"...จําเลยเป็นผู้ติดต่อและลงลายมือชื่อในเช็คอินท์ เข้าพักโรงแรมผู้เสียหายพร้อมกับนายตัน ซี ซัง และพวก และแม้ว่าจําเลยจะไม่ใช่เจ้าของบัตรเดบิตวีซ่าที่นํามารูด แต่ในขณะที่มีการใช้บัตรเดบิตวีซ่ามัดจําค่าที่พักและค่าบริการนั้น จําเลยก็อยู่ด้วย..."
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ชนะคดีความชั้นศาลฎีกา
หลังถูกฉ้อโกงค่าที่พักและค่าเครื่องดื่มโรงแรมจากบุคคลกลุ่มหนึ่ง คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 3,667,365.38 บาท
ขณะที่ จำเลยในคดีนี้ ถูกตัดสินลงโทษ จำคุกเป็นเวลา 2 เดือน ไม่รอลงอาญา
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ พบว่า เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่ให้ฝ่ายจำเลยชื่อว่า นายวัลลภ (ไม่ทราบนามสกุล) มีความผิดในข้อหาฐานฉ้อโกงกรณีไม่ได้ชำระเงินค่าที่พักโรงแรม และค่าเครื่องดื่มคิดเป็นจำนวนกว่า 3,667,365.38 บาท
@ รู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถชำระเงินได้
คำพิพากษาศาลฎีกา ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 - 8 พฤศจิกายน 2560 จำเลยกับพวกร่วมกันเข้าพักอาศัยใน โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว และร่วมกันสั่งซื้อและบริโภคอาหาร เครื่องอื่ม รวมเป็นเงินค่าพักโรงแรม ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม เป็นเงิน 3,667,365.38 บาท และไม่ชำระเงิน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ไม่สามารถชำระเงินให้ได้
เบื้องต้น ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ยกฟ้อง ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ จะพิพากษากลับให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน แต่ทางนำสืบของจำเลยมีประโยชน์แก่ทางพิจารณาอยู่บ้าง
ลดโทษให้เหลือ จำคุก 2 เดือน
ต่อมา จำเลยฎีกาสู้
@ จําเลยเป็นผู้ใช้บริการ อ้างว่ารับรองแขก
ขณะที่ศาลฎีกา พิจารณาข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า นายตัน ซี ชัง นายมิรันดา มาแชล แอนโทนี่ และนางสาวเสาวพร (สงวนนามสกุล) ได้เข้าพักที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว ซึ่งเป็นโรงแรมของผู้เสียหาย
โดยจําเลยใช้ชื่อจําเลยเป็นผู้ใช้บริการ อ้างว่าเพื่อรับรองแขก
ซึ่งในการเข้าพักได้มีการใช้บัตรเดบิตวีซ่าของธนาคารต่างประเทศของนายตัน ซี ชัง และนายมิรันดา มาแชล แอนโทนี่ จ่ายเงินมัดจําค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่มไว้ล่วงหน้า
นายตัน ซี ซัง มอบบัตรเดบิตวีซ่าของธนาคารต่างประเทศให้แก่นาย อ. พนักงานของโรงแรมผู้เสียหายเป็นผู้ดําเนินการรูดผ่านเครื่องรูดบัตร แล้วจะต้องนําสลิปที่ได้จากการรูดบัตรไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารเจ้าของบัตรในภายหลัง
จึงมีการรูดบัตรเดบิตจ่ายเงินมัดจําค่าที่พัก ค่าอาหารไว้ล่วงหน้า 2 ครั้ง เป็นเงิน 968,800 บาทและ 986,800 บาท
ภายหลังนายมิรันดา มาแซล แอนโทนี่ นําบัตรเดบิตวีซ่ามาให้นาย อ. รูดบัตรเพื่อจ่ายเงินมัดจําค่าที่พัก และค่าอาหารผ่านบัตรเดบิตวีซ่าอีก 1 ครั้ง เป็นเงิน 998,000 บาท
@ เข้าพักจนเกินวงเงินสำรอง
จากนั้นจําเลยกับพวกได้เข้าพัก ในโรงแรมจนถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 จนเกินวงเงินที่สํารองค่าใช้จ่ายในการรูด บัตรเดบิตวีซ่าไว้ รวมเป็นค่าบริการ ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าเครื่องดื่มเป็นเงินทั้งสิ้น 3,667,365.38 บาท
ต่อมาผู้เสียหายนําหลักฐานสลิปการรูดบัตรเดบิตวีซ่าไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร เจ้าของบัตรเดบิตวีซ่าผ่านธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน)
แต่ธนาคารเจ้าของบัตรปฏิเสธการจ่ายเงิน
อ้างว่าลูกค้าเจ้าของบัตรไม่มีเงินอยู่ในบัญชีขณะที่มีการรูดบัตรผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ในระบบออฟไลน์
@ ข้อพิจารณาของศาล
คดีนี้ศาลฯ มีข้อพิจารณาว่า บัตรเดบิตวีซ่าเป็นของนายตัน ซี ซัง และนายมิรันดา มาแชล แอนโทนี่
จําเลยมิใช่เจ้าของบัตร จำเลยจึงฎีกาว่า นำบัตรเดบิตวีซ่ามาให้นาย อ. รูดบัตรชําระมัดจําตามระเบียบการเข้าพักโรงแรมของผู้เสียหาย
การที่นายตัน ชี ชัง และนายมิรันดา มาแชล แอนโทนี นําบัตรเดบิตวีซ่ามาใช้เพื่อรูดเป็นค่าใช้จ่ายสํารองรวม 3 รายการ จึงเป็นเหตุผลให้จําเลยเชื่อโดยสุจริตว่านายตัน ซี ซัง และนายมิรันดา มาแชล แอนโทนี่ มีเงินอยู่ในบัญชีในการใช้บัตรเดบิตวีซ่าชําระค่าที่พัก และค่าบริการไว้ล่วงหน้าได้นั้น
เห็นว่า จําเลยเป็นผู้ติดต่อและลงลายมือชื่อในเช็คอินท์
ศาลฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า จําเลยเป็นผู้ติดต่อและลงลายมือชื่อในเช็คอินท์ เข้าพักโรงแรมผู้เสียหายพร้อมกับนายตัน ซี ซัง และพวก และแม้ว่าจําเลยจะไม่ใช่เจ้าของบัตรเดบิตวีซ่าที่นํามารูด
แต่ในขณะที่มีการใช้บัตรเดบิตวีซ่ามัดจําค่าที่พักและค่าบริการนั้น จําเลยก็อยู่ด้วย
โดยมีการรูดบัตรเดบิตวีซ่าของธนาคารต่างชาติผ่านเครื่องรูดบัตรธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) แบบออนไลน์เพื่อชําระมัดจํา แต่ธนาคารไม่อนุมัติวงเงิน
จําเลยจึงหายไปประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อติดต่อธนาคารเจ้าของบัตรและกลับมาพร้อมนํารหัสของธนาคารมาให้ ดําเนินการรูดบัตรเดบิตวีซ่าอีกครั้ง วงเงิน 986,800 บาท และ 968,800 บาท
ต่อมาวันที่ 20 ตุลาคม 2560 จําเลยและนายมิรันดา มาแชล แอนโทนี่ มาดําเนินการรูดบัตรเดบิตวีซ่าผ่านเครื่องรูดบัตร ธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) แบบออฟไลน์ เพื่อชําระค่ามัดจําในการเข้าพักอีกครั้ง ในวงเงิน 998,000 บาท
แสดงให้เห็นว่าจําเลย นายตัน ซี ชัง และนายมิรันดา มาแชล แอนโทนี่ ทราบดีอยู่แล้วว่าเมื่อมีการรูดบัตรเดบิตวีซ่าชําระมัดจําแบบออนไลน์ธนาคาร จะไม่อนุมัติเนื่องจากเงินในบัญชีบัตรเดบิตวีซ่าไม่มีหรือมีไม่เพียงพอกับจํานวนเงินที่ต้องวางมัดจํา
จึงคิดหาวิธีชําระมัดจําด้วยบัตรเดบิตวีซ่าแบบออฟไลน์แทน เพราะการชําระด้วยแบบออฟไลน์นี้จะมีการส่งสลิปไปเรียกเก็บเงินในภายหลัง
@ จําเลยต้องการปกปิดความจริง-เป็นความผิดตามฟ้อง
ขณะที่ นาย อ. พนักงาน ให้การในชั้นสอบสวนว่า เมื่อจําเลยกับนายตัน ชี ชัง นํารหัสอนุมัติของธนาคารมาให้นาย อ. ใช้ในการรูดบัตรเดบิตวีซ่า ชําระค่ามัดจํานั้น นาย อ. ขอโทรศัพท์ไปสอบถามธนาคารก่อน
แต่นายตัน ชี ชัง บอกว่าไม่ต้องโทรศัพท์ ซึ่งจําเลยก็อยู่กับนายตัน ชี ชัง ในขณะนั้นด้วย
ย่อมทําให้นาย อ. เข้าใจได้ว่านายตัน ซี ซึ่งได้รับอนุมัติจากธนาคารแล้ว
แสดงให้เห็นเจตนาของจําเลยกับพวกต้องการปกปิดความจริงไม่ให้ผู้เสียหายล่วงรู้ว่าบัตรเดบิตวีซ่าไม่มีเงินในบัญชีหรือมีเงินไม่เพียงพอ ตามใบเช็คอินท์ ของโรงแรม มีผู้เข้าพักรวม 11 คน
โดยจําเลยจะเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรอง
เมื่อจําเลยกับพวกรู้ดีอยู่แล้วว่าบัตรเดบิตวีซ่ามีเงินไม่เพียงพอที่จะชําระค่าที่พักและค่าบริการได้แต่ยังคงเข้าพักอาศัย สั่งอาหาร-เครื่องดื่มและใช้บริการของโรงแรมตั้งแต่ วันที่ 16 กันยายน 2560 ถึงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 แสดงว่าจําเลยมีเจตนา ร่วมกับพวกมาแต่แรกที่จะเข้าพักอาศัยในโรงแรม สั่งอาหาร เครื่องดื่ม และใช้บริการอื่น ๆ ของโรงแรมโดยทราบดีอยู่แล้วว่าไม่สามารถชําระค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่มและ ค่าบริการของโรงแรมได้
การกระทําของจําเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจําเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 345, 83
********************
นับเป็นอีกหนึ่งคดีสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงแนวทางคำพิพากษาของศาลและบทลงโทษการกระทำความผิดที่ได้รับ เพื่อไม่ให้ใครเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้อีกต่อไปในอนาคต