ขณะที่สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ซึ่งเป็นเครือข่ายของสมาชิกรัฐสภาทั้งในปัจจุบันและอดีตที่ทํางานเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าการมีส่วนร่วมอีกครั้งของรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลทหารเมียนมาเป็น "การทรยศ" ต่อประชาชนเมียนมา
ในสัปดาห์นี้นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศไทยที่เป็นที่จับตามอง บทบาทของประเทศไทยในเวทีประเทศอาเซียน ต่อกรณีสถานการณ์ของประเทศเมียนมานั้นก็เป็นสิ่งที่ต่างประเทศจับตามองมายังประเทศไทยเช่นเดียวกัน
โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอาบทวิเคราะห์เกี่ยวกับบทบาทของประเทศไทย บทบาทของรัฐบาลรักษาการ ที่ตอนนี้พยายามจัดเวทีระหว่างผู้นำอาเซียนเพื่อหารือในประเด็นเรื่องเมียนมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ได้มองว่าความพยายามของประเทศไทยที่ได้ดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในระดับภูมิภาคระหว่างผู้นำประเทศอาเซียน กับผู้นำเผด็จการทหารเมียนมานั้น อาจจะเป็นสัญญาณว่ารัฐบาลรักษาการของไทยที่ต้องการอ้างความชอบธรรมในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งในไทยผ่านไปแล้วเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และอาจจะต้องการกำหนดโทนเสียงไปถึงรัฐบาลใหม่
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ประเทศไทยได้จัดประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเมียนมา เพื่อจะแก้ปัญหาความรุนแรงทางการเมือง รวมไปถึงกลับมามีส่วนร่วมกับกองทัพเมียนมาอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่สถานการณ์ในเมียนมายังคงมีความขัดแย้งและการนองเลือดกับกองกำลังฝ่ายต่อต้านนับตั้งแต่วันที่มีการรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564
รัฐบาลรักษาการของไทยในปัจจุบันที่เป็นรัฐบาลที่ได้รับสนับสนุนจากกองทัพได้มีการเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน ซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งจากเผด็จการทหารเมียนมาด้วย เพื่อหารือเกี่ยวกับข้อเสนอของกลุ่มประเทศที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่กับเมียนมาในระดับผู้นำ
ทางการไทยกล่าวเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ว่า การเจรจามีความจําเป็นเพื่อปกป้องชายแดนกับประเทศที่ได้รับความเสียหายจากความขัดแย้ง แต่สมาชิกอาเซียนหลายประเทศ รวมถึงอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ไม่ยอมรับคําเชิญเข้าร่วมการประชุมที่กรุงเทพฯ เพื่อบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่เห็นด้วย ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ระดับที่ไม่สูงนักเข้าร่วมการประชุม
ทางกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทยได้มีการออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ระบุว่าเป้าหมายของการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการคือการเสริมความพยายามของอาเซียน 10 ประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ได้มีการส่งคําเชิญไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้เข้าร่วมประชุม
ทางด้านของนายเดดี้ ดินาร์โต นักวิเคราะห์จากอินโดนีเซีย ประจำบริษัทที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ระหว่างประเทศ Global Counsel ได้ออกมากล่าวว่าการที่รัฐบาลรักษาการของประเทศไทยออกท่าทีเช่นนี้ ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นรัฐบาลของไทยนั้นมีความชอบธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดถัดไป
โดยนับตั้งแต่การเลือกตั้งไทยเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดตั้งทีมเพื่อรับผิดชอบในการเปลี่ยนผ่านขึ้นจากฝ่ายพรรคร่วม 8 พรรคการเมืองที่อ้างว่าเป็นฝั่งประชาธิปไตย นำโดยพรรคก้าวไกลที่ได้รับคะแนนเสียง 14 ล้านเสียง ชนะที่นั่ง 151 ที่นั่ง
ข่าวประเทศไทยจัดการประชุมในสื่อต่างชาติ (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
ขณะที่รัฐสภาของประเทศไทยมีสมาชิก 750 คนทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ห้าร้อยคนได้รับการเลือกตั้งผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในขณะที่กองทัพแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน
โดยถ้าหากพรรคร่วมรวมเสียงให้ได้มากกว่า 376 เสียงก่อนวันประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
ทางด้านนาย ฮันเตอร์ มาร์สตัน นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะกล่าวว่าจะผลักดันแนวทางที่เกี่ยวกับการเคารพศักดิ์ศรีภายในประเทศอาเซียน แต่ก็มีส่วนทําให้เกิด "การกระจายตัว" ของประเทศในภูมิภาคโดยการบังคับให้เลือกว่าจะอยู่ฝั่งไหนสิ่งที่เป็นปัญหาที่อึดอัดอย่างมากสําหรับสมาชิกส่วนใหญ่
“แนวทางดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้เกิดการถอยหลัง และมีบทบาทที่ทำลายล้างมากกว่า เราหวังได้เพียงว่ารัฐบาลใหม่ของพรรคก้าวไกลจะมีแนวทางที่เชิงรุกและเชิงบวกมากขึ้นต่อวิกฤติในอาเซียนและในเมียนมา” นายมาร์สตันกล่าว
ทั้งนี้ในช่วงหลายเดือนก่อนการเลือกตั้ง นายพิธาได้เคยรับปากว่าจะยุติแนวทางปัจจุบันของประเทศไทยที่มีต่อเมียนมา และส่งเสริมให้ประเทศไทยได้ดำเนินการนโยบายต่างประเทศที่ยึดหลักการตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมมากขึ้น
“ประเทศไทยมีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในเมียนมา ซึ่งส่งผลให้ประชาชนจํานวนมากต้องหนีเข้าประเทศไทยในฐานะผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร” นายดินาร์โตกล่าว
ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวว่าประเทศไทยได้รับความเสียหายมากกว่าประเทศอื่นจากวิกฤติในเมียนมา เพราะประเทศไทยมีพรมแดนกว่า 3,000 กิโลเมตร และพรมแดนทางทะเลติดกับประเทศเมียนมา นี่คือเหตุผลที่ทำให้การพูดคุยนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น ไม่ใช่การเลือกข้างแต่อย่างใด
ส่วนนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทยได้เคยให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับประเด็นวิกฤติเมียมาไปแล้วว่าส่งผลทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากข้ามพรมแดนมาและส่งผลกระทบต่อการค้า
“ประเทศไทยได้รับผลกระทบมากที่สุดหากเราปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ ประเทศอื่นๆในอาเซียนควรขอบคุณเราที่ทําอะไรบางอย่างเพื่อช่วยสนับสนุนเป้าหมายหลักของพวกเขา” นายดอนกล่าว
ทางด้านของนายดินาร์โตได้ตั้งข้อสังเกตอีกว่าในระดับภูมิภาคนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ที่มีผลผูกพันระบุว่าห้ามไม่ให้ประเทศสมาชิกอาเซียนจัดประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสมาชิกหรือกับคู่เจรจาอื่นๆ
“ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นที่ถกเถียงกันเนื่องจากข้อริเริ่มของไทยขัดแย้งกับจุดยืนอย่างเป็นทางการของอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมาที่ระบุว่าควรดําเนินการตามฉันทามติห้าจุดซึ่งเป็นแผนสันติภาพที่เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันทีและการเจรจาระหว่างทุกฝ่าย” นายดินาร์โตกล่าว
โดยทางการไทยกล่าวว่าการประชุมในวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีตัวแทนอาเซียนจากบรูไน กัมพูชา อินเดีย ลาวและเวียดนามรวมถึงจีนซึ่งไม่ได้อยู่ในอาเซียน แต่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนเข้าร่วมประชุม
“วิกฤตการณ์ที่เลวร้ายลงในเมียนมาจะส่งผลเสียต่อประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นการมีส่วนร่วมของจีนอาจเป็นโอกาสสําหรับประเทศที่เข้าร่วมการเจรจาแยกกับรัฐบาลจีน” นายดินาร์โตกล่าว
นายดินาร์โตกล่าวต่อไปว่าดังนั้นการหารือที่จะมีความหมายในกรณีเมียนมา ก็สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในหลายระดับและในสถานะต่างๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือว่าต้องไม่คิดว่าจะมีแค่อาเซียนที่จะเป็นช่องทางเดียวเท่านั้นในการแก้ไขวิกฤตทางการเมือง
ส่วนนายมาร์สตันกล่าวว่าประเทศกัมพูชาเป็นอีกประเทศที่มักพูดต่อต้านเผด็จการทหารในเมียนมาอยู่บ่อยครั้ง ด้วยความหวังที่ว่าอาเซียนเองจะไม่มาวิจารณ์การเลือกตั้งกัมพูชาที่จะเกิดขึ้นในเดือนหน้า
ขณะที่สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ซึ่งเป็นเครือข่ายของสมาชิกรัฐสภาทั้งในปัจจุบันและอดีตที่ทํางานเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยได้ร่วมกันออกแถลงการณ์เมื่อวันที่19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่าการมีส่วนร่วมอีกครั้งของรัฐบาลไทยต่อรัฐบาลทหารเมียนมาเป็น "การทรยศ" ต่อประชาชนเมียนมา
แถลงการณ์ของสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ต่อว่าประเทศไทยจากการจัดประชุมกับเมียนมาในช่วงที่เป็นรัฐบาลรักษาการ
โดยนายชาร์ลส์ ซานติอาโก กล่าวว่ารัฐบาลปัจจุบันของไทยนั้นพ่ายแพ้อย่างย่อยยับในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา และถือว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้ฉันทามติของประชาชนอีกต่อไป ดังนั้นการจัดการประชุมหารือ ดังกล่าวจึงเป็นเสมือนการตบหน้าประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไทยอย่างแรง
ทางด้านของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติฝ่ายค้านของเมียนมา (NUG) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกรัฐสภาที่ถูกขับไล่ ยังประณามการดำเนินการของประเทศไทย โดยกล่าวเมื่อที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า "การเชิญรัฐบาลทหารนอกกฎหมายเข้าร่วมการอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีส่วนช่วยในการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองของเมียนมา" ในขณะที่กลุ่มพลเมืองกว่า 340 กลุ่มในเมียนมาออกจดหมายเปิดผนึกเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.วิพากษ์วิจารณ์การประชุมดังกล่าว
ส่วนแถลงการณ์ของรัฐบาลมาเลเซียเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ระบุว่า นายแซมบรี อับดุล คาดีร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซียจะไม่เข้าร่วมการประชุมนี้ "เนื่องจากพันธกรณีก่อนหน้านี้" โดยเน้นย้ำว่าฉันทามติห้าข้อ "ยังคงเป็นฉันทามติและหลักการที่ถูกต้องของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาเมียนมา"
ทางด้านของนายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ กล่าวเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ระบุว่าการไปร่วมประชุมดังกล่าวถือเป็นการดำเนินการก่อนเวลาอันควรในการจะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมาอีกครั้งทั้งในการประชุมระดับสุดยอด หรือแม้แต่ในระดับระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศด้วยกัน
ส่วนอินโดนีเซียที่ปฏิเสธคําเชิญเข้าร่วมการประชุมกล่าวว่า "จําเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องปกป้องโมเมนตัมที่มีอยู่ ในขณะที่พึงระลึกไว้เสมอว่ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะพบปะและหารือเพิ่มเติมในการประชุมของเราที่กรุงจาการ์ตา" ในเดือน ก.ค.