ย้อนไปที่การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 1,285 เมกะวัตต์ การสร้างเขื่อนดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในจังหวัดหนองคายของประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากพื้นที่สร้างเขื่อนกว่า 400 กิโลเมตร ส่งผลทำให้ชาวนาใน จ.หนองคายต้องมีการต่อท่อเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำ และเมื่อเขื่อนได้ปล่อยน้ำออกมา ระดับน้ำก็จะพุ่งสูงอย่างเร็วมากจนเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้น
การประชุมสุดยอดผู้นำประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ที่ประเทศไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพในวันที่ 16-18 พ.ย. นี้นั้น ประเทศไทยได้ชูประเด็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเปคให้เป็นวาระสำคัญของการประชุม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาในประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาที่มาจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่แม่น้ำโขงของประเทศสมาชิกในอาเซียน อย่างประเทศลาว นั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเป็นอย่างยิ่งทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ
โดยถ้าหากปล่อยให้มีการสร้างเขื่อนต่อไป ภายใต้หลักคิดที่ว่าเขื่อนในแม่น้ำโขงนั้นมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่กลับไม่มีการหารือถึงผลกระทบในแง่ลบเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของภูมิภาค คำว่าเศรษฐกิจสีเขียวที่ประเทศไทยได้ชูประเด็นในการประชุมครั้งนี้ก็คงจะเป็นเพียงแค่วาทกรรมเท่านั้น
และล่าสุดเมื่อประมาณวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมาสำนักข่าวแชนนอลนิวส์เอเชียของประเทศสิงคโปร์ก็ได้ออกบทความฉบับหนึ่งวิเคราะห์เกี่ยวกับประเด็นของประเทศลาว ที่ตัดสินใจแค่ว่าต้องการจะเป็นแหล่งแบตเตอรี่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียนเท่านั้น ทว่าสิ่งที่ประเทศลาวและประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงไทยต้องสูญเสียไปนั้นมีมากมาย ทั้งในประเด็นเรื่องของมรดกทางวัฒนธรรม,สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่กับแม่น้ำโขงมาอย่างยาวนาน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอบทความดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายของประเทศไทยในการนำเสนอการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวในการประชุมเอเปคที่จะมาถึงเร็วๆนี้
โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เนื่องจากว่าประเทศลาวนั้นมีการส่งออกไฟฟ้าไปยังประเทศไทย,เวียดนาม,เมียนมา,มาเลเซีย และแม้แต่สิงคโปร์ นี่ทำให้ประเทศลาวนั้นมีความมุ่งมั่นอย่างยิ่ง ในการที่จะเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าแบตเตอรี่แห่งอาเซียน
โดยในปัจจุบัน ปริมาณการส่งออกไฟฟ้าขนาดใหญ่ของประเทศลาวนั้นมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนจำนวนเกือบ 80 แห่งในประเทศ และเขื่อนอื่นๆที่อยู่ในพื้นที่แม่น้ำโขง ซึ่งมีเขื่อนแห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้างนั้นพบว่าอยู่ห่างจากพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโก ที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวงพระบางไปแค่ 25 กิโลเมตรเท่านั้น
เขื่อนหลวงพระบางที่ว่ามานี้นั้นมีกำหนดการจะสร้างแล้วเสร็จในปี 2570 โดยเมื่อเขื่อนนี้สร้างเสร็จแล้ว เขื่อนจะมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 1,460 เมกกะวัตถ์ จึงทำให้เป็นเขื่อนที่มีขีดความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเหนือเขื่อนอื่นๆในประเทศลาว ซึ่งพลังงานไฟฟ้าส่วนมากที่มาจากเขื่อนแห่งนี้นั้นก็จะถูกขายต่อให้กับประเทศไทย
โดยข้อดีของการสร้างเขื่อนแห่งนี้ที่เห็นได้เด่นชัดก็คือเป็นการเสริมสร้างอาชีพให้คนท้องถิ่น อาทิ นายทิด เผือ คนขับเรือเฟอรี่ที่มักจะขับเรือพาขนคนงานสร้างเขื่อนจากหมู่บ้านในพื้นที่ไปยังจุดก่อสร้างเขื่อนอยู่เป็นประจำ
“ผมทำเงินได้มากขึ้นเมื่อการก่อสร้างนั้นต้องใช้คนงานมากขึ้น โดยผมคิดค่าเรือประมาณ 20,000 กีบ (43.58 บาท) ต่อคน” นายทิดกล่าวและกล่าวต่อไปว่าเขาให้บริการเรือเฟอรี่จำนวนหกลำจากที่มีอยู่ทั้งหมด 64 ลำในทุกๆวัน
“ผมว่ามันก็เป็นเรื่องที่มีประโยชน์สำหรับคนที่อาศัยอยู่ในชนบท ที่มีรายได้เพียงน้อยนิด เพราะถ้าหากว่าเขามีเรือ ก็จะสามารถหาเงินได้ง่ายๆจากการขนส่งคนไปกลับในทุกๆวัน”
ทว่าความเสี่ยงจากโครงการการก่อสร้างเขื่อนนั้นก็เริ่มจะเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและเป็นที่กังวลกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะความเสี่ยงต่อพื้นที่มรดกโลก ความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงในประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวกับชุมชน
ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเขื่อนของลาวนั้นเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้อาเซียนสามารถมีพลังงานได้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องไปอาศัยแหล่งหลังงานอื่นๆที่จะเป็นการเพิ่มก๊าซคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ แน่นอนว่าในทุกวันนี้นั้นพลังงานไฟฟ้าที่มาจากน้ำถือว่าเป็นพลังงานสะอาด สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ที่มีสัดส่วนสูงที่สุดในโลก และทำให้ประเทศต่างๆสามารถลดการพึ่งพาน้ำมันจากฟอสซิลลงไปได้
ชาร์ตแสดงข้อมูลแหล่งพลังงานสะอาดที่ใช้ในปัจจุบัน
ทว่าในโครงการก่อสร้างนี้กลับมาค่าใช้จ่ายแฝงที่ยังมองไม่เห็นอยู่มาก
“มีข้อกังวลอยู่มากเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ทั้งในประเด็นว่ามันจะไปส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้คน และมรดกโลก ซึ่งถือว่าเป็นคุณค่าที่สำคัญอย่างยิ่งของเมืองหลวงพระบาง” นายฟิลลิป เฮิร์ช ศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ กล่าว
ทั้งนี้ตำแหน่งของเขื่อนหลวงพระบางนั้นจะอยู่ระหว่างเขื่อนปากเบ็ง เขื่อนอีกแห่งที่จะอยู่ตรงต้นน้ำ และเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเขื่อนทั้งสองที่ว่ามานี้นั้นมีบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างสองแห่งด้วยกันได้แก่บริษัท PetroVietnam Power และบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท ช.การช่าง นั่นเอง
“ด้วยการสร้างอ่างเก็บน้ำเป็นช่วงๆกินระยะทางรวมกว่า 60-70 กิโลเมตร และจะมีแผนการสร้างเขื่อนในที่ต้นน้ำเป็นแห่งถัดไป คุณได้เปลี่ยนลักษณะจากแม่น้ำที่ไหล ให้กลายเป็นแอ่งของทะเลสาบเป็นจุดๆ” นายเฮิร์ชกล่าว
พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนหลวงพระบาง
ทั้งนี้การก่อสร้างเขื่อนนั้น ส่งผลทำให้ต้องมีการย้าย 26 หมู่บ้านออกจากพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบ ครอบคลุมประชาชนกว่า 10,000 คน
ขณะที่ทางนายจันทบูล สุกาโลน กรรมการรัฐวิสาหกิจ Electricite du Laos ได้กล่าวถึงการย้ายถิ่นฐานนี้ว่าพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขื่อนหลวงพระบางนั้น เดิมทีเป็นพื้นที่ที่ไม่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว
“พื้นที่ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของเขื่อนนั้น ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ในบางครั้งก็ไม่มีการรักษาพยาบาล ไม่มีโรงพยาบาล และถ้าหากไม่ใช่ในช่วงฤดูแล้งแล้ว บางหมู่บ้านในพื้นที่ก็จะถูกตัดขาด ดังนั้นการที่เรามีแผนการย้ายผู้คนออกไป ไม่ได้ทำให้ชีวิตของคนเหล่านี้แย่ลงเลยแม้แต่น้อย แต่ในทางกลับกัน กลับทำให้คุณภาพชีวิตของคนเหล่านี้ดีขึ้นเสียด้วยซ้ำ”นายจันทบูลกล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของนายเฮิร์ชนั้นกล่าวว่าจากงานวิจัยของเขา แสดงให้เห็นถึงผลที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง
พื้นที่ทางรัฐบาลลาวได้เตรียมไว้สำหรับการย้ายชาวบ้าน
“ผมไม่เคยพบเห็นชุมชนใดที่มีการพลัดถิ่นแล้วปรากฏว่าวิถีชีวิต การหารายได้ของพวกเขานั้นจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับที่มีก่อนการสร้างเขื่อน” นายเฮิร์ชกล่าว
โดยก่อนหน้าที่จะมีการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง ก็มีการสร้างเขื่อนไปแล้วในพื้นที่สองจังหวัด ซึ่งการสร้างเขื่อนทั้งสองครั้ง ทางรัฐบาลก็ได้มีการย้ายถิ่นฐานของประชาชนไปอยู่ในที่ๆรัฐบาลได้จัดไว้ให้อีกเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าการย้ายถิ่นฐานนั้นก็มีข้อดีอยู่บ้างในบางประการ อาทิ การเข้าถึงโรงเรียน ถนน และศูนย์สุขภาพเป็นต้น อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่สิ่งจะรับรองรายได้ให้กับประชาชน
กลับมาที่ประเด็นเรื่องหลวงพระบาง เมืองแห่งนี้นั้นพบว่าเคยเป็นเมืองหลวงเก่าของประเทศลาว มีที่ตั้งอยู่บนรอยเลื่อน ซึ่งนี่หมายความว่าจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นบนพื้นที่เมืองแห่งนี้ และแน่นอนว่าการที่มีแผ่นดินไหวในพื้นที่เมืองที่เป็นที่ตั้งเขื่อนก็จะส่งผลเกี่ยวกับความปลอดภัยของเขื่อนและความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง
และลาวก็ประสบกับปัญหาเขื่อนพังมาแล้วเมื่อปี 2561 เมื่อเขื่อนสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยได้พังทลายลงเนื่องจากข้อบกพร่องในการก่อสร้าง ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 49 ราย สูญหาย 22 ราย และมีผู้พลัดถิ่นอีกอย่างน้อย 7,000 ราย
ผลกระทบจากเหตุการณ์เขื่อนสำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยถล่ม
@ผลกระทบกับระบบนิเวศวิทยา
ทั้งนี้ถ้าหากไม่มีข้อมูลที่เหมาะสม การเฝ้าติดตาม และการมีส่วนร่วม ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำนั้นก็อาจจะกลายเป็นสิ่งที่ทำลายทั้งชุมชน และระบบนิเวศได้ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ชัดเจนมากถ้าหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงที่มีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนกว่า 50 ล้านคน
ย้อนไปที่การก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 1,285 เมกะวัตต์ การสร้างเขื่อนดังกล่าวนั้นส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในจังหวัดหนองคายของประเทศไทย ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากพื้นที่สร้างเขื่อนกว่า 400 กิโลเมตร ส่งผลทำให้ชาวนาใน จ.หนองคายต้องมีการต่อท่อเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำ และเมื่อเขื่อนได้ปล่อยน้ำออกมา ระดับน้ำก็จะพุ่งสูงอย่างเร็วมากจนเกิดเหตุน้ำท่วมขึ้น
โดยนายวินัย พรหมภักษา ชาวนาในพื้นที่วัย 60 ปีกล่าวว่าเมื่อปีที่ผ่านมา เขาต้องสูญเสียทุกอย่างเมื่อนาของเขาถูกน้ำท่วม ทำให้เขาสูญเงินไปกว่า 50,000 บาท
ทางด้านของนายเฮิร์ชกล่าวว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงนั้นยังทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ในความเสี่ยง เพราะเขื่อนนั้นจะเก็บตะกอนและป้องกันไม่ให้ปุ๋ยธรรมชาตินี้ไปถึสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงได้
โดยถ้าหากแผนการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงดำเนินต่อไป ก็มีการคาดการณ์กันว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของตะกอนนั้นจะไปไม่ถึงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำในปี 2583
“เรากำลังหมายถึงตะกอน 160 ล้านตันที่ไหลสู่ปากของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง” นายเฮิร์ชกล่าว
ขณะที่นายอนุรักษ์ กิตติคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกล่าวว่าสิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อทั้งประเทศไทยและเวียดนามอย่างแน่นอน ในฐานะที่ทั้งสองประเทศนั้นถือว่าเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ผลกระทบทางนิเวศวิทยานั้นถือว่ากว้างขวางมาก สำหรับแม่น้ำโขงซึ่งไหลผ่านหกประเทศเป็นระยะทางยาวกว่า 4,900 กิโลเมตร จากประเทศจีนลงมา
โดยในปี 2554 ในช่วงเวลาที่มีการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี มีการประท้วงที่หน้าสถานทูตลาวในกรุงเทพ เพื่อเรียกร้องให้ยุติโครงการ เพราะเขื่อนนั้นจะทำลายระบบนิเวศของแม่น้ำโจงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยด้วย
มีรายงานว่าชาวบ้านยังยื่นฟ้องหน่วยงานราชการของประเทศไทย รวมถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตของประเทศไทย (กฟผ.)ด้วย เนื่องจากว่า กฟผ.นั้นเป็นหน่วยงานที่ได้ไปซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว
ทว่าพวกเขาแพ้คดี และในที่สุดเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศลาวก็ก่อสร้างเสร็จในปี 2562 โดยเขื่อนนี้ได้รับทุนจากธนาคารไทยถึง 6 แห่งและสร้างโดยบริษัทในไทย
@ผลประโยชน์ของผู้ลงทุนที่มากกว่าประชาชน
ทำไมลาวถึงตัดสินใจพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำตั้งแต่แรก ทางด้านของนายดาววง พอนแก้ว รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของประเทศลาวกล่าวว่า สาเหตุของการก่อสร้างนั้นก็เพื่อจะดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศและเปิดตลาดลาวสู่โลกภายนอก
โดยมากกว่าสองในสามของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในประเทศลาวนั้นมีการส่งออกไปยังต่างประเทศ ทำให้ในปัจจุบันนั้นภาคส่วนการผลิตไฟฟ้าสร้างผลกำไรคิดเป็นเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือว่าจีดีพีทั้งหมดในประเทศลาว
“เราต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติของเราเพื่อทำให้ประเทศเรามีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำนั้นสามารถช่วยได้โดยตรง ซึ่งในปัจจุบันนั้นอัตรการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานน้ำในประเทศลาวนั้นคิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือน” นายดาววงกล่าวและกล่าวต่อไปว่าในปัจจุบันนั้นสมัชชาแห่งชาติของประเทศได้อนุมัติยุทธ์ศาสตร์ในการดึงกระแสไฟฟ้า 75 เปอร์เซ็นต์มาจากไฟฟ้าพลังน้ำ และ 15 เปอร์เซ็นต์มาจากถ่านหินภายในปี 2568 และที่เหลือนั้นจะมาจากแหล่งต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวล
อย่างไรก็ตาม นายแกรี่ ลี ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ International Rivers กล่าวว่ายุทธศาสตร์นี้ถือว่าไม่สมเหตุสมผล เพราะว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ว เมื่อลาวประสบปัญหาขาดพลังงาน ลาวก็ต้องไปซื้อพลังงานที่เคยส่งออกให้กับไทยกลับคืนมา แต่ราคาที่ซื้อกลับมานั้นถือว่าแพงเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับราคาขายเบื้องต้น
“ลาวควรพิจารณายุทธ์ศาสตร์และการพึ่งพาการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่เพื่อสร้างรายได้”ลีกล่าวและกล่าวต่อไปว่าการผลักดันพลังน้ำของประเทศทำให้เกิดค่าใช้จ่ายอีกอย่างหนึ่ง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ต้องการเงินกู้ และ “การพัฒนาอย่างรวดเร็ว” ของเขื่อนก็เป็น “ปัจจัยสำคัญในระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นในลาว”
โดยในปัจจุบันนั้นระดับหนี้สาธารณะของลาว "เพิ่มขึ้นอย่างมาก" ตั้งแต่ปี 2562 โดยแตะระดับ 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 544,206.75 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารโลกกล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวนั้นถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค
ขณะที่นายเฮิร์ชกล่าวทิ้งท้ายว่านี่แสดงให้เห็นว่าการสร้างเขื่อนนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาเรื่องความเป็นอยู่สำหรับประชาชนลาวเลยเพราะเงินส่วนใหญ่นั้นมาจากนักลงทุน ดังนั้นลาวควรต้องกลับมาคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่มองว่าจะมีการลงทุนจากต่างประเทศได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น
เรียบเรียงจาก:https://www.channelnewsasia.com/cna-insider/cost-laos-hydropower-quest-southeast-asia-battery-electricity-dams-risk-3029086
และนี่ก็เป็นประเด็นที่ทุกประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยนั้นควรจะต้องคำนึงถึง ถ้าหากว่าประเทศไทยยังจะต้องการที่จะผลักดันแนวคิด "เศรษฐกิจสีเขียว" ที่ว่านี้ต่อไป