โดยข่าวที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจตลอดทั้งปีก็มีทั้งข่าวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ เหตุแผ่นดินไหวที่ตุรเคีย วิกฤติภาวะโลกเดือด โศกนาฎกรรมเรือดำน้ำไททัน สงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล สงครามระหว่างชาติพันธุ์ในเมียนมาและอื่นๆ
ในปี 2566 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปนั้น เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆในระดับโลกมากมาย นับตั้งแต่ต้นปียันปลายปี สร้างความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ
โดยข่าวที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจตลอดทั้งปีก็มีทั้งข่าวเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ เหตุแผ่นดินไหวที่ตุรเคีย วิกฤติภาวะโลกเดือด โศกนาฎกรรมเรือดำน้ำไททัน สงครามระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล สงครามระหว่างชาติพันธุ์ในเมียนมาและอื่นๆ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้รวบรวมรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายสำนักมานำเสนอว่าเหตุการณ์สำคัญเหล่านี้มีอะไรกันบ้างที่เป็นที่สนใจในระดับโลก มีรายละเอียดเป็น 10 ข่าวเด่นดังต่อไปนี้
@แผ่นดินไหวตุรเคีย-ซีเรีย คร่าชีวิต 19,000 ศพ
เริ่มกันที่วันที่ 6 ก.พ.เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่ประเทศตุรเคียและประเทศซีเรีย เป็นจำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน และเกิดเหตุนานนับสัปดาห์ คร่าชีวิตผู้คนไป 19,000 ศพ และทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายหมื่นคนในตุรเคียและซีเรีย
แผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์มีศูนย์กลางอยู่ที่เขต Pazarcik ทําให้เมืองคาห์รามานมารัส (Kahramanmaras) สั่นสะเทือนและโจมตีหลายจังหวัดรวมถึงจังหวัด Gaziantep, Sanliurfa, Diyarbakir, Adana, Adiyaman, Malatya, Osmaniye, Hatay และ Kilis ของตุรเคีย และต่อมาในวันเดียวกัน (6 ก.พ.)เกิดแผ่นดินไหวอาฟเตอร์ช็อกขนาด 7.6 ริกเตอร์โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เขต Elbistan ของเมืองเมืองคาห์รามานมารัสเช่นเดียวกัน
แผ่นดินไหวยังส่งผลกระทบไปยังหลายประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงเลบานอนและซีเรีย แผ่นดินไหวครั้งที่สามขนาด 6.0 ริกเตอร์โจมตีจังหวัด Goksun ประเทศตุรเคีย ขณะที่องค์การสหประชาชาติหรือ UN ระบุว่าแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกเป็นแผ่นดินไหวที่มีกําลังแรงที่สุดในรอบกว่า 80 ปี
วินาทีแผ่นดินไหวที่ตุรเคีย (อ้างอิงวิดีโอจากเดอะการ์เดียน)
@อินเดียแซงจีน กลายเป็นชาติที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. มีการเปิดเผยข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติหรือ UN ชี้ว่า อินเดียกำลังจะขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยคาดว่าจำนวนประชากรอินเดีย จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,428.6 ล้านคน มากกว่าจีน 2.9 ล้านคน โดยประชากรของจีนจะอยู่ที่ 1,425.7 ล้านคน
ทั้งนี้่ตัวเลขดังกล่าวไม่ได้ระบุวันที่แน่ชัด เนื่องจากอินเดียไม่ได้ทำสำรวจสำมะโนประชากรมาตั้งแต่ปี 2554 แม้ว่าเดิมทีอินเดียจะสำรวจสำมะโนประชากรทุก 10 ปี มานานถึง 140 ปี ไม่ขาด แต่ปี 2564 ที่ผ่านมา เกิดปัญหาโควิด-19 ระบาดทำให้ต้องตัดสินใจเลื่อนการสำรวจจสำมะโนประชากรเป็นปี 2565 แต่ตอนนี้เลื่อนออกไปอีกเป็นปี 2567
ตลอดกว่า 70 ปีที่ผ่านมา 2 ประเทศนี้มีจำนวนประชากรคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 ของทั้งโลกที่มีอยู่กว่า 8,045 ล้านคน ในปัจจุบัน แต่อัตราการเกิดที่ลดลงในจีนที่ลดลงอย่างต่อเนื่องมาพักหนึ่ง ทำให้ปีที่แล้วเป็นปีแรกในรอบกว่า 60 ปี ที่จำนวนประชากรจีนลดลงหรือตั้งแต่ปี 2504
ขณะที่ อินเดียก็มีอัตราการเกิดที่ชะลอตัวลงเช่นกันในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จากเดิมอัตราการเกิดอยู่ที่ 5.7 ต่อผู้หญิง 1 คน เมื่อปี 2493 ลดลงเหลือ 2.2 ในปัจจุบัน ตามข้อมูลจากธนาคารโลก
ข่าวเปรียบเทียบประชากรอินเดีย-จีน (เรียบเรียงวิดีโอจากวอลสตรีทเจอร์นอล)
@พิธีราชาภิเษกของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเป็นทางการในฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ของสหราชอาณาจักร หลังจากที่สมเด็จพระราชินีนาถฯเสด็จสวรรคตด้วยโรคชราด้วยพระชนมายุ 96 พรรษา เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2565
พิธีราชาภิเษกดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา และพระเจ้าชาร์สส์ทรงได้รับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ รวมถึงเสื้อคลุมของราชวงศ์ จากนั้นจึงทรงสวมมงกุฎเซนต์เอ็ดเวิร์ดที่มีอายุ 360 ปี
สำนักพระราชวังบักกิงแฮม เปิดเผยตัวเลขผู้ร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ว่ามีจำนวนกว่า 2,200 รายชื่อ โดยเป็นสมาชิกของราชวงศ์ต่างประเทศที่มีรายพระนามเป็นทางการ 32 พระองค์ซึ่งรวมถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี แห่งประเทศไทย
การสวมมงกุฎกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 (อ้างอิงวิดีโอจาก NBC)
@สมาคมนักเขียนฮอลลีวูดประท้วง AI กับบรรทัดฐานกฎหมายแรงงานใหม่
ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเดือน พ.ค. ได้เกิดเหตุการณ์ที่กลุ่มนักเขียนบทภาพยนตร์ฮอลลีวูดได้ออกมาประท้วง โดยการประท้วงในตอนแรกเป็นการประท้วงในประเด็นเรื่องค่าจ้างจากบริษัท Netflix ผู้บุกเบิกในวงการสตรีมมิ่งภาพยนตร์ ที่หันไปใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์หรือว่า AI ทำงานแทนนักเขียนจริงๆ
อย่างไรก็ตามการประท้วงเมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ เป้าหมายของการประท้วงก็ถูกเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของภัยคุกคามที่มาจาก AI
ต่อมาในเดือน ก.ค. สหภาพ SAG-Aftra ซึ่งเป็นตัวแทนของนักแสดงฮอลลีวูดกว่า 160,000 คน ก็ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักเขียนด้วย ส่งผลทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหภาพและสตูดิโอภาพยนตร์ต่างๆพุ่งสูงขึ้น ส่งผลทำให้การถ่ายทำทั้งภาพยนตร์และทีวีซีรีส์ต้องหยุดชะงักลง
ผลของการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ทำให้เกิดพลังการเคลื่อนไหวใหม่ของแรงงานในสหรัฐฯ ทำให้ในที่สุดสหภาพก้ได้รับข้อตกลงว่าจะมีการเพิ่มค่าแรงและค่าลิขสิทธิ์จากการสตรีมมิ่ง ซึ่งนี่ถือว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่สำหรับกฎหมายแรงงานสหรัฐฯ ที่จะมีต่อปัญญาประดิษฐ์
นักเขียนฮอลลีวูดประท้วงต่อต้าน AI (อ้างอิงวิดีโอจาก CNN)
@อุบัติเหตุเรือดำน้ำไททันระเบิดที่ความลึก 3,800 ฟุต
เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. เรือดําน้ำชื่อไททันซึ่งบรรทุกผู้โดยสารจำนวนห้าคน เพื่อดำลงไปชมซากเรือไททานิคได้หายไปในเขตน่านน้ำสากลในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือใกล้ชายฝั่งนิวฟันด์แลนด์ ประเทศแคนาดา โดยการสื่อสารขาดหายไปหลังจากที่เรือดำดิ่งเป็นระยะเวลา 1 ชั่วโมง 45 นาที
ตามมาด้วยการค้นหาใต้น้ำเป็นระยะเวลา 4 วันจนทำให้ทราบถึงเหตุโศกนาฎกรรมที่เกิดขึ้น หน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าผู้โดยสารทั้งห้าคนบนเรือไททันเสียชีวิตแล้ว เนื่องจากเรือลํานี้ถูก "ระเบิดอย่างรุนแรง" โดยเป็นการระเบิดบีบอัดจากภายนอก ในช่วงเวลาที่เรือกำลังดำลงไปที่ซากเรือไททานิค ที่ความลึก3,800 เมตร โดยพบเศษซากของเรือไททันห่างจากส่วนหัวเรือไททานิคไปที่ประมาณ 500 เมตร
สำหรับผู้โดยสารบนเรือไททันทั้งห้าประกอบด้วยนายฮามิช ฮาร์ดิง มหาเศรษฐีชาวอังกฤษวัย 58 ปี,นายชาห์ซาดา ดาวูด นักธุรกิจเชื้อสายปากีสถานวัน 48 ปี และนายซูเลมานบุตรชายวัย 19 ปี โดยทั้งคู่ถือสัญชาติอังกฤษ,นายพอล อองรี นาร์จีโอเล็ต นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี และนายสต็อคตัน รัช ผู้ก่อตั้งและประธานผู้บริหารหรือซีอีโอของบริษัท OceanGate Expeditions
ข่าวเรือดำน้ำไททัน (อ้างอิงวิดโอจาก The Mirror)
@เครื่องบินตกคร่าชีวิตพรีโกซิน หัวหน้าทหารแวกเนอร์ ผู้ก่อกบฎรัฐบาลรัสเซีย
เมื่อวันที่ 23 ส.ค.มีรายงานข่าวว่านายเยฟกินี พรีโกซิน หัวหน้าทหารรับจ้างแวกเนอร์หรือฉายาพ่อครัวของปูติน ที่ก่อเหตุกบฏต่อรัฐบาลรัสเซียของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เมื่อเดือน มิ.ย. เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกในระหว่างเที่ยวบินจากมอสโกไปเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
โดยเครื่องบินลำดังกล่าวมีผู้โดยสาร 10 คน ลูกเรือสามคน ซึ่งกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของรัสเซียได้รายงานว่าจากเหตุเครื่องบินตกพบว่าลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด
“บนเครื่องบินมีผู้โดยสาร 10 คน รวมทั้งลูกเรือ 3 คน ตามข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมดบนเครื่องบินเสียชีวิต” กระทรวงระบุ
โดยเครื่องบินตกในภูมิภาคตเวียร์ ตอนเหนือของมอสโก
ขณะที่สํานักงานขนส่งทางอากาศแห่งสหพันธรัฐของรัสเซียกล่าวว่าได้เริ่มการสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินตกและกล่าวต่อไปว่ามีชื่อของนายพรีโกชินรวมอยู่ด้วย
“การสอบสวนอุบัติเหตุเครื่องบินรุ่นเอ็มบราเออร์ Embraer Legacy 600 ในภูมิภาคตเวียร์เมื่อเย็นวานนี้ได้เริ่มต้นขึ้น ตามรายชื่อผู้โดยสารชื่อและนามสกุลของนายเยฟกินี พรีโกซิน รวมอยู่ในรายชื่อนี้” สำนักข่าวในรัสเซียระบุ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้มีรายงานจากโซเชียลมีเดียเทเลแกรมช่อง Grey Zone ซึ่งเป็นช่องของกลุ่มแวกเนอร์ระบุว่าเครื่องบินลำดังกล่าวถูกยิงตก
สำหรับทหารรับจ้างแวกเนอร์ของนายพรีโกซินนั้นมีการประเมินว่ามาจากนักโทษในภูมิภาคต่างๆของรัสเซีย และอาจมีจำนวนสูงถึง 50,000 คน โดยทหารกลุ่มนี้ได้เข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการรบที่เมืองบัคมุตในประเทศยูเครน จนเป็นเหตุทำให้เกิดความขัดแย้งกับกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย
โดยนายพรีโกซินกล่าวหาว่ากระทรวงกลาโหมนั้นมีการทุจริตและไร้ความสามารถ และความขัดแย้งนี้ก็ได้นำไปสู่เหตุการกบฏของเขาเมื่อเดือน มิ.ย. ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่เกิดเหตุกบฏในประเทศรัสเซีย อย่างไรก็ตามนายพรีโกซินเลือกที่จะยุติการเดินทัพไปยังกรุงมอสโกแล้วย้ายกองกำลังของเขาไปยังประเทศเบลารุส ก่อนจะเกิดเหตุเครื่องบินตกในที่สุด
ส่วนสถานะของทหารแวกเนอร์ในปัจจุบันมีรายงานว่าถูกผนวกให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพรัสเซียแล้ว
และล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากสำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นอลว่านายนิโคไล ปาตรูเชฟ เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงรัสเซีย และมือขวาของประธานาธิบดีปูตินเป็นผู้ออกคำสั่งให้ลอบสังหารนายพรีโกซิน โดยรายงานข่าวนี้ระบุว่าอ้างอิงจากหน่วยข่าวกรองตะวันตกและอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองรัสเซีย
เศษซากเครื่องบินของนายพรีโกซิน (อ้างอิงวิดีโอจาก The Telegraph)
@ยุติภาวะโลกร้อน เมื่อโลกเข้าสู่ภาวะโลกเดือด
เมื่อวันที่ 28 ก.ค. นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติหรือ UN ได้ออกมากล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปทั่วโลกและเรียกร้องให้ทุกประเทศโลกดำเนินการกับการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในปัจจุบันซึ่งบันทึกไว้ในเดือน ก.ค. เขาเชื่อว่าโลกได้เข้าสู่ “ยุคโลกเดือด” แซงหน้าภาวะโลกร้อนไปแล้ว
โดยช่วงกลางเดือน ก.ค. สภาพอากาศหลายๆประเทศในแถบซีกโลกเหนืออยู่ในภาวะร้อนจัด จนถูกขนานนามว่าเป็น “ฤดูร้อนที่โหดร้าย” ซึ่งนายกูเตร์เรส เน้นย้ำว่านี่เป็นหายนะสำหรับทั้งโลก เขาเตือนว่าอาจมีการทำลายสถิติอุณหภูมิหลายอย่างใน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความร้ายแรงของภัยพิบัติทางสภาพอากาศ มันคือหายนะสำหรับทั้งโลก
อนึ่งถ้อยแถลงของเลขาธิการ UN เกิดขึ้นหลังจากที่มีเหตุไฟป่าโหมกระหน่ำทั่วยุโรปใต้และแอฟริกาเหนือ ขณะที่ในเจนีวา นักวิทยาศาสตร์จากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และ Copernicus Climate Change Service ของคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวถึงสภาวะใน ก.ค.ว่า “ค่อนข้างประหลาดและไม่เคยเห็นมาก่อน”
โดยนายคาร์สเทน เฮาสไตน์ จากมหาวิทยาลัยไลป์ซิก กล่าวว่า โลกในเดือน ก.ค. 2566 ร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส มากกว่าค่าเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคมก่อนยุคอุตสาหกรรม
สหประชาชาติออกคำเตือนภาวะโลกเดือด (อ้างอิงวิดีโอจาก DW)
@ความสัมพันธ์อินเดีย-แคนาดาตึงเครียดหลังนายกฯแคนาดากล่าวหาอินเดียลอบสังหารผู้นำชาวซิกข์
ในช่วงปลายเดือน ก.ย. นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของประเทศแคนาดาได้เปิดเผยว่าแคนาดากำลังสอบสวนว่ามีเหตุที่เจ้าหน้าที่จากอินเดียอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารนายฮาร์ดีป ซิงห์ นิจจาร์ ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวซิกข์ซึ่งถูกสังหารในเขตชานเมืองแวนคูเวอร์หรือไม่
ขณะที่อินเดียก็ได้ประณามข้อครหาดังกล่าวว่าเป็นเรื่องไร้สาระและขับไล่นักการทูตส่วนใหญ่ของแคนาดาออกจากกรุงนิวเดลี
ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องร้อนขึ้นไปอีก เพราะเมื่อเดือน พ.ย. อัยการสหรัฐฯ ได้ออกมากล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินเดียที่ไม่ได้ระบุนามรายหนึ่งเป็นผู้ที่ประสานการสังหารนายกูรพัฒวันท์ สิงห์ปานนัน (Gurpatwant Singh Pannun) ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกชาวซิกข์อีกราย แต่ว่าแผนนี้กลับไมสำเร็จ
เหตุการณ์ดังกล่าวถูกวิเคราะห์ว่าทำให้อินเดียมีความมั่นใจในอำนาจของตัวเองมากขึ้นว่าจะสามารถเป้าหมายใดก็ได้ที่อยู่ในต่างแดน อย่างไรก็ตามอินเดียตอบสนองต่อข้อกล่าวหาจากสหรัฐฯ ในลักษณะที่แตกต่างไปจากข้อกล่าวหาของแคนาดา โดยรัฐบาลอินเดียของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ออกมาให้คำสัญญาว่าจะดำเนินการสืบสวนและให้คำมั่นว่าจะดำเนินการติดตามที่จำเป็น
อินเดียปฎิเสธข้อกล่าวหาของนายกรัฐมนตรีทรูโด (อ้างอิงวิดีโอจาก DW)
@กลุ่มฮามาสบุกอิสราเอล จุดเริ่มต้นสงครามฉนวนกาซา
เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ช่วงเวลาเช้าตรู่ กลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธฮามาสได้ข้ามพื้นที่รั้วรักษาความปลอดภัยที่ติดตั้งล้อมรอบฉนวนกาซา ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางใต้ของอิสราเอล แล้วก่อเหตุโจมตีในดินแดนอิสราเอลส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 1,200 ศพ ซึ่งตัวเลขนี้รวมถึงแรงงานไทย 39 ศพ มีประชาชนและทหารอีก 240 รายถูกจับเป็นตัวประกัน ตามการรายงานจากทางการอิสราเอล
นี่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้เกิดผลเลวร้ายที่ตามมาไปทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง และยังถือว่าเป็นเหตุการณ์โจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดซึ่งเกิดภายในดินแดนอิสราเอลเอง นับตั้งแต่ที่อิสราเอลได้ก่อตั้งประเทศมาเป็นเวลา 75 ปีแล้ว
โดยกลุ่มฮามาสเรียกปฏิบัติการนี้ว่า อัล-อักซอ ฟลัด (Operation Al-Aqsa Flood) และเป็นการโจมตีที่เกิดขึ้นในวันซิมหัต โทราห์ (Simchat Torah) อันถือเป็นวันศักดิ์สิทธิที่สุดของชาวยิว
ภายหลังจากปฏิบัติการโจมตี สร้างความโกรธแค้นให้กับทางฝั่งอิสราเอลอย่างยิ่ง อิสราเอลจึงได้ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและทางบกที่ดุเดือดในฉนวนกาซาที่ควบคุมโดยฮามาส สังหารผู้คนไปกว่า 20,000 ราย ผลจากการทิ้งระเบิดอย่างต่อเนื่องบังคับใช้ผู้อาศัยในฉนวนกาซามากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 2.3 ล้านคนต้องทิ้งที่อยู่ของตัวเอง ขณะที่วิกฤตด้านมนุษยธรรมแผ่ขยายออกไปเป็นวงกว้างเนื่องจากต้องเผชิญกับการขาดแคลนอาหารน้ําเชื้อเพลิงและยารักษาโรคอย่างรุนแรง
ด้านสถานการณ์ของคนไทยในอิสราเอล ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการต่างประเทศ ณ วันที่ 15 ธ.ค. ตัวเลขแรงงานไทยที่เสียชีวิตอยู่ที่ 39 ราย บาดเจ็บ 18 ราย (ยังคงรักษาตัวอยู่ที่ รพ. 3 ราย) และยังคงถูกจับเป็นตัวประกัน 8 ราย (ถูกปล่อยตัวแล้ว 23 ราย)
กลุ่มฮามาสบุกเข้าไปตามบ้านของชาวอิสราเอลในพื้นที่คิบบุตซ์ (อ้างอิงวิดีโอจาก The Telegraph)
@กลุ่มชาติพันธุ์เมียนมารวมพลังโต้กลับเผด็จการทหารครั้งใหญ่
ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา กองกำลังต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาสามกลุ่มอันประกอบไปด้วยกองทัพอาระกัน กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา (MNDAA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตาอัง ซึ่งผนึกกำลังเป็นพันธมิตรสามพี่น้องได้เปิดปฏิบัติการ 1027 เข้าโจมตีภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา เพื่อเข้ายึดเป้าหมายทางการทหารใกล้กับชายแดนจีน
ทำให้มีรายงานว่ากองทัพเมียนมาอาจจะเสียฐานที่มั่นไปแล้วอย่างน้อย 300 แห่งและสูญเสียพื้นที่เมือง 19 แห่ง ในช่วงเวลาสั้นๆหลังจากปฏิบัติการ 1027
ปฏิบัติการดังกล่าวอาจกลายเป็นแนวรบหลักใหม่ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ถูกทําลายจากความขัดแย้ง เพราะที่ผ่านมาการโจมตีระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์มีลักษณะที่หาได้ยากมาก และการดำเนินงานของพันธมิตรสามพี่น้องยังส่งผลทำให้เกิดความฮึกเหิมในกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์อื่นๆเพื่อต่อสู้กับกองทัพเมียนมา
อาทิที่รัฐคะยา ทางตอนใต้ของรัฐฉานซึ่งติดกับชายแดนไทย กลุ่มกบฏชาติพันธุ์กะเรนนีซึ่งควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐ ได้เข้าโจมตีเมืองหลักที่ชื่อหลอยก่อ (Loikaw) และยึดมหาวิทยาลัยบริเวณชานเมืองเอาไว้เป็นฐานปฏิบัติการ
หรือกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของเมียนมาร์ ที่ยกระดับปฏิบัติการต่อต้านที่มั่นทางทหารตามเส้นทางการค้าสำคัญที่มุ่งสู่ชายแดนไทย โดยโจมตีกองทัพเมียนมาในตะนาวศรี (Tanintharyi) ซึ่งเป็นรัฐทางใต้สุดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่สหประชาชาติระบุจำนวนผู้พลัดถิ่นเนื่องจากหนีภัยการสู้รบพุ่งขึ้นเป็น 2 ล้านคนแล้ว
ข่าวการสู้รบในรัฐฉานสร้างความกังวลให้กับประเทศจีน (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)