“...แต่ละชุมชนมีความโดดเด่นต่างกัน การมองตัวเองในกระจกเพื่อสะท้อนถึงคนรอบข้างและชุมชนจึงสำคัญมาก เพราะความเป็นเราในวันนี้ล้วนหล่อหลอมขึ้นจากชุมชนที่เราอยู่ทั้งสิ้น เรามั่นใจในต้นทุนที่เรามีทั้งทรัพยากรและคน ไม่ใช่แค่ 100% แต่เป็น 200% ว่าสิ่งที่เรามีมันดี มีคุณค่า และน่าสนใจ...”
‘สตูล’ จังหวัดริมทะเลใต้สุด ฝั่งอันดามัน เมืองรอง ที่การเดินทางค่อนลำบาก ไม่มีสนามบินเป็นของตัวเอง และเป็นเมืองที่ไม่เจริญไปด้วยแสงสีเหมือนจังหวัดอื่น ๆ และหลายคนอาจจะคิดว่า สตูล มีจุดเด่น คือ ‘เกาะหลีเป๊ะ’ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงาม โดดเด่นจนได้รับฉายา ‘มัลดีฟส์เมืองไทย’ เท่านั้น
แต่ นายจักรกริช ติงหวัง หรือ เป็ด ลูกหลานชาวประมงที่เกิดและเติบโตในพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ย บ้านหลอมปืน ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล ค้นพบเสน่ห์ของสตูลที่ซ่อนอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิถีผู้คน ความพหุวัฒธรรมที่ผสมผสานระหว่างกลิ่นอายไทย-มลายู ทรัพยากรธรรมชาติ ภูเขา ทะเล หาดทรายที่สวยงาม และความหลากหลากของระบบนิเวศ รวมถึงการเป็นแหล่งธรณีที่สำคัญของโลก ที่ได้รับรองโดยองค์การยูเนสโก้
“แต่ละชุมชนมีความโดดเด่นต่างกัน การมองตัวเองในกระจกเพื่อสะท้อนถึงคนรอบข้างและชุมชนจึงสำคัญมาก เพราะความเป็นเราในวันนี้ล้วนหล่อหลอมขึ้นจากชุมชนที่เราอยู่ทั้งสิ้น เรามั่นใจในต้นทุนที่เรามีทั้งทรัพยากรและคน ไม่ใช่แค่ 100% แต่เป็น 200% ว่าสิ่งที่เรามีมันดี มีคุณค่า และน่าสนใจ”
นายจักรกริช เริ่มต้นจากนักอนุรักษ์ในงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติตามรอยพ่อ โดยจัดกิจกรรมร่วมกับชาวบ้าน ช่วยกันเก็บขวด สางป่า กวาดขยะ ตกแต่งชายหาด เพื่อใช้เป็นที่จัดกิจกรรมแข่งกีฬาพื้นบ้าน ใช้เป็นสถานที่จัดประชุมเวทีชาวบ้าน จัดค่ายลูกเสือ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ
ต่อมาภายหลังเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นที่โล่งไม่มีต้นไม้และมีอากาศร้อน ทางผู้นำและชุมชน นำโดยนายอารีย์ ติงหวัง สจ.เขต 1 อำเภอละงู ได้ช่วยกันปลูกป่า จนกระทั่งสภาพป่ากลับมา จึงเกิดเพื่อเป็นแหล่งการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชาวบ้านดังเช่นที่เคยเป็นมา
“ผมและทางชุมชนบ้านหลอมปืน มีแนวคิดที่จะต่อยอดโดยการพัฒนาพื้นที่อ่าวทุ่งนุ้ยให้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศทั้งกับคนในชุมชนเองและคนนอกชุมชน เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่สร้างรายได้ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรของชุมชน”
นายจักรกริช ติงหวัง
สำหรับการจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชนของบ้านหลอมปืน ยึดแนวทางการจัดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ โดยคำนึงถึง 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
-
ด้านสิ่งแวดล้อม
การเรียนรู้ และร่วมมือกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในท้องถิ่น รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม -
ด้านสังคม และวัฒนธรรม
การจัดการท่องเที่ยวที่ส่งเสริม และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของผู้มาเยือนที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต รวมถึงรูปแบบความเป็นอยู่ เพื่อการแสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เกิดการตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตในแหล่งที่นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือน -
ด้านเศรษฐกิจชุมชน
เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้กับประชาชนในแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีการกระจายรายได้สู่ชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวอย่างเป็นธรรม
จากแนวคิดการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อสร้างรายได้ นายจักกริช จึงได้ร่วมมือกับคนในชุมชนสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวในชุมชนตามเส้นทางท่องเที่ยวถึง 4 เส้นทาง ซึ่งแต่ละโปรแกรมท่องเที่ยว มีบริการอาหารกลางวันและอาหารว่าง ที่เป็นอาหารพื้นบ้าน รวมถึงการทำผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อกลายเป็นของฝากสำหรับคนมาท่องเที่ยวในชุมชนด้วย
สำหรับภูมิปัญญาการแปรรูปที่ได้ศึกษาจากชุมชนหลอมปืนและชุมชนใกล้เคียง มีดังนี้ ปลาส้ม (ปลาพอง) ฆอแร็ง (ปลาคั่วทรงเครื่อง) ปลาเค็ม ปลาเนื้อส้ม
ปลูกป่าชายเลน กิจกรรมในโปรแกรมการท่องเที่ยวบ้านหลอมปืน
ขณะเดียวกัน นายจักรกริช ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในการพัฒนาคนในแต่ละช่วงวัย แบ่งเป็น
- กลุ่มเด็กและเยาวชน
จะจัดการฝึกและพัฒนาให้เป็นนักสื่อความหมายชุมชน หรือ ‘มัคคุเทศก์น้อย’ ที่จะได้มีความรู้เกี่ยวกับชุมชน และถ่ายทอดต่อไปยังคนนอกชุมชนได้รับรู้และเข้าใจ อีกทั้งยังมีรายได้เพื่อให้เกิดเป็นขวัญและกำลังใจกับการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ลดปัญหาการเข้าไปสู่แหล่งอบายมุขอีกด้วย
- กลุ่มมผู้สูงวัย
จัดให้เป็นผู้ถ่ายทอดแนะแนวทางของภูมิปัญหาความรู้เฉพาะเรื่อง อาทิ วิถีชีวิตกับการถนอมอาหาร เมนูรับประทาน ขนมพื้นบ้าน และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยกันออกแบบการพัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ และพัฒนาให้เกิดการสร้างรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชนต่อไป
นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดช่องว่างระหว่างวัย และถ่ายทอดสืบสานภูมิปัญญาให้อยู่คู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืน
กลุ่มผู้สูงวัยสาธิตการทำขนมเจาะหู
นายจักกริช กล่าวว่า เพราะการท่องเที่ยวชุมชนจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน โดยสิ่งสำคัญคือ คนในชุมชนจะต้องเห็นและเข้าใจคุณค่าของต้นทุนที่มีอยู่ และภาพเป้าหมายที่จะมุ่งหน้าเดินไปด้วยกัน
โดยใน 1 ปีที่ผ่านมา ภายใต้การนำพัฒนาและการท่องเที่ยวของนายจักกริช ทำให้บ้านหลอมปืน เป็นศูนย์การเรียนรู้นิเวศป่าชายเลน มีเด็กและเยาวชน และผู้สนใจ เข้ามาดูงาน และร่วมกิจกรรม Work Shop ประมาณ 500 คน และให้บริการนำเที่ยวชุมชนกว่า 300 คนต่อปี
มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นกว่า 20 ไร่ สร้างจิตสำนึกเกิดระเบียบการบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน และการจัดการขยะของชุมชน ลดขยะ เพิ่มความสะอาดบริเวณชายหาดความยาว 700 เมตร และพื้นที่ป่าชายเลนกว่า 150 ไร่
นอกจากนี้ ยังได้สร้างเด็กและเยาวชนรู้รักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ รักษ์บ้านเกิด กว่า 30 คน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน กระจายรายได้สู่ร้านค้า แม่บ้าน ชาวประมง ผู้สูงอายุ และเด็กเยาวชน กว่า 70 คน
คนละประมาณ 3,000 – 5,000 บาทต่อเดือน
ปัจจุบัน นายจักรกริช ดำรงตำแหน่ง ประธาน การท่องเที่ยวชุมชน จังหวัดสตูล และได้รับโล่ประกาศกิตติคุณผู้มีผลงานดีเด่น ด้านการท่องเที่ยวชุมชน ประจำปี 2566 จาก วิทยาลัยชุมชนสตูล แต่ก็ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศต่อไป โดยคาดหวังว่าจะส่งผลดีต่อเนื่องต่อคนในชุมชน และจังหวัดสตูล ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นี่คือหนึ่งตัวอย่างและต้นแบบสร้างแรงบันดาลใจของต้นกล้าชุมชนในโครงการ ‘Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอด’ ของมูลนิธิเอสซีจี ที่เริ่มต้นจากการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามรอยพ่อ สู่ผู้นำการจัดการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพัฒนาและมอบโอกาสการเรียนรู้เพื่อสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนโดยที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง