"...หากพิจารณาจากฐานข้อมูลคดีทั้งหมด จะพบว่า 1. กล่าวหาคดีทุจริตเกี่ยวกับการจัดงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ เป็นเรื่องการเบิกจ่ายหรือเบียดบังเงินและการจัดงาน , 2. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 , 3. จำเลยบางราย บทลงโทษจำคุกหนักหลายปี แต่ได้รับการรอลงอาญา ..."
เทศกาลสงกรานต์ ประเพณีสำคัญของคนไทย เวียนมาถึงอีกครั้งในปี 2567
ขณะที่ผลคดีทุจริตเกี่ยวกับการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ของผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ถูกคณะกรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดและศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษ ก็ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด เป็นรายของ นายลำพอง นามพันธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) พิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี กับพวก คือ นายวิรัติ ปีดแก้ว นางสาวจรรยา ชาญวิชัย คดีกล่าวหาทุจริตในการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมาปรับสถานที่เพื่อใช้ในโครงการสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 , 157 และ 162(1)(4) ประกอบมาตรา 83 (แต่มาตรา 162 (1) (4) ขาดอายุความ) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 ส.ค.2562
โดยเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นายลำพอง นามพันธ์ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามกฎหมาย จำคุก 6 ปี และปรับเงิน 30,000 บาท ส่วนนายวิรัติ ปีดแก้ว จำเลยที่ 2 มีความผิดตามกฎหมาย รวมลงโทษจำคุก 26 ปี นางสาวจรรยา ชาญวิชัย จำเลยที่ 3 มีความผิดตามกฎหมาย รวมจำคุก 10 ปี และปรับเงิน 50,000 บาท อย่างไรก็ดี กรณี นายลำพอง นามพันธ์ จำเลยที่ 1 นางสาวจรรยา ชาญวิชัย จำเลยที่ 3 ไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอลงการลงโทษไว้ 2 ปี
ขณะที่นายวิรัติ ปีดแก้ว จำเลยที่ 2 นับโทษจำคุกต่อจากโทษคดีเดิม
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1
สำหรับ กรณี นายลำพอง นามพันธ์ และพวก ถูกกล่าวหาทุจริตในการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างเหมาปรับสถานที่เพื่อใช้ในโครงการสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ นั้น
คดีนี้ ไม่ใช่คดีแรก
หากแต่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ก็มีคำพิพากษาตัดสิน นายลำพอง นามพันธ์ กับพวก คือ นายทินกฤต หรือ วิรัตน์ ปีดแก้ว และนางสาวจรรยา ชาญวิชัย ในคดีกล่าวหาทุจริตในการเบิกเงินค่าจ้างเหมาปรับสถานที่เพื่อใช้ในโครงการสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ ไปแล้ว
โดยเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นายลำพอง นามพันธ์ จำเลยที่ 1 มีความผิดตามมาตรา 151 จำคุก 5 ปี และปรับ 20,000 บาท นายลำพอง นามพันธ์ ให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท โดยโทษจำคุก ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
ยกฟ้อง สำหรับ นายทินกฤต หรือ วิรัตน์ ปีดแก้ว จำเลยที่ 2 และ นางสาวจรรยา ชาญวิชัย จำเลยที่ 3
ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2565 มีมติไม่เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1
นั้นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ คดีกล่าวหาทุจริตในการเบิกเงินค่าจ้างเหมาปรับสถานที่เพื่อใช้ในโครงการสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ ไม่ได้รับโทษจำคุก เนื่องจากคดีแรกและคดีที่สองได้รับการรอลงอาญาทั้งหมด
ทั้งนี้ สำหรับผู้บริหาร อปท.ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดงานประเพณีสงกรานต์ และศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษไปแล้ว
นอกจาก นายลำพอง นามพันธ์ อดีตนายก อบต. พิมลราช อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี แล้ว ยังมีอีก 2 ราย คือ
รายแรก.
นายประสิทธิ์ เพชราภรณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช คดีกล่าวหาเบียดบังเงินสนับสนุนโครงการจัดงานเทศกาลสงกรานต์และของดีเมืองขนอม ประจำปี 2557 ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 , 157 ประกอบมาตรา 90 และมาตรา 91 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8 มีคำพิพากษาว่า นายประสิทธิ์ เพชราภรณ์ จำเลย มีความผิดตามมาตรา 147 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามมาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์
ลงโทษจำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุก 10 ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 500,000 บาท แก่สำนักงานเทศบาลตำบลขนอม
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมลงมติเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2565 เห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) ที่จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาของ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 8
ปัจจุบัน ยังไม่ทราบความคืบหน้าผลการตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา
รายสอง.
นายทองหล่อ เอี่ยมวงศ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลหนองไผ่ล้อม จังหวัดนครราชสีมา กับพวก 3 ราย คือ นายสันติ เกิดโมฬี นางลักษณา ประสีระเตสัง และนางจันทร์พิมพ์ เอี่ยมวงศ์ กรณีจัดหาพัสดุในโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ปี 2551 โดยมิชอบ ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญาตาม ป.อ.มาตรา 151, 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561
โดยเมื่อวันที่ 21 พ.ค.2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษาว่า นายทองหล่อ เอี่ยมวงศ์ จำเลยที่ 1 นายสันติ เกิดโมฬี จำเลยที่ 2 นางลักษณา ประสีระเตสัง จำเลยที่ 3 มีความผิดตามมาตรา 151
นอกจากนี้ นายทองหล่อ เอี่ยมวงศ์ จำเลยที่ 1 นายสันติ เกิดโมฬี จำเลยที่ 2 นางลักษณา ประสีระเตสัง จำเลยที่ 3 ยังมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
การกระทำของจำเลยที่ 1, 2 และ 3 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามมาตรา 12 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ.มาตรา 90 จำคุก จำเลยทั้ง 3 ราย คนละ 5 ปี
ทางนำสืบพยานของจำเลยทั้ง 3 ราย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้างนับเป็นเหตุบรรเทาโทษตาม ป.อ.มาตรา 78 ลดโทษ ให้คนละหนึ่งในสาม คงจำคุก จำเลยทั้ง 3 ราย คนละ 3 ปี 4 เดือน
ส่วนนางจันทร์พิมพ์ เอี่ยมวงศ์ จำเลยที่ 4 ให้ยกฟ้อง
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษา สำหรับจำเลยที่ 1-3 และเห็นควรอุทธรณ์คำพิพากษาสำหรับ จำเลยที่ 4
ปัจจุบันยังไม่ทราบความคืบหน้าผลการตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา
ขณะที่ นางลักษณา ประสีระเตสัง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองคลังเทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม อ.เมือง จ.นครราชสีมา ถูกแยกฟ้องอีก 1 คดี คือ กรณีทุจริตการดำเนินโครงการส่งเสริมสนับสนุนงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ ประจำปี 2550 ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตาม ป.อ.มาตรา 157 และมาตรา 162 (4) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563
โดยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3 พิพากษาว่า นางลักษณา ประสีระเตสัง จำเลย มีความผิด ตามมาตรา 157
รับสารภาพ จำคุก 6 เดือน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 3
ปัจจุบันยังไม่ทราบความคืบหน้าผลการตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ และฎีกา
หากพิจารณาจากฐานข้อมูลคดีทั้งหมด จะพบว่า
1. กล่าวหาคดีทุจริตเกี่ยวกับการจัดงานสืบสานประเพณีวันสงกรานต์ เป็นเรื่องการเบิกจ่ายหรือเบียดบังเงิน และการจัดงาน
2. ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147, 151, 157 และพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12
3. จำเลยบางราย บทลงโทษจำคุกหนักหลายปี แต่ได้รับการรอลงอาญา
อย่างไรก็ดี หลายคดีนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าคดีสิ้นสุดแล้วหรือไม่ จำเลยทุกราย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
ส่วนนับจากนี้ จะมีผู้บริหาร อปท. และพวก รายใหม่ ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการจัดงานประเพณีสงกรานต์ และศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากhttps://www.sanook.com/