“…การวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดที่ดำเนินการในประเทศไทยนี้ มีความก้าวหน้าโดยลำดับ ภายใน 2 ปี หากดำเนินการได้เป็นไปตามแผนงาน จะสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตวัคซีนภายใน ปลายปี 2566 ลดการนำเข้า อีกทั้งศักยภาพที่ได้พัฒนาขึ้น ทั้งในด้านความสามารถของนักวิจัย ผู้ผลิตวัคซีน โครงสร้างพื้นฐาน จะสามารถเป็นหลักประกันเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศต่อไปได้…”
เป็นเวลา 4 ปีเต็มแล้วที่โลกได้รู้จักกับโควิด-19 แม้ว่าสถานการณ์ในปัจจุบันจะไม่น่ากลัวเหมือนช่วงแรกที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีความน่ากังวลอยู่ เนื่องจากเชื้อไวรัสมีการหลายพันธุ์อยู่อย่างต่อเนื่อง
วัคซีนป้องกันเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้ต่อกรกับเชื้อไวรัสร้ายนี้ โดยวัคซีนโควิดรุ่นแรกถูกฉีดตั้งแต่เดือน มี.ค. 2564
สำหรับประเทศไทย วัคซีนที่ที่เราจะใช้อยู่ตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาดจนถึงขณะนี้ จะเป็นเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่เราเอง ก็ได้มีการศึกษาวิจัยพัฒนาวัคซีนอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ด้วยการสนับสนุนและนโยบายที่ชัดเจน จากกระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาล ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการวิจัยพัฒนาวัคซีนตั้งแต่ต้นน้ำในประเทศ รองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน รวมทั้งกรณีเกิดการระบาดของโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคต
โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ในการสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งสร้างศักยภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตวัคซีน ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญ
ล่าสุด สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้เปิดเผยความคืบหน้าของโครงการงวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย มีรายละเอียด ดังนี้
NASTVAC
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบพ่นจมูก ชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based ซึ่งผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะสามารถให้เป็นวัคซีนต้นแบบป้องกันโรคโควิด-19 เพื่อนำไปทดสอบทางคลินิกในอาสาสมัครต่อไป
Baiya SARS-CoV-2 Vax
วัคซีนโควิด-19 ใช้พืชเป็นแหล่งผลิต โดยบริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด โดยใช้ใบยาสูบ ในการผลิตวัคซีนชนิด Protein Subunit ดำเนินการวิจัยพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน
วัคซีนต้นแบบรุ่นแรกได้รับการพัฒนาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการศึกษาความปลอดภัยในสัตว์ทดลองทั้งหมดมากกว่า 10 การศึกษา มีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน 2564 โดยดำเนินการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยทดสอบวัคซีน 3 ขนาดคือ 10, 50 และ 100 ไมโครกรัมเพื่อหาขนาดของวัคซีนที่เหมาะสมในการกระตุ้นภูมิ รวมถึงมีความปลอดภัยเพื่อนำข้อมูลไปใช้กับวัคซีนรุ่นต่อไป
ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า วัคซีนมีความปลอดภัยดีอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับเมื่อทดสอบกับอาสาสมัคร แต่ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันยังไม่น่าพอใจ จึงมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 โดยปรับสารเสริมฤทธิ์เพื่อให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น อยู่ระหว่างการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 ในส่วนการผลิตได้ดำเนินการพัฒนาการผลิต
ส่วนต้นน้ำที่โรงงานของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม โดยได้ดำเนินการออกแบบ ก่อสร้างตั้งแต่ตุลาคม 2563 และได้รับใบอนุญาตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งสถานที่ผลิตได้รับการออกแบบตามแนวทางมาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices; GMPs) และจะเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุโดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิตสำหรับมนุษย์แห่งแรกในเอเชีย ตั้งอยู่ที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 11 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่ 1000 ตารางเมตร มีความสามารถผลิต 1-5 ล้านโดสต่อเดือน และสามารถปรับไปใช้ผลิตยาชีววัตถุอื่น ๆ ของบริษัท ใบยา เช่นยามะเร็ง monoclonal antibody, antivenom, monoclonal antibodies for rabies
สำหรับการผลิตส่วนปลายน้ำนั้น ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีของใบยาในการทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ที่บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และดำเนินการผสมและบรรจุขวดที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
ChulaCov19
วัคซีนโควิด -19 ชนิด mRNA โดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุนโดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้เข้าไป ก็จะสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด
ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ประสบผลสำเร็จในการทดลองในลิง และหนู พบว่าสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ชนิดแรกที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอที่ทำการศึกษาในคนไทย และมีความก้าวหน้าในการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 2 ต่อมาได้มีการถ่ายทอดกระบวนการผลิตมาที่บริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 โดยใช้วัคซีนที่ผลิตเองในประเทศไทย จุดเด่นของวัคซีน จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศา) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศา) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เป็นอย่างมาก ได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 3 จาก พรก.เงินกู้ (64) แล้วเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ในการทำการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 3 เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการขึ้นทะเบียนวัคซีนในประเทศไทย
HXP-GPOVAC
วัคซีน HXP-GPOVAC โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้วิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 โดยนำสารพันธุกรรมส่วนโปรตีนหนาม ผนวกรวมกับไวรัสโรคนิวแคสเซิล ผลิตเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายโดยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก
ผลวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า มีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี อภ.ร่วมกับศูนย์วัคซีน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัย มหิดล โดย ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม เป็นผู้ดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 และ 2 ในอาสาสมัครรวม 460 คน ซึ่งออกแบบมาเพื่อประเมินความปลอดภัย และความสามารถในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนที่ผลิตโดย อภ. โดยเริ่มฉีดอาสาสมัครเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564
โครงการวิจัยมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความปลอดภัย และการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ ผลการศึกษาพบว่า วัคซีนทุกขนาด (1, 3 และ 10 ไมโครกรัม) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี โดยขนาด 10 ไมโครกรัม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงสุด และมีความปลอดภัย จึงวางแผนการทดสอบในระยะที่ 3
ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในมนุษย์ในระยะที่ 3 ที่จังหวัดนครพนม จำนวน 4,000 คน โดยใช้วัคซีนในขนาด 10 ไมโครกรัมเป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น คาดว่าจะสามารถขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสิ้นปี 2566 นี้ นับเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่วิจัยพัฒนาในประเทศไทย ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด
สำหรับจุดเด่นของวัคซีน NDV-HXP-S คือ โรงงานของ อภ.มีความพร้อมในการผลิตระดับอุตสาหกรรม โดยใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ไม่ต้องลงทุนสร้างโรงงานใหม่
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติจากองค์กร PATH ในการสนับสนุนกล้าเชื้อไวรัส และการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และร่วมกันวิจัยจากผู้ผลิตจากประเทศเวียดนามและบราซิล
การวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิดที่ดำเนินการในประเทศไทยนี้ มีความก้าวหน้าโดยลำดับ ภายใน 2 ปี หากดำเนินการได้เป็นไปตามแผนงาน จะสามารถพึ่งพาตนเองในการผลิตวัคซีนภายใน ปลายปี 2566 ลดการนำเข้า อีกทั้งศักยภาพที่ได้พัฒนาขึ้น ทั้งในด้านความสามารถของนักวิจัย ผู้ผลิตวัคซีน โครงสร้างพื้นฐาน จะสามารถเป็นหลักประกันเพื่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศต่อไปได้ สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ เพื่อให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้ และมีความมั่นคงด้านวัคซีนอีกด้วย
จะต้องติดตามกันต่อไปว่า เราจะได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 สัญชาติไทยเมื่อไหร่