“...หลักนิติรัฐหรือนิติธรรมไม่เกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อคนที่ถูกเกณฑ์ทหาร ว่าด้วยเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกเกณฑ์ทหาร นี่สำคัญมากกว่า แต่อย่างไรก็ดีข้อเสนอในปัจจุบันไม่ใช่การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารมากกว่า ที่เปลี่ยนจากการบังคับเป็นการสมัครใจและให้ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่...”
ในทุกๆ วันที่ 1 เมษายนของทุกปี กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้เป็นวันเริ่มต้นการเกณฑ์ทหารทั่วประเทศไทย โดยผู้ที่มีบัตรประจำตัวประชาชนระบุ เป็นเพศชายและไม่ได้ผ่านการฝึกวิชาทหาร (รด.) ทุกคนจะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่ออายุถึง 21 ปี
หากจับได้ใบแดง จะต้องรับการฝึกทหารในกองทัพไทยเป็นระยะเวลา 1 - 2 ปี แต่หากจับได้ใบดำ หรือคุณลักษณะไม่ตรงตามความต้องการของกองทัพ จะสามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ
บรรยากาศของการเกณฑ์ทหารในทุกๆ ปีนั้น ไม่ว่าผู้เข้ารับการเกณฑ์ทหารจะจับได้ใบดำหรือใบแดง ต่างก็มีเสียงที่มีทั้งความยินดี และความผิดหวังปะปนกันไป
@ สถิติการเกณฑ์ทหาร 2561-2565
โดยยอด ‘การเกณฑ์ทหาร’ ย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2565 ดังนี้
สถิติเกณฑ์ทหารปี 2561 จำนวน 104,734 นาย
สถิติเกณฑ์ทหารปี 2562 จำนวน 101,824 นาย
สถิติเกณฑ์ทหารปี 2563 จำนวน 97,324 นาย
สถิติเกณฑ์ทหารปี 2564 จำนวน 97,558 นาย
สถิติเกณฑ์ทหารปี 2565 จำนวน 58,330 นาย
จากสถิติการเกณฑ์ทหาร จะสังเกตได้ว่าในปี 2565 จำนวนการเรียกเกณฑ์ห่างจากปี 2564 เกือบครึ่งหนึ่ง อาจเป็นเพราะช่วงที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้จากประชาชนให้มีการยกเลิกเกณฑ์ทหารอยู่ตลอด เนื่องจากการเกณฑ์ทหาร ริดรอดสิทธิ เสรีภาพ และสร้างผลกระทบด้านการงาน
@ นโยบายพรรคว่าที่รัฐบาล ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’
ดังนั้นเมื่อพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ 1 ใน นโยบายของก้าวไกล ที่พร้อมจะผลักดันให้แล้วเสร็จภายใน 100 วัน คือ ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้ตรวจสอบนโยบาย ‘ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร’ ที่ทางก้าวไกลจะเสนอนั้น เป็นหนึ่งในนโยบายการปฏิรูปกองทัพของก้าวไกล โดยจะยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหาร แล้วเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ ร้อยเปอร์เซ็นต์ พร้อมปฏิรูปให้เกิดประสิทธิภาพอย่างมากในปัจจุบัน
โดยนาย พริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ระบุว่ากับผู้ข่าวสื่อหลายสำนักว่า ว่าเมื่อก้าวไกลเป็นรัฐบาล เราตั้งเป้าจะยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารภายใน 1 ปี เพื่อให้ เม.ย.ปี 2565 จะเป็นครั้งสุดท้าย ที่ต้องมีคนมาจับใบดำ-ใบแดง หรือต้องมีคนเป็นทหารทั้งที่ไม่อยากเป็น
โดย เหตุผลที่พรรคก้าวไกลเสนอการยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหาร เพราะระบบเกณฑ์ทหารทำให้เกิดความสูญเสียในสองระดับด้วยกัน คือ
1.การสูญเสียเสรีภาพในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพ โอกาสความก้าวหน้าทางการงาน และเวลาที่อยู่กับครอบครัว
2.การสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจระดับประเทศ เพราะเป็นการดึงทรัพยากรมนุษย์ออกจากตลาดแรงงานในวันที่ประเทศไทยเผชิญกับสังคมสูงวัย และโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนคนวัยทำงานที่ลดลง
เมื่อพิจารณานโยบายการยกเลิกเกณฑ์ทหารของก้าวไกลแล้ว
@ นักวิชาการมอง ‘เกณฑ์ทหาร’ ต้องปรับเปลี่ยน
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า การเกณฑ์ทหารของไทยมีปัญหาเรื้อรังมานาน ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการเกณฑ์ทหารมีพัฒนาการเชิงประวัติศาสตร์มาตั้งแต่อดีต จนทำให้การเกณฑ์ทหารในปัจจุบันไม่มีลักษณะของความเป็นมืออาชีพ ประกอบกับการได้ยินปัญหาการทุจริต การนำทหารเกณฑ์ไปใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง ไปใช้ทำเรื่องส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา รวมไปถึงความรุนแรงจากการฝึกทหารต่อร่างกายและชีวิต
“ทุกครั้งที่พูดถึงการเกณฑ์ทหารเราก็เหมือนกับไม่มีทางออก เพราะคนที่อยู่ในอำนาจ เช่น กองทัพ ไม่มีความต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนมากมายนัก มีช่วงหลัง ๆ ที่เริ่มมีการศึกษาแนวทางในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารอย่างไร ดังนั้นการเกณฑ์ทหารจึงกลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในการทำให้เกิดการปฏิรูปกองทัพ หรือการต่อสู้ระหว่างความคิดของประชาชนหรือพลเรือน กับกองทัพ” รศ.ดร.ยุทธพรระบุ
การเสนอกฎหมายเกณฑ์ทหารจากพรรคการเมือง คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้สังคมได้กลับมาทบทวน ได้พูดถึงการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยความยั่งยืนและเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะในปัจจุบันการเกณฑ์ทหารต้องปรับเปลี่ยนไปตามบริบทแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก
“วันนี้เรื่องของความมั่นคงไม่ใช่ความมั่นคงในรูปแบบเดิม ที่เราเรียกว่า traditional security เช่น การทหาร อาวุธ หรือแสนยานุภาพต่าง ๆ แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงแบบใหม่ที่เรียกว่า Non-Traditional Security ซึ่งวันนี้โลกในปัจจุบันพูดถึงความมั่นคงแบบใหม่ ๆ เช่น ความมั่นคงทางพลังงาน ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นใหม่ที่เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจของกองทัพใหม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เราจะวนอยู่กับความคิดแบบเดิม ๆ อีกต่อไป” รศ.ดร.ยุทธพรกล่าว
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ที่มานโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารของก้าวไกล หลัก ๆ เป็นเรื่องการมองโครงสร้างทางสังคมว่ามันมีการแบ่งชนชั้น แล้วระบบเกณฑ์ทหารก็สะท้อนความไม่เท่าเทียมกัน คนที่ถูกเกณฑ์เข้าไปก็แทนที่จะรับใช้ ป้องกันประเทศชาติ กลับต้องไปรับใช้กลุ่มอภิสิทธิ์ชน หรือนายทหารระดับสูง อีกทั้งระบบสวัสดิการนั้นไม่ค่อยได้มาตรฐานเท่าไรนัก
ถ้าก้าวไกลจะนำนโยบายนี้ไปบังคับใช้ ไปปฏิบัติ ในแง่มุมของความเท่าเทียมกันในสังคม สวัสดิการของกำลังพลที่ฝึก หรือสิทธิมนุษยชนก็จะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่วนเรื่องของการลดกำลังพล ลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมนั้น ต้องไปว่ากันในเรื่องของการประเมินภัยคุกคามสถานการณ์ความมั่นคงนั้น ๆ ซึ่งถ้าในยามปกติ การใช้ระบบแบบที่ก้าวไกลว่าน่าจะปรับได้ ในบางมิติ บางหัวข้อ แต่ถ้าเป็นในยามสงคราม ก้าวไกลบอกว่ายังมีการเกณฑ์ทหารในยามสงครามอยู่ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ความมั่นคง เพราะเวลาต้องรบกับประเทศเพื่อนบ้าน หรือภัยคุกคามอย่างอื่น การระดมพล การเข้ามาที่ศูนย์บังคับบัญชา รวมถึงอำนาจอะไรต่าง ๆ มันทำให้อำนาจการรบมีประสิทธิภาพ
@ ผลกระทบการยกเลิกการเกณฑ์ทหารต่อกองทัพ
รศ.ดร.ยุทธพร ระบุว่า การยกเลิการเกณฑ์ทหารไม่ได้มีผลกระทบต่อกองทัพ เพราะกองทัพก็ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทภารกิจ สิ่งที่กองทัพต้องทำวันนี้ คือ การปรับเปลี่ยนให้กองทัพมีประสิทธิภาพ ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้คนจำนวนมากแต่ไร้ประสิทธิภาพ แต่จะต้องใช้คนจำนวนน้อย ใช้ทรัพยากรน้อยแต่มีประสิทธิภาพสูง นี่คือการปรับตัวขององค์กร ซึ่งทุกองค์กรทั่วโลกก็ต้องปรับตัวไปในทิศทางนี้
ดังนั้นการเกณฑ์ทหารจะปรับเปลี่ยนรูปแบบไปใช้ระบบสมัคร ที่ทำให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มีโอกาสในการศึกษาต่อ มีสวัสดิการที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีกับกองทัพ ส่วนกรอบความคิดเดิมที่ว่าถ้าไม่มีการเกณฑ์ทหารแล้วมีข้าศึกศัตรูมาบุกยึดประเทศจะทำอย่างไร ตนคิดว่านั่นคือปัญหาประสิทธิภาพของกองทัพไม่ใช่ปัญหาของการเกณฑ์ทหาร แต่เป็นความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากรและงบประมาณ การจัดซื้ออาวุธที่มีประสิทธิภาพ การบำรุงรักษายุทธภัณฑ์และกำลังพล นี่คือสิ่งที่ต้องทบทวนมากกว่า
@ เกณฑ์ทหารกับนิติรัฐไทย
รศ.ดร.ยุทธพร กล่าวว่า การเกณฑ์ทหารกับหลักนิติรัฐหรือนิติธรรมไม่เกี่ยวกับการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อคนที่ถูกเกณฑ์ทหาร ว่าด้วยเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้ถูกเกณฑ์ทหาร นี่สำคัญมากกว่า แต่อย่างไรก็ดีข้อเสนอในปัจจุบันไม่ใช่การยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะของการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารมากกว่า ที่เปลี่ยนจากการบังคับเป็นการสมัครใจและให้ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ ฯลฯ
“ไม่ได้หมายความว่าต่อไปประเทศไทยจะไม่มีการเกณฑ์ทหาร อันนั้นคือมายาคติที่บิดเบือนทำให้คนเข้าสู่ความแตกแยก” รศ.ดร.ยุทธพรระบุ
รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า หากกลายเป็นกฎระเบียบ ข้อบังคับที่กองทัพก็ต้องนำไปปฏิบัติตาม ในเรื่องการพิทักษ์สิทธิมนุษยชน การฝึกปฏิบัติการทางทหารต่าง ๆ อยู่บนกรอบของสิทธิมนุษยชน และความปลอดภัยของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ในเมื่อเป็นกฎหมายแล้ว นายทหารระดับสูงจนถึงระดับล่างที่รับผิดชอบการฝึกการบวนการเกณฑ์ทหารต่าง ๆ ถ้าปฏิบัติสวนทาง ไม่เป็นไปในข้อบังคับที่อยู่ในตัวกฎหมาย ก็ต้องถูกลงโทษอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นนิติรัฐชัดเจน แต่อยู่ที่กำลังพลด้วยว่าจะนำกฎหมายตัวนี้ไปปฏิบัติตามเคร่งครัดแค่ไหน
“แต่ในกระบวนการร่างกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพและพลเรือนด้วย พลเรือนคือ รัฐบาลประชาธิปไตยที่มีก้าวไกลเป็นแกนนำ กองทัพก็คือกระทรวงกลาโหม” รศ.ดร.ดุลยภาค ระบุ
ในการปฏิรูปกองทัพในหลาย ๆ ประเทศ จะพบว่า ถ้ารัฐบาลพลเรือนให้ความสำคัญกับหลักความเหนือกว่าของพลเรือน มันจะต้องมีอำนาจและหน้าที่ ที่เหนือกว่าตัวกองทัพ ในบางประเทศก็ประสบความสำเร็จ แต่ในบางประเทศก็จะถูกตีโต้กลับจากกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพที่ครองอำนาจมานานและมองว่าเป็นการผลิตนโยบายป้องกันประเทศ รวมทั้งเรื่องเกณฑ์ทหาร การระดมพล เป็นเรื่องภายในกองทัพ ถ้าเกิดพลเรือนก้าวเข้ามาในพื้นที่สงวนจุดนี้ มันก็อาจจะเกิดกระแสตีโต้ของทางกองทัพได้ เช่น กองทัพอินโดนีเซีย รัฐบาลพลเรือนเข้าไปแตะในการปฏิรูปกองทัพ โดยทำแบบละมุนละม่อม ทีละขั้นตอนนั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก กองทัพทยอยถอนตัวกลับเข้ากอง และมีการปรับเรื่องนโยบายป้องกันประเทศอยู่บ้าง แต่กรณีของประเทศเมียนมาร์ รัฐบาลพลเรือน NLD พยายามแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจกองทัพ แต่สุดท้ายกลับถูกกองทัพทหารรัฐประหาร ยึดอำนาจ
“สำหรับก้าวไกล คิดว่า การปฏิรูปกองทัพ คือให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม และเป็นการเอาทหารออกจากการเมือง เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น กล่าวคือ ถ้าทหารมายุ่งกับการเมือง หรือกิจการภายในมาก ๆ มันก็ทำให้ทหารมีบทบาทและสามารถเข้ามาแทรกแซง หรือยึดอำนาจได้ ส่งผลให้ไทยมีปัญหาด้านการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งนี้ถ้าเอาทหารออกจากการเมืองได้ กองทัพก็ต้องยอมรับความเหนือกว่าของพลเรือน”
รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าก้าวไกลคุมอำนาจรัฐ ถึงแม้มีแรงต้านจากผู้บัญชาการเหล่าทัพ แต่มันเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ส่งถ่ายทอดไปให้กระทรวงกลาโหม กองทัพก็ต้องนำมาพิจารณาและปฏิบัติ แต่ว่าจะได้ไม่ได้ ก็อยู่ที่ทางกองทัพหารือกับรัฐบาลพลเรือนด้วย ว่า บางทีหลายอย่างนโยบายที่หาเสียง อาจจะเอาไปปฏิบัติบางอย่างมันทำเร็วไม่ได้ ต้องค่อย ๆ ปรับ ค่อย ๆ แก้ กันไป
อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงกลาโหม เคยกางแผนปฏิรูปกองทัพ โดยตั้งเป้าลดทหารชั้นยศสูง 50% ภายในปี 2570 และมีการปรับลดจำนวนเกณฑ์ทหารลง และจะเริ่มพัฒนาไปใช้ระบบสมัครใจในอนาคต
กองทัพจะปรับตัวตามนโยบายของก้าวไกลหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป