"...น่าสังเกตว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็น ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้น้อย ถูกแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง อันเป็นผลพ่วงมาจากปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลเกี่ยวกับการอำนาจในระบบโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานทหารและตำรวจ ภายใต้แนวทางและแผนงานแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ถูกเผยแพร่ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะยังไม่ได้ถูกระบุถึงอย่างเป็นรูปแบบมากนักในช่วงที่ผ่านมา..."
ผ่านมาแล้วเกือบ 1 เดือน
สำหรับเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ที่ถูกระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดในประเทศไทย
ทั้งนี้ ในประเด็นเกี่ยวกับการวางมาตราการป้องกันปัญหาเรื่องนี้ ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยขึ้นมาได้อีก ที่ผ่านมาดูเหมือนจะความเคลื่อนไหวอย่างเป็นรูปธรรมจากหลายฝ่าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ที่มีการจัดทำแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อสั่งการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นแนวทางในการทำงานอย่างเคร่งครัด อาทิ การบำบัดรักษายาเสพติดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบบูรณาการเชิงรุกโดยใช้กลไก ในส่วน 2 ส่วนหลัก คือ
-
การจัดตั้งศูนย์คัดกรองเพื่อคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติดภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพกาย สุขภาพจิต ร่วมถึงปัญหาด้านสังคมที่เกี่ยวข้องกับการติดยาเสพติด และวิเคราะห์จำแนกระดับความรุนแรง และวางแผนการดูแลบำบัดรักษาหรือการส่งต่อที่เหมาะสม รวดเร็ว ปลอดภัย โดยถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติดและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
-
จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสภาพสังคม เพื่อให้การสงเคราะห์สนับสนุนให้ผู้ติดยาเสพติดหรือผู้ผ่านการบำบัดรักษาได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางด้านที่อยู่อาศัย การศึกษา อาชีพ ตลอดจนการติดตามดูแลช่วยเหลือจนสามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ โดยถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายยาเสพติดและอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
ส่วนด้านการป้องกันยาเสพติด มีการระบุให้ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน และชุมชน ในการสร้างภูมิคุ้มกัน การเฝ้าระวัง การค้นหา การรักษา การให้โอกาส การดูแลและช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณก็มีการระบุให้ตั้งงบประมาณในเทศบัญญัติ และข้อบัญญัติ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ด้านป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ ให้พิจารณาโอนงบประมาณรายจ่ายรายการที่มีความจำเป็นน้อยกว่า มาตั้งจ่ายเป็นรายการใหม่ โดยปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2564 หากไม่สามารถโอนงบประมาณมาตั้งเป็นรายการใหม่ได้ อาจขอยกเว้นต่อปลัดกระทรวงมหาดไทย นำเงินสะสมมาใช้จ่ายได้ ตามข้อ 4 ประกอบกับ ข้อ 89 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปฏิบัติราชการแทนได้ ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1268/2563 ลงวันที่ 19 พ.ค. 2563
ที่สำคัญให้รายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวพร้อมทั้งข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทาง Google Form ทุกวันที่ 5 ของเดือน โดยเริ่มครั้งแรกวันที่ 21 ต.ค. 2565
อย่างไรก็ดี จากแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทย ที่กำหนดไว้ ทำให้มีคำถามสำคัญตามมาว่า สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อันนำไปสู่เหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่ผ่านมาได้จริงหรือ ?
ดร. นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ดร. นิชานท์ สิงหพุทธางกูร อาจารย์สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้มุมมองต่อแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทยที่ออกมาดังกล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ที่ผ่านมาแนวทางการจัดการปัญหายาเสพติดของรัฐไทย มีกลไกแก้ไขปัญหาหลากหลายรูปแบบ อาทิ สมัยรัฐบาลทักษิณมีการใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหา สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์มีแนวทาง ‘มองผู้เสพ เป็นผู้ป่วย’ และมีการปรับโครงสร้างระบบของรัฐ โดยมีแบ่ง ป.ป.ส. ทั้งระดับส่วนกลาง ระดับภูมิภาค และระดับจังหวัด
ส่วนในรัฐบาลประยุทธ์ มีแนวทางแก้ไขปัญหา มองผู้เสพ เป็นผู้ป่วย เช่นเดียวกัน แต่มีการแก้กฎหมายให้ ผู้เสพเข้าถึงการรักษา หรือบำบัดในโรงพยาบาลของรัฐได้ รวมถึงส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เสพภายหลังได้รับการบำบัด ด้วยช่วยหาอาชีพ พัฒนาทักษะ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา
ดร. นิชานท์ กล่าวอีกว่า แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดที่กระทรวงมหาดไทยจัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีลักษณะเป็นการจัดการที่เสนอถูกต้องแล้ว แต่เพียงยังไม่เป็นรูปธรรม และไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูชุมชน ที่ยังไม่มีแบบแผนกลไกให้ชุมชนออกแบบกลไกตามที่ชุมชนต้องการ และหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ ดูแล หรือเกี่ยวข้องกับแนวทางดังกล่าวมีเพียง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และ ป.ป.ส. เป็นหลัก ถ้าจะมีแนวทางการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูชุมชน ควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตเข้ามาเป็นส่วนกลาง หรือเสาหลักในการจัดตั้งร่วมด้วย
ดร. นิชานท์ ยังกล่าวย้ำอีกว่า แนวทางดังกล่าวยังเน้นเรื่องงบประมาณมากเกินไป อย่างที่เห็น ถ้าเกิดว่าองค์กรใดที่ไม่ได้ตั้งงบหรือไม่มีงบ ให้ไปของบจากหน่วยงานอื่นได้ แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้มีแผนการด้านงบประมาณในการแก้ไขหรือปกป้องปัญหานี้มาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้แนวทางดังกล่าว ขาดตอน หรือขาดความต่อเนื่องได้
ดังนั้นแนวทางการทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทย เป็นยุทธศาสตร์การจัดการระดับโครงสร้างจากด้านบน ไม่ได้เน้นเป็นการปรับโครงสร้างด้านล่าง (Bottom Up Approach) ส่งผลให้ปัญหายังคงวนเวียนอยู่เหมือนเดิม เช่น ผู้ที่เคยติดยาเสพติดแล้ว เมื่อเข้าสู่กระบวนการบำบัดยาเสพติดของรัฐแล้วกลับมาอยู่ในสังคม ทำไมถึงกลับมาติดยาเสพติดอีก ? ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแบ่งออกเป็นปัญหาใจกลาง และปัญหาประกอบ
ปัญหาใจกลาง
-
ชุมชนไม่มีพื้นฐานการยอมรับผู้ที่หายจากอาการติดยาเสพติด
-
ในชุมชนยังมีผู้ที่ติดยาเสพติดอยู่
-
ชุมชนไม่มีโครงสร้างในการรับมือปัญหายาเสพติดที่เป็นระบบ มีเพียงแต่การป้องกัน ปราบปราม และเฝ้าระวังเท่านั้น
-
มีบุคลากรไม่เพียงพอต่อการรับมือปัญหายาเสพติด ทั้งคนในชุมชน และคนของภาครัฐ
ปัญหาประกอบ
-
การพัฒนาชุมชนที่ไม่ยั่งยืน
-
ความไม่เท่าเทียมกันในการพัฒนาชุมชน
-
ปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่มีอาชีพรองรับ
-
การกระจายอำนาจที่ไม่ดี และบทบาทของชุมชนที่อ่อนแอ
-
ไม่มีการดูแลผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนด้วยการมีอาชีพ รองรับในสังคม
ดร.นิชานท์ ยังได้เสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้มีแบบแผนยุทธ์ศาสตร์ที่เน้นปรับโครงสร้างจากด้านล่าง ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
-
การจัดการปัญหาในระยะสั้น เช่น มีการจัดตั้งศูนย์คัดกรองเพื่อคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติด มีการบำบัด ส่งรักษาผู้ที่ติดยาเสพติด มีการรับฟัง หรือเปิดใจกับปัญหาของผู้ที่ติดยาเสพติด และการลดการใช้ความรุนแรง
-
การจัดการปัญหาในระยะกลาง เช่น มีแบบแผนปรับโครงสร้างระดับชุมชนที่ชัดเจน ในเมื่อรัฐไทยมี ป.ป.ส. ในระดับส่วนกลาง หรือส่วนจังหวัด ดังนั้นชุมชนควรที่จะมี สภาชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรง และยาเสพติด เช่นเดียวกัน
-
การจัดการปัญหาในระยะยาว เช่น สนับสนุนงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยเฉพาะและต่อเนื่อง และมีความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรของต่างประเทศในการจัดการปัญหายาเสพติด อาทิ มีการจัดอบรมผลิตบุคลากรจากชุมชนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด อย่างเป็นระบบ
อีกทั้ง รัฐไทยควรส่งเสริมให้ชุมชนมีการจัดตั้ง ‘ชุมชนรับมือความขัดแย้ง ความรุนแรง และปัญหายาเสพติด’ โดยมีทั้งระดับหมู่บ้าน, ตำบล, อำเภอ, และจังหวัด โดยอาจจะมีชุมชนตัวอย่าง เพื่อให้อีกชุมชนหนึ่งมาศึกษาดูงาน แล้วนำไปปรับใช้กับชุมชนตัวเองได้
“สุดท้ายแล้ว รัฐไทยควรมีแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่เริ่มจากภาคชุมชนเป็นหลัก เพื่อให้สังคมนี้ ไม่ควรมีคนตายจากยาเสพติดอีก” ดร.นิชานท์ กล่าว
ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขณะที่ ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออก และอาจารย์โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตแนวทางดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทยว่า ที่ผ่านมาแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐไทย ขาดการบูรณาการกันของหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งไม่มีความจริงจังเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการกับผู้ที่มีความเชื่อมโยงกับยาเสพติด
“แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว สามารถแก้ไขได้ประมาณหนึ่ง แต่เป็นการแก้ปัญหาโดยอยู่ปลายทาง ความจริงแล้วถ้าให้ครบถ้วนกระบวนการ ควรเริ่มต้นที่ต้นทางของการผลิตยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ตามชายแดนประเทศไทย” ดร.ดุลยภาคระบุ
ดร.ดุลยภาค กล่าวอีกว่า รัฐไทยต้องมีการจัดประเภทของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากยาเสพติด อาทิ ชุมชนตามแนวชายแดน โดยเฉพาะชายแดนภาคเหนือที่ติดกับประเทศเมียนมา และลาว ชุมชนตามเส้นทางขนส่งยาเสพติด และชุมชนที่เป็นแหล่งพักยาเสพติด โดยให้ทำเป็นจุดแผนที่ขึ้นมา แล้วดูว่าจุดไหนเป็นจุดที่ควรจะให้ความสำคัญแรก ๆ หรือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงของยาเสพติดและรัฐไทยควรเข้าถึงข้อมูลแหล่งตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด โดยเฉพาะ ‘กลุ่มหรือกองกำลังที่อยู่ตามชายแดนที่ผลิตและส่งยาเสพติดเข้ามาในประเทศไทย’ ที่ต้องการเงินอัดฉีดเข้ากลุ่มของตนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กำลังการผลิตยาเสพติดสูงขึ้น จนกลายเป็นระดับอุตสาหกรรม ในเมื่อผลิตได้มาก เวลาแจกจ้างมาสู่ตลาดภายนอก มันทำให้ราคายาเสพติดลดลงกว่าเมื่อก่อนมาก เมื่อราคายาเสพติดไม่สูงมาก โอกาสที่คนที่จะครอบครองหรืออยากจะลองเสพ ก็มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นรัฐไทยควรมียุทธศาสตร์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดตามชายแดนด้วย
สำหรับข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบนั้น
ดร.ดุลยภาค ระบุว่า ข้อเสนอที่หนึ่ง รัฐไทยควรตั้งคณะกรรมการในการศึกษา และเสนอยุทธศาสตร์ปราบปรามยาเสพติดในระดับชาติ โดยต้องบูรณาการหลากหลายหน่วยงานเพื่อให้แก้ไขปัญหาได้อย่างครบวงจร อาทิ กระทรวงยุติธรรม ระบบชั้นศาล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงศึกษาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ และกระทรวงกลาโหมทุกหน่วย ตั้งแต่ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีหน้าที่สอดส่องจุดพักยาเสพติด รวมถึงสกัดเส้นทางลำเลียงยาเสพติดทุกช่องทาง
ข้อเสนอที่สอง รัฐไทยจำเป็นต้องมีการดำเนินนโยบายที่รู้ลึกข้อมูล ของการผลิตยาเสพติดของกลุ่มหรือกองกำลังที่อยู่ตามชายแดนของประเทศไทย เช่น ในประเทศเมียนมา ‘กลุ่มกองทัพสหรัฐว้า’ ซึ่งในวันนี้และในอนาคต จะมีแนวโน้มก่อตั้งรัฐว้าขึ้น ดังนั้นกองทัพดังกล่าวจึงต้องการเงินจำนวนมาก จึงทำให้กองทัพว้าเพิ่มกำลังการผลิตยาเสพติดมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นรัฐไทยควรดำเนินนโยบายที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น ไม่ใช่ตั้งรับอยู่ตลอด เวลา เช่น เข้าไปเจรจาหรือกดดันให้ลดการผลิต เป็นต้น
ข้อเสนอที่สาม หน่วยงานภาครัฐของรัฐไทย ที่เป็นหน่วยงานที่ครอบครองอาวุธ และเป็นหน่วยงานที่ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เป็นต้น จากอโศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู เราสามารถเห็นได้ว่าบุคคลที่ก่อการเป็นคนที่อยู่ในเครื่องแบบ และครอบครองอาวุธปืน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นรัฐไทยต้องลดปริมาณในการครอบครองอาวุธปืน หรือมีกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น สำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถือครองอาวุธปืนไม่ให้มายิงเรี่ยราดกับประชาชนผู้บริสุทธิ์
ดร. ดุลยภาค ยังย้ำถึงปัญหาสำคัญต่อเรื่องนี้ ว่า “ที่สำคัญจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู รวมถึงโศกนาฏกรรมกราดยิงที่เทอร์มินอล 21 โคราช กรณีดังกล่าว ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้น้อย ที่มียศไม่สูงมาก เหตุผลอาจจะมาจากแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ปัญหาภายในองค์กร หรือโครงสร้างของหน่วยงาน ที่ทำให้ผู้ก่อเหตุเครียดทางจิตวิทยาสูงเป็นพิเศษ และระบายออกมาเป็นการกระทำดังกล่าว ในกรณีอาจจะแก้ไขได้เบื้องต้น คือ ยืมบุคลากรทางจิตวิทยามาช่วย หรือเปิดรับสมัครตำแหน่ง นายทหาร หรือตำรวจที่เป็นสายจิตวิทยา เพื่อบำบัดสภาพจิตใจของเจ้าหน้าที่ระดับน้อยในหน่วยงานเหล่านี้”
น่าสังเกตว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาในประเด็น ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้น้อย ที่มียศไม่สูงมาก ถูกแรงกดดันจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง อันเป็นผลพ่วงมาจากปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลเกี่ยวกับการอำนาจในระบบโครงสร้างการบริหารงานของหน่วยงานทหารและตำรวจ ตามที่ดร. ดุลยภาคเสนอ อันเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของ โศกนาฏกรรมหลายครั้ง ภายใต้แนวทางและแผนงานแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ถูกเผยแพร่ในปัจจุบัน ดูเหมือนจะยังไม่ได้ถูกระบุถึงอย่างเป็นรูปแบบมากนักในช่วงที่ผ่านมามากนัก
อันนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า แนวทางและแผนงานแก้ไขปัญหาของหน่วยงานรัฐที่ออกมาเกี่ยวกับเรื่อง ถูกจุด ตรงประเด็น ครบถ้วนทุกเรื่อง ไม่ซุกปัญหาไว้ใต้พรมแล้วจริงๆ หรือ?