“...แม้วัคซีนปัจจุบันจะไม่ดีที่สุด แต่ก็ดีพอในการป้องกันได้ ดังนั้น หากใครฉีดเข็มสุดท้ายห่างมาแล้วเกิน 4 เดือน ยิ่งมีโรคประจำตัวขอให้มาฉีดบูสเตอร์ เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นลดอัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตอย่างชัดเจน...”
เป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่เราเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วัคซีนเป็นทางออกเดียวที่จะป้องกันการสูญเสียที่จะเกิดจากวิกฤตินี้ได้ แม้ว่าขณะนี้จะมีวัคซีนหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นชนิดเชื้อตาย ไวรัล เวกเตอร์ (Viral Vector) mRNA และโปรตีนซับยูนิต (Subunit) แต่ทางด้านเชื้อไวรัสก็ไม่ได้หยุดนิ่ง มีการต่อสู้กลายพันธุ์มาตลอด
โดย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แบ่งสายพันธุ์โควิดกลายพันธุ์เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
-
โควิดกลายพันธุ์กลุ่ม Variant of Concern (VOC) คือ โควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีความน่ากังวลที่ได้รับการกำหนด ณ ปัจจุบัน คือ โอไมครอน (Omicron) ส่วนสายพันธุ์ที่เคยแพร่กระจายอยู่ก่อนหน้านี้ ได้แก่ อัลฟา (Alpha) เบตา (Beta) แกมมา (Gamma) และเดลตา (Delta)
-
โควิดกลายพันธุ์กลุ่ม Variant of Interest (VOI) คือ สายพันธุ์ใหม่ที่อยู่ในความน่าสนใจ ได้แก่ เอปไซลอน (Epsilon) ซีตา (Zeta) อีตา (Eta) ทีตา (Theta) ไอโอตา (Iota) แคปปา (Kappa) แลมบ์ดา (Lambda) และมิว (Mu) ซึ่งในขณะนี้ ไม่มีที่กำลังแพร่กระจายอยู่
สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้ในปัจจุบัน มีทั้งหมด 11 ผลิตภัณฑ์ ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งวัคซีนที่ทั่วโลกใช้ในขณะนี้ทุกชนิด ถูกผลิตจากไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์อู่ฮั่น แม้ว่าการใช้วัคซีนในระยะแรกจะเกิดข้อกังวลในการใช้วัคซีนดั้งเดิมกับไวรัสกลายพันธุ์
แต่ตลอดช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนเข็มแรก การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการระบาดของสายพันธุ์ที่น่ากังวล (VOC) เกิดขึ้นหลายระลอก จากการเก็บข้อมูลทั่วโลกพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนที่มี ยังคงมีประสิทธิผลในการลดอัตราการป่วยที่รุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ทางผู้ผลิตผู้วัคซีนหลายรายพยายามพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ให้มีความจำเพาะกับไวรัสกลายพันธุ์มากขึ้น
เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 2565 สถานบันวัคซีนแห่งชาติ ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ มีการติดตามข้อมูลวัคซีนป้องกันโควิดรุ่นใหม่ที่ตอบสนองต่อสายพันธุ์โอไมครอน แต่องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกา (US FDA) บอกว่า ในส่วนของวัคซีนโอไมครอน ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เข้าไปในการทำ BA.1 ด้วย
หมายความว่า ทำจนเสร็จแล้วผ่านไป 6 เดือนเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่มา ทาง US FDA ขอให้เพิ่มสายพันธุ์ใหม่เข้าไปอีก ซึ่งหากเพิ่ม BA.4 และ BA.5 เข้าไปแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่า ในอนาคตจะมีสายพันธุ์อะไรอีกหรือไม่ เพราะต่อจากโอไมครอน ก็ยังมีสายพันธุ์อื่นๆอีก จึงยังไม่มีจุดจบของตัวสายพันธุ์ใหม่
จากประสบการณ์ที่ผ่านมามีการพัฒนาวัคซีนต่อสายพันธุ์เบีตาแล้ว ปรากฏว่า มีสายพันธุ์อื่นอีก ซึ่งเป็นไปได้ว่า เมื่อพัฒนาสายพันธุ์ BA.1 แล้ว อาจไม่ได้ใช้ เพราะต้องมาเพิ่ม BA.4 และ BA.5 อีกก็ได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาของโควิดที่ต้องวิ่งไล่ตาม
นพ.นคร กล่าวถึงการพัฒนาวัคซีนในประเทศไทยว่า ส่วนของประเทศไทย มีนักวิจัยที่พัฒนาวัคซีนซึ่งมีเสนอขอพัฒนาสายพันธุ์โอไมครอน และสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ให้ทุนสนับสนุน ขณะนี้ทั้งชนิด mRNA ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ที่พัฒนาตัวไวรัล เวกเตอร์ ก็มีการพัฒนาวัคซีนต้นแบบที่เป็นโอไมครอน BA.4 และ BA.5 ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะทันเวลาที่จะเปลี่ยนแปลงอีกหรือไม่ แต่ต้องเตรียมไว้
“ขณะนี้นี้ต้องมีการจับตาดูว่า ต่างประเทศมีการพัฒนาอย่างไรด้วย ซึ่งขณะนี้ในส่วนสถาบันฯ ยังไม่ได้สั่งวัคซีนรุ่นใหม่ตรงนี้ เพราะประเทศต้นทางยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้ แต่ขอย้ำว่า วัคซีนป้องกันโควิดที่มีอยู่ในมือ ณ ขณะนี้ ใช้ได้จริง ไม่ต้องรอรุ่นใหม่ๆ” นพ.นคร กล่าว
ทางด้าน พญ.สุเนตร ชื่นกิจมงคล รองผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ว่า ขณะนี้ ผู้ผลิตวัคซีนหลายรายพยายามพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ ให้มีความจำเพาะกับไวรัสกลายพันธุ์มากขึ้น คือ โอไมครอน สายพันธุ์ย่อย BA.1 พัฒนาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยข้อมูลพื้นฐานมาจากการวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะในกลุ่ม mRNA ส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาลูกผสม
“อย่างโมเดอร์นา (Moderna) และไฟเซอร์ (Phizer) อยู่ระหว่างการพัฒนาเช่นกัน ตั้งแต่ตัวเดี่ยวๆ จนถึงสองตัวผสมกัน โดยมีการเสนองานวิจัยเฟส 3 ให้กับ US FDA เมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่โปรตีนซับยูนิต อย่างโนโวแวกซ์ (Novavax) ก็พัฒนาเช่นกัน ทั้งสไปรท์ของ BA.1 และของอู่ฮั่น แต่ยังเป็นงานวิจัยเฟส 3” พญ.สุเนตร กล่าว
พญ.สุเนตร กล่าวว่า สำหรับโมเดอร์นา อยู่ระหว่างการวิจัยวัคซีนเฟส 3 โดยได้เสนอผลการศึกษาต่อ US FDA แล้ว ผลการศึกษาพบว่า การฉีดบูสเตอร์เข็มที่ 4 ด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Neutralizing Antibody) ต่อโอไมครอนสายพันธ์ย่อย BA.1 ได้สูงกว่าวัคซีนสูตรเดิม 1.75 เท่า ทั้งในผู้ที่ไม่เคยมีประวัติติดเชื้อ และเคยติดเชื้อมาก่อน และทั้งกลุ่มผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ขณะที่การฉีดบูสเตอร์เข็มที่ 4 ด้วยวัคซีนรุ่นใหม่ สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับวัคซีนสูตรเดิม
อย่างไรก็ดี การฉีดวัคซีนโมเดอร์นารุ่นแรกเป็นเข็มกระตุ้น เข็มที่ 3 ยังคงมีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อโอไมครอนได้ถึง 70% และป้องกันการป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้สูงถึง 99% ภายหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเป็นเวลามากกว่า 60 วัน
ส่วนไฟเซอร์ อยู่ระหว่างการวิจัยวัคซีนเฟส 2/3 และได้เสนอผลการศึกษาต่อ USFDA แล้วเช่นเดียวกัน โดยการฉีดวัคซีนบูสเตอร์ด้วยวัคซีนโอไมครอนรุ่นใหม่ (Omicron-modified vaccine 30 Mg) ทั้งชนิด Monovalent และ Bivalent สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอน BA.1 ได้สูงกว่าวัคซีนสูตรเดิม (BNT162b2) 1.75 เท่า และมีสัดส่วนของอาสาสมัครที่ตอบสนองต่อวัคซีนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับวัคซีนสูตรเดิม
“วัคซีนรุ่นใหม่ กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ดั้งเดิมได้ในระดับที่ใกล้เคียงกับวัคซีนสูตรเดิม การฉีดวัคซีนรุ่นใหม่ทั้งชนิด Monovalent และ Bivalent เป็นเข็มที่ 4 (6 เดือนหลังเข็มที่ 3) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอน BA.1 ได้ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น” พญ.สุเนตร กล่าว
ทั้งนี้ วัคซีนรุ่นใหม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อโอไมครอน BA.4 และ BA.5 ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 สามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ในระดับหนึ่ง
ด้านของโนวาแวกซ์ ยังอยู่ระหว่างการวิจัยเฟส 3 ซึ่งพัฒนาทั้งสไปร์ทของ BA.1 และของอู่ฮั่น จึงยังไม่มีผลการศึกษาออกมาเผยแพร่สู่สาธารณชน
พญ.สุเนตร กล่าวว่า ด้าน US FDA ระบุว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังสามารถใช้ป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอยู่ในปัจจุบันได้ วัคซีนรุ่นใหม่ที่คิดค้นมาเพื่อต่อสู้กับโอไมครอน BA.1 สร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่มากกว่ารุ่นเก่ามากนัก จึงแนะนำว่าควรพัฒนาวัคซีนต่อสายพันธุ์ใหม่ BA.4 และ BA.5
อย่างไรก็ตาม เมื่องานวิจัยเรื่องวัคซีนออกมา ก็ต้องมีการพิจารณาในการผลิตวัคซีน ซึ่งต้องใช้เวลาในการผลิตถึงประมาณ 6 เดือน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น อาจมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดหลักได้ในอนาคต เนื่องจากมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่องของเชื้อไวรัส
พญ.สุเนตร กล่าวว่า ขณะนี้วัคซีนรุ่นใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่ด้วยความจำเป็นของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะช่วยลดความรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิตได้ แม้วัคซีนที่เรามีอยู่อาจไม่ดีที่สุดกรณี BA.4/BA.5 แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้ และทันเวลา เพราะตอนนี้กำลังระบาดอยู่ ดังนั้น การผลิตวัคซีนเมื่องานวิจัยออกมา หากขึ้นทะเบียนได้ ก็ต้องใช้เวลาการผลิต การจัดทำต่างๆ อาจไม่น้อยกว่า 6 เดือน ซึ่งถึงวันนั้นสายพันธุ์ BA.4/BA.5 จะอยู่หรือปล่าว หรือจะมีตัวใหม่ๆอีก ดังนั้น วัคซีนเข็มกระตุ้นของเรา สามารถลดความรุนแรง ความการเสียชีวิตได้
“แม้วัคซีนปัจจุบันจะไม่ดีที่สุด แต่ก็ดีพอในการป้องกันได้ ดังนั้น หากใครฉีดเข็มสุดท้ายห่างมาแล้วเกิน 4 เดือน ยิ่งมีโรคประจำตัวขอให้มาฉีดบูสเตอร์ เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นลดอัตราการป่วยรุนแรง และเสียชีวิตอย่างชัดเจน” พญ.สุเนตร กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือข้อมูลความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนโควิดเพื่อให้รองรับกับเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยบ่งชี้แล้วว่า วัคซีนชนิดเดิมยังคงมีความสามารถในการป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคได้ โดยการเข้ารับเข็มกระตุ้น หรือบูสเตอร์โดสเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย จึงแนะนำให้ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น นอกจากนี้ จะต้องติดตามต่อไปว่า เราจะได้ใช้วัคซีนเวอร์ชั่นใหม่เมื่อไหร่ เพื่อต่อกรกับไวรัสที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในตอนนี้