"...พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ โดยให้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สามารถตรวจสอบความคืบหน้าการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้..."
เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ โดยให้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สามารถตรวจสอบความคืบหน้าการทำงานของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้ ว่าเรื่องที่ใช้บริการหรือเกี่ยวข้องดำเนินงานไปถึงขั้นตอนใด
การตราพระราชบัญญัติดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนและความยุ่งยากซับซ้อน รวมทั้งยังมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดระบบติดตาม ตรวจสอบ และแจ้งความคืบหน้าเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่มีหน้าที่และอำนาจดำเนินงาน เช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานราชการอื่น ๆ ในกระบวนการยุติธรรมตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
ภายหลังพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ตรวจสอบพบว่าทั้งศาลปกครอง และศาลยุติธรรมได้ออกประกาศกำหนดระยะเวลาดำเนินคดี โดยมีกฎเกณฑ์ดังนี้
@ศาลปกครอง
ศาลปกครองได้ประกาศ กำหนดระยะเวลาดำเนินงานคดีในศาลปกครอง พ.ศ. 2566 โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว คือคดีที่ยื่นฟ้องก่อนวันที่ 23 ม.ค. 2566 หากคดีนั้นอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในขั้นตอนใด ให้เริ่มต้นนับระยะเวลาในขั้นตอนนั้น ๆ ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป
โดย ระยะเวลาดำเนินคดีในศาลปกครองชั้นต้น กำหนดให้ตุลาการที่มีคดีอยู่ในครอบครอง 1-48 คดี ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 2 ปี 6 เดือน หากมีคดีครอบครองตั้งแต่ 49-72 คดี ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 3 ปี 1 เดือน 15 วัน หากมี 73-96 คดีในครอบครอง ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี 9 เดือน ทั้งนี้หากมีคดีในครอบครองเกินกว่า 48 คดี ให้เพิ่มระยะเลาในแต่ละขั้นตอนออกไปอีก 0.25 เท่า ทุกจำนวน 24 คดี
ระยะเวลาดำเนินงานคดีในศาลปกครองสูงสุด (กรณีคดีฟ้องตรงต่อศาลปกครองสูงสุด และคดีอุทธรณ์คำพิพากษา และคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น) กำหนดให้ตุลาการที่มีคดีครอบครอง 1-100 คดี ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 2 ปี 6 เดือน คดีในครอบครอง 101-150 คดี ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 3 ปี 1 เดือน 15 วัน คดีในครอบครอง 151-200 คดี ต้องทำให้แล้วเสร็จใน 3 ปี 9 เดือน ทั้งนี้หากมีคดีในครอบครองเกินกว่า 100 คดี ให้เพิ่มระยะเวลาในแต่ละขั้นตอนออกไปอีก 0.25 เท่า ทุกจำนวน 50 คดี
อย่างไรก็ตาม ในคดีที่มีเหตุพิเศษดังต่อไปนี้ ที่อาจทำให้ไม่สามารถจัดทำคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ ให้กำหนดระยะเวลาตามขั้นตอนนั้น โดยเริ่มนับต่อจากระยะเวลาเดิมเมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในกรณีนั้น ๆ เสร็จสิ้นลงหรือเหตุพิเศษดังกล่าวหมดไป
1.กรณีที่มีเหตุที่จะต้องเรียกคืนสำนวนคดีหรือโอนคดี หรือกรณีที่มีการคัดค้านตุลาการ
2.กรณีที่คู่กรณีขอให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่การไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ หรือสำเร็จบางส่วน หรือกรณีที่มีการพิจารณาคำขอเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา หรือกรณีที่มีคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล หรือกรณีที่มีการฟ้องแย้งในคดีฟ้องตรง หรือกรณีที่มีคำร้องสอดหรือศาลเห็นสมควรเรียกบุคคลผู้อาจมีผลกระทบ หรือมีส่วนได้เสียเข้ามาในคดี หรือคู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
3.กรณีที่ประธานศาลปกครองชั้นต้น หรือ ชั้นสูงสุด มีข้อสังเกตหรือเห็นสมควรให้มีการวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองชั้นต้น หรือชั้นสูงสุด หรือกรณีที่มีการดำเนินการเกี่ยวกับการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลในคดีฟ้องตรง หรือส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
4.กรณีที่มีเหตุพิเศษอื่นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ เช่น มีภัยธรรมชาติ หรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการดำเนินกระบวนพิจารณา
@ศาลยุติธรรม
ศาลยุติธรรมได้ออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2566
สาระสำคัญของประกาศดังกล่าว คือระเบียบนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป และบรรดาคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับ ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามที่กำหนด นับแต่วันที่ระเบียบนี้มีผลใช้บังคับตามลักษณะหรือประเภทคดี แล้วแต่กรณี โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินคดีในแต่ละศาลดังนี้
ศาลชั้นต้น
การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลชั้นต้น
(1) คดีจัดการพิเศษ ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับฟ้อง
(2) คดีสามัญและคดีสามัญพิเศษ ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันรับฟ้อง
สำหรับคดีอาญาที่จำเลยคนใดคนหนึ่งต้องขังระหว่างพิจารณา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันออกหมายขังระหว่างพิจารณา ส่วนคดีแพ่งและคดีอาญาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลแขวงไม่ว่าจะเป็นคดีประเภทใด ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับฟ้อง
การพิจารณาคำร้อง คำขอระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น
(1) คำร้องขอปล่อยชั่วคราวและการออกหมายปล่อย ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ได้รับคำร้อง
(2) คำร้องขอรับเงินต่าง ๆ คืนจากศาล ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง และดำเนินการจ่ายให้ผู้ที่มีสิทธิรับเงินภายใน 9 วันทำการ นับแต่วันที่ศาลสั่ง
(3) คำร้อง คำขออื่น ๆ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำร้องหรือคำขอ
ศาลอุทธรณ์
การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ภาคและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
(1) คดีเร่งพิเศษ ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
(2) คดีเร่ง ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
(3) คดีพิเศษ คดีทั่วไปหรือคดีธรรมดา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
การพิจารณาคำร้อง คำขอระหว่างการพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาคและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
(1) คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ได้รับคำร้องจากศาลชั้นต้น
(2) คำสั่ง คำร้องทั่วไป ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
(3) คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลอุทธรณ์ คดีแพ่งและคดีอาญา
ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น ส่วนคดีอาญาที่มีปัญหาเฉพาะดุลพินิจในการลงโทษ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
การพิจารณาคำร้อง คำขอระหว่างการพิจารณาในศาลอุทธรณ์
(1) คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ได้รับคำร้องจากศาลชั้นต้น
(2) คำสั่ง คำร้องทั่วไป ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รับคำร้อง
(3) คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ในคดีผู้บริโภค คดีค้ามนุษย์ และคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
การพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค
ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับคำร้อง
ศาลฎีกา
การพิจารณาพิพากษาคดีในศาลฎีกา
(1) คดีแพ่งและคดีอาญา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น ในส่วนคดีอาญาที่มีปัญหาเฉพาะดุลพินิจในการลงโทษ ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่รับสำนวนจากศาลชั้นต้น
(2) คดีที่ต้องทำการไต่สวนหรือสืบพยานในศาลฎีกา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันเริ่มไต่สวนหรือสืบพยาน
(3) คำร้องขออนุญาตฎีกา ศาลจะพิจารณาพิพากษาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
การพิจารณาคำร้อง คำขอระหว่างการพิจารณาในศาลฎีกา
(1) คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ได้รับคำร้อง
(2) คำสั่ง คำร้องทั่วไป ศาลจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง
อย่างไรก็ตามการพิจารณาพิพากษาคดีอาจล่าช้ากว่ากำหนดได้ เช่น จากการโอนสำนวนคดี การปรึกษาร่างคำพิพากษาตามระเบียบ การประชุมใหญ่ การตกลงกันของคู่ความ อาทิ การไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท การรอฟังผลคดีอื่น หรือมีข้อขัดข้องอื่น อาทิ การส่งหมายระหว่างประเทศ การทำแผนที่พิพาท การตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน หรือมีเหตุจำเป็นอื่น
โดยประธานศาลฎีกา ประธานศาลชั้นอุทธรณ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น หรืออธิบดีผู้พิพากษาภาค อาจกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทเป็นอย่างอื่นได้ ตามลักษณะ สภาพ ซึ่งต่างจากคดีทั่วไป เช่น มีคู่ความหรือพยานหลักฐานจำนวนมาก หรือปริมาณงานที่อยู่ในความรับผิดชอบเยอะ เว้นแต่มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ในกรณีของศาลอื่นนอกจากศาลฎีกาให้รายงานประธานศาลฎีกาทราบ
ทั้งนี้หากดำเนินงานไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถทราบเหตุแห่งความล่าข้าหรือตรวจสอบความคืบหน้าได้
โดยให้ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาล หรือสำนักงานประจำศาลเป็นผู้รับผิดชอบในการรับเรื่องจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานและแจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาและสำนักงานศาลยุติธรรมทราบ
ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม