ประเทศไทยอาจจะต้องร่วมมือกับจีนต่อไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้ว่าไทยจะรีเซ็ตนโยบายต่างประเทศเพื่อทํางานร่วมกับประเทศตะวันตกที่นําโดยสหรัฐฯก็ตาม
ความเคลื่อนไหวที่คนไทยล้วนจับตามองในสัปดาห์นี้ก็คงจะหนีไม่พ้นการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของรัฐสภา ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.ค. แต่ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่ว่าในต่างประเทศ ก็มีการวิเคราะห์เช่นกันว่าการที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะทำให้เรื่องการต่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน
โดยสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาได้มีการเขียนบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงที่ไทยจะมีต่อจีนและในเรื่องนโยบายเกี่ยวกับประเทศเมียนมา ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ความพยายามเมื่อไม่นานมานี้ของประเทศไทยในการจะกลับมาร่วมงานกับรัฐบาลทหารของเมียนมานั้นดูเหมือนว่าจะเป็นการสร้างความสอดคล้องกับการดำเนินงานของประเทศจีนที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเมียนมา
ในวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่รัฐประหารในปี 2557 ได้มีการจัดประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการกับรัฐมนตรีต่างประเทศจากประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งจากเผด็จการทหารที่ยึดอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. 2564 นั้นก็เข้าร่วมการประชุมด้วยเช่นกัน แต่ว่านักการทูตระดับสูงจากประเทศอาเซียนบางประเทศ อาทิ สิงคโปร์,มาเลเซีย และอินโดนีเซียกลับไม่เข้าร่วมการประชุม
ย้อนไปเมื่อเดือน ส.ค. 2565 รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในอาเซียได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าจะแบนไม่ให้ตัวแทนจากเมียนมาเข้าร่วมการประชุมหารือใดๆก็ตามที่จะถูกจัดโดยอาเซียน จนกว่าที่เมียนมาจะดำเนินการตามฉันตามติ 5 ข้อที่ได้เคยมีข้อตกลงกันไว้เมื่อเดือน เม.ย. 2564 เพื่อยุติความรุนแรงในประเทศหลังจากการรัฐประหาร
โดยตอนนี้การประท้วง ขบวนการอารยะขัดขืน และการต่อสู้ยังคงดําเนินต่อไปในเมียนมา
กลับมาที่ปัจจุบัน เนื่องจากว่าจีนเป็นผู้ที่บริการ ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่เป็นอันดับสองแก่รัฐบาลเมียนมา รองจากประเทศรัสเซีย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ว่าทางกรุงปักกิ่งต้องการให้เมียนมากลับมามีความสงบเรียบร้อยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้เกิดเสถียรภาพตามพรมแดนจีน-เมียนมา และกิจกรรมท่อส่งพลังงานระหว่างเมียนมา-จีน สามารถดำเนินต่อไปได้ ตามการวิเคราะห์ของนาย พอล แชมเบอร์ส อาจารย์และที่ปรึกษาพิเศษฝ่ายกิจการระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยนเรศวร
ประเทศไทยเองก็ถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่ใกล้ชิดกับจีนทั้งทางการทูตและทางภูมิศาสตร์ ดังนั้นก็เลยพยายามจะแสดงจุดยืนที่มีต่อเมียนมาค่อนข้างใกล้เคียงกัน
“รัฐบาลประยุทธ์ต้องการรวมจีนไว้ในการเจรจาอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมา” นายแชมเบอร์สกล่าว
ทางด้านของนายเสก โสภาล นักวิจัยจากศูนย์ส่งเสริมประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยริทสึเมคังเอเชียแปซิฟิก ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่ารัฐบาลไทยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพมองว่าจีนเป็นผู้มีบทบาทสําคัญในประเด็นเมียนมา
นายโสพาลกล่าวต่อไปว่ารัฐบาลไทยยังคงมีการคบค้ากับเมียนมาเป็นปกติ และได้ทำเพียงเล็กน้อยเท่านั้นในการกดดันเผด็จการทหารเมียนมา
ทางสำนักข่าววอยซ์ออฟอเมริกาได้มีการไปสอบถามเกี่ยวกับการประชุมหารือเรื่องเมียนมาที่ประเทศไทย กับสถานทูตจีนประจำกรุงวอชิงตัน แต่ทางสถานทูตอ้างว่าไม่ทราบในเรื่องนี้ และส่งต่อคำถามนี้ไปยังสถานทูตจีนในเมียนมาและในไทยแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบเช่นกัน
ส่วนสหรัฐฯก็ได้ประกาศจุดยืนว่าขอให้เมียนมาดำเนินการตามฉันทามติทั้ง 5 ข้อ
“ดังที่รัฐมนตรีได้เคยกล่าวถึงไปแล้ว รัฐบาลทหารของเมียนมาได้ดําเนินการอย่างน่าสยดสยองและรุนแรงต่อประชาชนหลายครั้งนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564” กระทรวงต่างประเทศสหรัฐระบุ
โดยเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้กําหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อกระทรวงกลาโหมเมียนมาและธนาคารของรัฐ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารการค้าต่างประเทศเมียนมา และธนาคารเพื่อการลงทุนและการพาณิชย์ของเมียนมา
ข่าวรัฐมนตรีประเทศในอาเซียนเลี่ยงการประชุมกับเมียนมาที่ไทยจัดขึ้น (อ้างอิงวิดีโอจาก WION)
มาตรการที่ว่านี้จะเป็นอายัดทรัพย์สินใด ๆ ของหน่วยงานที่ถูกคว่ำบาตรซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรือควบคุมโดยบุคคลในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังห้ามการทําธุรกรรมทั้งหมดโดยบุคคลหรือนิติบุคคลของสหรัฐอเมริกาที่ดําเนินการภายในหรือผ่านสหรัฐอเมริกาทำให้หน่วยงานเป้าหมายจะได้รับประโยชน์
นายแชมเบอร์สกล่าวว่าค่อนข้างมีความเป็นไปได้ว่าหลังจากนี้ สหรัฐฯ อาจใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลทหารของเมียนมา และทํางานร่วมกับฝ่ายตรงข้ามในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เพื่อชะลอความร่วมมือในปัจจุบันของกรุงเทพฯ ที่มีต่อรัฐบาลทหารเมียนมา
“สหรัฐฯตระหนักดีว่าประเทศไทยได้มีการดำเนินตามนโยบายป้องกันความเสี่ยง หรือการสร้างสมดุลระหว่างวอชิงตันและปักกิ่งมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นอย่างน้อย” นายแชมเบอร์สกล่าว
และพอ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้ามาปกครองประเทศไทยเป็นเวลากว่า 9 ปี ประเทศไทยก็ดูเหมือนว่าจะเอียงข้างไปทางประเทศจีนมากขึ้นไปอีกจนกระทั่งพรรคก้าวไกลภายใต้การนำของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ ได้รับชัยชนะอย่างน่าแปลกใจในวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีขึ้นภายในเดือน ก.ค.นี้ ก็อาจจะทำให้จุดยืนที่เอียงข้างไปทางจีนของประเทศไทยต้องเปลี่ยนไป
ตามที่ทราบกันดีว่านายพิธานั้นเคยกล่าวชัดเจนว่าจะเปลี่ยนแปลงทิศทางและนโยบายต่างประเทศของประเทศไทย ซึ่งนี่ก็หมายรวมไปถึงจุดยืนที่มีต่อเมียนมา
"เมียนมาที่มีความมั่นคงเป็นประโยชน์ต่อทั้งภูมิภาค แต่หากเมียนมาจามไทยก็ป่วยเช่นกัน" นายพิธาให้สัมภาษณ์เมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
เป็นที่แน่นอนว่าการที่นายพิธาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ เขาย่อมต้องมีความสัมพันธ์ตามธรรมชาติกับสหรัฐฯ อยู่แล้ว
ทว่านักวิเคราะห์กลับมองว่านักการเมืองไทยยังคงมีความรู้สึกว่าต้องคงไว้ซึ่งสายพันธ์และการมีส่วนร่วมกับประเทศจีนอย่างสร้างสรรค์ต่อไป
“ประเทศไทยอาจจะต้องร่วมมือกับจีนต่อไปเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แม้ว่าไทยจะรีเซ็ตนโยบายต่างประเทศเพื่อทํางานร่วมกับประเทศตะวันตกที่นําโดยสหรัฐฯก็ตาม” นายโสพาลกล่าว
ขณะที่นายแชมเบอร์สเชื่อว่ารัฐบาลที่นำโดยนายพิธาจะถอยห่างจากประเทศจีนออกมามากขึ้น จะทำงานร่วมมือกับทางวอชิงตัน และยุติความร่วมมือต่างๆที่มีต่อเผด็จการทหารเมียนมา
เรียบเรียงจาก:https://www.voanews.com/a/china-looms-large-over-thailand-s-move-to-reengage-with-myanmar-junta-/7162871.html