"...ในสำนวนการสอบสวนส่วนนี้ ยังระบุถึงคำชี้แจงข้อเท็จจริง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สรุปได้ว่า นาฬิกาตามภาพที่ปรากฏเป็นข่าว 25 เรือน ที่พล.อ ประวิตร เป็นผู้สวมใส่นั้น เป็นนาฬิกาของนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ทั้งหมด โดยพล.อ. ประวิตร ยืมมาจากนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เพื่อสวมใส่ และได้คืนนาฬิกาแล้วทุกเรือน สำหรับแหวนตามภาพที่ปรากฎเป็นข่าว 12 วง พล.อ. ประวิตร ชี้แจงว่า มารดานำมาให้ใส่ จำนวน 3 วง ส่วนวงอื่น ๆ นั้น บางวงเป็นแหวนที่มีราคาในห้วงเวลาที่ซื้อประมาณหมื่นกว่าบาท บางวงเป็นแหวนพระราชทาน แหวนวัตถุมงคล..."
กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยอมเปิดเผยเอกสารผลสอบคดีนาฬิกาหรูและแหวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จำนวน 3 รายการ ให้แก่ นายวีระ สมความคิด เป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลบางส่วนจากเอกสารผลสอบคดีนี้ของ ป.ป.ช. ที่ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา มีโอกาสเห็นข้อมูลแล้วบางหน้า ระหว่างการรับมอบข้อมูลของนายวีระ จาก ป.ป.ช. มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
อาทิ การตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้จำหน่ายนาฬิกาในประเทศ 13 ราย ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาในต่างประเทศ รวม 7 บริษัท ใน 4 ประเทศ รวมถึงขอทราบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมศุลกากร กรมการกงสุล สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสอบปากพยานบุคคล 10 ราย รวมไปถึงรายละเอียดการตรวจสอบ นาฬิกายี่ห้อ Blancpain รุ่น Limited edition และคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตร ที่แม้จะไม่สามารถชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับนาฬิกาเรือนนี้ได้มากนัก เนื่องระยะเวลาผ่านมานานพอสมควร แต่เจ้าตัวยืนยันว่า ยืมมาใส่อย่างแน่นอน และได้คืนให้แก่เจ้าของด้วยตนเอง
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ รายละเอียดผลการสอบสวนคดีนี้ของ ป.ป.ช.ทั้งหมด ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับมอบข้อมูลจากนายวีระเป็นทางการ
ในตอนแรกนี้ จะขอนำเสนอภาพรวมกระบวนการสอบสวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช.ก่อน ปรากฏข้อมูลดังต่อไปนี้
@ จุดเริ่มต้นคดี
ในสำนวนการสอบสวน ป.ป.ช.ระบุว่า คดีนี้เป็นผลจากปรากฏข่าวและมีบุคคลจำนวน 5 ราย ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ว่า พล.อ. ประวิตร ไม่แสดงรายการทรัพย์สินอื่นประเภทนาฬิกาหรูและแหวนจำนวนหลายรายการในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ช่วงเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2557 ยื่นบัญชีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2557 และกรณีเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 4 ก.ย.2557 ยื่นบัญชีเมื่อวันที่ 1 ต.ค.2557
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร เพื่อขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริง รวม 6 ฉบับ ขณะที่ พล.อ.ประวิตร มีหนังสือชี้แจงถึง สำนักงาน ป.ป.ช.รวม 3 ฉบับ
สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง พิจารณาคำชี้แจงของ พลเอก ประวิตร แล้ว เห็นว่ามีกรณีจำเป็นต้องขอทราบข้อมูลและพยานหลักฐานจากบุคคลและหน่วยงานภายนอก จึงขออนุมัติการตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูล ซึ่งได้รับอนุมัติ เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2561 โดยมีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงถึงหน่วยงานภายนอก จำนวน 15 หน่วยงาน รวม 29 ฉบับ เชิญผู้กล่าวหา มาให้ถ้อยคำเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและขอพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคำร้อง เพิ่มเติม รวม 2 ราย เชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำรวม 5 ราย ตรวจสอบทรัพย์สินและรวบรวมพยานหลักฐานนอกสถานที่ รวม 2 ครั้ง
ทั้งนี้ ในการตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูล สำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง เห็นว่า มีกรณีจำเป็นต้องดำเนินการที่กระทบต่อบุคคลภายนอก จึงจัดทำบันทีกรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้นเพื่อขออนุมัติการตรวจสอบเชิงลึกกรณี พล.อ. ประวิตร ไม่แสดงแหวนเพชรและนาฬิกาหรู ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 พิจารณาแล้ว มีมติว่า การตรวจสอบยืนยันข้อมูลตามอนุมัติของเลขาธิการฯ ยังตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน มีกรณีที่จะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น ทั้งในกรณีของพยานบุคคลที่เกี่ยวข้อง และข้อมูลจากผู้ผลิตนาฬิกาผู้จำหน่ายนาฬิกาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่านาฬิกาหรู จำนวน 25 เรือน ผู้ใดเป็นผู้ซื้อ มีหลักฐานการซื้อขายหรือไม่ ชำระเงินด้วยวิธีใด มีหลักฐานการชำระเงินหรือไม่ ประการใด
จึงเห็นควรให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมให้ชัดเจน ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นที่ยุติก่อน แล้วเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาโดยเร็วต่อไป
ต่อมาสำนักตรวจสอบทรัพย์สินภาคการเมือง ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว และแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อการนี้ คณะทำงานได้มีหนังสือขอทราบข้อเท็จจริง ถึงหน่วยงานภายนอก จำนวน 2 หน่วยงาน รวม 2 ครั้ง เชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำ รวม 8 ราย ตรวจสอบทรัพย์สินและรวบรวมพยานหลักฐานนอกสถานที่ รวม 1 ครั้ง
@ ลุยสอบข้อมูลเชิงลึกต่างประเทศ
เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเท่าที่พึงกระทำได้ด้วยอำนาจในชั้นการตรวจสอบเพื่อยืนยันข้อมูลแล้วเสร็จ คณะทำงานเห็นว่าข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานที่รวบรวมได้ยังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัยจำเป็นต้องขอทราบข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการจำหน่ายนาฬิกาและการรับบริการหลังการขายจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนาฬิกาที่อยู่ในต่างประเทศ
จึงได้สรุปผลการดำเนินการและขออนุมัติตรวจสอบข้อเท็จจริงจากต่างประเทศผ่านผู้ประสานงานกลาง ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่อง
ทางอาญา พ.ศ.2535 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2561 พิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่ระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2555 ได้กำหนดไว้ในข้อ 23 ว่า ในกรณีจำเป็นต้องตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินที่อยู่ในต่างประเทศ ให้ผู้ตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินทำความเห็นเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง หรือมอบหมายให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลของประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในต่างประเทศเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องและความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สินแทนก็ได้
ดังนั้น ในกรณีนี้จึงมีมติให้ดำเนินการตามระเบียบข้อ 23 ดังกล่าวข้างต้นก่อน โดยให้สำนักการต่างประเทศช่วยในการติดต่อประสานงาน
จากการขอความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศ ในการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง หรือมอบหมายให้เอกอัครราชทูตหรือกงสุลของประเทศไทยหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยในต่างประเทศเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องและความมีอยู่จริงของนาฬิกาข้อมือ 16 เรือน จากผู้ผลิตนาฬิกาและผู้จำหน่ายนาฬิกาใน 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ออสเตรีย และเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชนชนจีน
ปรากฎผลการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลในต่างประเทศ ดังนี้
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 ส.ค.2561 ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือ จำนวน 16 เรือน กับผู้ผลิตนาฬิกา 4 ราย
ต่อมาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น มีหนังสือลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 26 ก.ย.2561 เรื่อง การตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินในสมาพันธรัฐสวิส แจ้งผลการตรวจสอบต่อสำนักงานป.ป.ช. ความว่า ตามกฎหมายสวิส การให้ความร่วมมือทางอาญา (Legal Assistance) จะต้องได้รับคำขอตามกระบวนการขอความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศ โดยจะต้องมีการส่งคำขออย่างเป็นทางการผ่านกระทรวงยุติธรรมสวิส และคำขอจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ จะต้องมีคำแปลเป็นหนึ่งในภาษาราชการของสวิส (เยอรมนี ฝรั่งเศส หรือ อิตาลี) พร้อมทั้งระบุข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเชื่อมโยงระหว่างคำขอกับกระบวนการทางกฎหมาย ข้อมูลของผู้ถูกกล่าวหา ข้อเท็จจริงของมูลเหตุที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบ และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สถานเอกอัครราชทูตฯ แจ้งว่าไทย และสวิส ไม่มีสนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญาระหว่างกันการดำเนินการขอความร่วมมือทางอาญากับสวิส ในกรณีต่างๆ ที่ผ่านมาเป็นการขอความร่วมมือตามหลักปฏิบัติต่างตอบแทน โดยสำนักงานอัยการสูงสุด จะนำส่งคำขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการถึงหน่วยงานสวิสพร้อมเอกสารประกอบที่เกี่ยวข้องไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อนำส่งตามช่องทางการทูตผ่านสถานเอกอัครราชทูตฯ ไปยังกระทรวงยุติธรรมสวิสต่อไป
ขณะที่ สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบไปยังบริษัทผู้ผลิตนาฬิกาทั้ง 4 แห่งโดยตรงอีกทางหนึ่ง และได้รับแจ้ง ดังนี้
1. บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) แจ้งว่า ไม่สามารถให้ความร่วมมือได้ เนื่องจากการขอรับข้อมูลในลักษณะดังกล่าวจะต้องกระทำผ่านกระบวนการขอความร่วมมือทางอาญากับทางการสวิสเท่านั้น
2. บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) แจ้งว่า ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ และขอให้ฝ่ายไทยดำเนินการผ่านขั้นตอนกระบวนการระหว่างประเทศที่มีอยู่แล้ว
3. บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) แจ้งว่า บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ในสวิส ทำหน้าที่เป็นโรงงานผลิตนาฬิกาเท่านั้น หากฝ่ายไทยประสงค์จะติดต่อขอรับข้อมูลใดๆ ขอให้ติดต่อไปยังสำนักงานบริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งรับผิดชอบดูแลการบริหารและการตลาดของนาฬิกา Richard Mille
4. บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานงาน พร้อมทั้งนำส่งเอกสารคำขอของสำนักงาน ป.ป.ช. ไปยังบริษัทฯ และได้พยายามติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องซึ่งจนบัดนี้ยังไม่ได้รับการตอบจากบริษัทฯ แต่อย่างใด
ประเทศอิตาลี
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 ส.ค.2561 ขอให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือ จำนวน 1 เรือน กับบริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายนาฬิกาเรือนดังกล่าว
ต่อมาสถานเอกอัครราชทูตกรุงโรม ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 12 ต.ค.2561 แจ้งผลการตรวจสอบต่อสำนักงาน ป.ป.ช. สรุปความได้ว่า บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้รวมกิจการเข้ากับบริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ค.ศ.2015 ดังนั้น บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) จึงไม่สามารถค้นหารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ อย่างไรก็ตาม บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้ขายนาฬิกาให้แก่บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ซึ่งตั้งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชนชนจีน เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2555 โดยชำระเงินโดยการโอนเงินผ่านธนาคาร นอกจากนี้ บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) แจ้งว่าผู้ซื้อนาฬิกา เก็บรักษาใบรับประกันสินค้าและไม่เคยส่งให้ผู้ขาย
สำหรับการให้บริการหลังการขาย บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้รวมกิจการเข้ากับบริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) เมื่อปี พ.ศ.2558 จึงไม่สามารถค้นหาประวัติการซ่อมบำรุงและการให้บริการหลังการขายได้
อย่างไรก็ดี บริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ยืนยันว่าตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2558 ไม่มีการขอรับบริการหลังการขายสำหรับนาฬิกาเรือนนี้
ประเทศออสเตรีย
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 ส.ค.2561 ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือ จำนวน 1 เรือน กับบริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายนาฬิกา
ต่อมาสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวียนนา มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 5 ก.ย.2561 เรื่องการตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินในสาธารณรัฐออสเตรียแจ้งผลการตรวจสอบต่อสำนักงาน ป.ป.ช. สรุปความได้ว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ดำเนินการตรวจสอบไปยังบริษัทผู้จำหน่ายนาฬิกา เพื่อขอทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนาฬิกาที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการตรวจสอบกับบริษัท (ปิดคาดดำทับชื่อ) แล้ว
ปรากฎว่าบริษัทฯ ไม่พบข้อมูลของนาฬิกายี่ห้อที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากฐานข้อมูลของบริษัท โดยพบเพียงนาฬิกา 3 เรือน ที่จำหน่ายในปี ค.ศ.2005 และ ค.ศ.2008 ซึ่งไม่ตรงกับหมายเลขรุ่นที่ขอให้ตรวจสอบ
นอกจากนี้ บริษัทแจ้งว่าโดยปกติจะไม่มีการเก็บข้อมูลชื่อของผู้ซื้อกับนาฬิกาที่จำหน่ายออกไป เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้เป็นผู้แทนจำหน่ายนาฬิกายี่ห้อที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบมาเป็นเวลา ไม่ต่ำกว่า 8 ปีแล้ว
ดังนั้น บริษัทจึงไม่รับให้บริการหลังการขายแก่นาฬิกายี่ห้อดังกล่าวอีกต่อไป แม้ว่าจะได้ซื้อกับบริษัทในช่วงเวลาก่อนหน้านี้ บริษัทแจ้งว่าจะตรวจสอบฐานข้อมูลในรายละเอียดอีกครั้งซึ่งในวันที่ 5 ก.ย.2561 บริษัท(ปิดคาดดำทับชื่อ) ได้ส่งไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ แจ้งยืนยันว่าบริษัทไม่ได้จำหน่ายและไม่มีนาฬิกา ยี่ห้อ Patek Philippe
เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
สำนักงาน ป.ป.ช. ได้มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 3 ส.ค. 2561 ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือ จำนวน 1 เรือน กับผู้จำหน่ายนาฬิกา
ต่อมากงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง สาธาณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ลงวันที่ 25 ต.ค.2561 แจ้งผลการตรวจสอบต่อสำนักงาน ป.ป.ช. สรุปความได้ว่า สถานกงสุลใหญ่ฯ ได้ประสานไปยังบริษัทผู้จัดจำหน่ายนาฬิกาเพื่อขอทราบข้อมูล
แต่บริษัทปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลของผู้ซื้อและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนี้ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานต่อต้านการทุจริตของฮ่องกง (Independent Commission Against Corruption: ICAC) ดำเนินการตรวจสอบ ซึ่ง ICAC ได้มีหนังสือแจ้งตอบว่า หลักการให้ความช่วยเหลือระหว่างหน่วยงานไม่ครอบคลุมถึงการสอบสวนทางวินัยหรือเรื่องที่มีใช่เรื่องทางอาญา
ดังนั้น ICAC จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือตามคำขอของสำนักงาน ป.ป.ช. ได้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
@ พล.อ.ประวิตร ยันยืมมาสวมใส่ คืนทุกเรือนแล้ว
ในสำนวนการสอบสวนส่วนนี้ ยังระบุถึงคำชี้แจงข้อเท็จจริง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ สรุปได้ว่า นาฬิกาตามภาพที่ปรากฏเป็นข่าว 25 เรือน ที่พล.อ ประวิตร เป็นผู้สวมใส่นั้น เป็นนาฬิกาของนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) ทั้งหมด
โดยพล.อ. ประวิตร ยืมมาจากนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) เพื่อสวมใส่ และได้คืนนาฬิกาแล้วทุกเรือน
สำหรับแหวนตามภาพที่ปรากฎเป็นข่าว 12 วง พล.อ. ประวิตร ชี้แจงว่า มารดานำมาให้ใส่ จำนวน 3 วง ส่วนวงอื่น ๆ นั้น บางวงเป็นแหวนที่มีราคาในห้วงเวลาที่ซื้อประมาณหมื่นกว่าบาท บางวงเป็นแหวนพระราชทาน แหวนวัตถุมงคล
ขณะที่จากการตรวจสอบนาฬิกาที่บ้านของนาย (ปิดคาดดำทับชื่อ) และร่วมกับนางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) เพื่อยืนยันคำชี้แจงของ พล.อ. ประวิตร พบนาฬิกาข้อมือทั้งหมด 137 เรือน
สำหรับนาฬิกาที่เป็นข่าวทั้งหมด 25 ภาพ นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) พิจารณาจากภาพข่าวแล้วคาดว่ามีภาพถ่ายนาฬิกาซื้อจากเรือนเดียวกัน 3 คู่ รวม 6 ภาพ ดังนั้น นางสาว (ปิดคาดดำทับชื่อ) จึงคาดว่ามีนาฬิกาที่เป็นข่าวทั้งหมดเพียง 22 เรือน
ในจำนวนนี้ ตรวจพบตัวเรือนแล้วพบว่าตรงกับภาพข่าว จำนวน 19 เรือน ไม่พบตัวเรือนแต่ตรวจพบใบรับรอง (Certificate) ตรงกับรุ่นที่เป็นข่าวจำนวน 1 เรือน ไม่พบทั้งตัวเรือนนาฬิกาและใบรับประกันอีกจำนวน 1 เรือน และยังไม่ชัดแจ้งว่าเป็นเรือนใดเรือนหนึ่ง จำนวน 1 เรือน
********
(ข้อมูลส่วนนี้ยังไม่จบ ยังมีรายละเอียดผลการตรวจสอบนาฬิกาจำนวน 22 เรือน ที่มีการจัดแบ่งกลุ่มไว้จำนวน 6 กลุ่ม และผลการตรวจสอบในส่วนของแหวนด้วย รายละเอียดเป็นอย่างไร ติดตามตอนต่อไป)