มิน อ่อง หล่าย และเหล่าบรรดานายพลของเขาสร้างกลไกการเลือกตั้งด้วยความหวังว่าจะยึดรูปแบบของประเทศไทย อย่างไรก็ตามในช่วงหลังๆประเทศไทยได้รับแรงผลักค่อนข้างมากจากทั้งอาเซียนประเทศอื่นๆ รวมไปถึงแรงผลักจากแผนการของประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประธานอาเซียนด้วยเช่นกัน
อีกไม่ถึง 2 เดือนก็จะถึงวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเลือกตั้งของประเทศไทย อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องการเลือกตั้งนั้นอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับประเทศไทยเท่านั้น แต่อาจจะส่งผลกระทบไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา ที่เจอปัญหากับเผด็จการทหารด้วยเช่นกัน
โดยสำนักข่าวอัลจาซีร่าของกาตาร์ได้มีการเขียนบทวิเคราะห์เอาไว้ว่าผลการเลือกตั้งประเทศไทยจะสะเทือนไปถึงเมียนมาได้อย่างไร ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอาบทความดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังนี้
การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งไม่เพียงกับทั้งคนไทย แต่ยังสำคัญกับชาวเมียนมาจำนวนกว่า 1.5 ล้านคนที่เป็นผู้ลี้ภัยในประเทศ และหวังว่ารัฐบาลใหม่ของไทยนั้นจะหยุดการสนับสนุนเผด็จการทหารในเมียนมา
สำหรับประเทศไทยแน่นอนว่าเคยเจอปัญหาการรัฐประหารในปี 2557 ซึ่งหลังจากการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีก็ครองอำนาจมาตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ดังนั้นการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่กี่อาทิตย์หลังจากนี้ การสนับสนุนของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีต่อ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ที่ยึดอำนาจการเลือกตั้งมาจากกลุ่มการเมืองที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี ในเดือน ก.พ. 2564 ก็จะลดลงตามไปด้วย
สำหรับนางมาขิ่น เทต นักวิจัยจากเมียนมา การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าเป็นความหวังที่ริบหรี่สำหรับเธอว่า ถ้าหากไทยมีผู้นำคนใหม่ ก็อาจจะทำให้มีแรงสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นกับกลุ่มต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาที่นำโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมาหรือว่า NUG ที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมียนมา ที่ถูกโค่นล้มไป
“ถ้าหากฝ่ายตรงข้ามสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ มีความเป็นไปได้ว่าพวกเขาจะสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในเมียนมา และก็น่าจะมีความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา แต่ฉันก็ยังกลัวว่าจีนซึ่งสนับสนุนมิน ออง หล่าย อาจจะดำเนินการกดดันรัฐบาลใหม่” นางมาขิ่น นักวิจัยผู้ลี้ภัยกล่าว
นางมาขิ่นหนีมาอยู่ที่กรุงเทพฯ หลังจากที่กองทัพได้เอาเพื่อนร่วมงานของเธอเข้าคุกเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งก็เหมือนกับฝ่ายประชาธิปไตยคนอื่นๆทั้งนักเรียน,ผู้สื่อข่าว และนักการเมืองที่ต้องลี้ภัยออกจากเมียนมา โดยในทุกวันนี้เธอก็ยังมีความกังวลอยู่ว่าจะถูกสั่งตัวกลับประเทศ เพราะเธออาจจะถูกจำคุกและถูกทรมานได้
“รัฐบาลไทยและเผด็จการทหารเมียนมามีความสัมพันธ์เป็นเหมือนกับพี่ใหญ่และน้องชาย ประเทศไทยยังคงเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอันเข้มแข็งกับเผด็จการทหารเมียนมา และมีผลประโยชน์ในเมียนมามากมาย อาทิ ปฏิบัติการณ์ขุดเจาะแก๊สในทะเลอันดามัน ซึ่งการมีผลประโยชน์ดังกล่าวส่งผลให้ทางไทยละเลยต่อการต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตย” นางมาขิ่นกล่าว
“การเลือกตั้งในประเทศไทยถือว่าเป็นสิ่งที่มอบโอกาสให้ประเทศไทยรีเซ็ตกลยุทธ์เกี่ยวกับเมียนมาและเปลี่ยนทิศทางเกี่ยวกับเมียนมาได้” นางฐิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ ศาสตราจารย์ประจําคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ไทย-เมียนมากล่าว
@อิทธิพลทางการทหาร
ย้อนไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ได้มีการประกาศยุบสภาเพื่อเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือน พ.ค. ซึ่งการเลือกตั้งนั้นจะต้องเกิดภายในระเวลา ระหว่าง 45 แต่ไม่เกิน 60 วันหลังจากการยุบสภา
ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยบกพร่อง โดยองค์กรวิจัย ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต (Economist Intelligence Unit) ประเทศนี้มีการทำรัฐประหาร 12 ครั้ง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และตอนนี้ระบบรัฐสภาของไทยก็ถูกบิดเบือนอย่างมากโดยกองทัพไทยที่มีอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
ทำให้แม้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลที่ดูเหมือนว่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างมากในการเลือกตั้ง แต่ผลลัพธ์ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาลนั้นก็อาจจะไม่ได้มาจากจำนวน ส.ส.ที่ผ่านการเลือกตั้งก็เป็นไปได้ เพราะว่ายังมี ส.ว.จำนวน 250 คนอยู่ นี่จึงหมายความว่าพรรคฝ่ายตรงข้ามต้องหาเสียงให้ได้เกิน 376 เสียงรวมกันเพื่อจะทำให้มีที่นั่งเหนือกว่าฝ่ายกองทัพและสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทหารจะมีกลไกตรงนี้ช่วยเหลืออยู่ แต่ฝ่ายตรงข้ามก็ยังมีโอกาสจะชนะได้
โดยพรรคเพื่อไทย ซึ่งนำโดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของอดีตนากรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ณ เวลานี้ถือว่ามีโพลคะแนนสูงสุด เหนือกว่าทางฝ่ายของกลุ่มผู้ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
และถ้าหากพรรคเพื่อไทยสามารถจับมือกับพรรคพันธมิตรเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้นั้น นายแซค อบูซา ศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย National War College ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี กล่าวว่านี่หมายความว่าประเทศไทยอาจจะลดความไม่ลงรอยที่มีในเรื่องของจุดยืนระหว่างประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนได้
ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว เมื่อระบอบเผด็จการทหารของมิน อ่อง หล่ายได้สั่งประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยไปจำนวน 4 คน พรรคเพื่อไทยก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนย้ำว่าสนับสนุนการต่อสู้อันแน่วแน่เพื่อประชาธิปไตย สนับสนุนการคุ้มครองตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม รวมถึงการพิจารณาคดีที่เสรีและเป็นธรรม การได้รับประกันตัวสำหรับพลเมืองทุกประเทศรวมถึงในประเทศไทย
โดยมีรายงานอ้างอิงจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ว่าสภาผู้บริหารแห่งรัฐของเมียนมาหรือ SAC ได้มีการสังหารประชาชนไปแล้วกว่า 3,146 ราย และมีการจับกุมประชาชนไปกว่า 20,700 ราย ซึ่งประชาชนกลุ่มมากเหล่านี้ยังถูกคุมขังอยู่
อย่างไรก็ตามนายอบูซายังคงสงสัยว่ารัฐบาลใหม่ของไทยจะสามารถทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนกับกองทัพไทยที่มีความโน้มเอียงไปทางเมียนมา
“รัฐบาลใหม่ของไทย จะต้องไม่กดดันมากเกินไป และต้องเลือกสมรภูมิที่ตัวเองจะรบอย่างระมัดระวัง พวกเขาต้องไม่เพ่งเล็งตำแหน่งไปที่กองทัพบกไทย ซึ่งรู้กันดีว่าชอบรัฐบาลทหารเมียนมา” นายอบูซากล่าว
ต้องยอมรับว่าประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่แสดงจุดยืนสนับสนุนผู้นำรัฐประหารในเวทีนานาชาติให้เห็นอย่างเด่นชัด
แต่อาเซียนซึ่งนับเมียนมาเป็นประเทศสมาชิกด้วยนั้นก็มีความเห็นที่ค่อนข้างแตกแยกกันออกไปต่อกรณีการรัฐประหารในปี 2564 โดยประธานอาเซียนในขณะนั้นได้แก่อินโดนีเซีย,มาเลเซีย,ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์แสดงจุดยืนที่ค่อนข้างแข็งกร้าวต่อการรัฐประหารขณะที่ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆกลับไม่แสดงจุดยืนเท่าไร
เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมาทูตพิเศษของประเทศไทยเกี่ยวกับกิจการด้านเมียนมาได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาคมโลก อย่าได้ยึดติดกับกรณีที่การประณามเหล่าทหารและให้ยอมรับแผนของทางรัฐบาลทหารเมียนมาที่จะเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่าแผนดังกล่าวที่ล่าช้านั้นจะถูกออกแบบมาเพื่อยกเลิกผลการเลือกตั้งในปี 2563 ที่มีผลว่าพรรคของนางอองซานซูจีชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นก็ตาม
“การประณาม การคว่ำาบาตร การเหยียดหยาม ทุกอย่างทำให้ผลลัพธ์ตอบกลับมาแย่ลง” นางพรพิมล กาญจนลักษณ์ ทูตพิเศษกล่าว
ขณะที่ทางด้านของนาง เลทิเทีย วัน เดน อัสสัม (Laetitia Van Den Assum) อดีตเอกอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ประจําประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่ามิน อ่อง หล่าย และเหล่าบรรดานายพลของเขาสร้างกลไกการเลือกตั้งด้วยความหวังว่าจะยึดรูปแบบของประเทศไทย อย่างไรก็ตามในช่วงหลังๆประเทศไทยได้รับแรงผลักค่อนข้างมากจากทั้งอาเซียนประเทศอื่นๆ รวมไปถึงแรงผลักจากแผนการของประเทศอินโดนีเซียที่เป็นประธานอาเซียนด้วยเช่นกัน
ข่าวการเชิญชวนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเมียนมามาประชุมยังไทย (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
ดังนั้นนี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยได้พยายามดำเนินการประชุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเผด็จการทหารเมียนมา แม้ว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนได้เห็นพ้องต้องกันว่าจะไม่เชิญเหล่าบรรดานายพลหรือผู้ถูกแต่งตั้งจากเผด็จการทหารก็ตาม
“ยังคงมีนักการเมืองไทยที่ค่อนข้างจะมีจุดยืนที่เป็นหลักการต่อเมียนมา และผู้นำไทยหลายๆคนก็ควรจะตระหนักว่าเมียนมากำลังสร้างปัญหาให้ไทยอย่างมากมายทั้งการระเบิดของยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย,อาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น,คลื่นของบรรดาผู้ลี้ภัย,เขตเศรษฐกิจพิเศษที่ควบคุมโดยคนจีนตามแนวชายแดนที่กลายเป็นที่หลบภัยของเหล่าอาชญากรข้ามชาติ” นายอบูซากล่าวและกล่าวต่อไปว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จงใจชัดเจนว่าจะละเลยปัญหาเหล่านี้
@รวมตัวกันสู้กับเหล่านายพล
นางมาขิ่นกล่าวว่าสำหรับเธอค่อนข้างกังวลว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจห้ามไม่ให้มีการพูดโดยเสรีในกระบวนการหาเสียงเลือกตั้ง,การแบนนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามบางคน รวมไปถึงการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อสกัดฝ่ายตรงข้าม อย่างไรก็ตามถ้าหากฝ่ายตรงข้ามสามารถชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้ นี้ก็อาจจะเป็นการกระตุ้นให้ฝั่งรัฐบาลเอกภาพของเมียนมาถูกมองว่าเป็นตัวแทนที่แท้จริงของประชาชนเมียนมาได้เช่นกัน
โดยมีรายงานฝั่งตัวแทนรัฐบาลพลเรือนในเมียนมานั้นพยายามตั้งสำนักงานในประเทศไทยควบคู่ไปกับการตั้งสำนักงานในประเทศอื่นๆเช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตามนักกิจกรรม นักการเมือง และสื่อมวลชนก็ยังสามารถอยู่ในประเทศไทยได้
“รัฐบาลเอกภาพยืนหยัดเพื่อเสรีภาพ,ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ในประเทศเพื่อนบ้านของเราด้วย เรามีความรู้สึกเดือดร้อนอย่างสุดซึ้งกับชะตากรรมที่คนไทยต้องเผชิญ เพราะพวกเขาถูกลิดรอนสิทธิประชาธิปไตย” รัฐมนตรีพรรคเอกภาพคนหนึ่งที่ลี้ภัยในประเทศไทยและไม่ประสงค์จะออกนามกล่าว
มีรายงานข่าวว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนในรัฐบาลเอกภาพเมียนมายังอยู่ในประเทศไทยและพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา โดยในพื้นที่ชายแดนฝั่ยเมียนมาที่ติดกับไทยนั้นพบว่าเป็นพื้นที่ที่ถูกครอบงำโดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงและกองกําลังนําโดยชุมชนชาวกะเหรี่ยงชนกลุ่มน้อยซึ่งปะทะกับกองทัพในเมียนมามานานหลายทศวรรษ
รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเรียกร้องให้มีการดำเนินการต่อกรณีรัฐประหารในเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
“เราหวังและภาวนาอย่างแรงกล้าว่าประเทศไทยจะกลับคืนสู่มรดกประชาธิปไตยที่เสรีและเป็นธรรม และเสียงของประชาชนไทยจะได้ยินในการเลือกตั้งทั่วไปที่กําลังจะมาถึงนี้" รัฐมนตรีที่ไม่ระบุนามกล่าวและกล่าวต่อว่าตอนนี้ยังไม่มีการติดต่อโดยตรงระหว่างรัฐบาลเอกภาพเมียนมา หรือว่านักการเมืองไทยคนใดแต่อย่างไร
รัฐมนตรีที่ไม่ระบุนามกล่าวทิ้งท้ายว่าอย่างไรก็ตามถ้าหากพรรคก้าวไกลหรือว่าพรรคอื่นที่อุทิศตัวเพื่อค่านิยมที่เรากำลังต่อสู้อยู่ได้รับชัยชนะ พวกเราจะมีส่วนร่วมกับพวกเขาอย่างมีความสุข และจะสามารถหาวิธีที่มีความหมายในการทำงานร่วมกันในประเด็นต่างๆได้ต่อไป
เรียบเรียงจาก:https://www.aljazeera.com/news/2023/3/21/myanmars-democratic-struggle-at-stake-in-thailands-election