รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นถูกออกแบบโดยตรงจากรัฐบาลทหาร ซึ่งเข้าปกครองประเทศตั้งแต่การรัฐประหารเมืองปี 2557 จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งในปี 2562 รายละเอียดในรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งพบว่าถูกเขียนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มรัฐประหารอนุรักษ์นิยมและผู้สนับสนุนของพวกเขา
สถานการณ์ทางการเมืองของไทย จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจนว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ท่ามกลางความไม่ชัดเจนตอนนี้ ข่าวการเมืองที่เกิดขึ้นแทบจะทุกๆวันก็เป็นข่าวเกี่ยวกับความน่าจะเป็นของเหล่าบรรดาพรรคการเมืองต่างๆที่พยายามจะจับมือกันเพื่อให้มีเสียงสนับสนุนพอที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองนั้นๆจะได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกรัฐมนตรี
ล่าสุดนายจาค็อบ ริคส์ รองศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ในคณะสังคมศาสตร์ที่ มหาวิทยาลัย Singapore Management University ประเทศสิงคโปร์ ก็ได้มีการเขียนวิเคราะห์ถึงฉากทัศน์ความน่าจะเป็นในอนาคตของการเมืองไทยเช่นกัน พร้อมทั้งระบุว่าสาเหตุของปัญหาทั้งหมดนั้นมาจากกลไกลของรัฐธรรมนูญปี 2560 ในหัวข้อรายงานว่า 'เมื่อรัฐธรรมนูญไทยทำหน้าที่ตามที่ตั้งใจไว้ เพื่อทำลายผลลัพของประชาธิปไตย'
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานนี้มานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 สองเดือนหลังจากที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง ในฐานะพรรคที่มีจำนวน สส.มากที่สุด ปรากฏว่าในวันนั้น ญัตติการโหวตนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกลเพื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการเสนอญัตติครั้งที่ 2 กลับถูกตีตกไปโดยรัฐสภา ส่งผลทำให้นายพิธาหมดโอกาสในการเป็นนายกรัฐมนตรีไปโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้ก่อนหน้าญัตติจะถูกตีตก ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ของนายพิธาในฐานะ สส. ทำให้รัฐสภาได้มีการถกเถียงกันว่าสมควรจะลงมติให้นายพิธาหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจที่การลงคะแนนของรัฐสภา ซึ่งมี สว. ที่ถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารนั้นจะไม่เห็นชอบและมีท่าทีต่อต้านนายพิธา
ก่อนหน้าความเคลื่อนไหวดังกล่าวของรัฐสภา ก็มีการคาดการณ์กันถึงเหตุการณ์เหล่านี้กันเอาไว้บ้างแล้ว โดยนักวิเคราะห์มองว่ามีกระบวนการกันไม่ให้นายพิธาเข้าสู่การเมือง อย่างไรก็ตาม นี่ก็ถือเป็นการเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทย เพื่อที่จะเพิ่มขีดความสามารถของตัวละครฝ่ายอนุรักษ์นิยมเป็นอย่างยิ่ง
รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นถูกออกแบบโดยตรงจากรัฐบาลทหาร ซึ่งเข้าปกครองประเทศตั้งแต่การรัฐประหารเมืองปี 2557 จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งในปี 2562 รายละเอียดในรัฐธรรมนูญตอนหนึ่งพบว่าถูกเขียนไว้เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามามีอำนาจ โดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากกลุ่มรัฐประหารอนุรักษ์นิยมและผู้สนับสนุนของพวกเขา
ข่าวปัญหาเดดล็อกทางการเมืองไทยที่ถูกรายงานผ่านสื่อสิงคโปร์ (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
บทบาทของวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารในการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีทำให้การเกณฑ์เสียงข้างมากต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากเดิมที่ให้แค่เสียง 251 เสียงจากทั้งหมด 500 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร ก็ต้องเพิ่มเป็น 376 เสียงในการประชุมร่วมกันของทั้งสองสภา หรือก็คือหมายความว่าวุฒิสภามีอำนาจในการวีโต้การเลือกนายกรัฐมนตรีได้นั่นเอง
การตีตกญัตติเสนอชื่อนายพิธายังทำให้เกิดผลกระทบที่ตามมาก็คือว่าเรื่องนี้ต้องถูกนำไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หมายความว่ารัฐสภาก็ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไปก่อน ถึงจะสามารถเดินหน้าการเลือกนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวลที่ว่ามานี้ ส่งผลทำให้เกิดการคาดเดาฉากทัศน์ทางการเมืองในอนาคตอยู่หลายฉากด้วยกัน มีรายละเอียดดังนี้
ฉากทัศน์แรก หมายความว่าพรรคการเมืองที่เสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจะมีเดิมพันเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างยิ่ง โดยพรรคจะต้องทำทุกทางเพื่อให้แคนดิเดตของตัวเองได้รับการเลือกตั้ง เพราะว่าอาจจะไม่มีโอกาสที่สองแล้วในการเจรจาต่อรอง โดยกติกาของรัฐธรรมนูญได้จำกัดผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอาไว้ให้มาจากแค่พรรคที่มี สส. ไม่ต่ำกว่า 25 ที่นั่งเท่านั้น โดยตอนนี้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อที่ปรากฏต่อสาธารณะล้วนแล้วแต่มาจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย
เป็นที่รับทราบกันแล้วว่าพรรคก้าวไกลได้หลบฉากออกไป เปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยได้มีโอกาสในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ตอนนี้พรรคเพื่อไทยก็เผชิญกับการเลือกที่ยากลำบากในกรณีว่าจะเสนอใครว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีดี ซึ่งสื่อต่างรายงานข่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าน่าจะเป็นนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ไม่ได้เป็น สส.
มีความเสี่ยงค่อนข้างมากว่าความพยายามจะเสนอชื่อในแต่ละครั้งอาจจะประสบความล้มเหลว และความเสี่ยงก็เพิ่มขึ้นหลังจากที่พรรคเพื่อไทยได้ประกาศว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่มีพรรคก้าวไกลเป็นแนวร่วมด้วย เพราะความคิดที่ว่า สว.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับทั้งพรรคและนโยบายของพรรคก้าวไกลอย่างชัดเจน
สัปดาห์ที่ผ่านมา ความตีงเครียดระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้น ดังนั้นการจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลผสมในอนาคตนั้นอาจจะเหมือนเป็นแค่ทางเลือกในเชิงกลยุทธ์เท่านั้น ทว่าการกลับมามีท่าทีต่อต้านพรรคก้าวไกลดูเหมือนว่าจะไม่เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะสำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งในตอนแรกพวกเขาเฉลิมฉลองกับชัยชนะของพรรคที่มีเหนือพรรคการเมืองฝ่ายทหารอย่างถล่มทลาย แต่ต่อมาตอนนี้พวกเขากลับรู้สึกโกรธแค้นและสิ้นหวังมากขึ้นเมื่อได้เห็นการต่อสู้เพื่อจัดตั้งรัฐบาลและหลายคนรู้สึกว่าตัวเองถูกหักหลังและถูกทรยศ
การที่พรรคเพื่อไทยต้องต่อสู้ต่อไปโดยไม่มี 151 เสียงของพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาลนั้นส่งผลทำให้ทางเลือกพรรคเพื่อไทยมีจำกัดมาก และถ้าหากพรรคเพื่อไทยได้ไปจับมือกับพรรคที่มีจุดยืนเอียงไปทางกองทัพเพื่อแลกกับการได้ที่นั่งนายกรัฐมนตรี ก็มีความเป็นไปได้สูงมากว่าพรรคเพื่อไทยจะสูญเสียคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไปโดยถาวร แต่ถ้าหากไม่ไปจับมือ ก็ไม่แน่ใจว่าพรรคเพื่อไทยจะสามารถชนะเสียงของ สว.ได้เป็นจำนวนเพียงพอจะจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ ดังนั้นเพื่อไทยก็อยู่ที่จุดที่เคลื่อนไหวลำบากเช่นกัน
ฉากทัศน์ที่สอง คือเรื่องอำนาจการต่อรองกับกลุ่ม สว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะต้องเพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นที่ยอมรับกันโดยกว้างขวางแล้วว่า สว.จะขัดขวางและต่อต้านแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดก็ตาม ที่ยึดมั่นในค่านิยมเสรีนิยม หรือว่าพยายามจะบ่อนทำลายตัวละครทางเองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อาทิ ทหารที่อยู่ในวงการการเมือง
กรณีการจะส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดิมซ้ำๆเข้าสู่รัฐสภา ไม่ว่าแคนดิเดตคนนั้นจะมาจากพรรคเพื่อไทยหรือว่าพรรคก้าวไกลก็ตาม อาจจะทำให้ตอกย้ำให้เห็นว่าวุฒิสภานั้นแท้จริงแล้วทีความนิยมชมชอบเป็นอย่างไร รวมไปถึงอาจจะเพิ่มโอกาสในการเจรจากับผู้ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจถูกชักชวนให้สนับสนุนเป็นแนวร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล
ผู้เชี่ยวชาญให้สัมภาษณ์กับสื่อสิงคโปร์คาดว่าอาจจะมีความไม่สงบเกิดขึ้นหลังจากที่พรรคเพื่อไทยขับพรรคก้าวไกลพ้นจากการร่วมรัฐบาล (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
และยังไม่นับว่าการเสนอชื่อซ้ำนั้นอาจจะเพิ่มโอกาสที่ประชาชนจะดำเนินการกดดันต่อ สว.ให้มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการที่วุฒิสภาได้ผลักดันมติห้ามไม่ให้มีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีซ้ำ ก็ถือว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่วุฒิสภาจะทำให้ตัวเองอยู่เหนือความรับผิดชอบในเรื่องนี้
ฉากทัศน์สุดท้ายที่เป็นไปได้ในอนาคตสำหรับการตัดสินใจในระดับรัฐสภาก็คือว่า การโหวตนายกรัฐมนตรีแบบครั้งเดียวจบ แต่โหวตให้กับพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยค่อนข้างจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าพันธมิตรที่ว่านี้ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตจากพรคพลังประชารัฐ ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนจาก สว.ส่วนใหญ่ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
อนึ่งถ้าหากว่า พล.อ.ประวิตรต้องจัดตั้งรัฐบาลโดยปราศจากผู้เป็นแนวร่วมของพรรคก้าวไกล การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นดูค่อนข้างจะเป็นไปได้ ด้วยเสียงสนับสนุน 188 เสียง ผนวกกับเสียงจากวุฒิสภา แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลเสียงข้างน้อยจะประสบปัญหาแน่นอนในเรื่องของการออกกฎหมาย
ดังนั้นการเป็นพันธมิตรกับ สว.ที่ได้รับการแต่งตั้งมา ก็ถือว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับพรรคการเมืองที่ได้ส่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลงสนาม
คำถามก็คือว่าแล้ว พล.อ.ประวิตรจะเปิดตัวลงสู่สนามการเป็นแคนดิเดตหรือไม่ หรือว่า พล.อ.ประวิตรกำลังรออะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งสิ่งที่รออยู่ก็น่าจะเป็นไปได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่พรรคเพื่อไทยล้มเหลวในการผลักดันแคนดิเดตของตัวเองทั้งสามรายให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ไม่ว่าฉากทัศน์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็ต้องยอมรับว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดความสามารถของนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมานั้น สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มความสามารถตามที่ได้ถูกร่างเอาไว้
เรียบเรียงจาก:https://www.eastasiaforum.org/2023/08/05/thailands-constitution-works-as-intended-to-frustrate-democratic-outcomes/