"...ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2565 สตง. แจ้งผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,012 เรื่อง โดยพบข้อบกพร่อง/ข้อตรวจพบ/ข้อสังเกตจากการตรวจสอบ จำนวนทั้งสิ้น 843 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,040.091 ล้านบาท..."
ในการสัมภาษณ์พิเศษ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ช่วงวาระครบการดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 27 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ที่มีการนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบเป็นทางการไปแล้ว
มีข้อมูลสำคัญชุดหนึ่งที่น่าสนใจ ในบทสัมภาษณ์พิเศษดังกล่าว คือ ผลการตรวจสอบปัญหาการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ของ สตง. ในช่วงปี 2561-2566 ที่ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. ยืนยันว่า "จำนวนตัวเลขความเสียหายที่พบในแต่ละปี เฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 พันล้านบาท บางปี 2 หมื่นล้านบาท บางปี 4 หมื่นล้านบาท รวม 6 ปี ก็ไปรวมตัวเลขความเสียหายมาได้ประมาณแสนล้านบาท"
นายประจักษ์ บุญยัง ยังย้ำด้วยว่า "จริงๆคอนเซ็ปต์ตรงนี้ ตั้งแต่มาเป็นผู้ว่าฯ เราก็บอกตั้งข้าราชการที่ทำงานว่า สิ่งที่เราพบปีละ 2-3 หมื่นล้านบาทหรือขนาดนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็น มันเป็นสิ่งที่เราไม่อยากเห็น เพราะอันนั้นคือความเสียหาย ความเสียหายต่อเงินแผ่นดินของเรา มันก็เลยนําไปสู่วิธีการกระบวนการต่างๆที่เราจะทํายังไงให้เขาไม่ทําผิดตั้งแต่เริ่มต้นเลย"
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน สตง. ว่า ตัวเลขความเสียหายประมาณแสนล้านบาท ที่นายประจักษ์ ระบุถึง ตัวเลขจริงๆ อยู่ที่ 112,896.67 ล้านบาท
ที่มาของตัวเลขดังกล่าว มาจากการผลการตรวจสอบโครงการฯ ต่างๆ ในช่วงปีงบประมาณ 2561 – 2566 ที่ สตง. ได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่อง ข้อสังเกต และข้อตรวจพบจากการตรวจสอบ ซึ่งส่งผลให้หน่วยรับตรวจ มีการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงาน การใช้จ่ายงบประมาณ และการดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี และแบบแผนการปฏิบัติราชการ รวมทั้งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการเกี่ยวกับข้อบกพร่องที่มีมูลค่าความเสียหายเป็นตัวเงิน เพื่อให้มีการชดใช้เงินคืน จัดเก็บรายได้เพิ่ม ป้องกันความเสียหาย และดำเนินการมิให้เกิดค่าเสียโอกาสและความเสียหายจากการดำเนินงาน ถือเป็นผลประโยชน์จากการปฏิบัติงานที่สามารถคิดเป็นมูลค่าทางการเงินได้ รวมทั้งสิ้น 112,896.67 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เมื่อดูไส้ในตัวเลข 112,896.67 ล้านบาทดังกล่าว จะพบว่าเป็นตัวเลขในปี 2563 มากที่สุด จำนวน 43,487.48 ล้านบาท แยกเป็น การตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย จำนวน 1,921.64 ล้านบาท การตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน 41,565.84 ล้านบาท
ส่วนตัวเลขล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา ตัวเลขความเสียหายรวมอยู่ที่ 30,848.49 ล้านบาท (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ)
แหล่งข่าวยังให้ข้อมูลด้วยว่า เกี่ยวกับการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน นั้น ปัจจุบัน สตง. ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา กำหนดให้สำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดทุกแห่ง ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงิน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่าพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างมีการนำไปใช้ตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ อย่างไร เป็นผลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีผลการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากปีละประมาณ 60 เรื่อง เพิ่มขึ้นเป็น ประมาณ 130 เรื่องในแต่ละปี
เมื่อพิจารณาผลการตรวจสอบตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 - 2566 พบว่าสัดส่วนรายงานการตรวจสอบที่พบข้อบกพร่องหรือข้อสังเกตของทุกลักษณะงานเทียบกับจำนวนรายงานการตรวจสอบทั้งหมดมีแนวโน้มที่ลดลง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 คิดเป็นร้อยละ 50.27 และลดลงเป็นร้อยละ 21.66 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งผลการตรวจสอบของ สตง. ที่มีข้อสังเกตลดลง แสดงให้เห็นว่าหน่วยรับตรวจมีการแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานให้ถูกต้องมากยิ่งขึ้น
สำหรับการตรวจสอบเรื่องที่ความสนใจของสาธารณชน เช่น กรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นั้น แหล่งข่าว ยืนยันว่า เรื่องนี้ นับเป็นผลงานสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของ สตง.ในช่วงที่ผ่านมา
สตง. ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐในสภาวะฉุกเฉินจากการระบาดของโรค COVID-19 เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีความสำคัญในการรักษาระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาวะวิกฤต และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้กลับสู่ภาวะปกติตลอดจนสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ ดังนั้นเพื่อให้การใช้จ่ายเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว สตง. ได้มีการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) การดำเนินการในฐานะผู้ให้คำปรึกษาแก่หน่วยรับตรวจ
การใช้จ่ายเงินงบประมาณในการแก้ไขปัญหาโควิดที่ผ่านมา สตง. รับบทบาททำหน้าที่คอยให้คำปรึกษาเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานราชการหลายแห่ง ตัวอย่างเช่น กรณีสถาบันวัคซีนแห่งชาติขอหารือข้อกฎหมายประเด็นการจัดหาวัคซีน COVID–19 โดยการจองล่วงหน้า ซึ่ง สตง. ได้ให้คำแนะนำต่อสถาบันวัคซีนแห่งชาติว่า กรณีการทำสัญญาหรือข้อตกลงเรื่องการจัดซื้อร่วมกับCOVAX Facility และการชำระเงินค่าวัคซีนล่วงหน้าแก่ COVAX facility มีวัตถุประสงค์เป็นไปตามกลไก Advance Market Commitment (AMC) หมายถึง การจองวัคซีนล่วงหน้า กล่าวคือ วัคซีนที่ไม่สามารถทราบได้ว่าในอนาคตจะผลิตวัคซีนตามสัญญาหรือข้อตกลงที่ได้ลงนามหรือไม่ ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันเพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรณีดังกล่าวจึงไม่ถือเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องดำเนินการตามนัยมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ดังนั้น จึงอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติในการจะออกประกาศของรัฐมนตรีกำหนดหลักเกณฑ์การจัดหาวัคซีนในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีเหตุจำเป็น เพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อป้องกัน ควบคุม รักษา หรือลดความรุนแรงของโรค หรือเพื่อความมั่นคง ของประเทศ โดยกำหนดให้จัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าตามที่หารือได้โดยชอบด้วยมาตรา 4 ประกอบมาตรา 18 (4) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ”
2) การกำหนดให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นประเด็นการตรวจสอบที่สำคัญในแผนการตรวจสอบประจำปี โดยให้ครอบคลุมทั้งการตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมาย และการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงาน
3) ระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2565 สตง. แจ้งผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 จำนวนทั้งสิ้น 1,012 เรื่อง โดยพบข้อบกพร่อง/ข้อตรวจพบ/ข้อสังเกตจากการตรวจสอบ จำนวนทั้งสิ้น 843 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4,040.091 ล้านบาท
4) การแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดนโยบาย กรอบและแนวทางในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
5) การจัดทำรายงานสรุปรวบรวมผลการตรวจสอบในภาพรวมเพื่อแจ้งผลการตรวจสอบถึงเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ เพื่อสะท้อนถึงปัญหาและความเสี่ยงในการใช้จ่ายเงินกู้ตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดฯ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบถึงข้อตรวจพบสำคัญเกี่ยวกับการใข้จ่ายเงินกู้ และให้หน่วยรับตรวจดำเนินการใช้จ่ายเงินกู้ด้วยความรอบคอบเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้จ่ายเงินกู้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และความมุ่งหวังที่กำหนดไว้ โดย สตง. ได้มีการจัดทำรายงานการตรวจสอบเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบแล้ว จำนวน 2 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2563 และ 2565 ด้วย
ส่วนข้อมูลการส่งเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการ นั้น
แหล่งข่าวยืนยันว่า ในกรณีที่ผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินมีพฤติการณ์อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบก่อให้เกิดความเสียหาย หรือจงใจปฏิบัติหรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
โดยนับตั้งแต่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้แจ้งผลการตรวจสอบเพื่อให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการ จำนวนทั้งสิ้น 539 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมทั้งสิ้น 1,907.05 ล้านบาท
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเชิงลึกอีกชุด เกี่ยวกับผลงาน สตง. ที่อยู่ในการบริหารงานของ ผู้ว่าฯ สตง. ที่ชื่อ นายประจักษ์ บุญยัง ช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา
หลังการเปลี่ยนผ่านยุค สู่ ผู้ว่าฯ สตง. คนใหม่แล้ว ผลงาน สตง. นับจากนี้เป็นอย่างไร
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป