..."ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งว่าความผิดดังกล่าวสามารถตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรได้ หากผู้ต้องหายินยอมยกของกลางดังกล่าวทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน"...
จากที่ปรากฎเป็นข่าวตามสื่อต่าง ๆ เรื่องนักแสดงสาวชาวไต้หวัน 'อันหยูชิง' หรือ 'ชาร์ลีน อัน' พกบุหรี่ไฟฟ้า และถูกตำรวจไทยรีดเงินกว่า 27,000 บาท ซึ่งภายหลังทางตำรวจออกมารับสารภาพแล้วว่ามีการรีดเก็บเงินจริง จากกรณีดังกล่าว สร้างความสับสน และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชน เกี่ยวกับข้อกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ ในเรื่องของการนำเข้า การครอบครอง การขายหรือให้บริการ และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า
ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้ออกบันทึกข้อความ เรื่อง ข้อกฎหมายและแนวทางในการปฏิบัติ กรณีความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภค กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ และกรมควบคุมโรค ได้หารือร่วมกัน ทางสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงนำมารายงาน ดังนี้
1.กรณีผู้ขายหรือผู้ให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า
จากคณะกรรมการผู้บริโภคได้ออก คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า 'บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า' ระบุ กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม ห้ามให้ผู้ใดขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ให้บริการ หรือจัดหาบุหรี่ไฟฟ้าให้ไม่ว่าด้วยประการใด ๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนดังกล่าว และจากการทดสอบของกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่ามีสารเคมีที่ เป็นอันตรายต่อร่างกายหลายชนิด นอกจากนี้ ยังพบโลหะหนักที่เป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งการสูบอุปกรณ์ดังกล่าวอาจทำให้ผู้สูบเกิดโรคต่าง ๆ และเป็นสาเหตุของโรคติดต่อหลายชนิด
ดังนั้นหากผู้ใดขายหรือให้บริการบุหรี่ไฟฟ้า จะต้องรับผิดตามมาตรา พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.กรณีนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า
ตาม ประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ซึ่งหากผู้ใดนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า หรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าจะต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 มาตรา 20 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงินห้าเท่าของราคาสินค้าที่นำเข้าหรือ หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสิ่งที่ใช้บรรจุ และพาหนะใด ๆ ที่ใช้ในการบรรทุกสินค้าบุหรี่ไฟฟ้านั้นด้วย
นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องโทษระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
ภาพจาก BBC THAI
3.กรณีผู้ครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า
เป็นความผิดฐาน ช่วยช่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ หรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่เข้ามาในราชอาณาจักร โดยยังมิได้ ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง ตามมาตรา 246 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมคำอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้เมื่อบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้าม แม้จะไม่มีเจตนาหรือไม่รู้ว่าเป็นของมีความผิด ก็ต้องถูกริบให้ตกเป็นของแผ่นดินและนำไปทำลายตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
สำหรับการดำเนินคดีกับผู้ครอบครองให้ดำเนินการตามปฏิบัติดังนี้
- 3.1 ในชั้นจับกุมให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งผู้ที่จะถูกจับกุมทราบว่าการครอบครองบุหรี่ไฟฟ้านั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ความผิดดังกล่าวสามารถตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรได้
- 3.2 ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาให้การรับสารภาพ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งว่าความผิดดังกล่าวสามารถตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากรได้ หากผู้ต้องหายินยอมยกของกลางดังกล่าวทั้งหมดให้ตกเป็นของแผ่นดิน
- 3.3 กรณีผู้ต้องหาประสงค์จะระงับคดีในชั้นศุลกากร ให้พนักงานสอบสวนจัดทำคำร้องขอทำความตกลงระงับคดี และให้ผู้ต้องหาลงลายมือชื่อ
- 3.4 ให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวโดยไม่มีประกัน
- 3.5 ให้ส่งคำร้องขอทำความตกลงระงับคดี ของกลาง สำเนาบันทึกการจับกุม สำเนาบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องไปยังหน่วยงานศุลกากรที่รับผิดชอบพิจารณาให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ที่รับมอบหมายเป็นผู้นำส่ง กรณี สน./สภ. หรือหน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนอยู่ห่างไกลกับหน่วยงานศุลกากรที่รับผิดชอบ ให้มีหนังสือประสาน สน./สภ.ที่อยู่ใกล้เคียงกับหน่วยงานศุลกากรดังกล่าว ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมของกลางทางไปรษณีย์ตอบรับไปยัง สน/สภ. ที่อยู่ใกล้เคียงกับหน่วยงานศุลกากร และให้ สน/สภ. นั้น มอบหมายเจ้าหน้าที่เป็นผู้นำส่ง แล้วแจ้งผลการนำส่งให้พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีทราบ
- 3.6 เมื่อได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากกรมศุลกากรว่า รับทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยรับของกลางไว้เป็นของแผ่นดิน และอนุมัติงดการฟ้องร้องตามมาตรา 256 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 ให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเสนอสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการ
มีข้อสังเกตว่า ถ้าตัวเจ้าอ้างว่าโดยอ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นของนำเข้ามาโดยผิดกฎหมายพนักงานสอบสวน พิสูจน์ไม่ได้ อาจจะต้องสั่งไม่ฟ้อง หรือไม่
4.กรณีสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ปลอดบุหรี่
พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 มาตรา 4 กำหนดให้ บุหรี่ไฟฟ้า เป็น 'ผลิตภัณฑ์ยาสูบ' ดังนั้น หากผู้ใดสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ปลอดบุหรี่ จึงมีความผิดตามมาตรา 42 ประกอบมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท