การเดินทางเยือนไต้หวันของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ โดยไม่สนใจเสียงทักท้วงใดๆ ได้ปลุกสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศให้ร้อนระอุ
ไม่เพียงแค่จีนกับไต้หวัน หรือในเอเชียเท่านั้น แต่ยังรวมถึง 2 มหาอำนาจลำดับ 1 กับ 2 ของโลกอย่างสหรัฐกับจีนด้วย
หลังปฏิบัติการเย้ยฟ้าท้าดิน จีนดำเนินมาตรการตอบโต้ทันควัน ทั้งมาตรการทางเศรษฐกิจ คว่ำบาตรสินค้าจากไต้หวัน ระงับการนำเข้าและส่งออกสินค้าหลายรายการ
ขณะเดียวกันก็ดำเนินมาตรการทางความมั่นคง เปิดฉากซ้อมรบระหว่างวันที่ 5-8 ส.ค. ในลักษณะของการปิดเกาะไต้หวันทั้งทางอากาศ และทางทะเล พร้อมกับยิงขีปนาวุธและจรวดข้ามเกาะไต้หวันเพื่อแสดงแสนยานุภาพ
นอกจากนี้ จีนยังลดระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐลง เพื่อส่งสัญญาณให้หยุดใช้ไต้หวันเป็นเบี้ยในกระดาน เพื่อรุกล้ำอธิปไตยของจีน เหมือนกับที่สหรัฐใช้ยูเครนเพื่อเขย่าความมั่นคงปลอดภัยของรัสเซียมาแล้ว
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความบันทึกปรากฏการณ์นี้ไว้ เป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์โลกที่ต้องจารึก พร้อมอ่านสถานการณ์ที่หลายคนหวั่นว่าจะเป็นชนวนสู่สงครามโลกครั้งที่ 3
เอเชียร้อนแล้ว!
ค่ำคืนวันอังคารที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา เป็นคืนที่ทั่วโลกต้องจับตามองสถานการณ์การเมืองและความมั่นคงในเอเชียอย่างมาก หลังจากมีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องถึงการตัดสินใจของประธานรัฐสภาอเมริกัน แนนซี เพโลซี ที่เดินทางเยือนไต้หวัน
ในท่ามกลางข่าวลือที่เกิดขึ้น ท่าทีของรัฐบาลปักกิ่งมีความชัดเจนในลักษณะของการขู่ที่จะใช้มาตรการทางทหารตอบโต้ ถ้าการเดินทางของผู้นำฝ่ายรัฐสภาเกิดขึ้นจริง… แล้วการเดินทางดังกล่าวก็เกิดขึ้นตามที่คาด
สภาวะเช่นนี้ส่งผลโดยตรงให้สถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียร้อนแรงขึ้น และยังกระทบกับตลาดหุ้นในเอเชียด้วย
ในมุมมองของปักกิ่งนั้น ไต้หวันเป็นดินแดนของจีนที่ยังไม่สามารถนำกลับมารวมให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนได้ ซึ่งแตกต่างจากฮ่องกงที่จีนได้รับมอบคืนจากอังกฤษแล้ว
อีกส่วนเป็นผลมาจากความตกลงที่หลายประเทศได้ลงนามยอมรับเงื่อนไขของจีนภายใต้นโยบาย “จีนเดียว” ที่จะไม่ยอมรับสถานะความเป็นรัฐเอกราชของไต้หวัน และยอมรับจีนมีเพียงจีนเดียวเท่านั้นคือ “สาธารณรัฐประชาชนจีน”
แต่แม้กระนั้น หลายประเทศที่เปิดความสัมพันธ์กับจีนปักกิ่งแล้ว ก็ยังคงความสัมพันธ์ในระดับหนึ่งกับ “จีนไทเป” ไว้ต่อไป และไม่ได้มีการตัดความสัมพันธ์อย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดมาโดยตลอดที่รัฐบาลปักกิ่งจะใช้ทุกวิถีทางที่จะโดดเดี่ยวไต้หวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือกดดันให้ประเทศเล็กๆ ต้องทิ้งไต้หวัน และหันไปกระชับความสัมพันธ์กับปักกิ่งแทน เพื่อผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ
ยิ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนมีความเติบโตในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการยกระดับกองทัพจีนอย่าวก้าวกระโดด จากกองทัพแบบเก่าของยุคสงครามเย็น ไปสู่การเป็น “กองทัพชั้นนำของโลก” ตลอดรวมถึงการขยายบทบาททางการเมืองในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ดังนั้นภาพคู่ขนานสามส่วนของการขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลก จึงเป็นทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เคลื่อนตัวตามกันไป
ในขณะที่การเติบโตของจีนเกิดขึ้นในช่วงต้นของศตวรรษที่ 21 อีกด้านหนึ่งโลกตะวันตก และโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาอาจจะไม่ได้เติบโตทางเศรษฐกิจได้มากแบบจีน และมีปัญหาภายในอย่างมาก อีกทั้งการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ นโยบายต่อพันธมิตรความมั่นคงที่เปลี่ยนไป พร้อมกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ภาพลักษณ์ของโลกตะวันตกในช่วงที่ผ่านมาจึงดูอ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง จนเกิดความเชื่อว่า “ตัวแบบจีน” คืออนาคตของโลก และถูกนำมาใช้ในการโฆษณาทางการเมืองว่า “ยุคของโลกตะวันตกกำลังปิดฉากลง” เรากำลังก้าวสู่ “ยุคแห่งความรุ่งโรจน์ของโลกตะวันออก” ที่มีจีนเป็นผู้นำ
ประธานาธิบดีปูตินก็อาจเชื่อในวาทกรรม “การล่มสลายของโลกตะวันตก” ไม่แตกต่างกัน
การตัดสินใจเปิดสงครามยูเครนในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ในมุมมองของผู้นำรัสเซียจึงเกิดในเงื่อนเวลาที่เหมาะสมที่สุด ไม่ว่าเราจะตีความว่าการพบกับผู้นำจีนที่โอลิมปิกฤดูหนาวจะเป็นการส่งสัญญาณแจ้งเตือนของสงครามยูเครนหรือไม่ก็ตาม เมื่อสงครามยูเครนเกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดมุมมองว่าไต้หวันอาจกลายเป็น “ยูเครนแห่งเอเชีย” ซึ่งรัฐบาลจีนไม่ยอมรับและปฎิเสธมุมมองเช่นนี้มาโดยตลอด และยืนยันว่าไต้หวันเป็นดินแดนของจีนที่ต้องรวมชาติ แม้จะต้องใช้กำลังก็ตาม
ฉะนั้นที่ผ่านมา สหรัฐอาจจะดำเนินนโยบายแบบ “กำกวม” ต่อปัญหาไต้หวัน แต่ก็เป็นที่รับรู้กันในทางยุทธศาสตร์ว่า โลกตะวันตกสูญเสียไต้หวันไม่ได้ เท่าๆ กับที่วันนี้โลกตะวันตกก็สูญเสียยูเครนไม่ได้
ดังนั้น สถานการณ์การแข่งขันของรัฐมหาอำนาจใหญ่เช่นในปัจจุบัน กระแสต่อต้านรัสเซียและจีนจึงขยับตัวคู่ขนานกันไปในโลกตะวันตก และเธอ… แนนซี เพโลซี คือตัวแทนที่ชัดเจนของกระแสนี้
อีกทั้งสิ่งที่เป็นจุดยืนที่มีต่อเนื่องมาอย่างยาวนานในชีวิตทางการเมืองของเธอ คือ “การต่อต้านจีนและรัสเซีย” ซึ่งการเดินทางเยือนไต้หวัน คือคำยืนยันอย่างดีในเรื่องนี้ และแน่นอนว่าการเยือนของเธอส่งผลอย่างมีนัยสำคัญทั้งต่อความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ต่อการเมืองในเอเชีย และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนของจุดเริ่มของ “สงครามเย็นใหม่” ในเอเชีย
ถ้า 24 กุมภาพันธ์ ของสงครามยูเครนคือจุดเริ่มต้นของระเบียบการเมืองใหม่ของยุโรป บางทีเราอาจจะต้องยอมรับว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในค่ำของวันที่ 2 สิงหาคม คือสัญญาณที่บ่งบอกถึงจุดเปลี่ยนของการเมืองเอเชีย และอาจนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ของรัฐเอเชียภายใต้ภูมิทัศน์ใหม่ ดังเช่นที่เรากำลังเห็นในยูเครน
อย่างไรก็ตาม ถ้าเพโลซีไม่ไปไต้หวัน อาจถูกตีความว่าโลกตะวันตก “หงอจีน” แต่ถ้าไปแล้วจีนไม่แสดงบทขึงขังให้น่ากลัวบ้าง ก็จะเป็นว่าจีน “หงอสหรัฐ” … ทัศนะเช่นนี้อาจส่งผลให้การเมืองเอเชียหลัง 2 สิงหาคม มีทั้งความเปราะบางและความท้าทายคู่ขนานกัน
ทั้งยังอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าของสองมหาอำนาจใหญ่ได้ง่าย
แต่มีคำถามเล็กๆ พ่วงท้ายที่ต้องคิดต่อว่า แล้วรัฐบาลกรุงเทพฯ คิดอย่างไร และจะเตรียมตัวรับมือกับ “สงครามเย็นใหม่” ครั้งนี้อย่างไร…
โจทย์ชุดใหม่นี้ซับซ้อนกว่าปัญหา “หาร100” หรือ “หาร500” แน่นอน!