"...ให้มีการถอดบทเรียนจากผลการดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งที่เอื้อและไม่เอื้อต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการ แล้วนำสิ่งที่ได้รับไปพัฒนาปรับปรุงกิจกรรม แนวทาง ขั้นตอน หลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงช่วงเวลาของการดำเนินงาน ตลอดจนกระบวนการ วิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้เกิดความรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป..."
การใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ จำนวน 1,480 ล้านบาท
ในการดำเนินงานโครงการพาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน , โครงการพาณิชย์...ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย เพื่อลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID – 19) และจากการปรับราคาสินค้าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2565
ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ พร้อมแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณ พิจารณาดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สตง.ได้เผยแพร่รายงานการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 ระบุว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2565 วงเงินรวมทั้งสิ้น 1,480.00 ล้านบาท เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 ให้หน่วยงานของรัฐเพื่อดำเนินโครงการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(COVID – 19)และจากการปรับราคาสินค้าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2565 และเพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคในราคาประหยัด โดยหลีกเลี่ยงการเดินทางที่อาจมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID –19 โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 LOT ได้แก่
1. โครงการพาณิชย์...ลดราคา! ช่วยประชาชน (LOT 20) จำหน่ายสินค้าในบริเวณพื้นที่สาธารณะหรือลานอเนกประสงค์ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 100 จุด (ผ่านรถ Mobile และจุดจำหน่าย) และภูมิภาค จำนวน 76 จังหวัด 600 จุด (จังหวัดละ 6 – 8 จุด) โดยมีแผนการปฏิบัติงานออกเป็น 2 งวด ได้แก่ งวดที่ 1 ดำเนินการช่วงเดือนมิถุนายน –สิงหาคม 2565 โดยจำหน่ายสินค้า 60 วัน ต่อเนื่องกัน และงวดที่ 2 ดำเนินการช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน 2565 โดยจำหน่ายสินค้า 30 วัน ดำเนินการต่อเนื่องหลังจากดำเนินการงวดที่ 1 เสร็จสิ้น
2. โครงการพาณิชย์...ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย (LOT 21) ระยะเวลาดำเนินโครงการ 30 วัน โดยเป็นการจัดงานมหกรรมจำหน่ายสินค้าขนาด 100 – 200 คูหา จำนวน 274 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน (จังหวัดละ 2 – 4 ครั้ง)
จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 มีประเด็นข้อตรวจพบ การดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 ล่าช้าและไม่ทันต่อสถานการณ์ ดังนี้
1. การดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 ล่าช้า
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ LOT 20 งวดที่ 1 ในเดือนสิงหาคม 2565 พบว่ายังไม่มีจังหวัดใดจำหน่ายสินค้าเสร็จได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนด หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการจึงขอขยายระยะเวลาการดำเนินงานทั้ง 2 งวดออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2565 และเมื่อสิ้นสุดการขยายระยะเวลาแล้ว พบว่า ยังมีจังหวัดที่ยังจำหน่ายสินค้าไม่แล้วเสร็จจำนวน 6 และ 33 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 7.79 และ 42.86 สำหรับงวดที่ 1 และ 2 หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจึงขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการครั้งที่ 2 ออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 ต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566 โดยให้เหตุผลว่างวดที่ 1 ยังดำเนินการไม่เสร็จจำนวน 2 จังหวัด เนื่องจากยังไม่ได้ผู้รับจ้าง และงวดที่ 2 ยังไม่ดำเนินการจำนวน 21 จังหวัด เนื่องจากแต่ละจังหวัดเริ่มดำเนินการ งวดที่ 1 ไม่พร้อมกันจึงทำให้ระยะเวลาสิ้นสุดไม่พร้อมกัน รวมถึงต้องใช้ระยะเวลาในการตรวจรับงาน ก่อนการเบิกจ่ายให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อสิ้นสุดการขยายระยะเวลาครั้งที่ 2 พบว่า ทุกจังหวัดดำเนินการจำหน่ายสินค้าเสร็จสิ้นแล้ว
เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินโครงการ LOT 21 ในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า ยังไม่มีจังหวัดใดเริ่มดำเนินการจำหน่ายสินค้าได้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจึงขอขยายระยะเวลาการดำเนินโครงการออกไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 ต่อเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2566
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการดำเนินโครงการแล้ว พบว่า ดำเนินการแล้วเสร็จจำนวน 55แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการหรือทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันแล้วจำนวน 11 จังหวัด และยังไม่ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันจำนวน11 จังหวัด ทั้งนี้จังหวัดที่ยังไม่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันให้ยุติการดำเนินโครงการ LOT 21
เมื่อพิจารณาแผนและผลการดำเนินงานโครงการพบว่า การดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผนการปฏิบัติงาน 6 – 7 เดือน โดยปัญหาอุปสรรคบางประการที่ทำให้โครงการไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามกำหนดระยะเวลา คือ
1. การมอบอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดให้กับหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดบางจังหวัดมอบอำนาจในการอนุมัติโครงการให้น้อยกว่าจำนวนงบประมาณที่ได้รับบางจังหวัดแม้ว่าจะมอบอำนาจในการอนุมัติอยู่ภายในวงเงินงบประมาณแต่ต้องขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผ่านการตรวจสอบจากหน่วยตรวจสอบภายในจังหวัดก่อน เป็นต้น ทำให้จังหวัดดังกล่าวมีขั้นตอนการดำเนินงานที่มากกว่าจังหวัดอื่น
2. มีผู้รับจ้างจำนวนน้อยรายที่สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่โครงการได้กำหนดไว้ เช่น การจำหน่ายสินค้า 60 วัน วันละ 6 –8 จุด และต้องย้ายจุดทุก ๆ 3 วัน เป็นต้น นอกจากนี้ จากการตรวจสอบหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคที่สุ่มตรวจสอบ พบว่า บางแห่งว่าจ้างผู้รับจ้างที่เคยดำเนินการจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าตามโครงการในจังหวัดอื่นมาก่อน
3. การจัดกิจกรรมจำหน่ายสินค้าช่วงเวลาเดียวกันทั้งประเทศและจากข้อจำกัดข้างต้น ทำให้หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคบางแห่งต้องประกาศประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (E–Bidding) มากกว่า 1 ครั้ง จำนวน 30 จังหวัด และ 41 จังหวัด ในงวดที่ 1 และ 2 ตามลำดับ โดยมีการ E –Bidding สูงสุด คือ 6 ครั้ง ซึ่งสาเหตุบางประการที่ต้อง E–Bidding มากกว่า 1ครั้ง เช่น ไม่มีผู้ยื่นซองเพื่อเสนอราคา หรือมีผู้ยื่นเสนอราคารายเดียว หรือมีผู้ชนะการ E –Bidding แล้วไม่มาทำสัญญา หรือมีอุทธรณ์ผลการ E –Bidding เป็นต้น
4. กระบวนการตรวจรับและการเบิกจ่ายเงินมีความล่าช้า เนื่องจากผู้รับจ้างจัดทำเอกสารประกอบการตรวจรับไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการปรับแก้ไขเอกสารการตรวจรับ โดยพบว่าหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคใช้ระยะเวลาในการตรวจรับและเบิกจ่ายเงินใน LOT 20 ให้กับผู้รับจ้างตั้งแต่ 1 – 3 เดือน โดยงวดที่ 1 และ 2 มีจังหวัดที่อยู่ระหว่างการตรวจรับและการเบิกจ่ายร้อยละ31.08และ 59.68 ตามลำดับ
2. การดำเนินงานโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 ไม่ทันต่อสถานการณ์
2.1 การดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 LOT 20 ไม่ทันต่อ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการในช่วงที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID –19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และสูงสุดประมาณวันละ 28,000 ราย ในเดือนมีนาคม –เมษายน 2565 และเริ่มมีแนวโน้มลดลงในช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 โดยหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณได้วางแผนการปฏิบัติงาน LOT 20 ในเดือนมิถุนายน –กันยายน 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อประมาณไม่เกินวันละ3,000 ราย
ทั้งนี้หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคเริ่มจำหน่ายสินค้างวดที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม 2565 นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยกเลิกให้โรค COVID–19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป แต่หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคเพิ่งจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายสินค้างวดที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2565 ดังนั้น การดำเนินโครงการจึงไม่ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 ได้
2.2 การดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 LOT 21 ไม่ทันต่อสถานการณ์ราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ระดับราคาสุกรมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 และสูงสุดในเดือนมกราคม 2565 ที่กิโลกรัมละ 215 บาท และราคาเริ่มมีแนวโน้มลดลงในช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ตรึงราคาหน้าฟาร์ม การห้ามส่งออกสุกรมีชีวิต
ประกอบกับการชะลอตัวของการบริโภคหลังจากเทศกาลในช่วงต้นปีจนราคาลดลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 165 บาท จากนั้นราคาสุกรเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – พฤศจิกายน 2565 ที่ราคาประมาณกิโลกรัมละ 200 บาท นอกจากนี้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 – เมษายน 2566 ระดับราคาเนื้อสุกรเริ่มมีแนวโน้มลดลง โดยในวันที่ 30 เมษายน 2566 อยู่ที่กิโลกรัมละ 162.50 บาท ทั้งนี้ LOT 21 เริ่มมีการจำหน่ายสินค้าในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน
ดังนั้น การดำเนินโครงการจึงไม่อาจช่วยลดภาระค่าครองชีพได้ทันต่อสถานการณ์ของราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับปกติได้
จากการดำเนินงานโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 ล่าช้าและไม่สามารถจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดให้ทันต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID–19 หรือ ในช่วงที่ราคาสินค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการลดภาระค่าครองชีพและบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID–19 ตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้ซึ่งอาจส่งผลถึงความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินงบประมาณงบกลางตามที่วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินก าหนดไว้ รวมถึงเกิดค่าเสียโอกาสในการนำงบประมาณไปใช้ในภารกิจที่มีความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่า โดยมีสาเหตุำคัญ การเสนอขออนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง เพื่อใช้ดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชนปี 2565 ไม่มีการวางแผนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณและหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคว่าการดำเนินโครงการสามารถทำได้หรือไม่ เพียงใด และควรทำในลักษณะใด เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ ขาดรายละเอียดการดำเนินงานโครงการอย่างชัดเจนในขั้นตอนที่สำคัญ ไม่มีการกำหนดวิธีปฏิบัติในการดำเนินโครงการในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน และไม่มีการกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติงาน
ในแต่ละขั้นตอนไว้ในแผนการปฏิบัติงาน
ในส่วนข้อเสนอแนะนั้น สตง.ระบุว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชนเกิดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการดำเนินโครงการเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณ พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. หากในอนาคตหน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณมีการดำเนินโครงการในลักษณะเช่นเดียวกับโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชนปี 2565ขอให้พิจารณาใช้กลไกและเครือข่ายที่มีอยู่เป็นกลไกขับเคลื่อนกิจกรรมต่าง ๆเช่น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐหรือจังหวัดเคลื่อนที่ ซึ่งอาจพิจารณาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐที่มีผลการประเมินอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และคัดเลือกขนาดที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานราชการที่ได้รับงบประมาณมีเครือข่ายร้านค้าดังกล่าวกระจายครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ
สำหรับกลไกการควบคุมร้านค้าธงฟ้าประชารัฐหรือการวางแนวปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการให้พิจารณาใช้หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคเป็นหลัก โดยให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทางปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการติดตาม กำกับดูแล ให้มาตรการต่าง ๆ ส่งถึงประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต่อไป นอกจากนี้ในการวางแผนกำหนดจุดจำหน่ายหรือปริมาณและชนิดของสินค้าอุปโภคบริโภคที่เหมาะสม ก็ควรใช้ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐในการช่วยจัดเก็บข้อมูลของแต่ละพื้นที่เป้าหมาย
เพื่อให้การวางแผนและการบริหารจัดการมีข้อมูลที่มากพอและสอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ให้มากที่สุด ทั้งนี้ควรมีการพัฒนาระบบการบันทึกข้อมูล การประมวลผลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย เพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการปฏิบัติงาน
2. ในการดำเนินโครงการควรมีการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานเจ้าภาพหลักและหน่วยปฏิบัติรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนในลักษณะ Two-way communicationเพื่อให้การดำเนินโครงการมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่และความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ มากกว่าการจัดสรรงบประมาณโดยกำหนดกรอบหลักเกณฑ์จากหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณซึ่งกำหนดให้ดำเนินการในรูปแบบเดียวกันทั้งประเทศ
3. ให้มีการถอดบทเรียนจากผลการดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ทั้งที่เอื้อและไม่เอื้อต่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ของโครงการ แล้วนำสิ่งที่ได้รับไปพัฒนาปรับปรุงกิจกรรม แนวทาง ขั้นตอน หลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ รวมถึงช่วงเวลาของการดำเนินงาน ตลอดจนกระบวนการ วิธีการปฏิบัติงานต่าง ๆ ให้เกิดความรอบคอบรัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการใช้จ่ายเงินแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ทั้งนี้ ในรายงานฉบับนี้ ยังมีการระบุถึงเรื่องความสอดคล้องของการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลางกับการดำเนินโครงการพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน ปี 2565 ด้วย โดยผู้ว่าฯ สตง.มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณพิจารณาทบทวนการขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลาง มาใช้ในภารกิจปกติที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้แล้ว โดยจะต้องเป็นไปตามความจำเป็นเร่งด่วน รวมถึงต้องจัดทำเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายงบกลางของคณะรัฐมนตรีที่รอบด้าน จัดทำเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมตามข้อสังเกตหรือข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นเอกสารสำคัญประกอบการพิจารณาอนุมัติงบกลาง
โดยการใช้จ่ายเงินงบประมาณรายจ่ายงบกลางต้องเป็นไปด้วยความจำเป็นเร่งด่วนและต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้งบกลางและไม่ควรนำงบกลางมาใช้ในลักษณะที่เป็นภารกิจประจำของหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณ อย่างไรก็ตาม หากหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมีความเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินกิจกรรมในการแก้ไขปัญหาลดภาระค่าครองชีพของประชาชนที่เกิดจากสภาวะไม่ปกติที่ไม่อาจคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าได้ ในการจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายงบกลาง อย่างน้อยต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นที่แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้นอย่างชัดเจน และเหตุผลที่ไม่อาจใช้งบประมาณปกติได้หรือไม่เพียงพอ
สตง. ยังย้ำด้วยว่า ที่สำคัญต้องแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานในกิจกรรมที่ดำเนินการอยู่เดิม ซึ่งจำเป็นต้องขยายขอบเขตหรือเพิ่มความถี่หรือจำเป็นต้องดำเนินกิจกรรม/โครงการเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ รวมถึงผลการประเมินโอกาสหรือความเสี่ยงในการดำเนินงาน กิจกรรมที่ต้องขอใช้งบกลางเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาไว้ด้วย
เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณจากทุกแหล่งเป็นไปอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลต่อไป