"...ปัจจุบัน การแสดง ‘โนราควน’ ลดความนิยมลงเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับโนราทั่วไปของภาคใต้ หากเปรียบเทียบเมื่อครั้งอดีตหลายคณะจึงต้องปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องด้วยไม่มีบุตรหลานสืบทอดการแสดงโนราแขกอย่างจริงจัง..."
ไทย เป็นหนึ่งในประเทศที่มีพหุวัฒนธรรม เนื่องจากการได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรม อินเดีย จีน และ ขอม ตลอดจนวิญญาณนิยม ศาสนาพุทธ และ ศาสนาฮินดู อีกทั้งมีการผสมผสานในท้องถิ่นนั้นๆ อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรม ถือว่าเป็นสมบัติล้ำค่าของประเทศ แต่ทั้งนี้หากไม่มีการสืบสานหรือเผยแพร่ต่อก็จะสูญหายไปตามกาลเวลาและเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนที่
เมื่อเร็วๆ นี้ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ปี 2566 จำนวน 18 รายการ ลงนามโดย นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 เพื่อเผยแพร่คุณค่าสาระความสำคัญ ที่เคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้เกิดความชื่นชมร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการดำรงรักษาต่อไป
โดยพบว่า 'ตุ๊บเก่ง - โนราควน' ติดอยู่ในประเภทรายการมรดกภูมิปัญญา ทางวัฒนธรรมที่ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน สาขาศิลปะการแสดง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูล มีรายละเอียด ดังนี้
'ตุ๊บเก่ง' ดนตรีพื้นบ้าน เก่าแก่กว่า 100 ปี อัตลักษณ์เมืองเพชรบูรณ์
‘ตุ๊บเก่ง’ ดนตรีพื้นบ้านของเมืองเพชรบูรณ์ ที่จัดเป็นดนตรีพิธีกรรมที่ใช้บรรเลงเพื่อเพิ่มความขลังความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรม มีต้นกำเนิดไม่ต่ำกว่า 100 ปีจากบ้านป่าแดง ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และได้ถ่ายทอดหรือเผยแพร่ไปสู่ชุมชนอื่น ๆ โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ โดยได้พบที่ บ้านนางั่ว บ้านสะเดียง และบ้านป่าเลา
นอกจากนี้ มีการค้นพบว่าเคยมีการเล่นใน บ้านน้ำเลา บ้านห้วยไคร้ และบ้านท่าด้วง
ข้อมูลจาก ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ส่วนตัวระบุว่า ปัจจุบันนี้ วงดนตรี 'ตุ๊บเก่ง' เหลืออยู่เฉพาะในบ้านป่าแดงเพียงวงเดียวเท่านั้น และผู้เล่นต่างก็มีอายุมากกันแล้ว
ที่มาของชื่อ ‘ตุ๊บเก่ง’ มาจากเสียงของเครื่องดนตรีสำคัญ 2 ชนิดในวง คือ ‘ตุ๊บ’ ที่มาจากเสียงของกลอง และ ‘เก่ง’ ที่มาจากเสียงของฆ้องกระแต
วงดนตรี ‘ตุ๊บเก่ง’ เป็นวงดนตรีประเภทผสม ประกอบด้วย เครื่องดนตรี 3 ชนิด 5 ชิ้น ได้แก่ ปี่แต้ 1 เลา กลองเดิน 1 ใบ กลองออก 1 ใบ และฆ้องราว 1 ชุด ประกอบด้วย ฆ้องกระแต 1 ใบ และฆ้องโหม่งต่างขนาดกัน 2 ใบ โดยมีผู้เล่น 5 คน
ในอดีต ‘ตุ๊บเก่ง’ เป็นวงดนตรีที่ใช้บรรเลงประกอบพิธีกรรมต่างๆ ทั้งในงานมงคล และงานอวมงคล แต่ปัจจุบัน เป็นที่นิยมใช้บรรเลงในงานศพเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ‘ตุ๊บเก่ง’ ยังคงได้รับความสนใจและต้องการอนุรักษ์จากชาวเพชรบูรณ์ โดยได้มีการจัดทำแผนการอนุรักษ์ เช่น การแทรกในบทเรียนวิชาดนตรีในสถานศึกษาเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ต่อไป
‘โนราควน’ ศิลปะการแสดงที่ผสมผสานระหว่างไทย-มลายู
‘โนราควน’ หรือ ‘โนราแขก’ ศิลปะการแสดงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมากกว่า 200 ปีโดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงที่เป็นการผสมผสานระหว่าง ‘มะโย่ง’ การแสดงพื้นบ้านของชาวไทยเชื้อสายมลายูมาประสมประสานกันกับศิลปะการแสดง ‘มโนราห์’
‘โนราควน’ หรือ ‘โนราแขก’ ศิลปะการแสดงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ที่เป็นการผสมผสานและปรับเปลี่ยนการละเล่นให้เป็นไปตามสภาพสังคมและวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่มีชาวไทยมุสลิมอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความกลมกลืน จึงมีการประยุกต์การแสดง ‘มโนราห์’ มาผสมผสานกับการแสดง ‘มะโย่ง’ ทั้งท่ารำ ภาษา และเครื่องดนตรีบางชิ้น เช่น ทน รือบับ (ซอสามสาย) ฆ้อง ปี่ซูนา เป็นต้น โดยชาวบ้านจะเรียกชื่อมโนราห์ต่างไปจากเดิมว่า ‘โนราแขก’ และมีการขับร้องทั้งภาษาไทยและภาษามลายูสลับกัน
สำหรับ ต้นกำเนิด ‘โนราควน’ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่ามีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 200 ปีตามตำนานเชื่อว่า โนราศรีไหม เป็นผู้คิดค้นขึ้น เดิมคาดว่าโนราศรีไหมผู้นี้ดั้งเดิมพื้นเพเป็นชาวภาคใต้ตอนบนมีวิชาการรำโนราแบบทางใต้ตอนบนอยู่เบื้องต้น โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แสดงการรำโนราถวายเจ้าผู้ครองหัวเมืองปักษ์ใต้ เมื่อเจ้าผู้ครองหัวเมืองปักษ์ใต้ย้ายมาปกครองเมืองปัตตานี คือ เจ้าพระยาตานี จึงได้ติดตามมาอยู่ด้วย และก็ยังคงรับหน้าที่แสดงการรำโนราเช่นเดิม แต่การแสดงโนราของโนราศีไหมในราชสำนัก
ปัจจุบัน การแสดง ‘โนราควน’ ลดความนิยมลงเป็นอย่างมากเช่นเดียวกับโนราทั่วไปของภาคใต้ หากเปรียบเทียบเมื่อครั้งอดีตหลายคณะจึงต้องปิดตัวลงอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องด้วยไม่มีบุตรหลานสืบทอดการแสดงโนราแขกอย่างจริงจัง
นอกจากนี้บุตรหลานหรือเครือญาติได้ออกจากพื้นที่ในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้น เนื่องด้วยความไม่สงบในเขตสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้การแสดงโนราแขกแถบจะสูญหายไป ปัจจุบันหากจะชมโนราแขกจริงๆ ต้องเฉพาะงานแก้บนและงานไหว้ครูโนราเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูล ‘ตุ๊บเก่ง – โนราควน’ ศิลปะการแสดงที่ถูกยกให้เป็น ‘มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม’ ประจำปี 2566 ที่ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะสูญหายไปตามกาลเวลา