"...ต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2560 มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 125,656 บาท ต่อผู้ถูกกล่าวหา 1 คน ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย เมื่อนำค่าใช้จ่ายข้างต้นมาคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อเพื่อหามูลค่าโดยประมาณในปัจจุบันจะได้ต้นทุนรวมเฉลี่ยในปี 2565 จำนวน 168,156 บาท..."
ปัญหานักโทษล้นคุกเป็นปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีแนวโน้มดีขึ้น จากข้อมูลที่ผ่านมาระบุว่าเรือนจำไทยสามารถรับผู้ต้องขังได้ราว 200,000 คน แต่ในปัจจุบันยังมีนักโทษมากกว่าจำนวนที่เรือนจำรองรับได้ นอกจากนี้ผู้ต้องขังในประเทศไทยส่วนใหญ่ติดคุกในคดียาเสพติด ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าโทษของผู้ต้องขังในคดีข้างต้นส่วนใหญ่เป็นโทษที่มีระยะเวลาสั้น (ระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี) ทำให้ผู้ต้องขังเหล่านี้เมื่อพ้นโทษส่วนมากมักจะกระทำความผิดซ้ำจึงต้องกลับมาติดคุกเข้าไปอยู่ในเรือนจำหลายครั้ง ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของภาครัฐที่จะต้องนำไปใช้กับผู้ต้องโทษคนเดิมที่มีความผิดในคดีเดิม
จากสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ โดยกรมราชทัณฑ์ สำรวจเมื่อ 1 ม.ค 2566 พบว่ามีผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องขังทั้งหมด 262,319 คน แบ่งเป็นเพศชาย 231,813 คน เพศหญิง 30,506 คน มีผู้ต้องขังจากคดียาเสพติดจำนวน 206,361 คิดเป็นร้อยละ 78.67 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด และจากการายงานข่าวตามที่สื่อสำนักต่าง ๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ต้องขังล้นคุกในประเทศไทย ที่ทางภาครัฐพยายามหาแนวทางแก้ปัญหามาโดยตลอด จนกระทั่งในช่วงปี 2564 - 2565 กรมราชทัณฑ์มีผู้ต้องขังน้อยลงกว่าในช่วงปี 2563 อย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมากจากการอภัยโทษและส่วนหนึ่งมาจากการคุมประพฤติโดยการใส่กำไล EM เพื่อควบคุมผู้ต้องโทษแทนการจองจำในเรือนจำ อย่างที่พบเห็นได้ในปัจุบัน
ภาพสถิติผู้ต้องขังเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 จาก www.correct.go.th/stathomepage/
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีของภาครัฐต่อผู้ถูกกล่าวหา 1 คน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลในรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จัดทำโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อ 26 มิถุนายน 2562 เสนอต่อสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) หรือ TIJ ระบุถึงต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2560 มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 125,656 บาท ต่อผู้ถูกกล่าวหา 1 คน ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนกระทั่งถึงขั้นสุดท้าย เมื่อนำค่าใช้จ่ายข้างต้นมาคำนวณตามอัตราเงินเฟ้อเพื่อหามูลค่าโดยประมาณในปัจจุบันจะได้ต้นทุนรวมเฉลี่ยในปี 2565 จำนวน 168,156 บาท ดังนั้นต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐในฐานะผู้ให้บริการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในปี 2565 ประมาณ 43,911,753,372 บาท
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวใช้เว็บไซต์ www.thaifranchisecenter.com ในการคำนวณ โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อที่ 6% ซึ่งอ้างอิงจาก www.price.moc.go.th
ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกกล่าวหา 1 คน
อย่างไรก็ตามจำนวนเงินข้างต้นเป็นเพียงต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ภาครัฐต้องแบกรับ ในรานงานของ TIJ ข้างต้นยังระบุถึงค่าใช้จ่ายในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมที่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 3,788 - 1,560,797 บาท ตามความร้ายแรงของคดี โดยเริ่มจากคดีเกี่ยวกับจราจร คดีเกี่ยวกับทรัพย์ คดีเกี่ยวกับยาเสพติด คดีเกี่ยวกับเพศ และคดีเกี่ยวกับชีวิตตามลำดับความร้ายแรง โดยค่าใช้จ่ายทางตรงหมายถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรม ส่วนค่าใช้จ่ายทางอ้อมเป็นค่าใช้จ่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินการในกระบวนยุติธรรมของผู้ต้องโทษ เช่น ค่าเดินทางไปขึ้นศาล เป็นต้น
ภาพจากรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการพัฒนาตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่าย เพื่อส่งเสริมหลักนิติธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลต้นทุนต่อหน่วยในการดูแลนักโทษในปี 2563 โดยกรมราชทัณฑ์ ในหน้าที่ 16 ระบุค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลผู้ต้องขัง ดังนี้
- ผู้ต้องขังได้รับการควบคุมดูแล ใช้ต้นทุนต่อหน่วย 44,231.39 บาทต่อผู้ต้องขัง 1 คน
- ผู้ต้องขังได้รับการแก้ไขฟื้นฟูและพัฒนาพฤตินิสัย 280.25 บาทต่อผู้ต้องขัง 1 คน
- ผู้ต้องขังคดียาเสพติดเข้ารับการตรวจพิสูจน์ได้รับการควบคุมดูแล 1,608.13 บาทต่อผู้ต้องขังคดียาเสพติด 1 คน
- โครงการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ต้องขังติดยาเสพติด 359.93 บาทต่อผู้ต้องขังคดียาเสพติด 1 คน
- โครงการเรือนจำปลอดยาเสพติด แก้ไขปัญหายาเสพติดและสิ่งของต้องห้ามในเรือนจำ 291.95 บาทต่อผู้ต้องขังคดียาเสพติด 1 คน
รวมต้นทุนต่อหน่วยที่กรมราชทัณฑ์ใช้กับผู้ต้องขังหนึ่งคน คือ 44,511.64 และ 46,771.65 บาทสำหรับผู้ต้องขังคดียาเสพติด
ภาพจากรายงานการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่เผยแพร่ข้อมูลต้นทุนต่อหน่วยในการดูแลนักโทษในปี 2564 และ 2565
อย่างไรก็ดีข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ตามที่ได้กล่าวในข้างต้นไปว่าผู้ต้องขังส่วนหนึ่งในประเทศไทยเป็นผู้ต้องขังที่กระทำความผิดซ้ำในคดีเดิม การลดปริมาณผู้ต้องขังในส่วนนี้จะต้องอาศัยการแก้ปัญหาในระดับเชิงลึก ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระดับผิวเผิน
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาที่สามารถนำไปใช้ได้จริงจะต้องติดตามกันต่อไป
เอกสารเพิ่มเติม
รายงานการคำนวณต้นทุนต่อหน่วยผลผลิตประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563