กระบวนการประชาธิปไตยเองจะมีความหมายมาก หากสามารถดําเนินไปอย่างเป็นธรรมโดยที่ประชาชนไทยเลือกผู้นําตามระบอบประชาธิปไตยแล้วใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งอาจจะทําลายความน่าเชื่อถือของตัวเองได้ หากพวกเขาเลือกที่จะสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาต่อไป
ในคราวที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เคยนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับผลการเลือกตั้งของประเทศไทยที่อาจจะส่งผลต่อรัฐบาลทหารเมียนมาไปแล้ว
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สำนักข่าวจากาตาร์โพสต์ของอินโดนีเซียได้มีการนำเสนอบทความอีกชิ้นหนึ่ง วิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งของประเทศไทยนั้นอาจจะมีผลกระทบมากกว่าที่คิด เพราะนอกจากจะส่งผลต่อรัฐบาลทหารเมียนมาแล้ว มันยังอาจจะส่งผลไปถึงท่าทีของเหล่าบรรดาประเทศอาเซียนอื่นๆที่มีต่อเมียนมาด้วยก็เป็นได้
สำนักข่าวอิศราจึงได้นำเอาบทความดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
แรงกดดันที่มีต่อประเทศอินโดนีเซียในปีนี้ในฐานะที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นประธานกลุ่มประเทศเอเชียะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนนั้นกำลังเพิ่มขึ้นเป็นอย่างยิ่ง ต่อกรณีของวิกฤติในเมียนมา อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่าการเลือกตั้งของประเทศไทยที่จะมีกำหนดการในวันที่ 14 พ.ค.ก็จะมีผลส่งไปถึงการกระทำของอาเซียนและอนาคตของเมียนมาเช่นกัน
โดยนับเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ที่กองทัพเมียนมาได้ทำการโค่นล้มผู้นำที่มาจากประชาธิปไตยคือรัฐบาลของนางอองซานซูจี แต่อาเซียนก็ยังคงล้มเหลวในการทำให้แผนเพื่อสันติภาพหรือว่าฉันทามติ 5 ข้อ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นที่ต้องสงสัยอย่างยิ่งว่าไทยเป็นผู้สนับสนุนอย่างเงียบๆ ของเผด็จการทหารเมียนมา ซึ่งนี่เป็นจุดยืนที่ขัดขวางต่อ 10 ประเทศที่เหลือ
ทางนักวิเคราะห์จึงชี้ว่าทั้งผลการเลือกตั้งของไทย รวมไปถึงกระบวนการเลือกตั้งในไทยอาจส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของเมียนมาในอาเซียนได้
“กระบวนการประชาธิปไตยเองจะมีความหมายมาก หากสามารถดําเนินไปอย่างเป็นธรรมโดยที่ประชาชนไทยเลือกผู้นําตามระบอบประชาธิปไตยแล้วใครก็ตามที่ชนะการเลือกตั้งอาจจะทําลายความน่าเชื่อถือของตัวเองได้ หากพวกเขาเลือกที่จะสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาต่อไป” นางเดวี ฟอร์ทูนา อันวาร์ นักวิเคราะห์อาวุโสด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากสํานักงานการวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติของอินโดนีเซียหรือว่า BRIN ให้สัมภาษณ์กับจาการ์ตาโพสต์
สำหรับประเทศไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไทยนั้นยืนกรานที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมาต่อไปแม้จะมีการเรียกร้องให้ละเว้นการกระทําใดๆ ที่อาจทําลายความน่าเชื่อถือของอาเซียนก็ตาม
โดยการมีส่วนร่วมนี้ก็รวมไปถึงการพบปะกันที่กรุงเทพเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาระหว่างนักการทูตระดับสูงของเมียนมา และผู้แทนจากลาว กัมพูชา และเวียดนาม ตามมาด้วยการพบปะในเดือน ม.ค.ระหว่างนายพลระดับสูงของไทย กับ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำเผด็จการทหารเมียนมา
“ความใกล้ชิดของกองทัพไทยกับเมียนมามีมาอย่างยาวนานและไม่ได้เป็นความลับเลย ทั้งสองรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตที่แน่นแฟ้น” นางเดวีกล่าวและกล่าวต่อว่าไม่ใช้แค่เพียงความใกล้ชิดทางทหารที่ไทยและเมียนมารักษาไว้เท่านั้น แต่ยังมีกรณีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แนบแน่นเช่นกรณีของอัญมณี นี่จึงอาจทำให้ท่าทีของประเทศไทยที่มีต่อผู้นำทางทหารมีท่าทีค่อนไปทางนุ่มนวลเพราะมีประเด็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง
ตลาดอัญมณีที่ อ.แม่สอด จ.ตาก (อ้างอิงวิดีโอจาก Destination Thailand)
ทั้งนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนบางรายได้พยายามแสดงจุดยืนที่ค่อนข้างจะมั่นคงต่อฉันทามติ 5 ข้อ ซึ่งเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงและแต่งตั้งทูตพิเศษเพื่อมีส่วนร่วมในการเจรจากับทุกฝ่ายในความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา อาเซียนได้มีการโต้แย้งด้วยความสงสัยว่าอาจมีบางประเทศรวมถึงประเทศไทย แสดงความเห็นอกเห็นใจกับเผด็จการทหารเมียนมา
ย้อนไปเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนหรือ APHIR ได้มีการออกแถลงการณ์มีใจความเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการมีส่วนร่วมกับรัฐบาลทหารเมียนมา โดยอ้างว่าผู้นำทหารไทยนั้นเป็นผู้ก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ต่อมาในเดือน ก.พ. นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้เรียกร้องไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยว่าให้มีจุดยืนที่แน่วแน่ต่อประเทศเมียนมา
“มีน้อยสิ่งมากที่เราสามารถทําได้ยกเว้นเพื่อสานต่อสิ่งที่เรียกว่าการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์กับรัฐบาลทหารเมียนมา แต่ผมคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีอยู่ในตําแหน่งที่ดีกว่าผมที่จะแสดงความกังวลมากมายของพวกเรา” นายอันวาร์กล่าว
@พันธมิตรตามธรรมชาติ
“ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งของไทยนั้นจะไม่เพียงส่งผลแต่แนวทางของประเทศไทยที่มีต่อเมียนมาในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนยาวเหยียดเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลต่อพฤติกรรมของรัฐบาลทหารด้วย” นางเอวี ฟิตริอานี ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยอินโดนีเซียกล่าวและกล่าวต่อว่าแน่นอนว่ามันมีผลกระทบเพราะ รัฐบาลทหารเมียนมาได้ศึกษารัฐบาลทหารของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อย่างใกล้ชิด เช่น ประเทศไทยเป็นต้น
เมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นระยะเวลา 6 เดือน (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีรา)
นางฟริตานีกล่าวเสริมอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นมีมีแรงจูงใจที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนรัฐบาลทหารเมียนมาเพราะว่าทั้งสองรัฐบาลต่างก็ถูกจัดตั้งมาจากการรัฐประหารด้วยกันทั้งคู่
“พวกเขาจําเป็นต้องสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อต่อสู้เพื่อการยอมรับของอาเซียน ในทํานองเดียวกันพวกเขาทั้งสองถูกประณามโดยตะวันตกและมีจีนให้พึ่งพาเท่านั้น” นางฟริตานีกล่าว
โดยคู่แข่งสําคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ พรรคเพื่อไทย ที่มีแกนนำสำคัญคือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีไทย ซึ่งการการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้นเมื่อการเลือกตั้งใกล้เข้ามาทําให้เป็นสมรภูมิที่ร้อนแรงระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยและอํานาจทางทหารที่ยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น
ทั้งนี้เมื่อปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยประณามการที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย สั่งประหารนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยชาวเมียนมา 4 คน โดยกล่าวไปถึงชาวเมียนมาว่า "พรรคเพื่อไทยยังคงสนับสนุนสิทธิในการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยอย่างไม่เปลี่ยนแปลง"
อย่างไรก็ตาม นางเดวีตั้งข้อสังเกตุว่าแม้ฝ่ายค้านจะชนะการเลือกตั้ง แต่ท่าทีของไทยในอาเซียนก็จะไม่เปลี่ยนแปลงโดยอัตโนมัติ เพราะว่ารัฐบาลทหารนั้นที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นสูงในกรุงเทพฯ องค์กรทางพลเรือนบางแห่ง ซึ่งนี่แตกต่างจากกรณีรัฐบาลเมียนมา
"ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของนายทักษิณที่ถูกกำจัดออกไป รัฐบาลทหารไทยได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนํา และสังคมไทยถูกแบ่งแยก นี่เป็นแง่มุมที่ท้าทายและน่าอับอายมากสําหรับชื่อเสียงต่างประเทศของประเทศไทย" เธอกล่าว