ที่ชเวโก๊กโก นอกเหนือจากนายเสอ จื้อเจียง มหาเศรษฐีชาวจีนที่ตอนนี้ถูกจับโดยทางการไทย จะเข้าไปมีบทบาทบริหารแล้ว บริษัทเมียนมา ยาไท่ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป จํากัด ยังได้เข้าไปมีบทบาทบริหารชเวโก๊กโกผ่านบริษัทอีกแห่งที่อยู่ในประเทศไทย (ขอสงวนชื่อบริษัทในประเทศไทย) ซึ่งบริษัทที่ประเทศไทยนั้นพบว่าเป็นบริษัทที่มีการจดทะเบียนเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 และบริษัทนี้ก็ได้เสร็จสิ้นบัญชีไปในเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
ที่ผ่านมา ทั้งสื่อต่างประเทศและสื่อในไทยหลายฉบับได้มีการลงข่าวกองกำลังพิทักษ์ชายแดนของกลุ่มกะเหรี่ยงหรือ BGF ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจฉ้อโกงหลอกลวง
ล่าสุดองค์กร Justice for Myanmar (JFM) ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวแบบไม่เปิดเผยตัว รณรงค์เพื่อความยุติธรรมและความรับผิดชอบต่อประชาชนชาวเมียนมาได้มีการเปิดเผยความเชื่อมโยงระหว่างกองกำลัง BGF ซึ่งมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและในต่างประเทศ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานที่ว่านี้ส่วนหนึ่งมานำเสนอ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@หุ้นส่วนในคดีอาชญากรรม
เป็นเวลานานกว่าสิบปีแล้ว กองกำลัง BGF มีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม และการพนันผิดกฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับเงินไปกว่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
รายงานของ JFM พบว่าผู้นํา BGF และครอบครัวของพวกเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติที่มาจากไทย จีน และมาเลเซียในการดําเนินธุรกิจผิดกฎหมายที่เมืองเมียวดีใกล้กับชายแดนไทย โดยกิจกรรมผิดกฎหมายนั้นเฟื่องฟูขึ้นหลังจากเหตุรัฐประหารในปี 2564
ต่อมาในเดือน ธ.ค. 2566 ประเทศอังกฤษได้มีการคว่ำบาตร พันเอก ซอว์ ชิต ตู (Saw Chit Thu) และ พ.อ.ซอว์ มิน มิน อู (Saw Min Min Oo) เนื่องจากพวกเขามี "ความรับผิดชอบ ให้การสนับสนุน หรือได้รับประโยชน์จากการค้ามนุษย์ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโก ซึ่งเป็นพื้นที่มีการบังคับทำกิจกรรมฉ้อโกงและอยู่ภายใต้การปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม
ที่ชเวโก๊กโก นอกเหนือจากนายเสอ จื้อเจียง มหาเศรษฐีชาวจีนที่ตอนนี้ถูกจับโดยทางการไทย จะเข้าไปมีบทบาทบริหารแล้ว บริษัทเมียนมา ยาไท่ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป จํากัด ยังได้เข้าไปมีบทบาทบริหารชเวโก๊กโกผ่านบริษัทอีกแห่งที่อยู่ในประเทศไทย (ขอสงวนชื่อบริษัทในประเทศไทย) ซึ่งบริษัทที่ประเทศไทยนั้นพบว่าเป็นบริษัทที่มีการจดทะเบียนเมื่อเดือน ธ.ค. 2560 และบริษัทนี้ก็ได้เสร็จสิ้นบัญชีไปในเดือน ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา
พื้นที่นิคมฉ้อโกงที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกองกำลังกะเหรี่ยง
โดยบริษัทไทยแห่งนี้มีผู้บริหารชื่อว่านายเจริญชัย (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นคนไทย และมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวกัมพูชา 1 ราย และชาวจีน 2 ราย
ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏรายงานว่ากลุ่ม BGF เคยไปหารือกับธนาคารไทยเพื่อจะขอให้ความสนับสนุนโครงการชเวโก๊กโก,ในเดือน ก.พ. 2563 ตัวแทนจากธนาคารกสิกรไทย,ธนาคารกรุงเทพ,ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเอ็กซิมแบงก์ หรือธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกของไทยได้เดินทางไปยังชเวโก๊กโกเพื่อสํารวจศักยภาพการสนับสนุนทางการเงินสําหรับเศรษฐกิจที่กําลังเติบโต
โดยภาพของตัวแทนธนาคารต่างๆของไทยซึ่งได้มีการข้ามฝั่งไปยังเมียนมาถูกนำไปเผยแพร่ผ่านบนเฟซบุ๊กของนายจำเริญ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งทาง JFM ระบุว่านายจำเริญคนนี้ก็เป็นผู้ร่วมงานอีกคนของกลุ่มกะเหรี่ยง BGF อย่างไรก็ตามเบื้องต้นสำนักข่าวอิศราได้ลองตรวจสอบเฟซบุ๊กของนายจำเริญที่ว่านี้ก็พบว่าไม่มีรายละเอียดใดๆหลงเหลืออยู่เลย
ตัวแทนธนาคารไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้องลงพื้นที่
ส่วน JFM ก็ได้เขียนข้อซักถามไปถึงธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเอ็กซิมแบงค์แล้ว ด้วยคำถามเกี่ยวกับทริปที่ตัวแทนธนาคารเหล่านี้เดินทางไปยังชเวโก๊กโก และคำถามที่ว่าพวกเขาได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มกะเหรี่ยง BGF และผู้ที่เกี่ยวข้องจริงหรือไม่ แต่มีแค่ตัวแทนธนาคารเอ็กซิมแบงก์ที่ตอบข้อซักถามกลับมาเท่านั้น
“เราขอชี้แจงว่าธนาคารเพื่อการส่งออกและนําเข้าแห่งประเทศไทยไม่มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับกลุ่มที่กล่าวถึงและไม่ได้จัดหาเงินทุนสําหรับโครงการใด ๆ ในเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมาแต่อย่างใด” ตัวแทนเอ็กซิมแบงก์ตอบกลับ
@แหล่งพลังงานให้กับกลุ่มอาชญากรรม
JFM ระบุอีกว่ากลุ่ม BGF ยังได้มีการหาผลกำไรเพิ่มเติมจากการขายสาธารณูปโภคให้กับกลุ่มที่ดำเนินการฉ้อโกงหลอกลวงทางไซเบอร์ และการพนันออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกิจกรรมการฉ้อโกงที่ว่ามานี้ต้องอาศัยไฟฟ้าที่เสถียรและอินเทอร์เน็ตแบนด์วิธสูง
ย้อนไปในปี 2561 มีบริษัทในสังกัดกองกำลัง BGF ชื่อว่าบริษัท Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing หรือที่มีชื่อย่อว่า SMTY ได้มีการเซ็นสัญญาการจัดซื้อพลังงานกับบริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) แต่ไม่ได้มีการระบุว่าบริษัทย่อยที่ว่านี้ชื่ออะไรบ้าง แต่ว่าสัญญาการซื้อพลังงานที่ว่านี้ก็ได้นำไปสู่การส่งออกไฟฟ้าไปยังสามพื้นที่ได้แก่ 1.เมืองเมียวดี 2.ชเวโก๊กโก และ 3. เมืองเลย์เกย์กอว์ (Lay Kay Kaw) ที่ตั้งอยู่ทางใต้ของเมียวดี
มีรายงานว่าพื้นที่ซึ่งมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าในระดับสูงนั้นส่วนมากแล้วจะมาจากพื้นที่ซึ่งมีกิจกรรมหลอกลวงทางไซเบอร์หลายแห่งเช่นทางตอนใต้ของเมืองเมียวดีและในบริเวณใกล้เคียงกับเมืองเลย์เกย์กอว์ ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้เมืองเมียวดี
เมืองเลย์เกย์กอว์ปรากฏว่าเป็นพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมตงเหมย,เคเคพาร์ค และโครงการใหม่เมืองใหม่หวนย่า (Huanya International New City) ซึ่งทั้งหมดพบว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่ม BGF
อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2566 ว่าทาง กฟภ.ได้ติดสินใจปิดสวิตช์ส่งกระแสไฟเข้าพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษชเวโก๊กโกแล้ว ด้วยเหตุผลว่าเป็นความต้องการของเมียนมาให้ยุติการจ่ายไฟพื้นที่ดังกล่าวนี้
เรียบเรียงจาก:https://www.justiceformyanmar.org/stories/the-karen-border-guard-force-karen-national-army-criminal-business-network-exposed
ส่วนเอกชนไทยและคนไทยที่มีส่วนเข้าไปบริหารพื้นที่ชเวโก๊กโกจะเป็นใครนั้น สำนักข่าวอิศราจะเอาประเด็นเหล่านี้มานำเสนอในครั้งถัดไป
*หมายเหตุ: สืบเนื่องจากรายงานข่าวในสื่อต่างประเทศมีการระบุถึงชื่อบุคคลและนิติบุคคลที่อยู่ในไทย ซึ่งสำนักข่าวอิศรายังไม่ได้ไปติดต่อสัมภาษณ์เพื่อฟังข้อมูลอีกด้าน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายสำนักข่าวอิศราจึงได้ปิดรายละเอียดชื่อบุคคลเล่านี้เอาไว้จนกว่าจะมีการชี้แจงอีกด้านหนึ่ง
อ่านประกอบ: