"...พรรคการเมืองต้องให้ข้อมูลทั้งสามเงื่อนไข ให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือก ถ้าพรรคการเมืองไหนส่งไม่ครบเงื่อนไขสามอย่าง 1. แหล่งที่มาของเงิน 2. ประโยชน์หรือความคุ้มค่า 3. ความเสี่ยง กกต.เป็นคนสั่งให้พรรคการเมืองทำให้ครบ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการตัดสินใจ ในวันเลือกตั้งกกต.ไม่มีหน้าที่ไปยับยั้ง ว่า ‘นโยบายนี้เป็นนโยบายประชานิยมหาเสียงไม่ได้นะ’ ทุกพรรคทำแบบนี้ นโยบายประชานิยมเป็นล้าน ๆ รวมทุกพรรค…"
กำลังเป็นที่จับตาของประชาชน!
กรณีเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงข่าวความชัดเจนนโยบายดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่มีเงื่อนไขผู้ที่จะได้รับสิทธิ์ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่ถึง 70,000 บาท/เดือน และมีเงินฝากรวมทุกบัญชีต่ำกว่า 500,000 บาท
- นายกฯเผยรับสิทธิ์ดิจิทัลวอลเลต ต้องมีรายได้ต่ำกว่า 7หมื่น/เดือน-เงินฝากไม่ถึง 5 แสน
- เศรษฐา ทวีสิน : ชงออก 'พ.ร.บ.กู้เงินฯ' 5 แสนล้าน แจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเลต
โดยที่มาของเงินสำหรับนโยบายดิจิทัลวอลเลตนายเศรษฐา ระบุว่า มาจากการกู้เงิน ซึ่งมีความแตกต่างไปจากช่วงหาเสียงที่ระบุว่าจะไม่มีการกู้เงิน และบุคคลที่ได้รับสิทธิ์คือ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน
อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลพยายามทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ช่วงการเลือกตั้งเป็นเรื่องที่ดีกับประชาชน แต่การจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลพรรคเดียวจึงทำให้นโยบายบางนโยบายของบางพรรคการเมืองไม่ได้ถูกนำมาทำให้เป็นความจริง เนื่องจากความหลากหลายทางความคิดของแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งเรื่องดังกล่าวสะท้อนถึงความมีธรรมาภิบาลของนักการเมืองอย่างไร หรือมีผลในด้านกฎหมายหรือไม่ สำนักข่าวอิศรารวมรวมมุมมองจากนักวิชาการและบุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอ ดังนี้
@ กฎหมายไม่ได้กำหนดให้กกต.ลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่ทำตามที่หาเสียง
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลไม่ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้มีความผิดใดหรือไม่ว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดถึงขนาดที่จะต้องให้กกต.ไปลงโทษพรรคการเมืองเหล่านั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีหลายมิติ นโยบายเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ พรรคการเมืองก็เสนอไป โดยให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน ตอนเลือกตั้งเราก็ไม่รู้ว่าประชาชนเลือกเพราะชอบนโยบาย หรือชอบพรรค หรือชอบคน กกต.ไม่ทราบ แต่ในนั้นมีนโยบายอยู่ด้วย
“สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือหลอกลวง หมายความว่า บอกเสนอแล้วไม่ทำ กฎหมายมีนะ หลอกลวงให้เลือก แต่ก็เป็นแบบนี้มาตลอด ก่อนปี 2562 ก็เสนอแบบนี้ แล้วก็ไม่ได้ทำ คนที่สามารถอยู่ในข่ายนี้ได้คือคนที่เป็นรัฐบาล เพราะเป็นฝ่ายค้านทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะใช้งบประมาณจากงบแผ่นดิน”
นายแสวง กล่าวว่า มี 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณา
1. พรรคการเมืองได้ทำตามนโยบายหรือไม่ นโยบายบางพรรคมีตั้งแต่ 10-30 นโยบาย แต่ว่าอาจจะเลือกทำได้ 5-6 นโยบายที่เขาเห็นว่าสำคัญ
2. ทำแค่ไหน แบบใด ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับนโยบายตอนหาเสียงก็ได้ เช่น บอกจะให้ค่าแรง 500 แต่ทำได้ 450 อาจจะไม่ตรงแต่ว่าทำแล้ว เป็นต้น เมื่อกล่าวถึงรัฐบาลชุดนี้ เราคงพูดไม่ได้เพราะเพิ่งเป็นรัฐบาลได้ 2 เดือน แต่รัฐบาลปี 2562 เรื่องพวกนี้มันเป็นพลวัตร หมายความว่าจะจับให้ตายก็ตาย พอเป็นรัฐบาล ข้อจำกัดหนึ่ง คือ พอเข้าไปงบประมาณมีหรือไม่ สมมติเขาไม่เคยเป็นรัฐบาลแล้วมาเป็นรัฐบาล ในปีแรกอาจจะไม่มีงบประมาณ และข้อจำกัดการเป็นรัฐบาลผสม พอไปรวมกันเขาบอก ‘ผมไม่เอานโยบายนี้’ เขาก็อาจจะไม่ได้ทำก็ได้
3. ทำเมื่อไร พรรคการเมืองอาจจะเรียงตามความเร่งด่วนของปัญหา แต่อยากเรียกว่าหลอกลวงเลย เพราะอาจจะมีข้อจำกัด
“เราจะชั่งความพอดีอยู่ตรงไหน เอาในส่วนของกกต.ก็แล้วกัน สิ่งหนึ่งคือกฎหมายไม่ได้ไปจนสุด ถ้ากฎหมายเขียนไว้ชัดว่า พรรคไหนไม่ทำ รัฐบาลไหนเป็นแล้วไม่ทำ ให้ชี้แจงอย่างนู่นอย่างนี้ ถ้าแบบนี้กฎหมายถึงจะเขียนชัด ถ้าเป็นแบบนั้น เราถึงจะเข้าไปดำเนินการเหมือนตามกฎหมาย พอกฎหมายไม่ชัดก็จะแบบที่กล่าวไปก่อนหน้า ว่า 'ผมไม่มีเงิน ผมเป็นรัฐบาลผสม ผมจะทำแล้วมันหมดเวลาก่อน' พอกฎหมายไม่ชัด มันก็ผลักภาระให้ประชาชน ประชาชนยังจะเลือกอยู่หรือไม่ ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องกฎหมาย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการพัฒนาของพรรคการเมือง”
สิ่งที่เห็นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ คนมาสนใจสองเรื่องที่แต่ก่อนเป็นเรื่องลำดับสุดท้ายที่ประชาชนมักจะชั่งใจในการโหวต ได้แก่
1. อุดมการณ์ของพรรคไม่เหมือนแต่ก่อนที่มีเพียงฝ่ายเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม
2. คนมาสนใจนโยบาย สนใจแบบเชิงลึก เช่น การถกเถียงเรื่องเงินดิจิทัล เป็นครั้งแรกที่ประชาชน นักวิชาการเข้ามาถกเถียงกันเชิงลึก
คิดว่าเป็นเรื่องที่ดีของประเทศ ที่สมัยอดีตคนให้น้ำหนักตรงนี้น้อยมาก
@ กกต.ไม่มีหน้าที่ยับยั้งนโยบายประชานิยม
“สองสามรัฐบาลที่ผ่านมา รัฐบาลจะทำอะไรก็ทำ เสียหายแล้วค่อยมาว่ากัน ไม่รู้ว่ามันจะอยู่ตรงไหนเรื่องพวกนี้ ระหว่างวิถีการพัฒนา ความกระตือรือร้น การที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือหน่วยงานของรัฐ เช่น กกต.เข้าไปตรวจสอบ ทุกวันนี้ผมก็พอใจ คิดว่าโครงสร้างมันก็โอเคแล้ว บางอย่างคุณอาจจะผลักมาที่กกต. เหมือนว่าทำไมกกต.ไม่เบรกตอนที่เขาหาเสียง ก็กฎหมายให้ทำแค่นั้น กฎหมายบอกว่า นโยบายหนึ่งก็คือ แหล่งที่มาของเงิน นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้ใช้เงินส่วนตัวแน่นอน สองคือประโยชน์ที่จะได้รับที่เถียงกันอยู่ทุกวันนี้ ว่าประเทศจะเสียหายหรือไม่ สามคือความเสี่ยง พรรคต้องเสนอสามเงื่อนไข เวลาเลือกตั้งตามกฎหมายตามมาตรา 57 เพื่อให้ประชาชนเลือก วันนั้นประชาชนใหญ่สุด ไม่ใช่กกต.” นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวว่า จากนั้นถ้าประชาชนเลือกตั้งเสร็จ นโยบายจะส่งผลเสียหายอย่างไร จะมีด่านที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ระบุว่า ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ระงับความเห็นชอบจากกกต. และป.ป.ช.ด้วย หมายความว่า เมื่อผ่านประชาชนมาแล้ว ยังมีด่านที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ ว่านโยบายแบบนี้เกิดความเสียหายต่อประเทศ โดยออกหนังสือแจ้งไปที่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี แต่เมื่อไรที่ไม่มีการทักท้วง แปลว่าผ่าน ไม่กระทบต่อประเทศ รัฐบาลก็นำไปปฏิบัติ ถ้ามีการทุจริตป.ป.ช.ก็เข้ามาจัดการ มันมีโครงสร้างในการทำงาน
แต่พรรคการเมืองต้องให้ข้อมูลทั้งสามเงื่อนไข ให้ประชาชนได้ตัดสินใจว่าจะเลือกหรือไม่เลือก ถ้าพรรคการเมืองไหนส่งไม่ครบเงื่อนไขสามอย่าง 1. แหล่งที่มาของเงิน 2. ประโยชน์หรือความคุ้มค่า 3. ความเสี่ยง กกต.เป็นคนสั่งให้พรรคการเมืองทำให้ครบ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลในการตัดสินใจ ในวันเลือกตั้งกกต.ไม่มีหน้าที่ไปยับยั้ง ว่า ‘นโยบายนี้เป็นนโยบายประชานิยมหาเสียงไม่ได้นะ’ ทุกพรรคทำแบบนี้ นโยบายประชานิยมเป็นล้าน ๆ รวมทุกพรรค
“กฎหมายไม่ได้ให้กกต.อนุมัติอะไรเลย แค่ให้พรรคการเมืองประกาศให้ประชาชนทราบ กฎหมายเขียนแค่นี้ แต่ถ้าพรรคไหนทำไม่ครบที่กกต.สั่ง ที่คุณจะส่งให้ประชาชน คุณต้องส่งให้เราด้วย ว่าคุณประกาศครบสามเงื่อนไขไหม แต่นโยบายไหนดี ไม่ดี กกต.ไม่มีสิทธิ์ไปยุ่ง แค่ครบสามเงื่อนไขแล้วกัน กกต.ไม่มีสิทธิ์อนุญาต อนุมัติแบบที่เขาพูดกัน เวลาเลือกตั้ง คนจะคิดถึงกกต.ก่อน ไล่สส.ปูอัด ก็มาถึงกกต. เราก็ทำอะไรไม่ได้ เราบอกไม่ใช่หน้าที่เรา เขาก็บอก อ้าวกกต.มีไว้ทำไม ก็กฎหมายไม่ให้ไปยุ่งในบางเรื่อง กกต.ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตอะไรทั้งนั้น หลักการนโยบายก็คือว่า พรรคการเมืองให้ข้อมูลประชาชนครบสามเงื่อนไข เพื่อให้ประชาชนไปอ่านพิจารณาแล้วก็เลือก ถ้าเขาไม่ทำตาม หนหน้าอย่าไปเลือก กฎหมายมันออกมาประมาณนี้”
@ ธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานการทำงาน
นายแสวง กล่าวว่า ธรรมาภิบาลใครก็อยากได้ ตอนนี้คนมาสนใจเรื่องนโยบายที่แต่ก่อนคนไม่เคยสนใจ คนมาสนใจเรื่องอุดมการณ์กับนโยบาย เป็นสัญญาณที่ดีของการเมืองไทย
“ผมไม่รู้ว่าใครถูกหรือผิด เงินดิจิทัลดีไม่ดี คนหนึ่งบอกดี คนหนึ่งบอกไม่ดี พรรคการเมืองก็ยืนยันจะทำ เขาสัญญากับประชาชน ประชาชนเลือกเขามา เขาก็ทำ อย่างน้อยมันเป็นเรื่องที่ดี การที่คนจะบอกว่าทำแล้วดีไม่ดีก็อีกเรื่องหนึ่ง เรื่องพวกนี้มันไม่ลึกเท่าธรรมาภิบาล ซึ่งมันควรจะเป็นพื้นฐานในการทำงานอยู่แล้ว เราไม่ควรจะต้องเรียกร้องหา ธรรมาภิบาลคือการบริหารจัดการที่ดี โครงการจะดีไม่ดีเป็นอีกเรื่องนึง ธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานการทำงานทุกเรื่อง”
“กกต.ก็ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ การแข่งขันมันต้องมีกติกา บางทีเราไม่ได้เบี้ยวแต่กฎหมายเขียนไว้แบบนั้น เพราะมันเป็นกติกา แต่กฎหมายถูกเขียนจากคนที่ได้เปรียบ เรามีหน้าที่ทำตามกฎหมาย ถ้ากรรมการไม่ทำตามกฎหมาย ถึงแม้กฎหมายมันจะเบี้ยว คุณจะเชื่อกรรมการได้อย่างไร กรรมการทำตามอำเภอใจไม่ได้ คุณควรจะเชื่อว่าเราทำตามกฎหมาย” นายแสวงกล่าว
@ กลไกธรรมาภิบาลมีจุดลงโทษนักการเมืองไม่ทำตามที่หาเสียง
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เรื่องกลไกธรรมาภิบาลของการเป็นนักการเมือง อย่างแรก คือ เราอยู่ในระบบประชาธิปไตยโดยมีผู้แทน ผู้แทนคือคนที่จะกำหนดวางแผนนโยบาย เช่น พรรคพลังประชารัฐบอกว่าจะทำอะไร แต่ละพรรคก็จะแข่งขันกันในการนำเสนอนโยบายในลักษณะดังกล่าว โดยหวังว่าเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้ว ก็จะทำตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ กลไกธรรมาภิบาลจะมีจุดลงโทษ คือ ถ้าพรรคการเมืองไม่ทำตาม พรรคการเมืองนั้นก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจรอบหน้าก็จะไม่ถูกเลือกเข้ามา นี่เป็นกลไกพื้นฐานของทางระบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน ซึ่งกลไกตัวนี้มีจุดอ่อน
“ในทางวิชาการจะเรียกว่า ประชาธิปไตย 5 นาที คือคนไปหย่อนบัตร 5 นาทีแค่นั้นเอง แต่ว่าเขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้อีก 4 ปีข้างหน้า ตรงนี้เป็นจุดอ่อนที่ถ้าพรรคการเมืองเข้ามาแล้วไม่ทำตาม ตัวเองก็สบายไป 4 ปี อีก 4 ปีค่อยว่ากัน ลักษณะนี้เป็นจุดอ่อนของความเป็นประชาธิปไตยอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเกิดปัญหาต่าง ๆ ประชาชนก็จะไม่มีสิทธิที่จะทำอะไรได้ง่าย ไม่เช่นนั้นก็ต้องไปประท้วง ลงถนนต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งอื่น ๆ เป็นภาพที่เราไม่อยากเห็น แต่กลไกตัวนี้เป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยจะเจริญเติบโตได้”
โดยดุลยภาพที่ดีที่สุด คือ 1. ต้องมีการแข่งขันกันเรื่องนโยบายที่ดี 2. เข้าไปแล้วก็ต้องทำตามที่ตัวเองหาเสียงเอาไว้ มันก็จะเกิดการแข่งขันกันในการเลือกตั้งทุก ๆ ครั้ง เพื่อที่จะได้นโยบายที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ประชาชนก็จะได้รับสิ่งที่เขาโฆษณากันไว้
“อย่างไรก็ตามประเทศไทยไม่ได้อยู่ในดุลยภาพที่เป็นเช่นนั้น ตอนนี้เป็นการแข่งขันกันก็จริง แต่ว่าเป็นการแข่งขันการนำเสนอนโยบายที่เน้นประชานิยมแบบไม่มีความรับผิดชอบ ประชานิยมก็คือการลดแลกแจกแถม ฉันจะขึ้นค่าแรง 400 บาท ฉันจะทำให้ปริญญาตรี 25,000 บาท ฉันจะปลดหนี้ ฉันจะทำจำนำข้าว เป็นต้น ความไร้ความรับผิดชอบ คือ ไม่ได้มองถึงว่าสถานการณ์ระยะยาวเป็นอย่างไร สถานะการคลังของประเทศสามารถรองรับได้หรือไม่ ทำให้ภาควิชาการก็กังวลใจเหมือนกัน เลยขัดแย้งกับภาพที่ควรจะเป็นพอสมควร”
ฉะนั้นจุดบอดตอนนี้ที่มอง คือ 1. นโยบายที่แข่งขันกันยังไม่มีคุณภาพเท่าไรนัก จึงได้นโยบายที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์คลังในระยะยาว สะท้อนไปถึงปัญหาสังคมอีกด้วย
“นอกจากนี้นโยบายปัจจุบันบางทีไม่มีมีคุณภาพมากนัก อาจจะทำให้เกิดดุลยภาพแปลก ๆ ในเมืองไทย เช่นในกรณีของพรรคพลังประชารัฐสมัยก่อนที่ไม่ได้ทำแบบที่ตัวเองบอกว่าจะไปขึ้นค่าแรง 425 บาท และไม่ได้ทำอะไรอย่าง ๆ หลาย มันกลับกลายเป็นว่าดีก็ได้ ดังนี้ 1. มันทำให้ไม่เกิดความสุ่มเสี่ยง เพราะนโยบายโดยสาระสำคัญมันไม่จำเป็นต้องดี 2. มันทำให้ดุลยภาพมันก็กลับมา เขาไม่ถูกเลือกก็ถูกลงโทษ มันก็สะท้อนภาพว่าเขาทำไม่ได้จริง ก็กลายเป็นดุลยภาพแปลก ๆ ไป”
@ ประชาชนต้องตื่นรู้ว่านโยบายแจกเงินไม่ดี
ดร.นณริฏ กล่าวว่า มี 2 ส่วน ได้แก่ 1. พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่เป็นกฎหมายที่ควบคุมว่ารัฐบาลจะทำสิ่งใดต้องไม่เกิดความเสี่ยงด้านการคลังระยะยาว แต่ปัญหาคือนักการเมืองที่เข้ามาเป็นรัฐบาล มาปรับเงื่อนไขได้อย่างอิสระ แต่มีกลไกอยู่ แต่กลไกมันไม่ทำงาน ทำให้ อย่างเช่น รัฐบาลชุดปัจจุบันบอกคนที่สามารถปรับได้จะต้องมีเสียงจากนายก จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากราชการ เป็นต้น
“คุณจะเห็นนายกควบไปสองตำแหน่ง แบบนี้การเปลี่ยนก็ทำได้ สิ่งที่อยากเห็น คือ ต้องมีการใช้กฎเกณฑ์นโยบายการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด สิ่งนี้สำคัญมากเป็นตัวคุมแล้วว่าประเทศจะไม่สุ่มเสี่ยงมากเกินไป แต่ปัจจุบันเขาพยายามจะแก้ไขส่วนดังกล่าว ผมว่ามันไม่ควร จริง ๆ รัฐบาลประยุทธ์ก็แก้ไข รัฐบาลนี้ตอนแรกมีข่าวว่าจะแก้ไข แต่ตอนหลังก็ต้องรอฟังดูว่านายกจะแก้ไขหรือไม่”
2. เรื่องประชาชนเป็นหลัก เราอยู่ในระบบประชาธิปไตย ไม่เชื่อว่าเราจะให้องค์กรอิสระ นักวิชาการกลุ่มใดก็ตาม ออกมาเป็นผู้กำหนดทิศทางของประเทศ ในความเป็นจริงต้องเป็นประชาชน การจะหยุดยั้งนโยบายประชานิยมได้ ประชาชนต้องตื่นรู้ว่ามันไม่ดี ซึ่งตรงนี้ภาควิชาการเช่นตนเองช่วยได้ สื่อมวลชนก็ช่วยได้ การตีแผ่ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากนโยบายต่าง ๆ การขึ้นค่าแรง เป็นต้น
“แน่นอนทุกคนก็คิดว่าดี แต่ถ้าถามว่าขึ้นค่าแรงเร็วจนเกินไป แล้วไม่สะท้อนถึง fundamental หรือรากฐานของเศรษฐกิจ เศรษฐกิจก็จะไปต่อไม่รอด เราขึ้นแน่นอน แต่เราต้องขึ้นให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ เช่นเดียวกันเร็ว ๆ นี้ก็จะมีค่าแรงของราชการ การแจกเงินดิจิทัล เราก็ต้องมาตีแผ่ เราต้องสื่อสารแล้วให้ประชาชนเป็นคนเลือก ถ้าประชาชนเลือกนโยบายที่ดีต่อประเทศเมื่อไร ประชาธิปไตยก็จะ work ไปสู่ดุลยภาพที่ดีที่สุด”
@ ธรรมาภิบาลเริ่มที่สัญญาประชาคม
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย กล่าวว่า ธรรมาภิบาลของพรรคการเมืองจะเชื่อมโยงกับสัญญาประชาคม พอธรรมาภิบาลไม่สูงพอก็จะทำให้ความเป็นสัญญาประชาคมต่ำลงด้วย ไม่ได้แปลว่าทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่บอกตามที่หาเสียง แต่ต้องเริ่มจากการสร้างนโยบาย ไม่ใช่คำสัญญาทั่วไป ไม่ใช่การจัดเตรียมว่าจะให้อะไรกับประชาชน แม้เราบอกว่านโยบายเป็นสัญญาประชาคมอย่างหนึ่ง แต่การสัญญาประชาคมไม่ใช่การสัญญาแบบที่ไปบอกประชาชนว่าสัญญาว่าจะทำหรือให้สิ่งใด มันไม่ใช่ มันต้องจับต้องได้มากกว่านั้น มันต้องเริ่มต้นตั้งแต่ความมีความรับผิดชอบในการสร้างนโยบาย ต้องเป็นนโยบายที่เป็นจริงในการปฏิบัติได้ มีความเป็นรูปธรรม สร้างพลวัตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาบ้านเมือง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเหล่านั้น
“พรรคการเมืองต้องมีการพูดคุยกับประชาชนอยู่ในพื้นที่และประมวลเอาว่าเรื่องใดควรจะนำมาเป็นนโยบาย เสนอกันมา พอมาสู่พรรคใหญ่ เมื่อพรรคประกอบสิ่งที่สาขาส่งมาแล้ว สมาชิกทั้งหลายที่ไปคุยกับประชาชน พรรคต้องทำให้มันเป็นนโยบายของพรรค นโยบายต้องมีการตรวจสอบ ว่าเวลาทำจริง จะเกิดอะไรขึ้น จะเป็นอย่างไรบ้าง ข้อดี ข้อเสีย ความเสี่ยง ต้องประเมินในสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด แล้วท้ายที่สุดถึงเอาไปพูดบนเวทีกับประชาชน ซึ่งประเทศที่นักการเมืองมีธรรมาภิบาลสูง มันก็จะเกิดความเป็นสัญญาประชาคมสูงขึ้นไปด้วย พอเขาผ่านกระบวนการที่ผมว่าเหล่านี้ เวลาเขาขึ้นเวทีเนื่องจากผ่านการตรึกตรองมาอย่างดี เวลาเขาพูดเขาจะพูดรอบคอบ ประชาชนฟังแล้วจะรู้สึกว่าใช่ มันไม่มีการพูดไปเรื่อย ๆ ขายฝัน”
@ ต้องมีนโยบายประชานิยมให้น้อยที่สุด
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ธรรมาภิบาลประการที่สองก็คือ เรื่องประชานิยม พรรคการเมืองต้องมีให้น้อย หรือน้อยที่สุด แล้วถ้ามีต้องมีประชานิยมเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือเชิงเศรษฐกิจ ต้องไม่เป็นประชานิยมในเชิงรัฐศาสตร์ หรือเชิงทางการเมือง ซึ่งไม่มีในทุกกรณี ประชานิยมอาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าได้เงิน อาจจะดีในช่วงสั้น ๆ แต่โดยเนื้อแท้มันไม่ดี ส่วนประชานิยมเชิงเศรษฐศาสตร์ หรือเชิงเศรษฐกิจ อาจจะมีความจำเป็นบ้างบางประการ แต่ต้องใช้ที่น้อยสุด เพราะประชานิยมอะไรก็ตาม ต้องใช้เงินจำนวนมาก และจะไปลดทอนการพัฒนาในระยะยาวของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะก่อให้เกิดภาวะพึงพิงได้ ถ้าเกิดภาวะพึงพิงหรือติดนิสัยของการได้รับ พรรคการเมืองก่อนที่จะได้เป็นรัฐบาลก็อยากจะนำเอาเม็ดเงินไปหว่านโปรยให้คนมาเลือกตนเอง
“เริ่มตั้งแต่ตอนสร้างนโยบาย หรือการทำให้เกิดสัญญา พอธรรมาภิบาลไม่สูงพอ ทำตามนโยบายไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ ท้ายที่สุดเลยดูเหมือนว่าไม่มีธรรมาภิบาล เพราะทำไม่ได้ตามที่สัญญา พอทำอย่างมีธรรมาภิบาลขึ้นมาก็บอกฉันต้องทำให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น เงินดิจิทัล ค่าแรง แท้ที่จริงเป็นปลายทางแล้ว ตอนเริ่มคุณไม่ได้ใคร่ควรให้ดี มันขาดความรอบคอบและขาดธรรมาภิบาลของนโยบาย ท้ายที่สุดถ้ามันเกิด มันก็จะก่อความเสียหายที่มากขึ้น ปัญหาเริ่มตั้งแต่ตอนที่สร้างขึ้นมา”
@ พรรคร่วมรบ.ต้องมีความรับผิดชอบต่อปชช.
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า อันที่สาม คือ เมื่อเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ต้องมีธรรมาภิบาลในการหลอมรวมนโยบาย พอเป็นพรรคร่วม ต้องเอานโยบายทั้งหมดมาหลอมรวมกัน แล้วก็จะผ่านกระบวนพิจารณาอีกครั้ง แต่บังเอิญว่าพอเราร่วมรัฐบาล เราผสมกับคนอื่น ทำให้ไม่สามารถเอานโยบายของใครคนใดคนหนึ่งออกหน้าได้หมด อาจจะมีบางนโยบายที่ทุกคนยอมรับก็สามารถทำได้เลย แต่ถ้างบประมาณมันมีจำกัดหรือการดำเนินการจำเป็นที่จะต้องผสมรวมกัน ก็ต้องใช้เวลา เช่น ที่เขาใช้เวลาในการจัดตั้งรัฐบาล เบลเยี่ยมใช้เวลาประมาณ 500 วัน เขาใช้นโยบายไปกับการหลอมรวมตรงนี้
“และตรงนี้จะมานำมาธรรมาภิบาลลำดับที่สี่ คือ รัฐบาลผสมต้องมีความรับผิดชอบต่อพี่น้องประชาชนในการกำหนดตัวของคนมารับผิดชอบ ไม่ใช่คนนี้เป็นน้องคนนั้น โควตาสส.แบบนั้นแบบนี้ นี่มันขาดธรรมาภิบาลต่อประชาชน แต่มันเกิดจากการที่ไม่มีการหลอมรวม เป็นแบ่งตามโควตา ได้สส.10 เอาไปเลย 1 ตำแหน่ง แบบนี้ มันทำให้กลไกการทำงานไม่ได้ถูกโยงกับความรู้ความสามารถที่แท้จริง สุดท้ายก็คือเราจะมองเห็นภาพของการทะเลาะกัน การแก่งแย่งกัน มันก็เป็นการขาดธรรมาภิบาลในฐานะผู้แทนของประชาชนในท้ายที่สุด”
@ สิ่งที่ประชาชนทำได้
รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า คิดให้ดีตอนเลือกตั้ง ถ้ามองซ้ายมองขวาแล้วไม่มีพรรคการเมืองไหนได้เรื่องเลย ถึงได้มีช่องไม่ประสงค์จะเลือกใคร ถ้าไม่ประสงค์จะเลือกใครแบบเข้มแข็ง สมมติในเขตของเรามองแล้วว่าไม่มีใครดีเลย ไม่ประสงค์จะเลือกใคร กวาดผู้สมัครของทุกพรรคการเมืองออกหมดแล้วส่งคนมาใหม่ไหม นั่นแปลว่าเราไม่รับในส่วนของผู้สมัครแต่ละคน แล้วถ้าเกิดมีบัญชีรายชื่อ เราไม่เลือกใครเลยในบัญชีรายชื่อนั้น ไม่รับทุกอย่างของพรรคนี้ของพรรคใดเลย อันนี้คือความเข้มแข็งของประชาชน
“อันที่สองก็คือว่า เลือกมาแล้วต้องติดตาม ไม่ใช่ติดตามแค่ เธอพูดกับฉันแบบนี้ ฉันต้องได้ มันต้องร่วมกันมีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองด้วย เมื่อคุณเลือกเขาไป แล้วคุณเห็นว่าอะไรที่มันทำไม่ได้ คุณก็ต้องบอกเขาให้ไปเปลี่ยน อย่าทำแบบเดิม อันที่สาม ถ้าเกิดสมมติว่าคนอีกฝั่งหนึ่งเขารู้สึกว่า เขาอยากจะยกมือไปบอกว่านโยบายของคนเป็นรัฐบาลเนี่ยมันไม่เหมาะ ไม่ดี แต่เสียงน้อยกว่า ถ้าสมมติว่าท้ายที่สุดตัวแทนของเขาในสภาไม่สามารถทำอะไรได้ เขาก็ต้องชุมนุม แต่ชุมนุมแบบสงบไร้อาวุธ แล้วก็ต้องมีกรอบของการชุมนุม”
*********
อย่างไรก็ดีรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะสามารถทำนโยบายที่ใช้หาเสียงไว้ให้เป็นจริงได้หรือไม่ ยังคงต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด