"...ที่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่ากรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายสืบเนื่องจากการทำสัญญาอีกเป็นจำนวนมาก ก็เป็นกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการว่ากล่าวตามกฎหมายต่อไป มิใช่เหตุที่จะให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้น จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น..."
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2567 สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์ คดี อม.อธ.12/2565 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โจทก์ ยื่นฟ้อง นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กับพวกรวม 6 คน จำเลย ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีถูกกล่าวหาทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างรถเรือดับเพลิง ในส่วนบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 5
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ ที่อุทธรณ์ทำนองว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) เสียหายเพราะบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนลงโทษปรับเงิน 266,666 บาท
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็มคดีนี้ มานำเสนอต่อสาธารณชน มีรายละเอียดดังนี้
คำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์
คดีหมายเลขดำที่ อม.อธ.12/2565
คดีหมายเลขแดงที่ อม.อธ. 1/2567
ศาลฎีกา
วันที่ 25 เดือน มกราคม พุทธศักราช 2567
ระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โจทก์
นายโภคิน พลกุล จำเลยที่ 1
นายประชา มาลีนนท์ จำเลยที่ 2
นายวัฒนา เมืองสุข จำเลยที่ 3
พลตำรวจตรีอธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ จำเลยที่ 4
บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอย เอจี แอนด์ โค เคจี หรือ บริษัท จีดี ยูโรเปียน แลนด์ชิสเต็ม-สไตเออร์ จำกัด จำเลยที่ 5
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน จำเลยที่ 6
เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ
@ คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 5 จ่ายค่าปรับ 266,666 บาท
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 5 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษปรับ 266,666 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
@ ต้องวินิจฉัยเพียงว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายอาญา มาตรา 90 หรือไม่
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ รับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 5 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในชั้นนี้มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงประการเดียวว่า คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งลงโทษจำเลยที่ 5 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ชอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 หรือไม่
@ โจทก์อุทธรณ์ว่า การพิจารณาว่าการลงโทษจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต้องใช้พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 5 ได้รับผลประโยชน์จากการเข้าทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ แม้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมีคำชี้ขาดให้จำเลยที่ 5 คืนเงินให้แก่กรุงเทพมหานคร เป็นค่าส่วนต่างระหว่างมูลค่าทางตลาดที่ยุติธรรมกับเงินช่วยค่าซ่อมแซม รวมเป็นเงิน 20,435,620 ยูโร แต่กรุงเทพมหานครยังมีความเสียหายจากการจัดซื้อยานพาหนะดับเพลิงและอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ทั้งค่าภาษีอากรสินค้า อะไหล่และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ค่าฝากและเก็บรักษาสินค้า รวมถึงค่าซ่อมแซมอีกเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการและเหตุผลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นเหตุให้มิได้มีการแข่งขันการเสนอราคาเพื่อประโยชน์สูงสุดของหน่วยงาน การพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักที่สุดสำหรับลงโทษจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นนิติบุคคลจึงต้องพิจารณาเฉพาะบทบัญญัติของกฎหมายในส่วนโทษปรับที่จะลงโทษได้เท่านั้น ต้องใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษปรับหนักที่สุด
@ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาสถานะของผู้กระทำผิด
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การกระทำความผิดกรรมเดียวแต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ได้กำหนดให้ศาลใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดแต่บทเดียว ซึ่งเป็นขั้นตอนของการพิจารณาปรับบทลงโทษ เมื่อปรับบทลงโทษบทหนักที่สุดแล้ว จึงจะพิจารณาโทษที่จะใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดต่อไป เพื่อให้ใช้บทบัญญัติที่เป็นความผิดร้ายแรงที่สุดลงโทษผู้กระทำความผิด โดยบทบัญญัติที่เป็นความผิดร้ายแรงที่สุดคือ บทบัญญัติที่มีโทษหนักที่สุด หาจำต้องพิจารณาถึงสถานะของผู้กระทำความผิดว่าเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล ที่จะสามารถบังคับโทษนั้นได้หรือไม่ด้วยดังที่โจทก์อุทธรณ์ มิฉะนั้นจะเป็นการขยายความนอกเหนือจากเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ส่วนโทษใดเป็นโทษหนักที่สุดนั้น ต้องพิจารณาตามลำดับโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน โดยโทษที่อยู่ในลำดับก่อนในมาตรานี้ย่อมหนักกว่าโทษที่อยู่ในลำดับหลัง หากความผิดแต่ละบทมีอัตราโทษประเภทเดียวกัน เช่น จำคุกเหมือนกันแล้ว ต้องถือความผิดบทที่มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงกว่าเป็นบทหนัก แต่หากความผิดแต่ละบทมีอัตราโทษจำคุกชั้นสูงเท่ากันต้องถือความผิดบทที่มีโทษจำคุกขั้นต่ำที่สูงกว่าเป็นบทหนัก หากความผิดทุกบทมิโทษจำคุกขั้นต่ำและขั้นสูงเท่ากันจึงจะไปพิจารณาโทษปรับในแต่ละบทความผิดต่อไป ทั้งนี้เมื่อความผิดบทใดเป็นบทหนักแล้ว ก็ใช้อัตราโทษทั้งหมดไม่ว่าโทษจำคุกและโทษปรับตามบทความผิดนั้นเพียงบทเดียวลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด แม้อัตราโทษในบทเบาจะบัญญัติโทษปรับไว้สูงกว่าโทษปรับในบทหนักก็ไม่อาจนำมาใช้ลงโทษได้
@ ต้องพิจารณาว่ากฎหมายใดมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงมากที่สุด
เมื่อคดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า การกระทำตามฟ้องของจำเลยที่ 5 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทเมื่อพิจารณาบทกำหนดโทษความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 8 เดือน ถึง 6 ปี 8 เดือน ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกขั้นต่ำ 3 ปี 4 เดือน และจำคุกขั้นสูง 33 ปี 4 เดือน ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกชั้นต่ำ 4 ปี 8 เดือน และจำคุกชั้นสูง 33 ปี 4 เดือน และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี
เห็นได้ว่า ความผิดทุกบทต่างมีอัตราโทษจำคุกเช่นเดียวกัน กรณีจึงต้องพิจารณาว่าบทความผิดใดมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงมากที่สุด เมื่อความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูง 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 มีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงเพียง 5 ปี ดังนี้ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกขั้นสูงมากกว่าจึงเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และเมื่อถือว่าความผิดบทนี้เป็นบทหนักแล้ว ก็ต้องใช้อัตราโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับตามบทนี้ลงโทษ แม้อัตราโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 จะกำหนดอัตราโทษปรับไว้ร้อยละห้าสิบของจำนวนเงินที่มีการเสนอราคาสูงสุดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดนั้น หรือของจำนวนเงินที่มีการทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
@ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
ซึ่งในคดีนี้เมื่อคำนวณแล้วจะมีจำนวนเงินสูงกว่าโทษปรับในบทหนักก็ตาม ก็มิใช่ความผิดบทที่มีโทษหนักที่สุด ส่วนสถานะของจำเลยที่ 5 ที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งไม่อาจถูกลงโทษจำคุกได้นั้น หาใช่เงื่อนไขที่จำต้องนำมาพิจารณาในการปรับบทลงโทษตามเงื่อนไขในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ในทำนองว่ากรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายสืบเนื่องจากการทำสัญญาอีกเป็นจำนวนมาก ก็เป็นกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการว่ากล่าวตามกฎหมายต่อไป มิใช่เหตุที่จะให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 5 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 7 ได้ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษามานั้น จึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน
********
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การพิจารณาในชั้นอุทธรณ์คดีนี้ เป็นผลมาจาก เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2556 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษาในคดีทุจริตการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงของ กทม. มูลค่า 6,687 ล้านบาท ที่ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง จำเลยที่ 1 นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย , จำเลยที่ 2 นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย จำเลยที่ 3 นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 4 พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีต ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. จำเลยที่ 5 บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 6 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการ กทม.
ก่อนที่ศาลฯ จะมีคำพิพากษาให้จำคุกนายประชา เป็นเวลา 12 ปี พล.ต.ต.อธิลักษณ์ เป็นเวลา 10 ปี จากความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว (นายประชามีผิดความตาม พ.ร.บ.ฮั้ว ในมาตรา 13 ประกอบมาตรา 12 ส่วน พล.ต.ต.อธิลักษณ์ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 12) จากกรณีผลักดันโครงการดังกล่าวเอื้อประโยชน์บริษัทเอกชน ทำให้ราชการได้รับความเสียหาย ขณะที่ นายโภคิน นายวัฒนา และนายอภิรักษ์ ไม่พบว่ามีความผิด ให้ยกฟ้อง (นายประชา มาลีนนท์ และ พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ หลบหนี)
ส่วน บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 5 ไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาครั้งแรก ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ
ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีสำหรับจำเลยที่ 5 ขึ้นพิจารณา ศาลอนุญาต
โดยในวันที่ 23 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาลงโทษปรับเงิน 266,666 บาท บริษัท เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอย เอจี แอนด์ โค เคจี หรือบริษัทจีดี ยูโรเปียน แลนด์ซิสเต็ม–สไตเออร์จำเลยที่ 5
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงยื่นอุทธรณ์คดี บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 5 ต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว
ก่อนที่ศาลฎีกา จะมีคำพิพากษาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ ที่อุทธรณ์ทำนองว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) เสียหายเพราะบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์ซอย์ จำกัด ประเทศออสเตรีย จำเลยที่ 5 ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนลงโทษปรับเงิน 266,666 บาท ดังกล่าว