“...เมื่อถามว่า การทำป้ายบอกทางที่ใช้คำกวนๆ สามารถทำให้ผู้ใช้ทางมีสติและพ้นจากภาวะหลับในได้จริงๆหรือไม่ แหล่งข่าวตอบว่า มีผลจริงๆ ซึ่งการทดสอบในห้องปฏิบัติ หรือการทดสอบในสถานที่จริง จากกลุ่มตัวอย่าง 60 ตัวอย่าง พบว่า เมื่อเห็นป้ายบอกทางดังกล่าว จะทำให้เกิดภาวะฉุกคิด หรือ เอ๊ะ กับสิ่งที่ไม่คาดคิด ซึ่งคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์กำลังสรุปผลการศึกษากันอยู่ คาดว่าจะปรากฎชัดในปลายเดือน ธ.ค.นี้…”
กลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดียไปเรียบร้อย สำหรับป้ายบอกทางฮาๆ ที่แชร์กันให้ทั่ว กับป้ายบอกทางที่มีลักษณะตั้งคำถามกวนๆ อย่าง ‘โลมาเป็นปลาหรือไม่?’ หรือ ‘ฉลามวาฬเป็น ฉลาม หรือ วาฬ?’
โดยเหตุเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ (6 ธ.ค. 2565) เมื่อมีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Chitsanupong Kerdbundit โพสต์ลงในกลุ่ม Future of Thailand พร้อมระบุข้อความว่า ป้ายแบบนี้ใครจะอ่าน ผมนี่ไง แล้วเดือดร้อนต้องหาป้ายเฉลยอีก แล้วป้ายเฉลยห่างไปตั้ง2กิโล มีเวลาให้พอเถียงกับคนข้างๆได้ โดยพบว่าป้ายดังกล่าวติดตั้งในบริเวณทางหลวงหมายเลข 304 สายบางบัวทอง–ชัยนาท ช่วงกม.45+000 - 70+00 (สาลี - สุพรรณบุรี)
ภาพจาก Facebook: Chitsanupong Kerdbundit ในกลุ่ม Future of Thailand
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดต่อไปยังนายศรัณย์รัฐ พวงพัฒน์ ผอ.แขวงทางหลวงสุพรรณบุรีที่ 1 สำนักงานทางหลวงที่ 12 กรมทางหลวง (ทล.) เพื่อสอบถามที่มาทำป้ายบอกทางดังกล่าว
@ที่มา ผลการศึกษาแก้อุบัติเหตุจากการหลับใน
โดยนายศรัณย์รัฐ เปิดเผยว่า การทำป้ายดังกล่าวเป็นผลจากโครงการศึกษาเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุบัติเหตุบนทางหลวงที่เกี่ยวเนื่องจากการขับขี่หลับใน โดยสำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง (ทล.) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ต.ค. 2565
สาเหตุที่เลือกพื้นที่ ทล.340 ช่วงดังกล่าวในการติดตั้งป้ายบอกทาง เนื่องจากเป็นช่วงถนนที่เกิดอุบัติเหตุจากการหลับในมากที่สุด เพราะช่วงถนนดังกล่าวมีลักษณะเป็นทางตรงยาวมากประมาณ 20 กม. โดยจากข้อมูลที่รวบรวม ณ วันที่ 7 ธ.ค. 2565 สถิติในปี 2565 มีจำนวนผู้ใช้ทางเฉลี่ย 20,000 คัน/วัน เกิดอุบัติเหตุเฉพาะช่วงนี้ 67 ครั้ง เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 57 ราย สันนิษฐานสาเหตุที่เกิดอุบัติเหตุมาจากการหลับใน 14 ครั้ง
สำหรับผลตอบรับหลังจากติดตั้งป้ายบอกทางดังกล่าว พบว่า ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และมีสื่อมวลชนหลายสำนักเดินทางมาขอสัมภาษณ์ถึงประเด็นดังกล่าวจำนวนมาก ส่วนหลังจากนี้จะขยายผลต่อไปอย่างไรนั้น คงต้องรอสรุปผลการศึกษาก่อน โดยคาดว่าในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2565 นี้ จะสามารถสรุปได้ ก่อนรายงานฝ่ายบริหารต่อไป
นายศรัณย์รัฐ พวงพัฒน์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสุพรรณบุรีที่ 1 (นั่งกลาง) ภาพจาก Facebook: แขวงทางหลวง สมุทรสาคร
@ค่าศึกษา 900,000 บ.
ด้านแหล่งข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า โครงการศึกษาดังกล่าวใช้งบประมาณปี 2564 ดำเนินการ วงเงินโครงการ 900,000 บาท เป็นการศึกษาร่วมกับสถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยค่าใช้จ่ายเป็นการจัดทำป้ายบอกทาง ขีดสีตีเส้น และค่าการใช้ห้องปฏิบัติการเสมือนจริงในการทดสอบ
สาเหตุสำคัญที่ทำการศึกษาเรื่องนี้ เพราะว่า 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555-2564 อุบัติเหตุหลับในมีสัดส่วนเป็น 6% ของอุบัติเหตุบนทางหลวง เมื่อพิจารณาอัตราความรุนแรงของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุต่อจำนวนครั้งของอุบัติเหตุพบว่า การหลับในจะมีความรุนแรงที่ 0.19 คนต่อครั้ง สูงกว่าอุบัติเหตุทั่วไปบนทางหลวงที่ 0.15 โดยการหลับในจะนำไปสู่ลักษณะของอุบัติเหตุจากการชนข้างทางมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 972 คนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุ และผู้เสียชีวิตจากการหลับในมีสูงขึ้นในช่วง ปี พ.ศ. 2556-2562 ทำให้กรมเร่งดำเนินการหามาตรการป้องกันอุบัติเหตุและความรุนแรงจากการหลับใน ทั้งมาตรการการรณรงค์ให้พักผ่อนก่อนเดินทาง มาตรการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ที่ง่วงระหว่างการเดินทาง ทำให้ช่วงปี ปี พ.ศ. 2563-2564 สถิติเริ่มมีแนวโน้มลดลง
และเมื่อกรมมีนโยบายที่จะลดอุบัติเหตุจากสาเหตุหลับในให้เป็นศูนย์ จึงเริ่มทดลองมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ขับขี่เกิดการตื่นตัว จึงเกิดเป็นโครงการดังกล่าวขึ้น
โดยพื้นที่เป้าหมายที่เลือกมี 3 พื้นที่ประกอบด้วย
1. ทางหลวงหมายเลข 340 ช่วงสาลี - สุพรรณบุรี ระยะทาง 29.5 กม. จ.สุพรรณบุรี ปริมาณจราจรเฉลี่ย 24,503 คัน/วัน สาเหตุที่เลือก เพราะเป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุจากการหลับในสูงสุด จากการเก็บข้อมูลช่วงปี 2560-2562 เกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน 66 ครั้ง เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 72 ราย สาหัส 6 ราย
2. ทางหลวงหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์ - หนองแค ระยะทาง 27.18 กม. จ.พระนครศรีอยุธยา ปริมาณจราจรเฉลี่ย 129,987คัน/วัน สาเหตุที่เลือกเพราะเป็นสายทางที่มีจุดพักรถเป็นจำนวนมาก แต่เพราะมีทางคู่ขนาน จึงไม่สามารถเข้าจุดพักรถได้ทันที เหมาะสำหรับการติดตั้งป้ายบอกพิกัดจุดพักรถเป็นระยะๆ โดยเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน 44 ครั้ง เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 95 ราย สาหัส 4 ราย
และ 3.ทางหลวงหมายเลข 344 ช่วงหนองรี - หนองปรือ ระยะทาง 26.65 กม. จ.ชลบุรี ปริมาณจราจรเฉลี่ย 79,775 คัน/วัน สาเหตุที่เลือกเพราะเป็นสายทางที่มีผู้เสียชีวิตจากการหลับในต่อจำนวนครั้งสูงที่สุด โดยเกิดอุบัติเหตุจากการหลับใน 2 ครั้ง เสียชีวิต 25 ราย บาดเจ็ยสาหัส 2 ราย
เมื่อถามว่า การทำป้ายบอกทางที่ใช้คำกวนๆ สามารถทำให้ผู้ใช้ทางมีสติและพ้นจากภาวะหลับในได้จริงๆหรือไม่ แหล่งข่าวตอบว่า มีผลจริงๆ ซึ่งการทดสอบในห้องปฏิบัติ หรือการทดสอบในสถานที่จริง จากกลุ่มตัวอย่าง 60 ตัวอย่าง พบว่า เมื่อเห็นป้ายบอกทางดังกล่าว จะทำให้เกิดภาวะฉุกคิด หรือ เอ๊ะ กับสิ่งที่ไม่คาดคิด ซึ่งคิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์กำลังสรุปผลการศึกษากันอยู่ คาดว่าจะปรากฎชัดในปลายเดือน ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ ถ้อยคำที่เลือกใช้ต้องเป็นคำหรือประโยคที่เข้ายุคสมัย อย่างที่เลือกใช้คำถามเกี่ยวกับปลาโลมาและฉลามวาฬ เพราะช่วงที่กำลังดำเนินการ เพลง ฉลามชอบงับคุณ โดยศิลปิน Bonnadol ft. IIVY B กำลังโด่งดังในโซเชียลมีเดียและเป็นที่รู้จักทั่วไป จึงได้คิดคำถามที่เกี่ยวข้องกับเพลงดังกล่าวมาใช้ในการทำป้ายดังกล่าว ทั้งนี้ ถ้อยคำที่ใช้ควรมีการเปลี่ยนทุกๆ 1-2 เดือน เพราะสิ่งที่เป็นกระแสในสังคมปัจจุบันค่อนข้างเปลี่ยนเร็ว หากมีการนำไปใช้จริงๆ อาจจะเป็นไปในลักษณะของการใช้สติกเกอร์ หรือการทำป้ายที่สามารถเปลี่ยนหรือสลับตัวอักษรได้ ซึ่งใช้งบประมาณไม่มาก
และถ้าหากจำกันได้ช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ทีผ่่านมา ป้ายขอบคุณและอวยพรในโอกาสดังกล่าวของผู้นำรัฐบาล ก็กลายเป็นจุดสนใจที่ประชาชนพบเห็นก็ต้องมองหรือชะลอดู ซึ่งกรมก็ใช้หลักการเดียวกันนี้ในการทำการศึกษานั่นเอง
ส่วนหลังจากนี้จะขยายผลไปในวงกว้างหรือไม่นั้น แหล่งข่าว ระบุว่า คงต้องรอผลการศึกษาสำเร็จก่อน หลังจากนั้นจึงจะเสนอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาต่อไป ก็ถือว่ากรมได้ทำผลการศึกษาไว้แล้ว หากหน่วยงานใดสนใจจะนำไปประยุกต์ก็ยินดี