่างน้อย 3 ราย เพื่อเปรียบเทียบราคาและให้มายื่นเสนอราคาเพื่อจะได้เจรจาต่อรองราคา
และรายงานผลเสนอผู้ฟ้องคดีก่อนทําสัญญาซื้อขาย ซึ่งนางมยุรีอ้างว่าได้แจ้งผู้มีอาชีพขายสารเคมี ให้มาพบเจ้าหน้าที่จัดหาต่อรองและตกลงราคาในวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ณ ที่ทําการปกครอง อําเภอนาตาล จํานวน 3 ราย และนางมยุรีได้ทําบันทึกข้อความลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ห้างหุ้นส่วนจํากัด โชติชนิด เสนอราคา 2,904,000 บาท ห้างหุ้นส่วนจํากัด เมืองเลย เพิ่มทรัพย์รุ่งเรือง เสนอราคา 2,912,000 บาท และห้างหุ้นส่วนจํากัด รับทรัพย์รุ่งเรือง เสนอราคา 2,916,000 บาท พร้อมกับแนบใบเสนอราคา และเอกสารอื่นประกอบ โดยนางมยุรีได้เสนอข้อเสนอและพิจารณาว่าได้เจรจาต่อรองราคา กับผู้เสนอราคาต่ำสุด คือ ห้างหุ้นส่วนจํากัด โชติชนิด ลดราคาให้ 4,000 บาท คงเหลือ 2,900,000 บาท ไม่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรร อีกทั้งห้างหุ้นส่วนจํากัด โชติชนิด ก็มีคุณสมบัติครบถ้วน ทั้งราคาไม่สูงกว่าราคาในท้องถิ่นและไม่เกินวงเงินที่อนุมัติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาโดยละเอียดรอบคอบแล้วจึงลงนามให้ความเห็นชอบ เนื่องจากเชื่อโดยสุจริตว่านางมยุรีได้จัดหาและตกลงราคาแล้ว ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้พิจารณาถึงหนังสือสั่งการของกระทรวงมหาดไทยที่ให้ นายอําเภอปฏิบัติตามมติของ ก.ช.ภ.อ. และจัดหาสารเคมีตามอัตราที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กําหนด จึงเป็นการปฏิบัติตามข้อ 4 ข้อ 40 และข้อ 41 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 แล้ว
@ บทลงโทษคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อไม่เป็นธรรมจึงฟ้องคดี
ส่วนกรณีที่กล่าวหาว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการอันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง กรณีจัดซื้อสารเคมีราคาสูงกว่าราคาในตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น นั้น นางมยุรีได้ให้ถ้อยคํายอมรับว่า ไม่ได้สืบราคาของสารเคมีในท้องตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น และไม่ได้ต่อรองราคาจริงกับผู้เสนอราคา รวมทั้งไม่ทราบว่าผู้เสนอราคาเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จําหน่ายสารเคมีได้หรือไม่ เมื่อได้รับเอกสารต่าง ๆ จากจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว จึงติดต่อกับนางนฤมล มะลิวัลย์ เจ้าหน้าที่สํานักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี และไปรับเอกสารของผู้เสนอราคาและราคา ในการจัดซื้อซึ่งเป็นเช่นนี้ทุกครั้ง โดย 10 ครั้งที่ผ่านมา จะนําเอกสารของผู้เสนอราคาที่กําหนด เป็นผู้รับจ้างไว้เพียงรายเดียวมาจัดทําใบเสนอราคา ส่วนในครั้งที่ 11 เป็นการจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl ขนาด 500 ซีซี จํานวน 2,000 ขวด ตนนําเอกสารของผู้จะเสนอราคาจํานวน 3 ราย มาจัดทําใบเสนอราคา ซึ่งเป็นการจัดซื้อตามเอกสารที่ได้รับจากจังหวัดอุบลราชธานี ที่กําหนดสารเคมีดังกล่าวไว้ราคาขวดละ 1,450 บาท เป็นเงิน 2,900,000 บาท การที่นางมยุรีได้ทําบันทึกข้อความลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 รายงานผลการจัดหาเจรจาต่อรอง และตกลงราคาเสนอผู้ฟ้องคดีเพื่อพิจารณา จึงเป็นข้อความเท็จ
และการที่ผู้ฟ้องคดีมีคําสั่งแต่งตั้งให้นางมยุรีดําเนินการสืบราคาและเจรจาต่อรองราคา ผู้ฟ้องคดีไม่อาจล่วงรู้วิธีการของนางมยุรี อีกทั้ง ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ข้อ 40 วรรคหนึ่ง มิได้กําหนดวิธีการในการเจรจาต่อรองไว้โดยเฉพาะ แต่หลักการคือต้องเป็นราคาไม่เกินกว่าที่ทางราชการกําหนด ไม่เกินงบประมาณที่กําหนดไว้ และเป็นราคาตามท้องตลาด ซึ่งขั้นตอนการเสนอราคาจนถึงการรายงานผลการเจรจาต่อรองราคาปรากฏเป็นเอกสารทั้งหมด ผู้ฟ้องคดีจึงเชื่อโดยสุจริตว่านางมยุรีได้ดําเนินการตามระเบียบของทางราชการแล้ว และผู้ฟ้องคดีไม่ทราบราคาสารเคมี Pirimiphos methyl ประกอบกับนางมยุรีอ้างว่าไม่สามารถสืบค้นจากอินเตอร์เน็ตและไม่สามารถสอบถามราคาในท้องที่ได้ เนื่องจากอําเภอนาตาลไม่มีร้านจําหน่ายสารเคมีดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคําให้การพยานที่เป็นเกษตรกรในอําเภอนาตาล จึงได้ยึดเอาราคาของจังหวัดอุบลราชธานีและราคาที่อําเภอนาตาล เคยซื้อเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 ซึ่งราคาที่คณะกรรมการสอบสวนอ้างอิงเป็นข้อมูลจาก กรมการค้าภายใน โดยมีหมายเหตุว่า มีการแจ้งราคาจําหน่าย ณ โรงงาน เพียงรายเดียว ราคาจําหน่าย จึงแตกต่างกัน เนื่องจากมีต้นทุนนําเข้าและค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน อีกทั้ง เป็นข้อมูลย้อนหลังไปถึง 4 ถึง 5 ปี อาจมีความคลาดเคลื่อน จึงไม่อาจใช้เป็นราคาที่แท้จริง
ส่วนผลการตรวจสอบราคาของสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสอบสวนได้อ้างอิงในรายงานการสอบสวน เป็นการตรวจสอบร้านค้าที่จําหน่ายสารเคมีที่มิได้อยู่ในท้องที่อําเภอนาตาล แต่ตั้งอยู่ที่อําเภอวารินชําราบ และอําเภอเมืองอุบลราชธานี ซึ่งอยู่ห่างจากอําเภอนาตาลไม่ต่ํากว่า 120 กิโลเมตร ราคาอาจมีความคลาดเคลื่อนและไม่อาจใช้เป็นราคาที่แท้จริง จึงเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี เมื่อได้พิจารณาสถานการณ์ขณะที่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นและจําเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน โดยคํานึงถึงศักยภาพของผู้ขายที่สามารถหาสารเคมีปริมาณมากและรวดเร็ว โดยกําหนดส่งมอบภายใน 5 วัน รวมกับต้นทุนการนําเข้าและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ผู้ขายอาจถือโอกาสเสนอราคาค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีไม่เคยรู้ถึงการกระทําดังกล่าวของนางมยุรี และไม่ปรากฏหลักฐานสนับสนุนหรือมีพฤติการณ์ว่าผู้ฟ้องคดีรู้ถึงการกระทําของนางมยุรี หรือ มีพฤติการณ์เข้าไปแทรกแซงหรือบีบบังคับมิให้มีการเจรจาต่อรองราคา หรือสั่งให้กระทําการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีเข้าใจว่าหากไม่มีการเจรจาต่อรองราคาย่อมไม่มีการลดราคา จํานวน 4,000 บาท และผู้เสนอราคาย่อมไม่สามารถทราบจํานวนสารเคมีที่จัดซื้อก่อนยื่นเสนอราคาได้ อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับอําเภออื่น และการจัดซื้อครั้งที่ผ่านมาของอําเภอนาตาลมิได้มีความแตกต่างด้านราคา และตามรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนมิได้ระบุชัดเจนว่าผู้ฟ้องคดีมีพฤติการณ์หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบอย่างไร แต่กลับใช้ข้อเท็จจริงจากถ้อยคําของนางมยุรีเป็นหลักฐานกล่าวโทษผู้ฟ้องคดี แต่ในการดําเนินการทางวินัยกับนางมยุรีกลับวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของนางมยุรีไม่ใช่ผลโดยตรงในการจัดซื้อสารเคมีสูงกว่าราคาท้องตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาที่ภัยพิบัติเกิดขึ้น ทําให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ทั้งไม่ปรากฏว่านางมยุรีได้กระทําไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ ถือเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง จึงลงโทษนางมยุรีเพียงลดเงินเดือน ในอัตราร้อยละ 4 จึงไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น
ขอให้ศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่ง ดังนี้
1. เพิกถอนมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ที่มีมติให้ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
2. เพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ทีปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่งดังกล่าว
3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผู้ฟ้องคดีเข้ารับราชการในตําแหน่งนายอําเภอต่อไป และคืนสิทธิประโยชน์ในตําแหน่งหน้าที่ราชการของผู้ฟ้องคดีที่จะพึงได้รับทุกประการ
ศาลปกครองชั้นต้นมีคําสั่งไม่รับคําขอให้ศาลมีคําสั่งทุเลาการบังคับตามคําสั่ง กรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
@ ตรวจสอบราคาแล้ว พบว่าสารเคมีราคาเฉลี่ยขวดละ 270 บาท
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า สืบเนื่องจากสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ด้านพืช) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555 ของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า อําเภอนาตาลจัดซื้อสารเคมีแจกจ่ายแก่ราษฎรไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงิน ทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 เป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง คณะกรรมการสอบสวนได้ทําการสอบสวนแล้วได้ข้อเท็จจริงว่า ขณะผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งนายอําเภอนาตาลปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินอําเภอนาตาล (ก.ช.ภ.อ. นาตาล) มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในอําเภอนาตาล และอนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการให้เป็นไปตามระเบียบ กระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 โดย ก.ช.ภ.อ. นาตาล ได้ประชุมครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง จํานวน 1 รายการ คือ จัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl ขนาด 500 ซีซี จํานวน 2,000 ขวด ราคาขวดละ 1,450 บาท เพื่อใช้กับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ จํานวน 4,000 ไร่ อัตราส่วน 1 ขวด ต่อพื้นที่ 2 ไร่ รวม 2,000 ขวด เป็นเงิน 2,900,000 บาท ตามคําสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งนางมยุรี พูลชาติ เสมียนตราอําเภอ ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุและเจ้าหน้าที่จัดหา เจรจาต่อรอง และตกลงราคา ได้ยอมรับว่า ก่อนทําการขออนุมัติซื้อสารเคมีดังกล่าว ได้มีการจัดส่งสารเคมีให้กับอําเภอนาตาลก่อนแล้ว จากนั้น จึงทําเอกสารจัดซื้อเสนอผู้ฟ้องคดีและคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งให้ลงลายมือชื่อในเอกสารโดยไม่มีการต่อรองราคาและตกลงราคากับผู้ขาย แต่เป็นการจัดซื้อตามเอกสารของจังหวัดอุบลราชธานี
เมื่อสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสอบสวน และกระทรวงพาณิชย์ได้ตรวจสอบราคาสารเคมีดังกล่าวในช่วงปี พ.ศ. 2554 ถึง พ.ศ. 2555 พบว่ามีราคาเฉลี่ยเพียงขวดละ 270 บาท คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยจึงเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรลงโทษปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้พิจารณาในการประชุม ครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 แล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ฟ้องคดีเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน ของทางราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 (2) และมาตรา 85 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงมีมติให้ปลดออกจากราชการ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงมีคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ ก.พ.ค. การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที 1 สั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมายและถูกต้องเหมาะสมแล้ว
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า การอนุมัติเงินทดรองราชการในการจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl เป็นไปตามมติ ก.ช.ภ.อ. นาตาล โดยมีการ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่จัดหาเจรจาต่อรองและตกลงราคา และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จึงเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการแล้วนั้น เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีย่อมต้องทราบหรือรู้ อยู่แล้วว่าการดําเนินการดังกล่าวไม่ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 เป็นเหตุให้ทางราชการ เสียหายอย่างร้ายแรง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติให้ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคําสั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงถูกต้องเหมาะสมแล้ว
นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งต่อ ก.พ.ค. แล้ว แต่ ก.พ.ค. ยังพิจารณาอุทธรณ์ไม่แล้วเสร็จ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบมาตรา 11 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 คดีจึงไม่อยู่ในอํานาจพิจารณาของศาลปกครองนครราชสีมา และผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนเสียหายที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครราชสีมา และเมื่อจะครบกําหนดระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 ผู้ฟ้องคดีจึงต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวัน นับถัดจากวันที่ 17 ธันวาคม 2561 และครบกําหนดเวลาการฟ้องคดีในวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2561 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีที่พ้นกําหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว
@ คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น
โดยศาลปกครองชั้นต้น พิพากษาเพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 เรื่อง ลงโทษปลดออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคําสั่งดังกล่าว คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาว่า เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวให้สิ้นผลแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหน้าที่ดําเนินการให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งนายอําเภอ และคืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะพึงได้รับตามที่ระเบียบและกฎหมายกําหนดไว้ ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอุทธณ์
@ ข้อเท็จจริงโดยศาลปกครองสูงสุด
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดไม่จัดให้มีการนั่งพิจารณาคดี คู่กรณีไม่ได้ยื่นคําแถลง เป็นหนังสือและไม่แจ้งความประสงค์ให้ศาลจัดให้มีการนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสํานวน และคําชี้แจงด้วยวาจาประกอบคําแถลงการณ์ เป็นหนังสือของตุลาการผู้แถลงคดี
ศาลปกครองสูงสุดตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในคําฟ้อง คําให้การ คําคัดค้าน คําให้การ คําให้การเพิ่มเติม คําอุทธรณ์ และคําแก้อุทธรณ์แล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะที่ผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งนายอําเภอนาตาล ได้เกิด การแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลังในเขตพื้นที่อําาเภอนาตาล ผู้ว่าราชการจังหวัด อุบลราชธานีจึงได้มีประกาศจังหวัดอุบลราชธานี ลงวันที่ 27 เมษายน 2555 ให้เขตพื้นที่ อําเภอนาตาลเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน และมีคําสั่งจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 1448/2555 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 จัดสรรวงเงินทดรองราชการจํานวน 2,900,000 บาท ให้กับอำเภอนาตาลและมอบอำนาจให้นายอำเภอนาตาลเป็นผู้อนุมัติเบิกเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546
ต่อมา คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติอําเภอนาตาล (ก.ช.ภ.อ. นาตาล) ได้ประชุมครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 มีมติเห็นชอบให้จ่ายเงินทดรองราชการสําหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหา การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง จากนั้น ผู้ฟ้องคดีได้แต่งตั้งให้นางมยุรี พูลชาติ เสมียนตราอําเภอ เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุและเจ้าหน้าที่จัดหา เจรจาต่อรอง และตกลงราคา โดยนางมยุรีได้ดําเนินการจัดซื้อสารเคมีกําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลังและมีหนังสือลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 รายงานผลการจัดหา เจรจาต่อรอง และตกลงราคาเสนอต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีได้ลงนามอนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการ และได้มีการจัดซื้อสารเคมีกําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,900,000 บาท
ต่อมา สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการจัดซื้อสารเคมีดังกล่าวแล้วเห็นว่า อําเภอนาตาล ได้จัดซื้อสารเคมีในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโดยไม่มีการเจรจาต่อรองราคาและตกลงราคากับผู้เสนอขาย เป็นการดําเนินการที่ไม่ถูกต้องตามข้อ 8 และข้อ 40 ของระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ทําให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 (2) และมาตรา 85 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงแจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ให้ดําเนินการทางวินัยกับผู้ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีคําสั่ง กระทรวงมหาดไทย ที่ 652/2557 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 คําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 787/2557 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2557 คําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1067/2558 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 และคําสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 186/2554 ลงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงผู้ฟ้องคดี
เมื่อการสอบสวนทางวินัยได้ดําเนินขั้นตอนตามที่กฎหมายกําหนดไว้แล้ว คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีขณะดํารงตําแหน่งนายอําเภอนาตาล และเป็นประธานคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติอําเภอนาตาล (ก.ช.ภ.อ. นาตาล) ได้จัดซื้อสารเคมีกําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง โดยไม่มีการสอบถามราคาสารเคมีในท้องตลาด ไม่มีการเสนอราคาจากผู้ขาย ไม่มีการเจรจา ต่อรองราคาและตกลงราคากับผู้ขาย เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 ทําให้ราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 (2) และมาตรา 85 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 สมควรลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ประชุมครั้งที่ 7/2560 เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 มีมติให้ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้มีคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ
ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้กระทําผิดวินัยตามข้อกล่าวหา จึงมีหนังสือลงวันที่ 20 ตุลาคม 2560 อุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวต่อประธาน ก.พ.ค. แต่ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับแจ้งผลการพิจารณา จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นขอให้เพิกถอนคําสั่งลงโทษดังกล่าว โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 รับผู้ฟ้องคดี กลับเข้ารับราชการในตําแหน่งเดิม และคืนสิทธิอันพึงมีพึ่งได้ให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคําพิพากษาเพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 เรื่อง ลงโทษปลดออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคําสั่งดังกล่าว โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาว่า เมื่อศาลพิพากษา เพิกถอนคําสั่งดังกล่าวให้สิ้นผลแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหน้าที่ดําเนินการ ให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตําแหน่งนายอําเภอ และคืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะพึงได้รับ ตามที่ระเบียบและกฎหมายกําหนดไว้ ทั้งนี้ ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม ไม่เห็นพ้องด้วยกับคําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น จึงยื่นอุทธรณ์เป็นคดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุด
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์พร้อมด้วยเหตุผลในการวินิจฉัย ดังนี้
@ 1.คดีนี้เป็นคดีที่ศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองนครราชสีมา) รับคําฟ้องไว้พิจารณาได้หรือไม่
พิเคราะห์จากกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เดิมผู้ฟ้องคดีดํารงตําแหน่งนายอําเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีคำสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ ซึ่งผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คําสั่งดังกล่าวเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ขอให้มีคําพิพากษาหรือคําสั่งเพิกถอนคําสั่งดังกล่าว คดีนี้จึงมีลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคําสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และแม้ว่า ผู้ฟ้องคดีจะได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งดังกล่าวต่อประธานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) แต่ ก.พ.ค. ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลา และยังมิได้มีการแจ้งผลการวินิจฉัยอุทธรณ์ให้ผู้ฟ้องคดีทราบ คดีนี้จึงมิใช่คดีที่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดตามมาตรา 11 (3) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่อยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
@ ข้ออ้างที่ผู้ฟ้องคดีนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกําหนดเวลาฟ้องคดีแล้ว ฟังไม่ขึ้น
โดยผู้ฟ้องคดีมีภูมิลําเนาอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองนครราชสีมาซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้นที่มีเขตอํานาจในท้องที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงมีอํานาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทนี้ตามมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติข้างต้น และตามประกาศที่ประชุมใหญ่ตุลาการ ในศาลปกครองสูงสุด เรื่อง ให้ศาลปกครองนครราชสีมา ศาลปกครองขอนแก่น และ ศาลปกครองอุดรธานี มีเขตอํานาจเพิ่มเติมในจังหวัดใกล้เคียง ลงวันที่ 3 มีนาคม 2554 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อประธานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) แล้ว คดีจะกลายเป็นอยู่ในอํานาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จึงไม่อาจ รับฟังได้
และโดยที่คําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เป็นคําสั่งที่ทําให้ผู้ฟ้องคดีพ้นจากความเป็นข้าราชการ ซึ่งมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากคําสั่งดังกล่าว และเมื่อผู้ฟ้องคดีมีคําขอให้ศาลเพิกถอนคําสั่งดังกล่าว ซึ่งเป็นคําขอที่ศาลมีอํานาจกําหนดคําบังคับเพื่อแก้ไขเยียวยาความ เดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติ เดียวกัน ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าว และก่อนการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งต่อประธาน คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ตามมาตรา 114 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 แล้ว แต่ ก.พ.ค. มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กําหนด จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินการตามขั้นตอนหรือวิธีการสําหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายก่อนการฟ้องคดีแล้วตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
สําหรับกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คําสั่งต่อประธานคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2560 นั้น ก.พ.ค. ก็มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ และสามารถขยายระยะเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ ได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน รวมระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ทั้งสิ้น 240 วัน ตามมาตรา 118 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบกับข้อ 91 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ซึ่งจะครบกําหนดเวลาการพิจารณาอุทธรณ์ในวันที่ 17 มิถุนายน 2561 แต่เมื่อพ้นกําหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ก.พ.ค. ยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีให้แล้วเสร็จ วันถัดจากวันครบกําหนดดังกล่าว จึงเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี และผู้ฟ้องคดีสามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีดังกล่าวโดยไม่จําต้องรอคําวินิจฉัยอุทธรณ์จาก ก.พ.ค. แต่อย่างใด เมื่อผู้ฟ้องคดีนําคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมา ในวันที่ 17 สิงหาคม 2561 จึงเป็นการยื่นฟ้องคดีภายในกําหนดเวลาตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 การที่ ศาลปกครองนครราชสีมารับคําฟ้องในคดีนี้ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามที่ว่า ผู้ฟ้องคดีนําคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อพ้นกําหนดเวลาฟ้องคดีแล้ว จึงฟังไม่ขึ้น
@ 2. การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 795/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการเป็นคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์จากกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง และข้อเท็จจริงในข้างต้นแล้ว เห็นว่า การเกิดภัยพิบัติไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติ หรือบุคคล หรือสัตว์ทําให้เกิดขึ้น ย่อมอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย หรืออาจทําให้เกิดความเสียแก่ทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ ซึ่งภัยพิบัติส่วนใหญ่จะสร้างผลกระทบต่อสังคมโดยรวมและทําให้ประชาชนไม่สามารถอยู่ร่วมกัน ได้อย่างปกติสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนเป็นกรณีฉุกเฉิน ประชาชนย่อมไม่สามารถจัดการปัญหาหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยตนเองอย่างทันท่วงที รัฐในฐานะองค์กรฝ่ายปกครองซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทําบริการสาธารณะ จึงต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติดังกล่าวตามความจําเป็นและต้องรีบเร่งดําเนินการโดยฉับพลัน และด้วยภัยพิบัติเป็นเรื่องของความจําเป็นเร่งด่วน รัฐจึงวางหลักเกณฑ์การดําเนินการเพื่อให้ความช่วยเหลือ แก่ผู้ประสบภัยพิบัติเป็นกรณีฉุกเฉินไว้เป็นการเฉพาะ เช่น พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย พ.ศ. 2550 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546
ทั้งนี้ เพื่อให้มีวิธีดําเนินการแตกต่างกับการบริหารราชการแผ่นดินในภาวะปกติทั่วไป ซึ่งในกรณีเกิดการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง ในเขตพื้นที่อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ได้สร้างความเสียหายแก่เกษตรกรที่ปลูกมันสําปะหลังอย่างกว้างขวาง ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีจึงได้มีประกาศจังหวัด อุบลราชธานี ลงวันที่ 27 เมษายน 2555 กําหนดให้เขตพื้นที่อําเภอนาตาล เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถใช้หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติเป็นกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 พร้อมกับได้มีคําสั่งที่ 1448/2555 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 จัดสรรวงเงินทดรองราชการจํานวน 2,900,100 บาท ให้แก่อําเภอนาตาล เพื่อจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl กําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง และมอบอํานาจให้นายอําเภอนาตาล เป็นผู้อนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติดังกล่าว
ต่อมา เกษตรจังหวัดอุบลราชธานีได้มีหนังสือ ที่ อบ 0009/8208 ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 กําหนด รายละเอียดและค่าใช้จ่ายของอําเภอนาตาลในการจัดซื้อสารเคมีดังกล่าว ขนาด 500 ซีซี จํานวน 2,000 ขวด เป็นเงินจํานวน 2,900,100 บาท สําหรับการจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl ดังกล่าวนั้น ปรากฏว่า คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอําเภอนาตาล (ก.ช.ภ.อ. นาตาล) ได้ประชุมครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2555 มีมติเห็นชอบ ให้จ่ายเงินทดรองราชการสําหรับจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl กําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง เป็นเงิน 2,900,000 บาท และนางมยุรี ในฐานะเจ้าหน้าที่พัสดุ ก็ได้ดําเนินการจัดซื้อสารเคมี กําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลังด้วยวิธีตกลงราคา และมีหนังสือลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 รายงานผู้ฟ้องคดีว่า นางมยุรีได้เจรจาต่อรองและตกลงราคาโดยได้เชิญผู้ขาย 3 ราย มาเสนอราคา และได้เจรจาต่อรองราคากับผู้เสนอราคาต่ําสุด คือ ห้างหุ้นส่วนจํากัด โชติชนิด ให้ลดราคา ลงอีก 4,000 บาท คงเหลือ 2,900,000 บาท ซึ่งไม่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรร ผู้ฟ้องคดี พิจารณาแล้วไม่พบความผิดปกติ จึงได้ลงนามอนุมัติจ่ายเงินทดรองราชการให้จัดซื้อสารเคมีตามที่เสนอ
กรณีจึงเห็นได้ว่า ในกระบวนการจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl กําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลังดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้มีประกาศจังหวัดอุบลราชธานีกําหนดให้เขตพื้นที่อําเภอนาตาล เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีลงนามอนุมัติให้จัดซื้อสารเคมีดังกล่าว ใช้ระยะเวลาเพียง 6 วัน ซึ่งเป็นการดําเนินการที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยพิบัติด้วยความจําเป็นเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 อีกทั้ง ระเบียบกระทรวงการคลังดังกล่าว ข้อ 40 วรรคหนึ่ง ก็ได้กําหนดให้นางมยุรี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหา เจรจาต่อรอง และตกลงราคากับผู้มีอาชีพขายสารเคมี Pirimiphos methyl โดยตรงแต่เพียงผู้เดียว
ส่วนผู้ฟ้องคดีในฐานะนายอําเภอ มีอํานาจหน้าที่ในการอนุมัติและออกใบสั่งซื้อตามที่นางมยุรีได้ตกลงราคากับผู้ขายไว้แล้วเท่านั้น การที่ผู้ฟ้องคดีจะควบคุมตรวจสอบการจัดซื้อสารเคมีดังกล่าวในรายละเอียดอย่างเคร่งครัดดังเช่นการจัดซื้อในภาวะปกติ จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทําได้และมีข้อจํากัดด้วยความจําเป็นเร่งด่วนตามที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น
สําหรับปัญหากรณีราคาที่จัดซื้อสารเคมีจะต้องมีราคาไม่สูงกว่าราคาตลาดของท้องที่ในช่วงเวลาภัยพิบัติเกิดขึ้น นั้น เห็นว่า ก่อนที่ผู้ฟ้องคดีจะย้ายมาดํารงตําแหน่งนายอําเภอนาตาล อําเภอนาตาลได้เคยจัดซื้อสารเคมี Pirimiphos methyl กําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง มาแล้วจํานวน 10 ครั้ง และในการจัดซื้อครั้งที่ 10 ที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ก็เป็นจัดซื้อในราคาเดียวกันกับการจัดซื้อครั้งนี้ ประกอบกับปรากฏข้อเท็จจริงตามรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยว่า พยานรายนางสันศนีย์ คิมหะมานนท์ และนางสาวจริยา แดงโสภา ซึ่งเป็นผู้มีอาชีพขายสารเคมี ในท้องที่อําเภอนาตาล ได้ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการสอบสวนสอดคล้องกันว่า สารเคมี Pirimiphos methyl กําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง ไม่มีจําหน่ายในท้องที่อําเภอนาตาลแต่อย่างใด
กรณีจึงรับฟังได้ว่า ในขณะมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในท้องที่อําเภอนาตาล ไม่มีสารเคมีดังกล่าว จําหน่ายให้ตรวจสอบราคาได้ และถือว่าการจัดซื้อสารเคมีกําจัดเพลี้ยแป้งมันสําปะหลังดังกล่าว ในส่วนของผู้ฟ้องคดีได้ดําเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 แล้ว
@ อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามฟังไม่ขึ้น
ส่วนกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากราคาสารเคมี Pirimiphos methyl ที่จัดซื้อมีราคาสูงกว่าท้องตลาด นั้น เห็นว่า เป็นกรณีที่ต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ในการจัดทําบริการสาธารณะทางด้านบรรเทาสาธารณภัยของรัฐเป็นสําคัญ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ประชาชนในท้องที่อําเภอนาตาล จํานวน 4 ตําบล ได้รับสารเคมี Pirimiphos methyl ที่จัดซื้อดังกล่าวครบถ้วนแล้ว และได้นําสารเคมีไปใช้เพื่อระงับการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสําปะหลัง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดหาสารเคมี เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นกรณีจัดหาสารเคมีเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติเป็นกรณีฉุกเฉินตามระเบียบการะทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 แล้ว
นอกจากนี้ ผลการดําเนินการทางวินัยแก่นางมยุรี เสมียนตราอําเภอนาตาล ผู้มีหน้าที่จัดซื้อสารเคมีในครั้งนี้ นั้น คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้มีความเห็นว่า การจัดซื้อสารเคมีดังกล่าวเป็นกรณีจําเป็นต้อง ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติโดยเร่งด่วน ทั้งยังเป็นไปตามนโยบายของจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้กําหนดชนิดและราคา ตลอดจนวงเงินไว้แล้ว การกระทําของนางมยุรี มิใช่ผลโดยตรง ทําให้ราชการเกิดความเสียหาย และไม่ได้กระทําไปโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ จึงไม่เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง เห็นควรลงโทษนางมยุรีโดยการลดเงินเดือน ในอัตราร้อยละ 4
ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงการลงโทษทางวินัยแก่ผู้ที่ได้กระทําการร่วมกันซึ่งควรได้รับการปฏิบัติไม่แตกต่างกันและมีมาตรฐานการลงโทษในระดับเดียวกัน ประกอบกับจากพฤติการณ์ ของผู้ฟ้องคดีก็ยังไม่พอฟังว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรอง ราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหาย แก่ราชการอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามมาตรา 82 (2) และมาตรา 85 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคําสั่ง กรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 5 กันยายน 2560 ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ จึงเป็นคําสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสาม จึงฟังไม่ขึ้น
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง ที่ 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึง วันที่มีคําสั่งดังกล่าว และมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตาม คําพิพากษาว่า เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอนคําสั่งดังกล่าวให้สิ้นผลแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหน้าที่ดําเนินการให้ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตําแหน่งนายอําเภอ และคืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะพึงได้รับตามที่ระเบียบและกฎหมายกําหนดไว้ นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่ศาลปกครองชั้นต้นกําหนดระยะเวลา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปฏิบัติตามข้อสังเกตดังกล่าวภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุดนั้น เห็นว่า ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษา ตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มิได้มีลักษณะเป็นการกําหนดคําบังคับตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ศาลปกครองจึงไม่อาจกําหนดระยะเวลาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปฏิบัติตามข้อสังเกตดังกล่าวได้
@ พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น
พิพากษาแก้คําพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นเพิกถอนคําสั่งกรมการปกครอง 793/2560 ลงวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ โดยให้ การเพิกถอนมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่มีคําสั่งดังกล่าว คําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และมีข้อสังเกต เกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดําเนินการให้เป็นไปตามคําพิพากษาว่า เมื่อศาลพิพากษาเพิกถอน คําสั่งดังกล่าวให้ลิ้นผลแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหน้าที่ดําเนินการให้ ผู้ฟ้องคดีกลับเข้ารับราชการในตําแหน่งนายอําาเภอ และคืนสิทธิประโยชน์ที่ผู้ฟ้องคดีจะพึงได้รับ ตามที่ระเบียบและกฎหมายกําหนดไว้ ทั้งนี้ ในโอกาสแรกที่อาจกระทําได้
************
ผลจากนี้เป็นอย่างไรต้อง คอยติดตามดู