"...ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 และให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการรื้อถอนอาคาร ตามหนังสือสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ที่ 0306.3/สด.50 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ตามฟ้องแย้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากผู้ฟ้องคดีที่ 1และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ไม่รื้อถอนภายในกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อถอนทั้งหมดผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ไม่เห็นพ้องด้วย จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นคดีนี้..."
เป็นอีกหนึ่งคดีข้อพิพาทเรื่องการบังคับใช้กฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน ที่นำไปสู่การพิจารณาตัดสินคดีในชั้นศาล
กรณีเมื่อ 25 ส.ค. 2558 นายปกรณ์ ประเสริฐวงษ์ หัวหน้ากลุ่มสิ่งแวดล้อม รักษาการผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า มีหนังสือถึงผู้จัดการ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองร้านอาหารอินเลิฟ ให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ หลังได้รับการร้องเรียนจาก ผู้พักอาศัยอยู่ใกล้กับร้านอาหาร ‘In Love (อินเลิฟ)’ บริเวณท่าเรือเทเวศร์ ว่าร้านอาหารดังกล่าวก่อสร้างรุกล้ำแนวแม่น้ำเจ้าพระยา มีการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำเจ้าพระยา และส่งเสียงรบกวน ทำให้ได้รับความเดือดร้อน
ต่อมากรมเจ้าท่าได้ตรวจสอบพบว่า เอกสารการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำบริเวณดังกล่าว พล.อ.เฟื่องเฉลย อนิรุธรเทวา ได้เคยมาขออนุญาตทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ตามใบอนุญาตเลขที่ 64/2533 เมื่อ 30 ส.ค. 33 ทำการซ่อมแซมบ้าน หน้าโฉนดเลขที่ 7650 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขนาด 9.5 x 10.5 เมตร
แต่ปัจจุบันร้านอาหารได้มีการปรับปรุงจนมีขนาด 20.8 x 30 เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า แต่อย่างใดซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2535
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ เป็นผู้ดำเนินการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า จึงขอให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าวออกภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ และหากประสงค์จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่ง สามารถยื่นอุทธรณ์ต่อกรมเจ้าท่าภายใน 15 วัน
ก่อนที่เจ้าของร้านอาหารอินเลิฟฟ้องเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐ กรณีมีหนังสือคำสั่งรื้อร้านอาหารที่ล่วงล้ำลำน้ำเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวในเวลาต่อมา
หลังเวลาผ่านพ้นไปหลายปี
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ยืนตามศาลปกครองชั้นต้น ว่าการออกคำสั่งรื้อร้านอาหารที่ล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงคำพิพากาษาศาลปกครองสูงสุดาชั้นอุทธรณ์ ที่พิพากษายืนตามศาลปกครองชั้นต้นในคดีนี้ มานำเสนอ ณ ที่นี้
***********
คดีหมายเลขดำที่ อ.633-635/2562
คดีหมายเลขแดงที่ อ.1106-1108/2565
ผู้ฟ้องคดี
นางสุวัฒนา อนิรุทธเทวา ที่ 1
พลเอก เฟื่องเฉลย อนิรุทธเทวา ที่ 2
บริษัท ฮอร์สแลนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่ 3
ผู้ถูกฟ้องคดี
กรมเจ้าท่า ที่ 1
อธิบดีกรมเจ้าท่า ที่ 2
ผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ที่ 3
กระทรวงคมนาคม ที่ 4
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ออกจากสารบบ เนื่องจากผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงแก่ความตายโดยไม่มีทายาท ผู้จัดการมรดก ผู้ปกครองทรัพย์มรดก หรือผู้สืบสิทธิ์ของคู่กรณีผู้นั้น หรือผู้มีส่วนได้เสียมีคำขอเข้ามาแทนที่คู่กรณีผู้ถึงแก่ความตายภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่กรณีผู้นั้นถึงแก่ความตาย
คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดไม่จัดให้มีการนั่งพิจารณาคดี คู่กรณีไม่ได้ยื่นคำแถลงเป็นหนังสือ และไม่ได้แจ้งความประสงค์ให้ศาลจัดให้มีการนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์เป็นหนังสือของตุลาการผู้แถลงคดี
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาพยานหลักฐานในคำฟ้อง คำให้การ คำคัดค้าน คำให้การ คำให้การเพิ่มเติม และพยานหลักฐานอื่นจากการแสวงหาข้อเด็จจริงของศาลแล้ว
@ ที่มาคดีชั้นอุทธรณ์: คำฟ้องของผู้ฟ้องฟ้องศาลชั้นต้น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองอาคาร บ้านเลขที่ 2 พระตำหนักน้ำจันทบุรี และบ้านเลขที่ 2/1 เรือนรับรอง ซึ่งแยกมาจากบ้านเลขที่ 2 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมบ้านเลขที่ 2 มีคุณหญิงเฉลา อนิรุทธเทวา เป็นเจ้าของและปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 201 ตำบลบางขุนพรม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาได้แบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 3650 และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 โดยปลูกสร้างมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2515 ซึ่งประกอบด้วย บ้านพักอาศัย บ้านพักคนงาน สะพานทางเดิน และโรงจอดเรือ โดยผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นคำขออนุญาตต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างและสิ่งล่วงล้ำลำน้ำมาเป็นระยะ ดังนี้
ครั้งที่ 1 ได้รับอนุญาตตามใบอนุญาตเลขที่ 2498/2514 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2514 ให้ทำการซ่อมเขื่อนคอนกรีต ขนาด 2 x 70 เมตร
ครั้งที่ 2 ตามใบอนุญาต เลขที่ 17/2526 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2526 ให้ทำการซ่อมแซมบ้านหน้าโฉนดที่ดินเลขที่ 201 ตำบลวัดสามพระยา อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร ตามแผนที่แนบท้ายใบอนุญาตระบุว่า บ้านที่ซ่อมแซมเป็นบ้านเลขที่ 2 มีขอบเขตอนุญาตขนาด 8 x 9 เมตร
ครั้งที่ 3 ตามใบอนุญาต เลขที่ 64/2533 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 253ต ให้ทำการซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2 หน้าโฉนดที่ดิน เลขที่ 7650 ตำบลวัดสามพระยา อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร ตามแผนที่แนบท้ายใบอนุญาตระบุว่าบ้านที่ซ่อมแซมมีขอบเขตอนุญาตขนาด 9.50 x 10.50 เมตร ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มีเงื่อนไขว่าผู้ขออนุญาตจะต้องซ่อมแซมตามรูปแบบเดิมและใช้วัสดุเดิม
ครั้งที่ 4 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ยื่นคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำลงวันที่ 12 ธันวาคม 2538 ขออนุญาตซ่อมแซมบ้านพักอาศัย และสะพานทางเดิน 4 ตำแหน่ง ริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ผู้อำนวยการกองตรวจการขนส่งทางน้ำ เดิม) ได้มีหนังสือกองตรวจการขนส่งทางน้ำ ที่ คค .505/101 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2539 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 2 ให้พาเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบสถานที่ว่า ร้านช้อนเงินซ้อนทองอยู่นอกโฉนดที่ดินหรือไม่
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีที่ 2 โดยพันตรี เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา ได้มีหนังสือ ที่ 201/2539 ลงวันที่ 17 กันยายน 2539 แจ้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ว่า บ้านเลขที่ 2/1 ถนนกรุงเกษม แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เดิมใช้เป็นเรือนรับรองของผู้ติดตามและข้าราชบริพาร ต่อมาได้สร้างเรือนรับรองขึ้นใหม่ ใช้เป็นที่พักอาศัยของคนรับใช้ คนงาน และเป็นที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2533 ได้ทำการซ่อมแซมโดยรื้อฝาด้านหน้า ด้านข้าง ปรับปรุงพื้นชั้นบนชั้นล่างและได้แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นสถานที่ขายอาหาร แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้เป็นที่พักอาศัยเหมือนเดิมและขอรับรองว่าอาคารดังกล่าวได้ถูกปรับปรุงให้เป็นร้านอาหารซ้อนเงินซ้อนทองตั้งอยู่ในโฉนดที่ดินเลขที่ 14729
@ ที่มาคดีชั้นอุทธรณ์: ไม่พบการขออนุญาตซ่อมแซม
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีหนังสือกรมเจ้าท่า ที่ คค 0505/003173 ล่งวันที่ 30 เมษายน 2539 แจ้งผู้ฟ้องคดีที่ 2 ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นชอบให้ทำการซ่อมแซมได้ในขอบเขตที่ขออนุญาต เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม โดยให้ใช้วัสดุเดิมที่มีความคงทนในการซ่อมแซม แต่สิ่งก่อสร้างดังกล่าวยังมิได้ขออนุญาตให้เป็นสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย โดยมีเงื่อนไขในการอนุญาตให้ซ่อมแซมในครั้งดังกล่าว ดังนี้
(1) ซ่อมแซมตามแผนที่สังเขปแนบท้ายใบอนุญาต ประกอบด้วย
1. สะพานข้างพระตำหนัก ขอบเขตอนุญาตมีขนาด 24.50 x 5.50 เมตร
2. สะพาน ทางเดิน ขอบเขตอนุญาตมีขนาด 2.20 X 13.80 เมตร
3. เสาบ้านเลขที่ 2 โดยบ้านมีขนาด 20.40 x 10.70 เมตร
4. บ้านพักขนาด 19.50 x 11.40 เมตร หน้าโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 อำเภอพระนคร กรุงเทพมหานคร
(2) ห้ามทิ้งวัสดุก่อสร้างลงแม่น้ำสาธารณะ
(3) ให้จัดเตรียมภาชนะสำหรับรับรองวัสดุให้เพียงพอแล้วนำไปทิ้งบนบก แต่ปรากฎว่ามีผู้ร้องเรียนว่า ร้านอาหารรกล้ำลำน้ำบริเวณท่าเทียบเรือเทเวศน์ นายมานะ คงโพธิ์ เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญงาน ได้ออกตรวจสอบพื้นที่พบว่า อาคารร้านขายอาหารชื่ออินเลิฟ เดิมชื่อซ้อนเงินซ้อนทอง กำลังดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมบริเวณชั้น 2 ซึ่งอาคารเดิมขนาด 13 x 14 เมตร พื้นที่ 182 ตารางเมตร แล้วได้มีการขยายเป็น 20.80 x 50 เมตร พื้นที่ 624 ตารางเมตร ปัจจุบันลดขนาดเป็น 17.30 x 30 เมตร พื้นที่ 519 ตารางเมตร ซึ่งการดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมครั้งนี้ไม่ปรากฏการขอรับอนุญาต จึงให้ยุติการปรับปรุง รายละเอียดปรากฏตามหนังสือ
ส่วนการตรวจการเดินเรือ สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2554 หลังจากนั้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้มีการดำเนินการต่อไปอย่างใด คงปรากฏหลักฐานว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 มีหนังสือลงวันที่ 14 กันยายน 2547 ขออนุญาตซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2/ 1 อีกครั้ง และไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้รับอนุญาตซ่อมแซมตามคำขอดังกล่าว
@ ที่มาคดีชั้นอุทธรณ์: ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีหนังสือคำสั่งที่ 0306.3/สด.50 ให้รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าอาคารกับผู้ฟ้องคดีที่ 2 เช่าพื้นที่ในอาคารบ้านเลขที่ 2 และบ้านเลขที่ 2/1 เพื่อประกอบกิจการเป็นร้านค้าจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มชื่อร้านอินเลิฟ (ร้านช้อนเงินซ้อนทอง เดิม) มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2554 หลังจากนั้น สำนักราชเลขาธิการมีหนังสือ ที่ รล 0007.6/17534 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 และสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมมีบันทึกข้อความ ที่ คค 0207/รต.5/865 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตรวจสอบกรณีที่ นายติรวัฒน์ สุจริตกุล มีหนังสือถึงสำนักราชเลขาธิการร้องเรียนว่าผู้ร้องอาศัยอยู่ใกล้เคียงกับร้านอินเลิฟตั้งอยู่บริเวณท่าเรือเทเวศร์ ร้านอาหารดังกล่าวก่อสร้างรกล้ำแม่น้ำเจ้าพระยาทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำและส่งเสียงดังรบกวน ทำให้ได้รับความเดือดร้อน และมีความประสงค์ให้ดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงได้มีหนังสือสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ที่ 0306.3/สด.50 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558 แจ้งผู้จัดการ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองร้านอินเลิฟว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้ตรวจสอบเอกสารการขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแล้วพบว่าบริเวณดังกล่าว ผู้ฟ้องคดีที่ 2 เคยขออนุญาตทำการซ่อมแซมบ้านหน้าโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขนาด 9.50 x 10.5o เมตร และได้รับใบอนุญาตเลขที่ 64/2533เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2533
แต่ปัจจุบันร้านอาหารอินเลิฟมีการปรับปรุงซ่อมแซมจนมีขนาด 20.80 X 30 เมตร โดยมิได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงมีคำสั่งตามหนังสือสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำที่ 0306.37/สด.50 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ให้ผู้จัดการ เจ้าของ หรือผู้ครอบครองร้านอาหารอินเลิฟดำเนินการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำดังกล่าว ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้
@ ที่มาคดีชั้นอุทธรณ์: คำสั่ง 2 คำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงมาฟ้องศาลปกครอง
ผู้ฟ้องคดีที่ 3 โดยผู้ฟัองคดีที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 7 กันยายน 2558 อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ตามหนังสือกรมเจ้าท่า ที่ คค 0310.5/4490 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงได้นำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ดังกล่าว
แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟัองคดีที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ฟืองคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 รื้อถอนอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 118 ทวิวรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535
@ ที่มาคดีชั้นอุทธรณ์: คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 และให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการรื้อถอนอาคาร ตามหนังสือสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ที่ 0306.3/สด.50 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ตามฟ้องแย้งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากผู้ฟ้องคดีที่ 1และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ไม่รื้อถอนภายในกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อถอนทั้งหมด
@ ที่มาคดีชั้นอุทธรณ์: ผู้ฟ้องคดีที่ 1และ 3 ไม่เห็นพ้องด้วย จึงยื่นอุทธรณ์
ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ไม่เห็นพ้องด้วย จึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นต่อศาลปกครองสูงสุดเป็นคดีนี้
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว
@ ประเด็นต้องวินิจฉัย: 1.คำสั่งรื้อถอนและคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ในฐานะผู้จัดการ เจ้าของหรือผู้ครอบครองร้านอาหารอินเลิฟ รื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ขนาด 20.80 X 30 เมตรโดยไม่ได้รับอนุญาต แจ้งตามหนังสือสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ที่ 0306.9/สด.50 ลงวันที่ 25 สิ่งหาคม 2558 และคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 แจ้งตามหนังสือกรมเจ้าท่า ที่ คค 0310.5/4490 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ก่อนว่า ที่ตั้งของอาคารร้านอาหารอินเลิฟ ขนาด 20.80 x 30 เมตร ตั้งอยู่ในแนวเขตที่ดิน ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 ตำบลสามพระยา (บางขุนพรม) อำเภอพระนคร (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร หรือไม่
โดยที่ประเด็นนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 อุทธรณ์ว่า อาคารเลขที่ 2 พระตำหนักน้ำจันทบุรี อาคารเลขที่ 2/ 1 เรือนรับรอง (ที่ตั้งร้านอาหารอินเลิฟ) ได้มีการปลูกสร้างมาก่อนปี พ.ศ. 2515 และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 เนื่องจากที่ดินทั้งสองแปลงมีอาณาเขตติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาและพระตำหนักน้ำจันทบุรีที่ได้ก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 นั้น
เห็นว่า เมื่อศาลได้พิจารณาแผนที่สังเขปท้ายใบอนุญาตเลขที่ 2498/6514 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2514 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ซ่อมแซมเขื่อนคอนกรีต ปรากฏว่าแนวเขื่อนคอนกรีตที่ได้รับอนุญาตให้ซ่อมแซมอยู่หน้าโฉนดที่ดินเลขที่ 201 ที่ต่อมาได้แบ่งแยกเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 โดยด้านหน้าแนวเขื่อนคอนกรีตดังกล่าวเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านจำนวน 3 หลัง สะพานไม้เชื่อมต่อกับแนวเขื่อนเพื่อใช้เป็นทางเดินเข้าไปในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 201 และแผนที่สังเขปแนบท้ายใบอนุญาตเลขที่ 17/2526 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2506 ที่อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2 ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านเลขที่ 2/1 ขนาด 8 x 9 เมตร หน้าเขื่อนคอนกรีตซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา มีบ้านเลขที่ 2 จำนวน 3 หลัง ร้านอาหาร โรงเก็บเรือ ตำหนักน้ำ โป๊ะ และสะพานไม้ทางเดินเชื่อมต่อกับแนวเขื่อนคอนกรีตเข้าไปในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 (201) และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 เช่นกัน
อีกทั้ง ยังสอดคล้องกับแผนที่สังเขปแนบท้ายใบอนุญาตเลขที่ 64/2533 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2533 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2 ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านเลขที่ 2/1 จากเดิมขนาด 8 x 9 เมตร เป็นขนาด 9.50 x 10.50 เมตร แผนที่สังเขปประกอบคำร้องขอทำสิ่งถ่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ระบุวันที่ เดือนเมษายน 2535 ที่ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ขอซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2 และแผนที่สังเขปแนบท้ายใบอนุญาตตามหนังสือกรมเจ้าท่าที่ คค 0505/003173 ลงวันที่ 30 เมษายน 2539 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ซ่อมแซมพระตำหนักน้ำจันทบุรีและสะพานทางเดินรวม 4 ตำแหน่ง ซึ่งปรากฏว่าอาคารที่เป็นที่ตั้งร้านอาหารอินเลิฟอยู่ด้านหน้าแนวเขื่อนคอนกรีต
@ วิญญูชนทั่วไปย่อมหวงแหนทรัพย์สิน ย่อมต้องหาวิธีป้องกันการกัดเซาะทันที
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเขื่อนคอนกรีตได้มีการก่อสร้างมาก่อนปี พ.ศ. 2514 เพื่อเป็นการป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะเข้าไปในที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 โดยที่ตั้งของอาคารร้านอาหารอินเลิฟอยู่ด้านหน้าแนวเขื่อนคอนกรีตซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยามิได้ตั้งอยู่ในที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 (201) และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 แต่อย่างใด แม้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จะกล่าวอ้างว่า สิ่งก่อสร้างและตลิ่งถูกน้ำกัดเซาะที่ดินบางส่วนหายไปกว่า 50 เมตร ทำให้ดูเหมือนอาคารบ้านเลขที่ 2 และบ้านเลขที่ 2/1 ปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ นั้น
เห็นว่า โดยวิญญูชนทั่วไปย่อมหวงแหนทรัพย์สินของตนโดยเฉพาะที่ดินซึ่งมีราคาสูง หากถูกแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะ ทำให้ที่ดินสูญหายไปจริงตามที่กล่าวอ้าง ย่อมจะต้องหาวิธีป้องกันน้ำกัดเซาะ โดยมีการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำกัดเซาะตั้งแต่เริ่มแรกที่ดินของตนจมสูญหายจากน้ำกัดเซาะโดยทันที แต่เมื่อคดีนี้ได้มีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำกัดเซาะที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 ไว้เช่นกัน แต่เป็นการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตที่มีแนวเขตอยู่นอกอาคารที่เป็นที่ตั้งของร้านอาหารอินเลิฟ ที่ผู้ฟ้องคดีที่1และผู้ฟ้องคดีที่ 3 อุทธรณ์ว่าที่ตั้งของอาคารร้านอาหารอินเลิฟเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 7650 (201) และโฉนดที่ดินเลขที่ 14729 จึงไม่อาจรับฟังได้
@ ประเด็นต้องวินิจฉัย: 2.ร้านอาหารอินเลิฟ ได้รับอนุญาตให้มีการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือไม่
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ต่อไปว่า อาคารที่เป็นที่ตั้งของ ร้านอาหารอินเลิฟ ได้รับอนุญาตให้มีการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 หรือไม่
เห็นว่าพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 มาตรา 117 บัญญัติว่าภายในมณฑลกรุงเทพฯ ห้ามเป็นอันขาดมิให้ผู้ใดทำสิ่งใดที่เป็นการล่วงล้ำในลำแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า หรือจากเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ มาตรา 117 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำ ในน้ำ และใต้น้ำ ของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทยหรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
วรรคสอง บัญญัติว่า หลักเกณฑ์และวิธีการในการอนุญาตให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยกฎกระทรวงดังกล่าวจะต้องระบุลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ไว้ให้ชัดแจ้งพร้อมทั้งระยะเวลาที่จะต้องพิจารณาอนุญาตให้แล้วเสร็จด้วยมาตรา 118 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 117 หรือผู้รับอนุญาตตามมาตรา 117 ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต ให้เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นโดยถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้เจ้าท่าปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นและจะห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นทั้งหมด หรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือแก้ไขเสร็จด้วยก็ได้ วรรคสอง บัญญัติว่า ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และเจ้าท่าได้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นครบสิบห้าวันแล้ว ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น
ถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการผ่าฝืนมาตรา 117 จริง ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้รื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่รื้อถอนตามกำหนดเวลาในคำสั่งศาล หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน และกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ข้อ 4 กำหนดว่า ลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ มีดังต่อไปนี้ (1) ท่าเทียบเรือ... (2) สะพานปรับระดับและโป๊ะเทียบเรือ... (3) สะพานข้ามแม่น้ำหรือสะพานข้ามคลอง... (4) ท่อ ข้อ 5 กำหนดว่า เจ้าท่า หรือสายเคเบิล...(5) เขื่อนกันน้ำเซาะ (6) คานเรือ (7) โรงสูบน้ำ... อาจอนุญาตให้ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำที่ไม่มีลักษณะตามข้อกำหนดในข้อ 4 เป็นการเฉพาะรายได้
และเมื่อเจ้าท่าได้อนุญาตแล้วให้ประกาศลักษณะของอาคารหรือลักษณะของการล่วงล้ำลำแม่น้ำนั้นในราชกิจจานุเบกษา และให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ในการอนุญาตต่อไปได้ จากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว เมื่อพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2456 เป็นต้นไป
การที่จะทำการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยมิได้มีการกำหนดลักษณะของอาคาร และการล่วงล้ำที่จะพึงขออนุญาตแต่อย่างใดจนเมื่อต่อมาได้มีการแก้ไขมาตรา 117 โดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 และได้มีการออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 จึงได้มีการกำหนดลักษณะของอาคารและการล่วงล้ำที่พึงอนุญาตได้ไว้ในข้อ 4 และข้อ 5 ของกฎกระทรวงดังกล่าว
นอกจากนั้น ยังให้อำนาจเจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่มีการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปในน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต รื้อถอนอาคารภายในระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งหากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ปฏิบัติตามคำสั่งให้รื้อถอน ยังให้อำนาจเจ้าท่าร้องขอต่อศาล เพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารอีกด้วย
เมื่อประเด็นนี้ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 อุทธรณ์ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้ขออนุญาตปลูกสร้าง ซ่อมแซมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกใบอนุญาต ให้ทำการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2515 เรื่อยมาหลายครั้งจนครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ. 2539 การออกใบอนุญาตดังกล่าว จึงมีผลตามกฎหมายแล้ว นั้น
เห็นว่า เมื่อได้พิจารณาเอกสารในสำนวนคดีนี้ทั้งหมดแล้ว ปรากฏหลักฐานว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นขออนุญาตต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นลำดับ ดังนี้
ครั้งที่ 1 ตามใบอนุญาตเลขที่ 2498/2514 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2514 อนุญาตให้ซ่อมเขื่อนคอนกรีต
ครั้งที่ 2 ตามใบอนุญาตเลขที่ 17/2526 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2526 อนุญาตให้ซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2 ปัจจุบันเป็นบ้านเลขที่ 2/1 ขนาด 8 x 9 เมตร
ครั้งที่ 3 ตามใบอนุญาตเลขที่ 64/2533 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2533 อนุญาตให้ซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2/ 1 ขนาด 9.50 x 10.50 เมตร
ครั้งที่ 4 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ยื่นขออนุญาตซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2 ตามคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ไม่ระบุวันที่ เดือนเมษายน 2535 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2
ครั้งที่ 5 ได้รับอนุญาตซ่อมแซมบ้านพักอาศัย เลขที่ 2 (พระตำหนักน้ำจันทบุรี) และสะพานทางเดิน 4 ตำแหน่ง ตามหนังสือกรมเจ้าท่า ที่ คค 0505/003173 ลงวันที่ 30 เมษายน 2539
ครั้งที่ 6 ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ยื่นคำขอรับอนุญาตซ่อมแซมบ้านเลขที่ 2/1 อีกครั้ง ตามหนังสือของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ลงวันที่ 14 กันยายน 2547 แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้อนุญาตตามคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ 2 แต่อย่างใด
@ การก่อสร้างอาคารร้านอาหารอินเลิฟเป็นการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
จากพยานหลักฐานดังกล่าว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นขออนุญาตซ่อมแซมอาคารบ้านเลขที่ 2/1 ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านอาหารอินเลิฟ รวม 2 ครั้ง ตามใบอนุญาตเลขที่ 17/2526 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2526 อนุญาตให้ซ่อมแซมอาคาร ขนาด 8 x 9 เมตร และครั้งที่ 2 ตามใบอนุญาตเลขที่ 64/2533 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2533 อนุญาตให้ซ่อมแซมอาคาร ขนาด 9.50 X 10.50 เมตร เท่านั้น แต่อาคารที่เป็นที่ตั้งร้านอาหารอินเลิฟมีขนาด 20.80 x 30 เมตร กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าใบอนุญาตเลขที่ 17/2526 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2526 และใบอนุญาตเลขที่ 64/2533 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2533 เป็นการอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ก่อสร้างต่อเติมอาคารร้านอาหารอินเลิฟ ขนาด 20.80 x 3o เมตร แต่อย่างใด ซึ่งสอดคล้องกับการที่นายมานะ คงโพธิ์ เจ้าพนักงานขนส่งชำนาญงาน ที่ได้ออกไปตรวจสอบอาคารพิพาท พบว่าได้มีการก่อสร้างอาคารร้านอาหารอินเลิฟล่วงล้ำลำน้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การก่อสร้างอาคารร้านอาหารอินเลิฟ ขนาด 20.40 X 30 เมตร ดังกล่าว จึงเป็นการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามมาตรา 117 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
@ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 3 อุทธรณ์ว่า ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างมาก่อนปี พ.ศ. 2515 ไม่อาจรับฟังได้
ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 อุทธรณ์ว่า ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างมาก่อนปี พ.ศ. 2515 นั้น เห็นว่า อาคารร้านอาหารอินเลิฟ (ช้อนเงินช้อนทอง) ในขณะที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ออกใบอนุญาตเลขที่ 2498/2514 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2514 ตามแผนที่สังเขปแนบท้ายใบอนุญาตดังกล่าว ยังไม่ปรากฏว่ามีร้านอาหารบริเวณใกล้กับอาคารเลขที่ 2 ปัจจุบันเลขที่ 2/1 แต่อย่างใด อาคารร้านอาหารอินเลิฟหรือร้านอาหารช้อนเงินซ้อนทองเดิมเพิ่งปรากฏตามแผนที่สังเขปแนบใบอนุญาตเลขที่ 17/2526 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2526 กรณีจึงฟังได้ว่า อาคารร้านอาหารอินเลิฟหรือร้านช้อนเงินช้อนทองเพิ่งมีการก่อสร้างภายหลังปี พ.ศ. 2514 ซึ่งยังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ก่อสร้างอาคารร้านอาหารอินเลิฟ หรือร้านช้อนเงินช้อนทอง ตามที่ผู้ฟ้องคดีอุทธรณ์แต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่อาจรับฟังได้
@ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และ 3 อุทธรณ์ว่า ศาลปกครองชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่อาจรับฟังได้
สำหรับในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 อุทธรณ์ว่า ศาลปกครองชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เนื่องจากการออกคำสั่งดังกล่าวมีสาเหตุมาจากสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือ ที่ รล 0007.6/17534 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2558 ถึงสำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมขอให้ดำเนินการตรวจสอบ กรณีที่มีการร้องเรียนว่า ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างรกล้ำลำน้ำเจ้าพระยา และทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำเป็นเหตุผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งที่พิพาทในคดีอย่างรวดเร็ว จึงเห็นได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ถูกแทรกแซงกระบวนการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 ทำให้การออกคำสั่งให้รื้อถอนอาคารในคดีนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เป็นธรรมกับผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 นั้น
เห็นว่า ผู้ถูกฟัองคดีทั้งสี่ เป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยในการควบคุมดูแลมีให้บุคคลใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำเข้าไปเหนือน้ำในน้ำ และใต้น้ำของแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ อันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเลภายในน่านน้ำไทย หรือบนชายหาดของทะเลดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า ซึ่งอำนาจหน้าที่ดังกล่าวเป็นอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ดังนั้น แม้กรณีการปลูกสร้างอาคารถ่วงล้ำลำน้ำของผู้ฟ้องคดีที่ 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการเดินเรือในน่านน้ำไทยจะมีการร้องเรียนหรือไม่ ยังคงเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่จะต้องดำเนินการตามกระบวนการและชั้นตอนที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ การที่ศาลปกครองชั้นต้นมิได้วินิจฉัยตามข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ก็ไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยของศาลเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด อุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 จึงไม่อาจรับฟังได้เช่นกัน
@ คำสั่งตามหนังสือที่ 0306.3/สด.50 ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า อาคารที่ตั้งร้านอาหารอินเลิฟได้ก่อสร้างต่อเติมล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ตามมาตรา 117 แห่งพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2535 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมีอำนาจตามมาตรา 118 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะที่พิพาท มีคำสั่งเป็นหนังสือ แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีคำสั่งตามหนังสือสำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ที่ 0306.3/สด.50 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้จัดการ เจ้าของหรือผู้ครอบครองร้านอาหารอินเลิฟดำเนินการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ (ร้านอาหารอินเลิฟ) ออกไปภายใน 30 วัน จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด และชอบด้วยกฎหมายแล้ว
@ คำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ พร้อมกับมีหนังสือกรมเจ้าท่า ที่ คค 0301.5/5490 เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พิจารณาอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 โดยอาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเดียวกันแล้ว มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ พร้อมกับมีหนังสือกรมเจ้าท่า ที่ คค 0301.5/5490 ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ทราบ จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
@ พิพากษายืน
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 และให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ดำเนินการรื้อถอนอาคารตามหนังสือ ที่ 0306.3/สด.50 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2558 ตามฟ้องแย้ง ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด หากผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 ไม่รื้อถอนภายในกำหนด ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรื้อถอนทั้งหมด นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
*************
จากบทสรุปคำพิพากษาดังกล่าว นับเป็นการปิดฉากคดีข้อพิพาทเรื่องการบังคับใช้กฎหมายระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชน กรณีร้าน'อินเลิฟ' รุกแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยืดเยื้อมายาวนานหลายปี และน่าจะเป็นกรณีศึกษาสำคัญสำหรับภาคเอกชน ในการลงทุนทำธุรกิจประเภทนี้ ให้ระมัดระวังรอบคอบมากขึ้นต่อไปในอนาคตอีกหนึ่งกรณี
อ่านเรื่องประกอบ :
- สน.บวรฯ เรียกผู้กล่าวหาคดีร้าน'อินเลิฟ'รุกเจ้าพระยาสอบเพิ่ม-เตรียมวัดพื้นที่ขอโฉนด
- 'เจ้าท่า'แจ้งจับร้านดัง'อินเลิฟ'รุกเจ้าพระยา-เมียอดีตผู้สมัคร ส.ส.ปชป.เจ้าของ
- 'เจ้าท่า'สั่งรื้อใน 30 วัน!'อิน เลิฟ'ร้านอาหารดังรุกแม่น้ำเจ้าพระยา-เจ้าของยังไม่แจง
- แกะรอยโฉนดที่ดินร้านอาหาร'อินเลิฟ’ ก่อนกรมเจ้าท่า สั่งรื้อปมรุกล้ำเจ้าพระยา
- ชัด ๆ โฉนดที่ดินปมร้านอาหารดัง ‘อินเลิฟ’ รุก-ไม่รุกแม่น้ำเจ้าพระยา?