ผู้ที่ดำเนินการช่วยเหลือนั้นควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ที่ยังบาดเจ็บสาหัส ผู้ที่ยังหายใจ และผู้ที่มีแนวโน้มจะรอดชีวิต ควรจะเป็นเป้าหมายแรกๆที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งโรงพยาบาลซุนชุยฮยางของกรุงโซลนั้นเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุที่สุด ดังนั้นควรจะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้บาดเจ็บสาหัสก่อน แต่เนื่องจากว่าวันที่เกิดเหตุเป็นวันเสาร์ ทำให้การดูแลผู้บาดเจ็บนั้นเป็นไปได้ยาก และก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บนั้นไม่สามารถทำได้โดยสะดวกเช่นกันเพราะปัญหาการจราจร
จากเหตุการณ์เหยียบกันตาย จากการจัดงานฮาโลวีน ที่ย่านอิแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนทั้งสิ้น 154 ราย โดยเป็นชาวต่างชาติกว่า 26 ราย รวมไปถึงคนไทย 1 ราย มีผู้บาดเจ็บกว่า 149 ราย ตามที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น
คำถามสำคัญก็คือว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นมา จึงเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตได้มากขนาดนี้ และจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีก
โดยจากกรณีดังกล่าวนั้น นพ.ลี ฮยอง-มิน หัวหน้าสมาคมการแพทย์ฉุกเฉินของเกาหลีใต้ ได้มีการตอบคำถามกับผู้สื่อข่าวในงานเสวนาวิชาการที่จัดขึ้นหลังจากวันเกิดเหตุ ถึงที่ไปที่มาของปัญหา และหนทางแก้ไข
ทางสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงได้มีการนำเอาประเด็นถามตอบ ดังกล่าวมานำเสนอ เพื่อชี้แจงให้เห็นถึงปัญหาและทางแก้ไขในอนาคตต่อไป
@คิดว่าการตอบสนองเบื้องต้นต่อเหตุครั้งนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
ผมคิดว่าช่วงเวลาที่ทีมตอบสนองภัยพิบัติของศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินกลางนับตั้งแต่การรับรู้สถานการณ์ การมาถึงที่เกิดเหตุนั้นมีความเหมาะสม โดยเมื่อทีมรับมือภัยพิบัติได้เดินทางมาถึงี่เกิดเหตุ พวกเขาก็สามารถจัดการกับที่เกิดเหตุได้ค่อนข้างดี ซึ่งนี่เป็นผลจากการที่มีการฝึกซ้อมประจำปีเพื่อจะเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ ซึ่งแม้ว่าที่เกิดเหตุนั้นอยู่ใจกลางกรุงโซล แต่ทีมงานรับมือภัยพิบัติก็สามารถจะกระจายผู้บาดเจ็บไปยังทั่วโรงพยาบาลทั่วกรุงโซลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่ถือว่าเป็นสิ่งที่ก้าวหน้ามาก
@แล้วสิ่งที่น่าผิดหวังคืออะไร
เรื่องที่น่าผิดหวังก็คือว่า อันที่จริงแล้วเมื่อเกิดเหตุแบบนี้นั้น ไม่ควรที่จะมีการทำการกู้ชีพหรือว่า CPR กันที่พื้นที่เกิดภัยพิบัติ ผู้ที่ดำเนินการช่วยเหลือนั้นควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ที่ยังบาดเจ็บสาหัส ผู้ที่ยังหายใจ และผู้ที่มีแนวโน้มจะรอดชีวิต ควรจะเป็นเป้าหมายแรกๆที่ได้รับการช่วยเหลือ ซึ่งโรงพยาบาลซุนชุยฮยางของกรุงโซลนั้นเป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้กับสถานที่เกิดเหตุที่สุด ดังนั้นควรจะเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้บาดเจ็บสาหัสก่อน แต่เนื่องจากว่าวันที่เกิดเหตุเป็นวันเสาร์ ทำให้การดูแลผู้บาดเจ็บนั้นเป็นไปได้ยาก และก็เป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ที่การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บนั้นไม่สามารถทำได้โดยสะดวกเช่นกันเพราะปัญหาการจราจร
เหตุการณ์ที่ย่านอิแทวอน (อ้างอิงวิดีโอจาก ABC News)
@สาเหตุที่การตอบสนองที่สถานการณ์ในช่วงแรกนั้นล้มเหลว
มีรายงานว่าสถานที่เกิดเหตุนั้นไม่มีการควบคุมที่เหมาะสม ซึ่งนี่ถือว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เพราะว่าจะต้องมีการเตรียมเส้นทางสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บและบุคคลทั่วไปออกจากที่เกิดเหตุ
อีกทั้งเจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรจะสร้างสถานการณ์ที่ประชาชนจะต้องทำ CPR เอง และแบกผู้บาดเจ็บออกจากที่เกิดเหตุเอง เพราะนี่ไม่การตอบสนองที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ฉุกเฉินเลย
อย่างไรก็ตาม สื่อได้รายงานว่ามีผู้ที่ได้รับการ CPR อย่างน้อยประมาณ 20 คน จนถึงช่วงเวลาประมาณ 2-3 นาฬิกา ซึ่งนี่ถือว่าเป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าสถานที่เกิดนั้นขาดการควบคุม เพราะตามหลักแล้วจะต้องมีอัตราควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตไว้อยู่ที่ 60-70 เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าในกรณีนี้ผูเสียชีวิตกลับคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 80 ต่อประชาชน 100 คน
@เหตุใด สถานที่เกิดเหตุจึงไม่มีการควบคุมอย่างเหมาะสม
ในสถานการณ์ของภัยพิบัตั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีคนควบคุมที่เกิดเหตุ แต่ว่าในวันที่เกิดเหตุกลับไม่มีใครรู้เลยว่าใครเป็นผู้ที่รับผิดชอบ และเป็นผู้ที่กำกับ ให้คำอนุญาตว่าสามารถทำอะไรได้บ้างนี่เกิดเหตุ
@แสดงว่ามีระบบการแพทย์ที่เหมาะสม แต่ว่าไม่มีระบบการบริหารจัดการควบคุมที่ดีพอ
คำอธิบายที่ถูกต้องนั้นน่าจะเป็นการขาดการฝึกฝนและการเตรียมพร้อมกับการรับมือกับภัยพิบัติ เพราะแม้ว่าจะมีการให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่มากเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อถึงเหตุการณ์จริง การปฏิบัติของบุคลากรนั้นกลับไม่เป็นไปตามที่ให้ความรู้มา ดังนั้นตอนนี้เราจึงต้องมีการสอนและฝึกฝนในสิ่งที่ใช่ได้จริง ซึ่งคู่มือสำหรับการรับมือภัยพิบัติของเกาหลีใต้นั้นอาจจะดีที่สุดในโลก แต่ว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นกลับไม่เป็นไปตามคู่มือเลย เมื่ออยู่ต่อหน้างานจริง
@รายละเอียดเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหา
ข้อเท็จจริงก็คือว่าโรงพยาบาลนั้นมีความเป็นอัมพาต เมื่อมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากเหตุภัยพิบัตินั้นถูกส่งไปที่โรงพยาบาล ซึ่งนี่เป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว กับกรณีภัยพิบัติ “ห้างสรรพสินค้าซัมพุงถล่ม”เมื่อปี 2538 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 502 คนและผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 1,000 คน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ตึกถล่ม ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดในโลก
โดยในเหตุการณ์นี้นั้น พบว่าเมื่อมีการส่งผู้เสียชีวิตไปยังโรงพยาบาล Gangnam Sacred Heart ที่อยู่ใกล้เคียง มันก็ทำให้โรงพยาบาลนี้มีลักษณะเป็นอัมพาตทันที
ทั้งนี้ในสถานการณ์ภัยพิบัติ บทบาทของโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและโรงพยาบาลขั้นต่อไปจะต้องมีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม การตอบสนองทางการแพทย์จะมีลักษณะที่สับสน ถ้าหากผู้บังคับบัญชาในเหตุการณ์นั้นล้มเหลวในการออกคำสั่งควบคุมฝูงชน ดังนั้นสิ่งที่ควรจะจัดการเป็นอย่างแรกก็คือการแยกคนเสียชีวิตออกไป เพื่อจัดการในอีกรูปแบบหนึ่ง
มีอีกกรณีก็คือว่าเมื่อไม่กี่ปีก่อน มีเหตุการณ์รถชนกัน 100 คันรวด ที่เมืองอินชอน ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จำนวน 10 คน จากมหาวิทยาลัยอินฮารุดหน้าไปยังที่เกิดเหตุ แต่ว่าแพย์เหล่านี้ก็ไม่ได้ทำอะไรมากนัก เพราะว่าผู้บาดเจ็บทั้งหมดนั้นถูกเคลื่อนย้ายไปโดยพลการแล้ว ดังนั้นนี่จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าถ้าหากสถานที่เกิดเหตุไม่ได้รับการควบคุม โรงพยาบาลจะยุ่งเหยิงมากเพราะจำนวนคนบาดเจ็บที่หลั่งไหลเข้ามา และบุคลากรทางการแพทย์ก็จะไม่รู้ด้วยว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร
@จากเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ พบภาพว่ามีประชาชนหลายคนอาสาจะทำการ CPR ในที่เกิดเหตุ ตามหลักการณ์แล้วประชาชนควรจะทำตัวอย่างไรกันแน่เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติเช่นนี้
ประชาชนไม่ควรจะทำการ CPR ในสถานที่เกิดเหตุ แน่นอนว่าความรู้สึกของอาสาสมัครนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้ อย่างไรก็ตาม หน้าที่นี้ควรจะเป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ภาคสนามจะต้องดำเนินการ ทั้งการทำ CPR หรือกิจกรรมเพื่อบรรเทาทุกข์ต่างๆ
สิ่งที่ประชาชนควรจะทำเมื่อเกิดสถานการณ์นี้ก็คือว่าควรจะหันหลังกลับและช่วยกันสร้างกำแพงเพื่อป้องกันไม่ให้เปิดเผยสถานที่เกิดเหตุ อันจะส่งผลทำหี้คนจากภายนอกหลั่งไหลเข้ามาอีก และประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องควรจะออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็วและละเว้นจากการมุงดูสถานการณ์
@เป็นเรื่องที่ไม่ดีใช่หรือไม่ ที่เหตุภัยพิบัติทั้งหมดนั้นถูกเผยแพร่ออกอากาศ
สิ่งที่ผู้แพร่ภาพและกระจายเสียงหรือก็คือสื่อไม่ควรกระทำอย่างยิ่งนั้นก็คือการเผยแพร่สถานการณ์โดยไม่มีการกลั่นกรองก่อน แต่สื่อนั้นควรทำหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงเพื่อให้ประชาชนออกจากพื้นที่และไม่มุงสถานที่เกิดภัยพิบัติ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์ช่องหลักทั้งสามช่อง เคเบิลทีวี ต่างก็ทำหน้าที่ไม่ต่างจากการแพร่ภาพจากผู้ใช้งาน Youtube เลย
@หนึ่งในมาตรการรับมือในอนาคต รัฐบาลบอกว่าจะดำเนินการความปลอดภัยของการจัดเทศการท้องถิ่นให้มากกว่านี้ คุณคิดว่าระบบการแพทย์ในพื้นที่นั้นจะพร้อมรับมือกับเหตุภัยพิบัติลักษณะเช่นนี้ได้หรือไม่
ผมบอกเด็กๆอยู่เสมอว่าไม่ควรจะเดินทางไปร่วมงานหรือสถานที่ที่มีลักษณะของการชุมนุมที่มีผู้คนมากกว่า 50,000 คนมารวมตัวกัน สมมติว่าถ้าหากมีคนกว่า 60,000 คนมาชุมนุมกันที่ Sangam World Cup Stadium ในกรุงโซล ในกรณีแบบนี้ก็จะมีความเป็นได้ที่จะมีสถานการณ์ผู้บาดเจ็บฉุกเฉินประมาณ 20 คน ต่อประชาชนที่มาเข้าร่วมงานทั้งหมด 10,000 คน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีผู้บาดเจ็บฉุกเฉินรวดเดียวกันมากกว่า 60-70 ราย ที่มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง ก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันที่เราพร้อมจะรับมือได้ในทันที
@รัฐบาลควรจะคำนึงถึงอะไรเพื่อปรับปรุงระบบรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต
การจะทำให้มีความปลอดภัยขึ้นมานั้น แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่มีค่าใช้จ่าย และภัยพิบัติแบบเดียวกันก็ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นซ้ำสอง ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรจะทำก็คือว่าหยุดแค่ให้ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการฝึกฝนบุคลากรให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์จริงด้วย
การวางดอกไม้ไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวอารีรัง)
โดยสิ่งจำเป็นจะต้องมีนั้นก็คือการมีระบบระบุตัวตนที่ดีที่สุด ควบคู่ไปกับการควบคุมสถานการณ์ภัยพิบัติ ยกตัวอย่างเช่นเจ้าหน้าที่หน่วยงานดับเพลิงนั้นมีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อการตอบสนองภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นพบว่าความต้องการส่วนใหญ่เป็นความต้องการทางการแพทย์ ก็ควรจะต้องมีการพิจารณาระบบซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการหรือว่าบุคลากรทางการแพทย์นั้นจะเข้ามาเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์
เรียบเรียงจาก:http://www.koreabiomed.com/news/articleView.html?idxno=14927