"...แม้ว่าในเวลาต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีการส่งเรื่องให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะผู้บังคับบัญชาเพื่อให้พิจารณา ดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใหม่ หากเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จะไม่พิจารณาโทษวินัจตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ..."
เป็นอีกหนึ่งความทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่น่าสนใจ
กรณี อดีตข้าราชการศาลยุติธรรม 2 ราย ที่ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีร่วมกันเรียกรับเงินจากนายประกันอาชีพ เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกรวดเร็วเกี่ยวกับการจัดทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งถูกสำนักงานศาลยุติธรรม พิจารณาโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการไปแล้ว ก่อนที่ในเวลาต่อมา อดีตข้าราชการศาลยุติธรรม 2 ราย จะยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองสูงสุด และศาลฯ ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการและมีคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองแทน
แม้ว่าในเวลาต่อมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีการส่งเรื่องให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะผู้บังคับบัญชาเพื่อให้พิจารณา ดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ใหม่ หากเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม จะไม่พิจารณาโทษวินัจตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
เพราะศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โดยกำหนดคำบังคับให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการ และมีคำสั่งให้อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองไปแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายเรื่อง การพิจารณาโทษทางวินัยกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอดีตข้าราชการศาลยุติธรรม ในมูลกรณีเดียวกับที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ระบุว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ ศย 004/2852 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหานาย อ. เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนิติกรชำนาญการ สำนักอำนวยการประจำศาลกับพวก ว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีร่วมกันเรียกรับเงินจากนายประกันอาชีพ เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการอำนวยความสะดวกรวดเร็วเกี่ยวกับการจัดทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ไต่สวนและพิจารณาผลการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมจำนวนสองราย ได้แก่ นาย อ. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และนาย ท. ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ที่มิควรได้ เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ประกอบกับมาตรา 139 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 จึงส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยแก่นาย อ. และนาย ท. ตามมาตรา 91 (2) และมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป
สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รายงานการพิจารณาโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวไปยังคณะอนุกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยและการออกจากราชการ (อ.ก.ศ. วินัย) และคณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม (ก.ศ.) เพื่อพิจารณาลงโทษทางวินัยแก่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองราย โดย อ.ก.ศ. วินัย และ ก.ศ.พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดอดีตข้าราชการศาลยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการซึ่งออกจากราชการไปแล้ว ในเรื่องเสร็จที่ 1559/2564 ว่าจะต้องดำเนินการสั่งลงโทษภายในสามปี นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ และต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน นับแต่วันที่ผู้นั้นออกจากราชการ แต่เนื่องจากกรณีนี้มีความแตกต่างกับกรณีตามแนวคำวินิจฉัยเพราะสำนักงานศาลยุติธรรมได้เคยดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีคำสั่งลงโทษไล่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการแล้ว และต่อมาศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการของอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองราย และสำนักงานศาลยุติธรรมได้เพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิม และมีคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองแล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2564 และวันที่ 13 กันยายน 2565 อันเป็นวันที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมีผลบังคับ
กรณีจึงมีปัญหาที่จะขอหารือเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยและการพิจารณาโทษทางวินัยแก่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยแบ่งออกเป็นประเด็น ดังนี้
1. ปัญหาเกี่ยวกับวันออกจากราชการของอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายว่าจะถือวันออกจากราชการตามคำสั่งไล่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการคือ วันที่ 27 ธันวาคม 2553 หรือจะถือวันออกจากราชการตามคำสั่งให้ออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมอง คือ วันที่ 17 สิงหาคม 2564 และวันที่ 13 กันยายน 2565 อันเป็นวันที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมีผลบังคับและเป็นวันที่สำนักงานศาลยุติธรรม มีคำสั่งให้อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองเนื่องจากวันออกจากราชการดังกล่าวจะมีผลเกี่ยวกับอำนาจในการดำเนินการทางวินัยและอำนาจในการพิจารณาลงโทษของผู้มีอำนาจสั่งลงโทษ
2. ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการแล้ว การที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะมีคำสั่งลงโทษตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่งจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ เนื่องจากคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดนั้นผูกพันสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับนับแต่วันที่กำหนดในคำพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ตามมาตรา 70วรรคหนึ่ง และมาตรา 73 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. 2542 และหากสำนักงานศาลยุติธรรมไม่ดำเนินการพิจารณาโทษทางวินัยตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ หรือไม่
3. จากการตรวจสอบสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. พบว่ามีพยานบุคคลมากกว่าที่ได้จากการสอบสวนวินัยของสำนักงานศาลยุติธรรม รวมทั้งมีประจักษ์พยานที่ยืนยันว่ามีการเรียกรับเงินในเรื่องดังกล่าว ซึ่งพยานหลักฐานดังกล่าวอาจทำให้ผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไป และหากผลการพิจารณาเปลี่ยนแปลงไปสำนักงานศาลยุติธรรมจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้หรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) พิจารณาข้อหารือของสำนักงานศาลยุติธรรมโดยมีผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี (สำนักงาน ก.พ.) ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการชี้แจงของผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม
สรุปได้ว่า สำนักงานศาลยุติธรรมได้เคยดำเนินการสอบสวนทางวินัยแก่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 โดยมีคำสั่งลงโทษไล่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการและต่อมาอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรมที่สั่งลงโทษไล่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการ และสำนักงานศาลยุติธรรมได้ปฏิบัติตามผลผูกพันของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยทั้งสองกรณีข้างต้น
โดยมีคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ลงวันที่ 25 มกราคม 2565 และคำสั่งสำนักงานศาลยุติธรรม ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ตามลำดับ ให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการและมีคำสั่งให้ข้าราชการทั้งสองรายออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดมีผลบังคับ โดยไม่มีการรับอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายกลับเข้ารับราชการ
นอกจากนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากการชี้แจงของผู้แทนสำนักงาน ป.ป.ช.สรุปได้ว่าสำนวนการไต่สวนตามข้อหารือนี้เป็นการดำเนินการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันก่อนวันที่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ใช้บังคับ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 จึงต้องนับระยะเวลาเริ่มต้นของการดำเนินการตามมาตรา 48 ใหม่ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้บังคับตามมาตรา 192วรรคสอง คือ วันที่ 22 กรกฎาคม 2561 และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 ชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาว่า มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และได้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 (2) ประกอบกับมาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ต่อไป
สำหรับประเด็นตามข้อหารือ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดประเด็นที่ต้องพิจารณาเสียใหม่เพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาโทษทางวินัยแก่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือไม่ นั้น เห็นว่า มาตรา 91 (2) ประกอบกับ มาตรา 98 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 กำหนดว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วมีมติวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ถ้ามีมูลความผิดทางวินัยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อให้ดำเนินการทางวินัยต่อไป โดยให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก และให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา โดยให้พิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิด เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 48 แล้ว แต่โดยที่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้เป็นฐานอำนาจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชา การสั่งลงโทษทางวินัยแก่ผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะกระทำได้หรือไม่ เพียงใด นั้น จึงต้องพิจารณาถึงอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการสั่งลงโทษตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องด้วย ทั้งนี้ ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 51/2563 และคณะกรรมการกฤษฎีกา(ที่ประชุมร่วมคณะที่ 1 และคณะที่ 2) ในเรื่องเสร็จที่ 1559/2564
สำหรับกรณีตามข้อหารือนี้ โดยที่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มูลกรณีความผิดทางวินัยที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายนั้น สืบเนื่องมาจากการกระทำอันเป็นมูลเหตุแห่งคดีเดียวกันกับที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้เคยดำเนินการสอบสวนและสั่งลงโทษทางวินัยแก่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคล และต่อมาอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วทั้งสองคดีโดยศาลปกครองสูงสุดได้กำหนดคำบังคับให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมได้ปฏิบัติตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยดังกล่าวทั้งสองกรณีแล้ว
โดยเพิกถอนคำสั่งลงโทษเดิมและมีคำสั่งให้อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายออกจากราชการเพราะเหตุมีมลทินหรือมัวหมองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ดังนั้น แม้ในภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีมติชี้มูลความผิดทางวินัยอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายและส่งเรื่องไปยังเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะผู้บังคับบัญชาเพื่อให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
แต่เมื่อเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมในฐานะผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นคู่กรณีตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในคดีทั้งสองคดีที่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยอันเป็นมูลกรณีเดียวกันกับที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูล รวมทั้งปรากฏข้อเท็จจริงว่า การพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในคดีดังกล่าว ได้มีการพิจารณาและวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาด้วยแล้วว่าเป็นกรณีที่มีการกระทำความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่
โดยศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการได้วินิจฉัยชี้ขาดและมีคำพิพากษาเป็นที่สุดในเรื่องนี้แล้ว เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมจึงย่อมถูกผูกพันที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำบังคับของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดตามนัยมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา 73 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และไม่อาจพิจารณาโทษทางวินัยแก่อดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองรายตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวจะเป็นไปตามเงื่อนไขเกี่ยวกับระยะเวลาตามมาตรา 98 วรรคสามประกอบกับมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ หรือไม่ และในกรณีเช่นว่านี้ ย่อมถือได้ว่าการดำเนินการของผู้บังคับบัญชาที่มิได้พิจารณาโทษทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น เป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควร จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
สำหรับประเด็นที่สองและประเด็นที่สาม ในกรณีที่จะต้องพิจารณาโทษทางวินัยตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหรือไม่ และต้องถือเอาวันใดเป็นวันออกจากราชการของอดีตข้าราชการศาลยุติธรรมทั้งสองราย และในกรณีที่สำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีพยานหลักฐานที่แสดงถึงการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงซึ่งอาจทำให้ผลการพิจารณาทางวินัยกรณีดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป สำนักงานศาลยุติธรรมจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้หรือไม่ นั้น
เห็นว่า เมื่อได้ให้ความเห็นในประเด็นที่ หนึ่งแล้ว จึงไม่ต้องให้ความเห็นในประเด็นนี้อีก