"...นายประภักดิ์ ชูทิพย์ ได้ร่วมกับนางสาวเบญจลักษณ์ คงแก้ว ผู้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรสีห์การโยธา ตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่นางสาวณัฐชา บุตรทอง เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับเทศบาลเมืองพัทลุงโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐหรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ..."
นายประภักดิ์ ชูทิพย์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง หรือ "สจ.จุ๊ฟ" เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการท้องถิ่นอีกราย
ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดในคดีกล่าวหาใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรมในการประมูลเช่าอาคารศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนเทศบาลเมืองพัทลุง
ล่าสุด ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ นายประภักดิ์ ชูทิพย์ จำคุก 7 ปี เจ้าตัวรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 3 ปี 6 เดือน ก่อนได้รอลงอาญา และปรับเงินอีก 70,000 บาท
ข้อมูลคดีนี้ ถูกเปิดเผยเป็นทางการต่อสาธารณชน ในระหว่างการเปิดแถลงข่าวผลการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพัทลุง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อวันที่ 27 พ.ค.2567 ณ โรงแรมหรรษา เจบี อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ผ่านมา
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
@ คดีข้อกล่าวหา
ใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม
@ ผู้ถูกกล่าวหา
ผู้ถูกกล่าวหา มี 2 ราย คือ 1. นายประภักดิ์ ชูทิพย์ หรือ สจ.จุ๊ฟ ตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง 2.นางสาวเบญจลักษณ์ คงแก้ว ผู้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรสีห์การโยธา
@ พฤติการณ์ในการกระทำความผิด
เทศบาลเมืองพัทลุงดำเนินการประมูลเช่าอาคารศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนเทศบาลเมืองพัทลุง (ครั้งที่ 1) กำหนดยื่นซองประมูลในวันที่ 29 ธันวาคม 2557 ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 11.00 น. ซึ่งในวันดังกล่าว นายประภักดิ์ ชูทิพย์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากนางสาวณัฐชา บุตรทอง ได้ยื่นซองเสนอราคาค่าเช่าอาคารฯ อัตราเดือนละ 18,100 บาท ประโยชน์ตอบแทนอื่น 8,000 บาท และนางสาวเบญจลักษณ์ คงแก้ว ผู้รับมอบอำนาจ จากห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรสีห์การโยธา ได้ยื่นซองเสนอราคาค่าเช่าอาคารดังกล่าว อัตราเดือนละ 18,000 บาท ประโยชน์ตอบแทนอื่น 10,000 บาท
ปรากฏข้อเท็จจริงว่านายประภักดิ์ ชูทิพย์ กับพวก ใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทำโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้รับมอบอำนาจจาก บริษัท แทนไท 1998 กรุ๊ป จำกัด และผู้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด อินเตอร์เนชั่นแนล เคมิคอล ซัพพลายเออร์ ไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาในครั้งดังกล่าว
โดยนายประภักดิ์ ชูทิพย์ ได้ร่วมกับนางสาวเบญจลักษณ์ คงแก้ว ผู้รับมอบอำนาจจากห้างหุ้นส่วนจำกัด สุรสีห์การโยธา ตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่นางสาวณัฐชา บุตรทอง เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับเทศบาลเมืองพัทลุงโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกันมิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐหรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ
@ มติคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 7 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 3 วรรคสาม (7) และ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 และตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 11 (7)
@ คำพิพากษาศาล
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อท 29/2566 คดีหมายเลขแดงที่ 116/2566 พิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 ว่า จําเลยทั้งสอง (นายประภักดิ์ หรือสจ.จุ๊ฟ ชูทิพย์ จำเลยที่ 1 นางสาวเบญจลักษณ์ คงแก้ว จำเลยที่ 2) มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคหนึ่ง (เดิม) พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 7 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เฉพาะจําเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 อีกฐานหนึ่ง
การกระทําของจําเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษจําเลยที่ 1 ฐานผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองซึ่งมิใช่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐกระทําความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ตามมาตรา 13 และลงโทษจําเลยที่ 2 ฐานใช้อุบายหลอกลวงหรือกระทําการโดยวิธีอื่นใดเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทําการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติว่าด้วย
ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90
จําคุกจําเลยที่ 1 มีกําหนด 7 ปี และปรับ 140,000 บาท จําคุกจําเลยที่ 2 มีกําหนด 1 ปี และปรับ 9,050 บาท
จําเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษ ให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
คงจําคุกจําเลยที่ 1มีกําหนด 3 ปี 6 เดือน และปรับ 70,000 บาท จําคุกจําเลยที่ 2 มีกําหนด 6 เดือน และปรับ 4,525 บาท
ไม่ปรากฏว่าจําเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์แห่งคดีและความเสียหายไม่ร้ายแรงนัก เพื่อให้โอกาสแก่จําเลยทั้งสองกลับตนเป็นพลเมืองดี เห็นสมควรรอการลงโทษจําคุกจําเลย ทั้งสองมีกําหนด 2 ปี โดยให้คุมความประพฤติจําเลยทั้งสอง 1 ปี ให้จําเลยทั้งสองไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง และให้ทํางานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า เกี่ยวกับผลคำพิพากษาศาลฯ ดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) ให้อุทธรณ์คำพิพากษา หรือไม่อุทธรณ์คำพิพากษาต่อในส่วนที่รอการลงโทษจำคุกจำเลย
แต่ไม่ว่าบทสรุปสุดท้ายผลคดีจะออกมาเป็นอย่างไร กรณีนี้นับเป็นอีกหนึ่งคดีตัวอย่าง ไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการท้องถิ่น เดินย้ำซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่าง ทั้งในปัจจุบันและอนาคตสืบไป