“...เมื่อเทียบกับประเทศที่ระดับการพัฒนาที่เท่ากัน (Upper Middle-Income Country) ประเทศไทย มีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 0.3-0.4% ของงบประมาณทั้งหมด มาเลเซียอยู่ที่ 0.9% ซึ่งไทยห่างจากมาเลเซียถึง 1 เท่าตัว ส่วนยุโรปอยู่ 1.7%...”
ขณะนี้โลกกำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และปรากฏการณ์อื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย และปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม
ปัจจุบันนานาประเทศมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ปรากฎภาพหลายประเทศจับมือเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหา เช่น การประชุมสมัชชาประเทศเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ซึ่งประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมในเวทีดังกล่าวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผลการจัดอันดับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของ 180 ประเทศทั่วโลกในปี 2565 โดยมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ภาพรวมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของไทย แย่ลงกว่าเดิม ทำให้ไทยตกจากอันดับ 78 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 108 ของโลก หรือร่วงลงไปถึง 30 อันดับ
รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร เปิดเผยกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย ว่า ภาพรวมสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทยอยู่ในภาวะทรงตัว ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก อยู่ในสถานะตั้งรับ สวนทางกลับประเทศอื่นที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาในเชิงรุก
รศ.ดร.วิษณุ ระบุว่า เกณฑ์มาตรฐานการจัดอันดับสิ่งแวดล้อมโลก ให้น้ำหนักเรื่องมลพิษทางอากาศถึง 50% เพราะว่าเป็นมลพิษที่สร้างความเสียหายมากที่สุด เมื่อพิจารณาแยกรายประเด็นพบว่า คุณภาพอากาศโดยรวมของไทยแย่ลงจากอันดับ 85 ลงไปอยู่อันดับ 93 ของโลก ส่วนอันดับด้านฝุ่นพิษ PM 2.5 ดีขึ้นเพียงเล็กน้อยขยับจากอันดับ 88 เป็นอันดับ 87 ของโลก
ส่วนมลพิษจากโอโซนบนภาคพื้นดินอันดับไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่สารมลพิษตัวอื่น เช่น ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) อยู่อันดับรั้งท้ายตารางทุกชนิด
“อันดับเหล่านี้สะท้อนผลจากการที่ประเทศไทยไม่ได้ปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของสารมลพิษต่างๆ มาอย่างยาวนาน ขณะที่หลายประเทศในโลกมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
สำหรับด้านการจัดการขยะ ไทยอันดับแย่ลงจากอันดับ 84 ไปอยู่ที่อันดับ 100 ของโลก ซึ่งถูกวิเคราะห์ผลจากการควบคุมขยะมูลฝอย และการจัดการขยะพลาสติกในทะเลที่ยังมีค่าดัชนีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก
ด้านการบำบัดน้ำเสียก็แย่ลงจากอันดับ 97 ไปอยู่ที่อันดับ 116 ของโลก และด้านการอนุรักษ์ระบบนิเวศและบริการของระบบนิเวศนับว่าแย่สุดๆ ร่วงจากอันดับ 101 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 129 ของโลก
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวด้วยว่า ด้านบริการระบบนิเวศนี้ ถือว่าย่ำแย่มาก เพราะร่วงจากอันดับ 140 ที่ถือว่าแย่มากอยู่แล้ว ตกไปอยู่ที่อันดับ 152 ของโลก แสดงให้เห็นว่า ไทยให้ความสำคัญในด้านนี้น้อยมาก สวนทางกลับ การจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพและที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต อันดับดีขึ้นกว่าเดิมจาก 114 ขยับขึ้นไปอยู่ที่อันดับ 107 ของโลก แต่ก็ยังมีค่าดัชนีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกเช่นกัน
สำหรับด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากอันดับที่ 84 หล่นลงไปอยู่ที่อันดับ 106 ของโลก หลักๆ เกิดจากอันดับที่แย่ ด้านการคาดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยอยู่ในอันดับที่ 157 ของโลก และอัตราการเติบโตของคาร์บอนดำ อยู่ที่อันดับที่ 127 ของโลก
ส่วนด้านการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับดีขึ้นจากอันดับ 117 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 101 ของโลกแต่ยังมีค่าดัชนีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ส่วนด้านการทำประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอันดับตกจาก 87 ของโลกไปอยู่ที่อันดับ 110 ของโลก
“หลายคนมักจะมองว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด ค่าฝุ่นลดลง แสดงว่าสิ่งแวดล้อมของเราดีขึ้นแล้ว แต่ปรากฎว่า เพื่อนบ้านก็ลดลงเช่นกัน และลดลงมากกว่าไทยด้วย แต่การจัดอันดับ นอกจากสภาพอากาศ มาตรการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นกลับทำให้เราอันดับแย่ลงกว่าเดิม” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมน้อยมากๆ สังเกตได้จากงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่ลดลงอย่างมากจากอดีต แม้ปีงบประมาณ 2566 จะปรับเพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจาก 8,361 ล้านบาท เป็น 10,226 ล้านบาท แต่ก็นับว่ายังน้อยกว่างบประมาณที่เคยได้รับในอดีตในช่วงปีงบประมาณ 2562
“เมื่อเทียบกับประเทศที่ระดับการพัฒนาที่เท่ากัน (Upper Middle-Income Country) ประเทศไทย มีงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่ำมากๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ อยู่ที่ประมาณ 0.3-0.4% ของงบประมาณทั้งหมด มาเลเซียอยู่ที่ 0.9% ซึ่งไทยห่างจากมาเลเซียถึง 1 เท่าตัว ส่วนยุโรปอยู่ 1.7%” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
นอกจากนี้ ยังพบว่า งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมมีความผันผวนขึ้นลงไปมาตลอด สะท้อนให้เห็นว่าผู้กำหนดนโยบายของไทยมองการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องชั่วคราวและให้ความสำคัญน้อย การดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมจึงขาดความต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดบอดที่สำคัญ เพราะการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เป็นปัญหาชั่วคราว ต้องการแก้ไขที่ต่อเนื่อง และระยะยาว
“งบประมาณที่น้อยและผันผวน ส่งผลให้บุคลากรในการดำเนินงานน้อยตามไปด้วย เมื่อคนน้อย ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไข ฉะนั้นภาครัฐจะต้องจัดสมดุลของงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้นในส่วนนี้” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวอีกว่า กฎหมาย เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ โดยจะต้องบอกว่ากฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยน้อยล้าหลังและไม่บูรณาการ ในขณะที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาบูรณาการ ต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ไข แต่ปัจจุบันกฎหมายหรือหลักเกณฑ์ที่มีอยู่เปรียบเสมือนเสือกระดาษ ที่ไม่มีอำนาจในการบังคับใช้ได้อย่างจริงจัง
ยกตัวอย่าง โรงงานอุสาหกกรรมปล่อยควันดำ กรมควบคุมมลพิษ ก็ทำอะไรไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ไม่มีอำนาจการสั่งการข้ามกระทรวง พอข้ามกระทรวงไปแล้วกลายเป็นการประสานงาน แต่ไม่มีอำนาจสั่งการควบคุม
“สหรัฐอเมริกา มีองค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency – EPA) มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการเอาผิดข้ามกระทรวงได้เลย ซึ่งทำให้กฎหมายมีอำนาจและบังคับใช้ได้จริง ส่วนไทยมีกฎหมายเช่นกัน เขียนไว้สวยๆ แต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง” รศ.ดร.วิษณุ ระบุ
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวถึงมาตรการควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยว่า ไทยไม่มีมาตรการในเชิงเศรษฐศาสตร์ ที่เรียกว่าการจูงใจที่ถูกต้อง มีแต่มาตรการห้ามหรือบังคับ ที่เน้นการสั่งการจากบนลงล่าง (Top-Down) ซึ่งจุดบอดของมาตรการบังคับ คือ ปัญหาในการควบคุมดูแลไม่ทั่วถึง เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีมากเพียงพอ ทำให้ไม่มีสามาถติดตามตรวจสอบและแก้ปัญหาได้ครบถ้วน ดังนั้น จึงต้องอาศัยกลไกตลาดดำเนินการโดยการใช้มาตรการจูงใจเป็นหลักมากกว่า
ส่วนมาตรการจูงใจที่ภาครัฐมีนั้น ยังถือว่าบิดเบี้ยว และไม่ถูกนำไปใช้ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เหมือนกับว่ามีมาตการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ได้เน้นการแก้ไขปัญหาจริงๆ ยกตัวอย่าง มาตรการเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ใช้กัน คือการที่รัฐเข้าไปช่วยในระยะแรก และค่อยๆ ถอนตัวออกมา แต่มาตรการที่ไทยใช้นั้น กลับกัน คือการอุดหนุนให้ตลอด และมากขึ้นด้วย
“สำหรับมาตรการจูงใจ อาจจะใช้ในแง่ของการให้รางวัล หรือลงโทษก็ได้ การจูงใจ คือเปิดโอกาสให้ได้เลือก เช่น หากปล่อยน้ำเสีย จะต้องจ่ายค่าปล่อยน้ำเสีย 10 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ก็ส่งผลให้เอกชนมีการคิดคำนวณต้นทุนว่า หากซื้อเครื่องบำบัดน้ำเสีย อาจจะถูกกว่าการปล่อยน้ำเสีย เป็นต้น แต่ปัจจุบันคือ มีมาตการห้าม มีความหมายว่าห้ามปล่อย คือไม่มีสิทธิ์เลือกได้เลย ส่วนในแง่ของให้รางวัล เช่น ถ้าทำดี ก็ควรมีการให้เงินอุดหนุนเพิ่ม เป็นต้น” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
นอกจากนี้ ปัญหาของการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมไทย คือ ภาครัฐไม่มีการประกาศแนวทางหรือทิศทาง (Roadmap) ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายในเดือนเดียวหรือปีเดียว ความต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ถ้าไม่มีแผนที่ชัดเจน เอกชนจะไม่มีแรงจูงใจที่ชัดเจนในการปฏิบัติติตาม หรือปฏิบัติก็จะปฏิบัติติตามแค่ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่จะไม่พยามยามทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม การกำหนดแผนในอนาคตที่ชัดเจน เปรียบเสมือนการส่งสัญญาณอีกด้วย เพราะจะแสดงให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้กำหนดนโยบาย
“ถ้าเราบอกแผนในอานาคต ว่าจะปรับมาตรฐานที่เข้มข้นขึ้นอีก บอกเพื่อส่งสัญญารให้เอกชนเตรียมปรับตัว ไม่ใช่เจอปัญหาที่ประชาชนแตกตื่น ภาครัฐค่อยตื่นตัวเข้ามาแก้ปัญหาและเร่งรีบให้เสร็จ ซซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สะสมมานาน จึงต้องแก้ไขในระยะยาวอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.วิษณุ กล่าว
รศ.ดร.วิษณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า หัวใจสำคัญของการแก้ไขสิ่งแวดล้อม คือ การกำหนดเป้าหมายศูนย์กลางและได้รับประโยชน์สูงสุด หากรัฐบาลพุ่งเป้าไปที่ประชาชน เพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้น ทุกอย่างจะจบ แต่สิ่งที่สังเกตเห็นในปัจจุบัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจเป็นส่วนใหญ่มากกว่า นโยบายและเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาจึงมุ่งเน้นไปทางเศรษฐกิจมากกว่าคุณภาพชีวิตประชาชน
ทั้งหมดนี้ คือสถานการณ์สิ่งแวดล้อมและแนวทางการรับมือของรัฐบาล จะต้องติดตามต่อไปว่าภาครัฐจะมีการปรับแก้หรือบูรณาการนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันอย่างไร ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือการตระหนักและการลงมือทำให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด รวมไปถึงรู้ต้นเหตุของปัญหาเพื่อป้องกันล่วงหน้า ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม