กรณีของประเทศอินโดนีเซียที่ได้ยกเลิกแผนการซื้อเครื่องบินรบรุ่น SU-35 จากประเทศรัสเซียมูลค่ากว่า 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (39,466,230,000 บาท) ฟิลิปปินส์ที่เริ่มจะถอนข้อตกลงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่น MI-171 มูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,645,000,000 บาท) ขณะที่เวียดนามก็เริ่มจะมีการชะลอข้อตกลงการจัดซื้ออาวุธฉบับใหม่กับรัสเซีย ดัวยเหตุผลว่ามีการเดินหน้าปราบทุจริตในประเทศและความไม่มั่นใจว่ารัสเซียจะสามารถส่งของได้ตามสัญญาจริงหรือไม่ ภายใต้ช่วงเวลาที่มีการคว่ำบาตรเช่นนี้
สงครามยูเครนรัสเซียเป็นสงครามที่ดำเนินมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปีแล้ว และถือว่าส่งผลกระทบอย่างวงกว้างในหลายมิติ
ล่าสุดทางสถาบันคลังสมอง Observer Research Foundation (ORF) ของอินเดียก็ได้มีการวิเคราะห์เช่นกันว่าสงครามครั้งนี้นั้นส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนในแง่ไหนบ้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ความขัดแย้งยูเครนได้ทำให้เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับกติกานานาชาติในประเด็นเรื่องการเคารพบูรณภาพและอธิปไตยของดินแดนประเทศต่างๆ และยังทำให้เกิดคำถามสำคัญต่อหลักการของภูมิภาคอินโดแปซิฟิกที่มุ่งเน้นความเป็นเสรีและเปิดกว้างด้วยเช่นกัน
โดยผลกระทบนั้นมีหลายประการดังนี้
@ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ภูมิภาคนี้จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นหลักจากกรณีการคว่ำบาตรที่ถูกกำหนดโดยสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และประเทศอื่นๆ ซึ่งแม้ว่ารัสเซียและยูเครนจะไม่ได้มีสถานะทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ โดยรัสเซียมีสัดส่วนการค้าในระดับโลกต่อภูมิภาคนี้อยู่ที่ 0.64 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศยูเครนมีสัดส่วนอยู่ที่ 0.11 เปอร์เซ็นต์
แต่ก็มีนักวิเคราะห์บางคนได้ออกมาเตือนว่าความขัดแย้งอันเรื้อรังที่ส่งผลร้ายต่ออียูจะส่งผลลามมายังอาเซียนในทุกระดับตั้งแต่การค้าถึงการท่องเที่ยว
ยกตัวอย่างเช่นกรณีเมย์แบงก์ของมาเลเซียได้มีการออกแถลงการณ์เน้นว่าการชะลอตัวของยุโรปนั้นจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และต่อการเติบโตของอาเซียนมากขึ้น โดยอียูมีสัดส่วนการตลาดคิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์ของการส่งออกอาเซียนและมีสัดส่วนมากกว่า 11 เปอร์เซ็นต์สำหรับประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์
ผลกระทบอีกประการที่เห็นเด่นชัดก็คือกรณีเงินเฟ้ออันมาจากการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันและก๊าซหลังจากระเบิดขึ้นของสงคราม การที่ยูเครนและรัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร ธัญพืชที่สำคัญและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับเซมิคอนดักเตอร์
โดยมีนักวิเคราะห์บางคนชี้ให้เห็นว่าเนื่องจากว่ารัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายสำคัญ รวมไปถึงกรณีที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวโพดไปยังยังประเทศอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ นี่ก็จะส่งผลทำให้เกิดภาวะชะงักงันของอุปทานข้าวสาลี และเวียดนามก็ต้องเผชิญกับการหยุดชะงักของอุปทานจากข้าวโพด
ยกตัวอย่างเช่นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เวียดนามได้มีการนำเข้าปุ๋ย,เหล็ก,เหล็กกล้า,ถ่านหิน และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเกือบ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (51,965,250,000 บาท) จากประเทศรัสเซียและยูเครน ดังนั้นจึงเป็นเหตุทำให้ธนาคารบางแห่งในอาเซียน อาทิ ธนาคาร DBS ในสิงคโปร์ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงโดยตรงจากการพึ่งพาสินค้าโภคภัณฑ์บางรายการที่มีความเฉพาะเจาะจง
ข่าวประเทศเวียดนามขึ้นค่าไฟเพราะสงครามยูเครน-รัสเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก CNA)
โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบก็มีเช่นประเทศไทยที่ต้องเจอกับอัตราเงินเฟ้อในภาคการผลิตและราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งสูงขึ้น ประเทศเวียดนามพบกับกรณีการขาดแคลนและการกักตุนน้ำมัน ซึ่งส่งผลทำให้ราคาน้ำมันในเวียดนามสูงขึ้นเช่นกัน
@ผลกระทบต่อการขายอาวุธของรัสเซียไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรุงมอสโกนั้นเป็นผู้ขายอาวุธอันดับต้นๆให้กับภูมิภาคนี้มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะกับที่ประเทศเวียดนาม แต่ว่าก็เริ่มจะมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นบ้างแล้ว เพราะหลายประเทศเริ่มจะหันไปหาอาวุธจากประเทศอื่นๆอย่างอินเดีย,สหรัฐฯ อิสราเอลเป็นต้น
โดยเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงในตลาดการซื้อขายอาวุธในอาเซียนไม่ได้มาจากในเรื่องของสงครามที่ดำเนินอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมาจากเหตุผลอื่นๆอาทิ ในเรื่องของกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านศัตรูของสหรัฐอเมริกาผ่านการคว่ำบาตรหรือที่เรียกกันว่า CAATSA ด้วยเช่นกัน ซึ่งรายละเอียดของกฎหมายดังกล่าวระบุชัดเจนว่าจะมีการลงโทษต่อประเทศที่ซื้ออาวุธจากทางมอสโก
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางคนได้ออกมาให้ข้อมูลว่าเริ่มมีความกังวลมากขึ้นว่าอาวุธของรัสเซียได้แสดงประสิทธิภาพที่ค่อนข้างจะย่ำแย่ในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน นี่จึงอาจทำให้หลายประเทศรวมไปถึงประเทศอย่างเวียดนามได้มีการยกเลิกข้อตกลงการซื้ออาวุธกับประเทศรัสเซียแล้ว
เช่นกรณีของประเทศอินโดนีเซียที่ได้ยกเลิกแผนการซื้อเครื่องบินรบรุ่น SU-35 จากประเทศรัสเซียมูลค่ากว่า 1.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (39,466,230,000 บาท) ฟิลิปปินส์ที่เริ่มจะถอนข้อตกลงการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่น MI-171 มูลค่ากว่า 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (8,645,000,000 บาท) ขณะที่เวียดนามก็เริ่มจะมีการชะลอข้อตกลงการจัดซื้ออาวุธฉบับใหม่กับรัสเซีย ดัวยเหตุผลว่ามีการเดินหน้าปราบทุจริตในประเทศและความไม่มั่นใจว่ารัสเซียจะสามารถส่งของได้ตามสัญญาจริงหรือไม่ ภายใต้ช่วงเวลาที่มีการคว่ำบาตรเช่นนี้
ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ “บองบอง” มาร์กอส จูเนียร์ของฟิลิปปินส์ประกาศยกเลิกข้อตกลงเฮลิคอปเตอร์จากรัสเซีย (อ้างอิงจาก CNN)
อย่างไรก็ตามนักวิชาการอย่างเช่นนายริชาร์ด เอ. บิทซิงเกอร์ นักวิชาการที่โครงการปฏิรูปทางทหารที่สถาบันการป้องกันประเทศและยุทธศาสตร์ศึกษา (IDSS) วิทยาลัยราชรัตนามอินเตอร์เนชั่นแนลศึกษา (RSIS) กลับให้ความเห็นว่าประเทศในอาเซียนนั้นอาจจะพบว่าตัวเองอยู่ในจุดที่ยากลำบากในการจะปฏิเสธข้อตกลงอาวุธจากประเทศรัสเซีย เพราะข้อตกลงจากรัสเซียนั้นมักจะให้สิทธิพิเศษตรงที่ว่าไม่มีข้อผูกมัดทางการเมือง และมีรูปแบบการชำระเงินรูปแบบใหม่
@การตอบสนองของอาเซียนต่อความขัดแย้ง
หลังจากเกิดความขัดแย้ง ประเทศสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีปฎิกริยาตอบสนองที่เร็วที่สุดต่อสงครามในครั้งนี้ ซึ่งแม้ว่าอาเซียนจะได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันในวันที่ 26 ก.พ. 2565 การออกแถลงการณ์ของอาเซียนกลับไม่ได้มีการประนามการที่รัสเซียรุกรายยูเครนแต่อย่างใด มีแค่การระบุว่า “ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างสูงสุดเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์ได้ลากยาวออกไปจนกินระยะเวลามากกว่าปีแล้ว ส่งผลทำให้บางประเทศอาเซียนต้องก้าวออกมาจากจุดยืนเดิมและแสดงจุดยืนใหม่ที่แข็งกร้าวมากขึ้น
โดยกรณีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนนั้นเริ่มเห็นเป็นครั้งแรกนระหว่างการประชุมอาเซียนเมื่อวันที่กรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 10-13 พ.ย. 2565 ซึ่งการประชุมดังกล่าวยูเครนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC)
ทางด้านของนักวิชาการอย่างเช่นนายฮวง ทิ ฮา และนายวิลเลี่ยม ชุง ศาสตราจารย์จากสถาบันเอเชียอาคเนย์ศึกษา ยูซุฟ อิสฮัค (ISEAS Yusof-Ishak Institute) องค์กรวิชาการอิสระในประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความเห็นว่าการลงนามในข้อตกลง TAC เมื่อเดือน พ.ย. ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ที่แข็งแกร่ง นับตั้งแต่ที่รัสเซียได้เป็นข้อตกลงนี้ด้วย โดยข้อตกลงนั้นมีการระบุหลักการสำคัญว่าจะต้องมีการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน อธิปไตยของชาติ และการไม่ใช้กําลังเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพรมแดน
ประธานาธิบดีเซเลนสกีปราศรัยที่ประเทศอินโดนีเซีย (อ้างอิงวิดีโอจาก BBC)
ขณะที่ในการประชุม G20 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีการให้ประธานาธิบดีโวลโลโดเมียร์ เซเลนสกีของประเทศยูเครนได้ออกมาเรียกร้องในที่ประชุมว่าให้รัสเซียดำเนินการถอนทหารออกจากประเทศยูเครนเช่นเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นความเลี่ยนแปลงที่สำคัญของจุดยืนในประเทศอาเซียนที่มาต่อสงครามยูเครนว่าไม่เหมือนเดิมแล้ว
@ความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาค
กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เกิดความกังวลว่าการใช้กำลังเพื่อรุกล้ำและบุกรุกดินแดน,อธิปไตยของประเทศอื่นๆนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้จริง
สิ่งที่ตามมาก็คือว่ามีความกังวลที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค อาทิ การอ้างสิทธิในทะเลจีนใต้,ข้อมูลที่รั่วไหลเกี่ยวกับกรณีว่าจีนจะบุกไต้หวันเป็นต้น
โดยนายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ของประเทศสิงคโปร์ได้เคยออกแถลงการณ์ว่าหากเราถดถอยไปสู่โลกการที่ใครมีอำนาจมากกว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องนั้น เราจะพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศเล็กๆจะสามารถอยู่รอดได้
ขณะที่นายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของประเทศญี่ปุ่นได้กล่าวว่าการแย่งชิงที่ประเทศยูเครนนั้นอาจทำให้เกิดพลวัตรใหม่ว่าจะมีการแย่งชิงในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นเหนือทะเลจีนใต้,หมู่เกาะไต้หวัน และหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูได้
เรียบเรียงจาก:https://www.orfonline.org/expert-speak/the-ongoing-russia-ukraine-conflict-impact-on-southeast-asia/