เปิดประตู สู่ "บ้านตระ" ทำความรู้จักชุมชนเก่าแก่ 300 ปี ที่ซ่อนตัวกลางหุบเขาบรรทัด สถานที่ซ่อนตัว-เร้นกาย ตำนานต่อต้านการกดขี่ยุคดาวแดง พื้นที่โฉนดชุมชนโดดเด่น วิถีอันสงบ อยู่ร่วมกับธรรมชาติ ธรรมชาติ-น้ำตก-พืชผลนานาพันธุ์ ก่อน 'เสี่ยแป้ง' กบดาน
"บ้านตระ" หรือ "บ้านในตระ" ชุมชนขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขาบรรทัด รอยต่อ พัทลุง-ตรัง-สตูล ติดเขตพื้นที่ ม.2 ต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง
กลายเป็นที่สนใจของคนทั่วไป เนื่องจากในรอบสัปดาห์ มีกระแสข่าวล้อมจับ "เสี่ยแป้ง" หรือ นายเชาวลิต ทองด้วง นักโทษหลบหนีจากเรือนจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และได้หนีมากบดานที่บ้านตระ ตามที่สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้นำเสนอข่าวกันอย่างครึกโครม
จึงทำให้ชื่อ "บ้านตระ" เป็นที่สนใจของผู้คน
เชาวลิต ทองด้วง
ชุมชน "บ้านตระ" อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เป็นพื้นที่โฉนดชุมชนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ใช้ชีวิตแบบพึ่งพาธรรมชาติ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีประปา ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ชาวบ้านในชุมชนใช้รถจักรยานยนต์และเดินเท้าเข้าออกหมู่บ้าน รวมทั้งใช้ลำเลียงพืชผลทางการเกษตรออกมาขาย ชาวบ้านที่นี่ประกอบอาชีพทำสวนเกษตรเป็นอาชีพหลัก ปลูกยางพารา ผัก ผลไม้ เช่น ทุเรียน ,เงาะ,ลางสาด, ลำชิง,(ลางสาดป่า), ลองกอง , มังคุด , สละ , สะตอ , ผักเหลียง , ผักกูด เป็นต้น
"บ้านตระ" มีลักษณะเป็นที่ราบบนภูเขาสูง มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ล้อมรอบไปด้วยเทือกเขาบรรทัด ระดับความสูงจากน้ำทะเลประมาณ 300 ฟุต พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำ ลำธาร และเป็นแหล่งน้ำตกที่สวยงามในตำนานเทือกเขาบรรทัด ที่สูงที่สุดในจังหวัดตรัง มีปริมาณน้ำมากตลอดปี คือ “น้ำตกโตนเต๊ะ” และ “น้ำตกโตนตก” มีอากาศเย็นตลอดปี
“บ้านตระ” เป็นที่ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ จากข้อมูล เอกสารรายงานการศึกษาความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อน กรณีบ้านตระ โดย ทีมวิจัยชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุข้อมูลการสำรวจพื้นที่พบมีแหล่งน้ำสายหลักจำนวน 7 สาย ได้แก่ คลองตระ, คลองน้ำคราม , คลองโต๊ะงั่ง , คลองเขาค้อม , คลองลำเรียน , คลองช้างแทงหลิ่ง คลองทั้งหมดจะไหลลงไปสู่คลองตระ ไปยังบ้านวังสายทอง อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล และไหลลงทะเลที่บ้านปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ออกสู่ทะเลฝั่งอันดามัน และยังมีคลองห้วยโส ไหลลงคลองปะเหลียนแล้วไหลลงสู่ทะเลฝั่งอันดามันที่อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังมีน้ำตก 3 แห่ง ได้แก่ น้ำตกโตนตก น้ำตกคลองโต๊ะงั่ง น้ำตกคลองน้ำคราม
การเดินทางจากตัวเมืองตรัง ถึงน้ำตกโตนตกประมาณ 50 กิโลเมตร ทางเข้าบ้านตระ ต้องใช้การเดินเท้า หรือ รถจักรยานยนต์ ไปบนเส้นทางสายเล็กระยะทาง 7 กิโลเมตร ทอดยาวลัดเลาะไปจนถึงหมู่บ้าน ซึ่งทางหรือถนนเข้าหมู่บ้านชาวบ้านร่วมใจกันทำเป็นทางปูนซีเมนต์ มีความกว้างเพียง 1 ฟุต หรือ ขนาดพอดีกับความกว้างของรถจักรยานยนต์
ชุมชนเก่าแก่มากว่า 300 ปี
“บ้านตระ” เป็นชุมชนเก่าแก่มากว่า 300 ปี เป็นเขตรอยต่อ 3 จังหวัด ระหว่าง ตรัง-พัทลุง-สตูล เป็นเส้นทางการค้าโบราณในยุคสมัยอยุธยาตอนกลาง เดิม มีชื่อเรียกว่า “บ้านสระ” และ “ในตระ” มีผู้ปกครองคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองปะเหลียน ซึ่งเป็น เมืองขึ้นของเมืองพัทลุงในขณะนั้น คือ “หมื่นเสนาะคีรี” หรือ ”ทวดเล็ก” มีหน้าที่ดูแลบ้านตระและบ้านหัวช้าง “ทวดเล็ก” เสียชีวิตและฝังศพที่บ้านตระมีสุสาน(กุโบร์) ของท่านจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาพ.ศ.2435 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ทางราชการมีนโยบายจัดเก็บภาษี รัชชูปการหรือภาษี 4 บาท จากผู้ชายที่มีครอบครัวแล้ว นโยบายนี้สร้างความเดือนร้อนให้แก่ชาวบ้านจำนวนมากเนื่องจากไม่มีการสะสมเงินตรา นอกจากคนที่ค้าขายเท่านั้น จึงทำให้เกิดโจรปล้นทรัพย์สินและขโมยวัวควายมากขึ้นในหลายพื้นที่ นอกจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางเศรษฐกิจแล้ว นโยบายการเมืองการปกครองต้องผูกขาดอำนาจรัฐไว้ที่ส่วนกลางอีกด้วย
ผู้ใหญ่บ้านคนแรก
พ.ศ. 2457 บ้านตระมีผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือนายมูสา การะนิล ชาวบ้านประมาณ 100 ครัวเรือน นับ ถือศาสนาอิสลาม การปกครองจึงได้นำหลักการของศาสนามาใช้ในการปกครองด้วย ในช่วงการปกครองนี้ มี เหตุการณ์สำคัญๆ 2 เหตุการณ์ คือ มีโจรจากพัทลุงเข้ามาปล้นทรัพย์สินของชาวบ้านตระอยู่บ่อยๆ และ เกิดโรคไข้น้ำหรือไข้ทรพิษระบาด ทำให้ชาวบ้านตระเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านหลายคนได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานชั่วคราวในหลายอำเภอของจังหวัดตรัง พัทลุง และสตูล
ต่อมา พ.ศ. 2466 ผู้ใหญ่มูสา การะนิล ล้มป่วยจากไข้น้ำและได้เสียชีวิต ศพของนายมูสาได้ฝังไว้ที่กุโบร์ในบ้าน ที่บ้านตระ เมื่อนายมูสาเสียชีวิต นายอำเภอทุ่งหว้าได้แต่งตั้ง “นายระหมาน กะปุก” เป็น ผู้ใหญ่บ้านคนต่อมา โดยกำนันตำบลทุ่งหว้าเป็นผู้เสนอชื่อ โรคไข้น้ำยังคงระบาดและโจรชุกชุม ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านจึงลงความเห็นว่าควรอพยพไปตั้งชุมชน ใหม่ที่บ้านลำแครง (อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 6 ตำบลปะเหลียน จังหวัดตรัง) และ บ้านควนไม้ดำ ทางขึ้นน้ำตกโตนเต๊ะ-โตนตกเพื่อเข้าสู่บ้านตระ (อยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 2 ตำบลปะเหลียน จังหวัดตรัง)
แต่ชาวบ้านจำนวนหนึ่งยังคงยืนยันที่จะอยู่บ้านตระเหมือนเดิม ในส่วนคนที่ย้าย ไปอยู่บ้านลำแครงและบ้านควนไม้ดำยังคงทำกินในที่ดินบ้านตระตามเดิม
ในช่วง พ.ศ.2508 – พ.ศ.2513 เจ้าหน้าที่เริ่มเข้ามาสำรวจพื้นที่สร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในพื้นที่บ้านตระ บริเวณคลองตระ ที่ไหลลงสู่แม่น้ำละงู ทำให้ชาวบ้านบางส่วนก็มีรายได้เพิ่มเติมจากการรับจ้างแบกท่อ เหล็กและเครื่องปั่นไฟขึ้นไปบนบ้านตระ ระยะทางในการแบกเหล็กประมาณ 25 กิโลเมตร จากบ้านผู้ใหญ่ หลุบ ชูอ่อน ถึงบริเวณที่จะวัดน้ำ ชาวบ้านได้รับค่าจ้างแบกเหล็กกิโลกรัมละ 3 บาท
ต่อมา พ.ศ.2514 ได้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนจำนวนหนึ่งได้ เข้าป่าจัดตั้งกองกำลังเพื่อต่อสู้กับรัฐบาล เรียกว่า “กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ” (ท.ป.ท.) หลังจากนั้น ท.ป.ท. ได้ขยายฐานทัพมาในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด และเข้ามาตั้งฐานทัพระดับกองพันในป่าบริเวณบ้านตระ การสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเขื่อนก็ยุติลงในช่วงนี้
หลังจากน้ัน พ.ศ. 2516-พ.ศ. 2518 ราชการได้เข้ามาปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างหนัก ทำให้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องอพยพออกจากหมู่บ้านโดยย้ายไปอยู่ในพื้นที่อำเภอปะเหลียน , อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง และในพื้นที่อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง
ร่วมกันพัฒนาเส้นทาง
ต่อมาปี พ.ศ.2534 ชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาเส้นทางจากบริเวณควรเณรมีขึ้นไปบ้านตระ โดยใช้จอบขุดเพื่อให้สามารถนาผลผลิตทางการเกษตรไปขายได้สะดวกขึ้น
ในปีเดียวกัน “นายชวน หลีกภัย ” ได้เข้ามาดูสภาพพื้นที่บ้านตระ ในขณะนั้นนายชวนเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดูแลกรมป่าไม้ ซึ่ง “นายผ่อง เฮ่งลี้ ” เป็นอธิบดีกรม หลังจากนั้น 3 เดือนก็มีนโยบายอพยพชาวบ้านตระออกจากพื้นที่ โดยจะจัดที่อยู่ใหม่ให้ ในพื้นที่อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล และ ในพื้นที่อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง เมื่อชาวบ้านจำนวนหนึ่งไปดูพื้นที่ก็พบว่าไม่ใช่ที่ดินว่างเปล่า แต่เป็นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ชาวบ้านตระส่วนหนึ่งจึงไม่เห็นด้วยกับการอพยพ
ช่วง พ.ศ. 2535-2537 ราชการยังคงผลักดันให้ชาวบ้านอพยพออกจากพื้นที่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ขึ้นมาสำรวจจำนวนชาวบ้านและจำนวนอาสินเพื่อเตรียมอพยพ โดยจะจ่ายค่าชดเชยอาสินและจัดหาที่อยู่ให้ใหม่ มีการกำหนดค่าชดเชย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1.ทำกินในพื้นที่อาศัยในพื้นที่ จะจ่ายค่าชดเชยไร่ละ 30,000 บาท 2.ทำกินในพื้นที่อาศัยนอกพื้นที่ จะจ่ายค่าชดเชยไร่ละ 5,000 บาท เมื่อทางราชการเรียกประชุม ชาวบ้านที่บริเวณน้าตกโตนเต๊ะ ก็มีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 700 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่มีมติอพยพออก จากบ้านตระ รัฐบาลจัดสรรงบประมาณประมาณ 72 ล้านบาทเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน แต่ในช่วงนั้นไม่มีงบประมาณ จึงไม่ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่
พ.ศ.2545 ชาวบ้านตระจึงจัดต้ังองค์กรขึ้นเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและสร้างความมั่นคงให้ชุมชน ชาว บ้านตระเป็นสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน เทือกเขาบรรทัดบ้านตระ
พ.ศ. 2551-พ.ศ.2553 ร่วมกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยเจรจากับรัฐบาลภายใต้ คณะกรรมการอำนวยการแก้ปัญหาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอให้รัฐบาลรับรองพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชน จานวน 75 ครัวเรือน ประมาณ 340 คน มีเนื้อที่ 3,000 ไร่
"ผู้ใหญ่สุลต่าน"
“แจ้ง แสงกุล” อายุ 68 ปี หรือ อดีตผู้ใหญ่แจ้ง ที่เคยได้รับฉายา "ผู้ใหญ่สุลต่าน" อดีตผู้ใหญ่บ้าน บ้านตระ หมู่บ้านเล็กๆบนเขาบรรทัด พื้นที่กบดานของ “เสี่ยแป้ง” อดีตหัวหน้าหน่วยล่าสังหาร สังกัดกรมทหารพรานที่ 42 นำตกกระช่อง เล่าว่า เป็นผู้ใหญ่บ้านมาตั้งแต่ปี 2530 ได้บุกเบิกและได้ตั้งชื่อที่นี่ว่า "บ้านตระ" แบ่งการปกครองชุมชนเป็น 5 โซน มีหัวหน้าโซนดูแลแต่ละโซน ตอนนี้ก็ยังมีตำแหน่งเป็นประธานชุมชนบ้านตระ ในตอนบุกเบิกตั้งหมู่บ้าน มีการตั้งร้านค้าสหกรณ์ชุมชน
นายแจ้ง กล่าวว่า “การปกครองผมจะปกครองแบบกึ่งระบบทหาร กึ่งการปครอง แต่ผมจะวางตัวเป็นพ่อที่ดีของลูกบ้าน แต่กับโจรผู้ร้ายผมจะวางตัวเป็นนักต่อสู้ บ้านตระเป็นหมู่บ้านแห่งตำนานลี้ลับ ขุนโจรภาคใต้ในอดีต ตั้งแต่ "โจรนายดำหัวแพร" หรือ "โจรมหาจันทร์" อยู่ที่บ้านตระมาก่อน บ้านตระเป็นหมู่บ้านปิด เป็นหมู่บ้านที่ถูกทอดทิ้งจากเจ้าหน้าที่ ถูกสาบ เป็นหมู่บ้านอาถรรพ์ โจรหรือคนคิดไม่ดีเข้ามาในหมู่บ้านจะต้องตายในหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่ที่มาจับเสี่ยแป้งอาจมองข้ามเรื่องนี้ไป"
"ตอนผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องตั้งเครื่องเซ่นไหว้ศาลทวดเล็ก ได้แก่ ข้าวเหลือง ไก่ไม่เหยียบดิน (ไข่ไก่) นำไปตั้งเซ่นไหว้ แล้วขอพรให้ปกครองบ้านตระอย่างราบรื่น ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข สามัคคี ขอเป็นตัวแทนของทวดเล็กนำบ้านตระไปสู่เป้าหมายที่ดีงาม ผมเป็นผู้ใหญ่บ้านดูแลบ้านตระมากว่า 20 ปี ลูกบ้านไม่ทะเลาะกันเลย เรื่องลี้ลับของบ้านตระ ใครที่มาเยือนบ้านตระแล้วคิดไม่ดีหรือไม่เชื่อถือ ก็จะอยู่ไม่ได้ แต่หากใครที่คิดดีก็จะดีไปเลย"
"ในการปฏิบัติงานคนที่เป็นทหารของผมที่เป็นทหารพรานและผู้ใหญ่บ้าน ก็จะวางเส้นสายในการเข้าไปทำงานตรงนี้ เพราะการรบในป่า ไม่เหมือนกับการรบในเมือง และการจับผู้ร้ายในป่าเป็นเสือลำบาก อย่างน้อยก็ต้องสู้ไว้ก่อน หรือเปรียบเปรยว่าหากจะสู้กับโจร เราต้องสู้แบบโจร ต้องหาคนในพื้นที่มาเป็นพวกตนเองให้ได้”อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านตระระบุ
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และเรื่องราวของผู้คนบน “บ้านตระ” ถูกขนานนามว่าเสมือน “เมืองลับแล” แห่งเทือกเขาบรรทัดอันสลับซับซ้อน จุดกบดาน 'เสี่ยแป้ง' ที่ปรากฏเป็นข่าวครึกโครมในช่วงที่ผ่านมา
ทว่า ในธรรมชาติที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ วิถีเกษตรแบบอยู่ร่วมกับธรรมชาติอันเรียบง่ายของผู้คนบ้านตระ ยังคงเป็นที่ถูกตาต้องใจกลุ่มนักเที่ยวสายลุย ตลอดจนยูทูบเบอร์ชื่อดังสายภาคใต้ มารีวิวนำชมเผยแพร่อยู่เนืองๆ
ถือเป็นชุมชนเพชรเม็ดงามท่ามกลางผืนป่าอีกแห่งหนึ่ง ที่รอการเจียรไนย..