ต้องยอมรับว่าสิ่งที่กำหนดรูปแบบและการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงความต่อเนื่องของการเมืองไทยนั้นจริงๆประกอบด้วยกำลังสำคัญสามส่วนด้วยกันได้แก่ 1.การจัดตั้งของฝ่ายผู้ทรงอำนาจที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการจะรักษาทั้งอำนาจและความมีเอกสิทธิ์ของตัวเอง 2.การที่ประชาชนหมู่มากของไทยต้องการแสวงหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และ 3.ปัจจัยสภาพแวดล้อมจากนานาชาติ ทั้งสามกำลังสำคัญนี้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยขึ้นมา
สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทย ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีข่าวการต่อรองทางการเมืองปรากฎให้เห็นขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ โดยมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการพูดคุยกับพรรคต่างๆ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ที่ผ่านมา นายเกรกอรี เรย์มอนด์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่วิทยาลัยคอรัลเบลล์ ว่าด้วยกิจการเอเชียแปซิฟิก (Coral Bell School of Asia Pacific Affairs) ที่มหาวิทยาลัย Australian National University ซึ่งวิทยาลัยที่ได้ทําการวิจัยการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้ออกมาระบุว่าภาพการต่อรองทางการเมืองแบบนี้ อาจหมายถึงการที่ประชาธิปไตยเสื่อมถอยได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า “จะมีประโยชน์อะไร ที่จะมีการเลือกตั้งขึ้นมา”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
หลังจากการเลือกตั้งของประเทศไทย ก็มีความหวังว่านี่จะเป็นช่วงเวลาแห่งเสรีนิยมที่จะเบ่งบานในประเทศ แต่ความหวังว่าจะได้มีรัฐบาลปฏิรูปก็จางหายไปโดยรวดเร็ว
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคอนุรักษ์นิยมที่มีที่นั่ง สส.มากที่สุดเป็นอันดับสามได้ออกมาประกาศว่าจะไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ สส.อันดับสอง ถ้าหากพรรคเพื่อไทยยังคงมีความร่วมมือกับพรรคก้าวไกลที่ได้รับที่นั่งมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ค.
ต้องยอมรับว่าพรรคร่วม 8 พรรคนั้นมีปัญหาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หลังศาลรัฐธรรมนูญประกาศรับคำร้องขอให้วินิจฉัยนายพิธา ลิ้มเจิรญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในประเด็นที่นายพิธามีหุ้นสื่อจากการได้รับมรดก ในบริษัทสื่อที่ไม่ได้ประกอบกิจการแล้ว ส่งผลทำให้นายพิธาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
นี่ทำให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยบางคนอาจจะมองไปที่ผลสัมฤทธิ์การที่ตัวเองได้เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลมากกว่าการจะมายึดกับนโยบายปฏิรูปของพรรคก้าวไกล และพวกเขาอาจจะไม่กังวลเท่าไรนักหากจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบตามมาเมื่อต้องไปจับขั้วกับกลุ่มพรรคการเมืองที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพเพื่อจะจัดตั้งรัฐบาล
โดยในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านี้ วุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็เป็นผู้ขัดขวางนายพิธาไม่ให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งหนึ่งแล้วแม้ว่าพรรรคของเขารวมไปถึงพรรคร่วมอื่นๆจะสามารถหาเสียงได้ถึง 313 เสียงจากทั้งหมด 500 เสียงในสภาผู้แทนราษฎรก็ตาม
สำนักข่าว WION ของอินเดียในหัวข้อข่าวว่าวิกฤติการณ์หลังการเลือกตั้งของไทยที่มีความยุ่งยากมากขึ้น (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ความฝันของฝ่ายประชาธิปไตยค่อยๆตายลงช้าๆ
โดยที่ผ่านมามีความหวังว่าหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. จะเป็นช่วงเวลาแห่งเสรีนิยมสำหรับประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแท้จริง ด้วยภาพของแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหน้าใหม่ ฝ่ายเสรีนิยม ในช่วงเวลาที่คนไทยเริ่มเบื่อหน่ายกับการปกครองของเหล่าบรรดานายพล
อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ดูเหมือนว่าจะถูกสกัดโดยฝ่ายปกครองอนุรักษ์นิยมของประเทศไทย
นี่อาจจะทำให้ถึงเวลาแล้วที่ผู้สังเกตการณ์ต้องตั้งคำถามว่า “จะมีประโยชน์อะไรที่จะให้มีการเลือกตั้งในประเทศไทย”
ย้อนไปในสมัยหลังสงครามเย็น ประเทศไทยได้พบกับช่วงเวลาที่เป็นประชาธิปไตยยาวนานที่สุดเป็นระยะเวลาถึง 14 ปี นับตั้งแต่ปี 2535-2549 ทว่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็มีความอยู่รอดยากขึ้น
รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ได้รับการเลือกตั้งด้วยชัยชนะอย่างท่วมท้น ในปี 2548 ด้วยนโยบายเอาใจชนบทและผู้ที่ด้อยโอกาสของประเทศไทย แต่หลังจากนั้นก็กลับถูกรัฐประหารลงด้วยเหตุผลว่ามีกรณีไปขัดแย้งกับการแต่งตั้งในกองทัพ รวมไปถึงการสร้างภาพว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดของคนไทย
ย้อนไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยนับตั้งแต่เปลี่ยนการปกครองในปี พ.ศ.2475 จากระบอบสมบูรณายาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ก็พบว่ามีเหตุรัฐประหารไปแล้ว 13 ครั้ง มีรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ และมีการปกครองโดยกองทัพหรือพรรคตัวแทนเป็นเวลาอย่างน้อย 7 ปี ในทุกๆ 10 ปี
นี่ไม่ได้หมายความว่าระบอบประชาธิปไตยในไทยไม่ได้มีความคืบหน้าแต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านมา ระดับการเป็นเผด็จการทหารของประเทศไทยนั้นยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจะเกิดขึ้นยาก เนื่องจากการมีส่วนร่วมทางระบอบประชาธิปไตย ของประชาชนนั้นเพิ่มสูงขึ้น
รวมไปถึงการที่พรรคการเมืองอย่างพรรคของนายทักษิณที่มีนโยบาย อาทิ การดูแลสุขภาพฟรี การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายเหล่านี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเป็นนโยบายที่ดีและไม่มีการถกเถียงกันอีกต่อไป
ต้องยอมรับว่าสิ่งที่กำหนดรูปแบบและการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงความต่อเนื่องของการเมืองไทยนั้นจริงๆประกอบด้วยกำลังสำคัญสามส่วนด้วยกันได้แก่ 1.การจัดตั้งของฝ่ายผู้ทรงอำนาจที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องการจะรักษาทั้งอำนาจและความมีเอกสิทธิ์ของตัวเอง 2.การที่ประชาชนหมู่มากของไทยต้องการแสวงหาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และ 3.ปัจจัยสภาพแวดล้อมจากนานาชาติ ทั้งสามกำลังสำคัญนี้เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยขึ้นมา
สื่อเยอรมนีตั้งคำถามว่าระบบการเลือกตั้งของไทยเอื้อประโยชน์ให้กับ พล.องประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีหรือไม่ (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว DW)
เริ่มกันที่ประการที่หนึ่ง ว่าด้วยสภาพแวดล้อมจากภายนอกประเทศไทย ซึ่งก็คืออำนาจของสหรัฐอเมริกาได้ลดน้อยถอยลงเป็นระยะเวลานับสิบปีหลังจากสิ้นสุดสงครามเย็น และแน่นอนว่า ภาพพจน์ แบรนด์ของการสนับสนุนประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมของสหรัฐฯ ก็ดูจะลดน้อยถอยลงด้วยเช่นกัน
ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตลาดจีนที่มีลักษณะเป็นลิทธิเลนินได้นำเสนอรูปแบบทางเลือกอื่นๆ ส่งผลทำให้ประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้นมีความเป็นเสรีนิยมและประชาธิปไตยน้อยลงด้วยเช่นกัน แม้ว่าอินโดนีเซียก้าวหน้าในเรื่องนี้ก็ตาม
ประการที่สอง ฝ่ายผู้ทรงอำนาจที่เป็นอนุรักษ์นิยม นั้นเริ่มมีการปรับตัวเข้าหาประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้ว่ามีการใช้วิธีการทางตุลาการในการจัดการกับการเคลื่อนไหวของอีกฝ่าย มากกว่าที่จะใช้การรัฐประหาร
ที่ผ่านมาทางด้านของนายลี มอร์เกนเบสเซอร์ นักวิทยาศาสตร์ว่าด้วยการเมืองจากออสเตรเลียได้เคยเขียนบทความของแนวคิดของเผด็จการที่มีความซับซ้อน ในเนื้อหาระบุว่าทำไมรัฐเผด็จการต่างๆถึงมีการเลือกตั้ง สาระสำคัญก็เพื่อจะทำให้นานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนตะวันตกสามารถจะตัดสินใจต่อได้ว่าพวกเขาจะดำเนินธุรกิจกับประเทศนั้นต่อไปหรือไม่
โดยรัฐบาลในต่างประเทศหลายๆรัฐบาล พวกเขาจะมองว่าประเทศไทยนั้นมีการเลือกตั้ง แต่พวกเขาจะไม่สนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในนั้นเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง และนั่นก็คือความซับซ้อนภายในจิตใจ ที่เป็นส่วนในพลวัตทางการเมืองของประเทศไทย
ประการที่สาม ลักษณะทางประชากรศาสตร์ของประเทศไทยกำลังมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเยาวชนของไทยเริ่มจะมีความไม่พอใจมากขึ้นเรื่อยๆต่อเผด็จการ และต่อความคิดในฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลง ความมั่นใจของฝ่ายผู้ทรงอำนาจอนุรักษ์นิยมได้ ถ้าหากว่าต้องเผชิญหน้ากันจริงๆในการประท้วงครั้งใหญ่ ที่สามารถจะปะทุขึ้นมาได้
เพราะว่ามีบทเรียนให้เห็นแล้ว เมื่อครั้งมีการประท้วงในปี 2553 และในปี 2563 ในกรุงเทพ
ต้องยอมรับว่าพลังอำนาจในประเทศไทยที่ต่อต้านการจะให้ประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ยังคงมีความน่าเกรงขามอยู่