ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำฯ หัวใจสำคัญคือการอุดช่องว่าง ก่อนการปล่อยตัวนักโทษกลับสู่สังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ออกมาทำผิดซ้ำอีก เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้สังคมมากขึ้น และไม่ได้มีแค่เรื่อง ‘ฉีดให้ฝ่อ’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ
เหลือไม่กี่ขั้นตอน สำหรับการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ....
หลังจากเมื่อวันที่ 11 ก.ค.2565 ที่ประชุมวุฒิสภา (ส.ว.) มีมติ 143 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เห็นชอบ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว
แต่เนื่องจากมีการแก้ไขสาระสำคัญบางมาตรา ตามกระบวนการแล้วจึงต้องส่งกลับมาให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาว่าจะเห็นชอบตามมติ ส.ว. หรือจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณาอีกหนึ่งขั้นตอน
สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกเรียกกันในวงกว้างว่า ร่างกฎหมาย ‘ฉีดไข่ให้ฝ่อ’ ซึ่งข้อเท็จจริงแล้ว กระบวนการดังกล่าวเป็นแค่หนึ่งในสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด และเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การป้องกันและเฝ้าระวังอาชญากรรม เพื่อสร้างความปลอดภัยให้สังคม โดยหาวิธีแก้ปัญหาและลดอัตราการกระทำความผิดซ้ำ
โดยรายละเอียด 7 หมวด 43 มาตราของ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.... สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ ดังนี้
ป้องกันการทำผิดซ้ำเกี่ยวกับเพศ ชีวิต เสรีภาพ
หัวใจสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ถูกกำหนดให้ใช้บังคับการกระทำความผิด 3 ประเภท ดังนี้
1.ความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา อนาจาร โดยเฉพาะกรณีที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
2.ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย เช่น ฆ่าผู้อื่น ทำร้ายผู้อื่น ไม่ใช่เพียงกรณีที่เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย แต่ยังรวมถึงกรณีที่เป็นเหตุได้รับอันตรายสาหัสด้วย
3.ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ เช่น เรียกค่าไถ่ กรณีเด็กอายุไม่เกิน 5 ปี
ทั้งนี้ไม่ให้ใช้บังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดในขณะที่อายุต่ำกว่า 18 ปี
และให้นำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายนี้
ตั้งกรรมการวางนโยบาย-แนวทางป้องกันการทำผิดซ้ำ
กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยมี รมว.ยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการโดยตำแหน่ง 10 คน อาทิ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการแพทย์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม อัยการสูงสุด และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน ทำหน้าที่ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และต้องเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมือง ไม่เป็นข้าราชการประจำ เว้นแต่อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่เป็นคนไร้ความสามารถ ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออกหรือให้ออกจากราชการ
ทั้งนี้ รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการหนึ่งหรือหลายคณะ ชื่อว่า ‘คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ’ มี รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน มีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมคุมประพฤติ ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ และผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นประธาน
มีหน้าที่กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ หรือพิจารณากำหนดมาตรการคุมขังหลังพ้นโทษ
‘ฉีดให้ฝ่อ’ มาตรการแพทย์เพื่อฟื้นฟูผู้ทำผิด
สำหรับคดีที่มีการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดที่อ้างถึงความผิด 3 ประเภทข้างต้น ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดระหว่างรับโทษจำคุกเพื่อป้องกันมิให้กระทำความผิดซ้ำ โดยขอรวมกันไปในการฟ้องคดีหรือก่อนศาลมีคำพิพากษาได้
มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด คือ 1.มาตรการทางการแพทย์ เช่น การฉีดให้ฝ่อ 2.มาตรการอื่นใดตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวงโดยข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ
นอกจากนั้นยังกำหนดให้ศาลคำนึงถึงพฤติกรรมแห่งความรุนแรงของคดี สาเหตุแห่งการกระทำความผิด ประวัติ ภาวะแห่งจิต นิสัย และลักษณะส่วนตัวของผู้กระทำความผิด
ส่วนกรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่งของศาลและจัดทำรายงานผลของการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากพนักงานอัยการเห็นสมควร อาจร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือยกเลิกมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดได้
มาตรการทางการแพทย์ กำหนดให้ดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอย่างน้อย 2 คน ซึ่งมีความเห็นพ้องต้องกัน ทั้งนี้ ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตเวชศาสตร์และสาขาอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละ 1 คน
ผู้ทำผิดต้องยินยอม-ใช้ประกอบการลดหรือพักโทษ
อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดว่า หากจำเป็นต้องมีการใช้ยาหรือด้วยวิธีการรูปแบบอื่นให้กระทำได้เฉพาะเมื่อผู้กระทำความผิดยินยอม เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
และให้กรมราชทัณฑ์นำผลของการใช้มาตรการทางการแพทย์ มาเป็นเงื่อนไขประกอบการพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ประโยชน์อันเป็นผลให้กระทำความผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดในคำพิพากษาตามกฎหมาย
อัยการร้องขอศาลสั่ง 13 มาตรการเฝ้าระวัง
เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่านักโทษเด็ดขาด จะกระทำความผิดซ้ำหลังพ้นโทษ ศาลอาจมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังตามที่พนักงานอัยการร้องขอ โดยกำหนดมาตรการเดียวหรือหลายมาตรการก็ได้ โดยกำหนดไว้ 13 มาตรการ ดังนี้
- ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย
- ห้ามทำกิจกรรมเสี่ยงต่อการกระทำผิด
- ห้ามเข้าเขตกำหนด
- ห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
- ห้ามก่อให้เกิดอันตรายต่อละแวกชุมชน
- ให้พักอาศัยในสถานที่กำหนด
- ให้พักอาศัยในสถานบำบัดที่กำหนดหรือให้ไปอยู่ภายใต้การดูแลในสถานบำบัด ที่รับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข
- ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือผู้ดูแลสถานที่พักอาศัยหรือสถานบำบัด
- ให้มารายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ
- ให้ใช้มาตรการทางการแพทย์หรือมาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์ หรือบุคคลอื่นใดตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
- ให้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูแก้ไขหรือเข้าร่วมกิจกรรมตามที่ศาลหรือพนักงานคุมประพฤติกำหนด
- ให้แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนสถานที่ทำงานหรือการเปลี่ยนงาน
- ให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวในการเฝ้าระวัง
โดยศาลอาจกำหนดระยะเวลาการเฝ้าระวังแต่ละมาตรการตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันพ้นโทษ
ทั้งนี้ เมื่อครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง และในทุกรอบ 6 เดือน ให้พนักงานคุมประพฤติจัดทำรายงานการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเสนอศาล ศาลอาจแก้ไขเพิ่มเติม ลดหรือขยายระยะเวลา หรือยกเลิกคำสั่งได้
เพิ่มมาตรการศาลสั่งคุมขัง แต่ต้องไม่ใช่เรือนจำ
กฎหมายกำหนดให้ ศาลอาจมีคำสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ หากเห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้นั้นจะไปกระทำความผิด และไม่มีมาตรการอื่นใดที่อาจป้องกันมิให้ผู้นั้นไปกระทำความผิดได้
ทั้งนี้ ยังกำหนดว่า การพิจารณาคำร้องขอพนักงานอัยการ ศาลอาจสั่งให้ใช้มาตรการคุมขังนักโทษเด็ดขาด ภายหลังพ้นโทษมีกำหนดระยะเวลาเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้กระทำความผิดซ้ำ ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันผู้นั้นพ้นโทษ
นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่ ส.ว.เพิ่มขึ้นใหม่ และเป็นหัวใจสำคัญของการพิจารณา คือ การกำหนดให้กรมราชทัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการบังคับตามคำสั่งคุมขัง ภายหลังพ้นโทษและให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ผู้ใดถูกคำสั่งให้คุมขังหลังพ้นโทษ ให้กรมราชทัณฑ์คุมขังไว้ในสถานที่คุมขังที่ไม่ใช่เรือนจำ และจะปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้
เหตุอันควรเชื่อว่าจะทำผิด สั่งคุมขังฉุกเฉินไม่เกิน 7 วัน
กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกเฝ้าระวังจะทำผิด หรือมีเหตุฉุกเฉิน หากไม่มีมาตรการอื่นป้องกัน พนักงานอัยการอาจร้องขอ ศาลอาจสั่งคุมขังฉุกเฉินได้ไม่เกิน 7 วัน ก่อนศาลมีคำสั่งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ถูกเฝ้าระวัง แต่ห้ามควบคุมตัวเกินกว่า 48 ชั่วโมง
ผู้ถูกเฝ้าระวังอาจยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลยกเลิกคำสั่ง และถ้าศาลมีคำสั่งยกเลิก ให้ถือว่าเป็นที่สุด โดยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการมีคำสั่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
อุทธรณ์คำสั่งภายใน 1 เดือน
กำหนดให้คำสั่งศาลเกี่ยวกับการแก้ไขฟื้นฟู การเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ และการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ในกรณีศาลมีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานอัยการให้เป็นที่สุด
ส่วนคำสั่งตามที่พนักงานอัยการร้องขอ ให้อุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง ทั้งนี้การยื่นอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้น และคำสั่งศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
นอกจากนี้ กรณีร่างกฎหมายผ่านการพิจารณา เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมด กำหนดให้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับบทเฉพาะกาล ยังกำหนดให้นำกฎหมายใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษผู้กระทำความผิดที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาล และกรณีที่จะมีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอยู่ในวันก่อนที่กฎหมายใช้บังคับ
สภาหวังอุดช่องว่างไม่ให้นักโทษทำผิดซ้ำ
ด้าน น.ส.พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอและผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้มาอย่างต่อเนื่อง เล่าย้อนหลังผ่านเฟซบุ๊ก ดร.ส้ม พัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ พรรคพลังประชารัฐ เขต 2 กทม ถึงการนำเสนอเรื่องนี้ ว่า เป้าหมายของกฎหมายนี้คือการป้องกันคนที่ออกจากเรือนจำแล้ว ไม่ให้ไปทำผิดซ้ำ ดังนั้นช่วงของการลงโทษยังคงให้เป็นไปตามกฎหมายเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร และกฎหมายนี้จะมีความสำคัญในช่วงที่นักโทษใกล้จะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ
“ถ้าคณะกรรมการพิจารณาแล้วว่า นักโทษคนนี้กลับตัวกลับใจได้ ไม่น่าจะทำผิดซ้ำแล้ว ก็ปล่อยตัวไปตามปกติ แต่ถ้าพิจารณาแล้วว่าเสี่ยงจะไปทำผิดซ้ำอีก ก็จะใช้มาตราการต่างๆ ตามที่กำหนด ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ เราทำอะไรเขาไม่ได้ ถึงเวลาปล่อยตัวก็ต้องปล่อย แม้จะรู้อยู่แล้วว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะทำผิดซ้ำ” น.ส.พัชรินทร์ กล่าว
น.ส.พัชรินทร์ อธิบายถึงที่มาของสาระสำคัญเกี่ยวกับ ‘ฉีดให้ฝ่อ’ ด้วยว่า ตามเป้าหมายของกฎหมายระบุว่า ระหว่างอยู่ในเรือนจำ นักโทษที่มีความผิดปกติทางจิตหรือทางกายอาจได้รับการแก้ไขฟื้นฟู เพื่อป้องกันไม่ให้ทำผิดซ้ำ โดยอาจใช้มาตรการทางการแพทย์ หรือมาตรการอื่นตามที่กำหนด ซึ่งมาตรการทางการแพทย์ทำให้สามารถใช้ ‘ยาลดฮอร์โมนเพศ’ หรือที่เรียกว่า ‘ฉีดไข่ฝ่อ’ ซึ่งเป็นเพียงส่วนย่อยในมาตรการป้องกันทั้งหมดตามกฎหมายนี้เท่านั้น
ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทำผิดซ้ำฯ หัวใจสำคัญคือการอุดช่องว่าง ก่อนการปล่อยตัวนักโทษกลับสู่สังคม เพื่อป้องกันไม่ให้ออกมาทำผิดซ้ำอีก เป็นการเพิ่มความปลอดภัยให้สังคมมากขึ้น และไม่ได้มีแค่เรื่อง ‘ฉีดให้ฝ่อ’ อย่างที่หลายคนเข้าใจ