"...ระบบการขนส่งรถไฟฟ้าของไต้หวันนั้นมีการวางแผนระบบขนส่งมวลชน การรักษาระดับคุณภาพการให้บริการที่ดีในการใช้ระบบราง มีความปลอดภัย และมาตรการที่ทำให้การเดินทางสะดวก ตรงเวลา ภายในสถานี มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีการออกแบบเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สามารถรองรับการเดินทางของผู้สูงอายุ และผู้พิการ..."
เมื่อเร็ว ๆ นี้ รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าสาย BTS เกิดเหตุระบบขัดข้องทำให้มีผู้โดยสารตกค้างที่สถานีเดียวกันจนแน่นสถานี ทำให้ผู้คนเดือดร้อน ไปทำงานสาย จนเกิด แฮชแท็ก #บีทีเอส ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ของประเทศไทย
โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายราย โพสต์ภาพผู้โดยสารที่อยู่ในรถบีทีเอส เปิดหน้าต่างเพื่อหายใจ และภาพผู้โดยสารที่ยืนค้างอยู่บนสถานีเป็นจำนวนมาก พร้อมวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรถไฟฟ้าบีทีเอส
กรมการขนส่งทางราง จึงได้กำชับให้ผู้ประกอบการขนส่งทางราง ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของการประชุมคณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางรางก่อนหน้านี้ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าทุกเส้นทางดำเนินการ เพื่อป้องกัน หรือลดโอกาสการเกิดเหตุขัดข้องในระบบรถไฟฟ้า
กรณีดังกล่าว ทำให้การบริการระบบขนส่งทางรางของประเทศไทย ถูกนำไปเปรียบเทียบกับต่างประเทศว่า ระบบขนส่งทางรางของไทย ยังห่างชั้นกับต่างประเทศอยู่มาก
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กรมการขนส่งทางราง เคยนำคณะสื่อมวลชนไทย เดินทางไปศึกษาดูงานระบบขนส่งทางรางของ'ไต้หวัน' ที่ถูกระบุว่า มีเครือข่ายขนส่งทางรางที่มีประสิทธิภาพสูง โดยเฉพาะระบบการบริหารจัดการรถไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการเดินรถรางที่ตรงเวลา การเดินทางสะดวก รวดเร็ว การใช้ระบบตั๋วร่วม การรักษาความปลอดภัยที่ดี และการแก้ไขปัญหาเวลาเกิดเหตุขัดข้อง หรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่ง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) มีแนวคิดนำเอารูปแบบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าของไต้หวันมาประยุกต์ใช้กับระบบขนส่งทางรางในประเทศไทยในอนาคต
การเดินทางครั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีโอกาสร่วมคณะฯ เดินทางไปศึกษาดูงาน จึงขอรวบรวมข้อมูลระบบขนส่งทางรางของ'ไต้หวัน' มานำเสนอ เป็นทางการ ณ ที่นี้
ระบบขนส่งทางรางของไต้หวันมี 4 ระบบ ได้แก่
1.รถไฟธรรมดาที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล (ดีเซลราง) หรือ TRA เป็นระบบรถไฟท้องถิ่นของไต้หวันให้บริการวิ่งระหว่างเมือง โดยวิ่งรอบเกาะไต้หวันทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก
2.รถไฟหัวกระสุน หรือ รถไฟฟ้าความเร็วสูง THSR (TAIWAN HIGH SPEED RAIL)
3.รถไฟพิเศษ Alishan Forest Railway เพื่อขนส่งไม้, Taiwan Sugar Railway ขนส่งน้ำตาล
4.รถไฟฟ้า MRT ให้บริการในแต่ละหัวเมืองหลักรวม 12 สาย
@รถไฟฟ้าเมืองไทเป
สำหรับในส่วนของรถไฟฟ้าเมืองไทเป แบ่งทั้งหมด 6 สาย โดยผู้บริหารจัดการเดินรถระบบราง เป็นบริษัท Taipei Rapid Transit Corporation : TRTC ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลเมืองไทเป
ในจำนวน 6 สาย จะมีทั้งหมด 131 สถานี และมีจุดที่เปลี่ยนรถไฟ 12 สถานี โดยมีศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ หรือ OCC ที่สถานีไทเป (Taipei Main Station)
-ระบบรักษาความปลอดภัย
ใน 131 สถานีของรถไฟฟ้าเมืองไทเปนั้นมีกล้อง CCTV 11,000 ตัว โดยศูนย์ OCC สามารถเปิดและตรวจสอบได้ทั้งหมด หากเกิดเหตุฉุกเฉินเจ้าหน้าที่ในศูนย์ OCC สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ทางภาคสนามได้ทันที เช่น หากเกิดไฟไหม้ สามารถเรียกรถดับเพลิงได้ หรือเกิดคดีมีคนถือมีด ถืออุปกรณ์ทำร้ายคนอื่น ก็เรียกตำรวจได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ทางรถไฟฟ้าเมืองไทเป มีการเตรียม SOP หรือแนวทางการทำงานที่กำหนดว่าหากเกิดปัญหาขึ้นแล้วจะทำอย่างไรต่อ ไว้สำหรับเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน โดยมีทั้งหมด 744 ข้อ เช่น หากมีเส้นทางรถไฟฟ้าหนึ่ง มีผู้โดยสารตกไปอยู่บนราง รถไฟฟ้าจะผ่านไม่ได้ จะมีการเปลี่ยนเส้นทางไปเส้นแทนก่อน แล้วกลับมาสู่เส้นทางเดิมของตัวเอง แต่เส้นตรงที่ผู้โดยสารอยู่บนรางก็ต้องหยุด เจ้าหน้าที่ดูแลสถานี จะต้องรู้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จะต้องทำอย่างไร เป็นต้น
เนื่องจากไต้หวันเป็นหนึ่งแห่ง ที่เกิดแผ่นดินไหวและไต้ฝุ่นได้ตลอดเวลา รถไฟฟ้าเมืองไทเปนั้น จึงมีตัวเซ็นเซอร์จุดวัดแรง-ความเร็วลม ใน 5 สถานี ถ้าสถานีไหนแจ้งความเร็วลมมาก ๆ ต้องประเมินว่าจะต้องหยุดรถหรือไม่ ถ้าไต้ฝุ่นมีความรุนแรงจะประกาศหยุดเดินรถไฟฟ้าทันที ส่วนตัวเซ็นเซอร์แผ่นดินไหวจะมี 15 สถานีรองรับทั้งหมดตามสถานีใหญ่ ๆ เพราะแผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติอันตรายที่สุด ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ทุกอย่างและชัดเจน
-ระบบประเมินเพิ่มเที่ยวขบวนรถไฟฟ้า
ทางรถไฟฟ้าเมืองไทเป จะมีแอปพลิเคชันสำหรับเจ้าหน้าที่ ที่สามารถดูได้ว่าในแต่ละรอบขบวนรถไฟฟ้ามีผู้โดยสารเท่าไร โดยจะใช้เครื่องวัดน้ำหนักในการวัดเฉลี่ย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเพิ่มขบวนรถเสริมในช่วงเวลาเร่งด่วน
สำหรับการคำนวณแต่ละรอบผู้โดยสารเยอะ-น้อย นั้นมีประโยชน์อย่างไร? เช่น ในวันอาทิตย์ช่วงเช้า ไม่ค่อยมีผู้โดยสาร ปัญหาจะไม่ค่อยเยอะ รอบรถจะน้อย แต่ก็มีบางครั้งที่บางวันอาทิตย์ผู้โดยสารเยอะขึ้นมา เพราะมีงานมีเทศกาล จะใช้ข้อมูลเก่าไม่ได้ ถ้ามีเทศกาลก็จะเพิ่มจำนวนรถเลย ผู้โดยสารจะได้ไม่รอนาน
-ทำนายสภาพความพร้อมของอุปกรณ์
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ระบบ AI เพื่อทำนายสภาพความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ เช่น อุปกรณ์ภายในขบวนรถ อุปกรณ์ภายในสถานี ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการซ่อมบำรุง และไม่ต้องรอให้เสียก่อนถึงซ่อม
ทั้งนี้ ด้วยมาตรการดังกล่าวส่งผลให้รถไฟมีความตรงเวลาสูงถึง 99.99% และมีความพึงพอใจของผู้ใช้บริการมากกว่า 95% และในปี 2022 เกิดเหตุการณ์รถไฟฟ้าดีเลย์เพียง 7 ครั้งเท่านั้นที่เกิน 5 นาที
นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง
ขณะที่ นายอธิภู จิตรานุเคราะห์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ไทเปมีความใกล้เคียงกับกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิถีการใช้ชีวิตคล้าย ๆ กับคนไทย ค่าครองชีพ และอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่ 20-65 บาท ใกล้เคียงกับไทย เมืองไทเปมีประชากรประมาณ 6,500,000 คน ใช้รถไฟฟ้าเดินทางถึง 2,000,000 คนต่อวัน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นเป้าหมายของกรมการขนส่งทางรางที่ต้องการจะพัฒนาให้ระบบรถไฟฟ้าสามารถเป็นระบบหลักในการขนส่งผู้โดยสาร
ระบบการขนส่งรถไฟฟ้าของไต้หวันนั้นมีการวางแผนระบบขนส่งมวลชน การรักษาระดับคุณภาพการให้บริการที่ดีในการใช้ระบบราง มีความปลอดภัย และมาตรการที่ทำให้การเดินทางสะดวก ตรงเวลา ภายในสถานี มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีการออกแบบเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย สามารถรองรับการเดินทางของผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งกรมการขนส่งทางรางก็จะนำไปปรับใช้กับระบบรางของประเทศไทย
สำหรับสิ่งที่เห็นเร็วที่สุดในการปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทยนั้นคือการนำรายละเอียดเรื่องความปลอดภัย เรื่องการให้บริการเดินรถไฟฟ้าของไต้หวันนำมาปรับใช้ในกฎหมายลูกพระราชบัญญัติขนส่งทางราง พ.ศ. …. ซึ่งพ.ร.บ.ขนส่งทางรางต้องรอเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลชุดใหม่
"ส่วนอีกเรื่องที่สามารถนำมาปรับใช้กับระบบขนส่งทางรางของไทยได้ คือ การพัฒนาระบบรางตามภูมิภาคต่างๆ โดยให้รัฐบาลท้องถิ่นจะเป็นผู้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และตั้งรัฐวิสาหกิจที่ท้องถิ่นถือหุ้นใหญ่ เป็นผู้บริหารจัดการเดินรถทำให้โครงข่ายรถไฟฟ้ามีการเชื่อมต่อกัน ซึ่งรัฐบาลกลางไต้หวันก็มีการดำเนินการในรูปแบบนี้ทำให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ และการให้บริการเดินรถไฟฟ้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน" รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ระบุ
เหล่านี้คือ ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระบบขนส่งทางรางของไต้หวัน ที่กำลังจะถูกมาเป็นโมเดลตั้งต้น ในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทย
ส่วนจะมีความเหมาะสม เพิ่มประสิทธิการให้บริหาร ช่วยแก้ไขปัญหาระบบขัดข้องของไทย ที่เกิดบ่อยครั้งได้หรือไม่
คงต้องรอดูกันต่อไปในอนาคตข้างหน้านี้