"...สำนักข่าวอิศราจึงรวบรวมรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลเศรษฐาที่ไม่ค่อยได้ออกสื่อและถูกกล่าวถึงน้อยหรือแทบจะไม่ถูกกล่าวถึงในสื่อกระแสหลัก ภายในปี 2566..."
เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม หลังสื่อมวลชนตั้งฉายาให้กับคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐาและนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ดีเมื่อมีคน ‘ถูกให้แสง’ ด้วยการตั้งฉายาและปรากฏเป็นข่าว ก็ย่อมต้องมีคนที่ ‘แสง’ ส่องไม่ถึงเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลเศรษฐาที่ไม่ค่อยได้ออกสื่อและถูกกล่าวถึงน้อยหรือแทบจะไม่ถูกกล่าวถึงในสื่อกระแสหลัก ภายในปี 2566 จำนวน 15 ราย มานำเสนอ ดังนี้
@ กระทรวงการคลัง
เริ่มที่กระทรวงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งควบคู่ไปด้วย และมีความสำคัญอย่างมากกับการดำเนินการนโยบายของรัฐบาลจึงเป็นกระทรวงที่จับตาของประชาชนและสื่อมวลชน อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังมีรัฐมนตรีช่วย (รมช.) ที่แทบจะไม่ถูกสื่อกระแสหลักกล่าวถึง คือ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ
@ กระทรวงมหาดไทย
ต่อด้วยกระทรวงที่รับหน้าที่ดูแลข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ในช่วงปี 2566 มีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐหลายข่าว โดยเฉพาะการปราบผู้มีอิทธิพลที่รัฐมนตรีช่วย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ เป็นผู้รับหน้าที่สำคัญในการดำเนินการ จนสื่อมวลชนตั้งฉายาให้ว่า มาเฟียละเหี่ยใจ อย่างไรก็ดีแม้รัฐมนตรีช่วยประจำกระทรวงอย่างนายชาดาได้ออกสื่อบ่อย แต่รัฐมนตรีช่วยอีก 2 ราย คือ นายเกรียง กัลป์ตินันท์ และนายทรงศักดิ์ ทองศรี ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวมากนัก
นายเกรียง กัลป์ตินันท์
นายทรงศักดิ์ ทองศรี
@ กระทรวงคมนาคม
อีกหนึ่งกระทรวงที่ปรากฏเป็นข่าวบ่อยครั้ง คือ กระทรวงคมนาคม ที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวง แต่กลับไม่ค่อยปรากฏชื่อของ 2 รัฐมนตรีช่วยประจำกระทรวง ได้แก่ นางมนพร เจริญศรี และนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ
นางมนพร เจริญศรี
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ
@ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ตามมาด้วยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่ในช่วงที่ผ่านมาไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวมากเท่าใด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง คือ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี
@ กระทรวงศึกษาธิการ
เมื่อกล่าวถึงกระทรวงอว.แล้วก็ต้องนึกถึงกระทรวงศึกษาเป็นลำดับต่อมา ที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมตั้งแต่ประกาศชื่อรัฐมนตรีประจำกระทรวงคนใหม่ ตลอดจนสัปดาห์ก่อนสิ้นปีที่ยังคงยืนยันไม่ยกเลิกเครื่องแบบชุดลูกเสือ อย่างไรก็ดีแม้รัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวง ซึ่งก็คือ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ จะถูกสังคมตั้งคำถามถึงความเหมาะสมกับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา แต่ภายหลังรับตำแหน่งกลับไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวมากนัก อีกทั้งยังมีนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยประจำกระทรวงที่แทบจะไม่ปรากฏชื่อเป็นข่าว
พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ
นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล
@ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เมื่อนึกถึงกระทรวงเกษตรก็ย่อมต้องนึกถึงรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวง คือ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งช่วงที่ผ่านมาปรากฏเป็นข่าวหลายครั้งเกี่ยวกับการปราบหมูเถื่อน แต่อย่างไรก็ตามคนที่เป็นข่าว คือ รัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวง ส่วนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 2 ราย ได้แก่ นายอนุชา นาคาศัย และนายไชยา พรหมา กลับไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวหรือถูกกล่าวถึงสักเท่าใด
นายอนุชา นาคาศัย
นายไชยา พรหมา
@ กระทรวงพาณิชย์
ต่อด้วยกระทรวงที่ นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งควบคู่ไปด้วย ซึ่งรองนายกภูมิธรรม ปรากฏเป็นข่าวประเป็นประจำ แต่รัฐมนตรีช่วยประจำกระทรวง ซึ่งก็คือ นายนภินทร ศรีสรรพางค์ แทบจะไม่ถูกกล่าวถึง
นายนภินทร ศรีสรรพางค์
@ กระทรวงการต่างประเทศ
ในช่วงปลายปี 2566 สถานการณ์การสู้รบภายในประเทศอิสราเอลย่อมส่งผลกระทบต่อคนไทยที่ไปทำงานในต่างแดน โดยคนไทยกลุ่มหนึ่งถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งภายหลังคนบางส่วนถูกปล่อยตัวกลับมา แต่ยังมีอีก 8 คนที่ยังไม่ทราบชะตากรรม ซึ่งกระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว คือ กระทรวงการต่างประเทศ ที่มีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศควบคู่ไปด้วย โดยนายปานปรีย์ปรากฏเป็นข่าวหลายครั้ง แต่อย่างไรก็ดีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยประจำกระทรวงไม่ค่อยถูกกล่าวถึงนัก
นายจักรพงษ์ แสงมณี
@ กระทรวงสาธารณสุข
เมื่อกล่าวถึงกระทรวงสาธารณสุขก็ย่อมต้องนึกถึงรัฐมนตรีประจำกระทรวง ซึ่งก็คือ นายแพทย์ ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะ ต่างจากนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่ค่อยได้ออกสื่อมากเท่าใดนัก
นายสันติ พร้อมพัฒน์
@ กระทรวงวัฒนธรรม
เมื่อกล่าวถึงกระทรวงวัฒนธรรมต้องนึกถึงข่าวที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ข่าวการประกวดราคาจ้างทำเว็บไซต์ และข่าววัฒนธรรมอยุธยาถูกจับสดแต่ได้กลับมาทำงานต่อ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม หรือนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ก็เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา แต่อย่างไรก็ตามนายเสริมศักดิ์ กลับไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวในสื่อกระแสหลักมาเท่าใดนัก
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช
@ กระทรวงอุตสาหกรรม
และก็มาถึงกระทรวงสุดท้ายที่ไม่ค่อยปรากฏบนข่าวมากนัก รวมถึงนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่แทบจะไม่ถูกกล่าวถึง
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล
เหล่านี้คือครม.ในรัฐบาลเศรษฐาที่ ‘แสง’ ส่องไม่ถึง จึงปรากฏเป็นข่าวหรือออกสื่อน้อยมาก อย่างไรก็ตามครม.ชุดนี้เพิ่งจะทำงานได้ประมาณ 4 เดือน ถือว่ายังไม่นานมากนัก
ในอนาคตบุคคลที่สำนักข่าวอิศรากล่าวถึอาจจะปรากฏตัวบนสื่อกระแสหลักมากขึ้นก็เป็นได้
ต้องติดตามกันต่อไปในปี 2567
ที่มาภาพหมู่ครม. : posttoday