"...คณะกรรมการคำนวณราคากลางได้สืบราคาจากบริษัทเพียงรายเดียวซึ่งเป็นเอเจนซี่โฆษณา มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือในการสืบราคาจากบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ได้รับสัมปทาน ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุมีราคาที่ไม่เหมาะสม ไม่เกิดความคุ้มค่าตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 (1) ทำให้การจัดจ้างได้รับพัสดุในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น จนก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นเงิน 7.64 ล้านบาท..."
การจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการยุติทีวีอนาล็อค ผ่านสื่อมัลติมีเดียบนรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (รถไฟฟ้า BTS) และบริเวณพื้นที่สถานีบริการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง วงเงิน 9.90 ล้านบาท ของหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่ง
ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการคำนวณราคากลางไม่เป็นไปตามกฎหมายและประกาศ ทำให้ราคาว่าจ้างงานสูงเกินจริง พร้อมสั่งการให้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องและให้มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 7.64 ล้านบาท
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการดำเนินการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างงานจ้างประชาสัมพันธ์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการยุติทีวีอนาล็อค ผ่านสื่อมัลติมีเดียบนรถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา (รถไฟฟ้า BTS) และบริเวณพื้นที่สถานีบริการ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ตามสัญญาจ้างเป็นเงิน 9.90 ล้านบาท ของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง
สตง. ตรวจสอบพบข้อบกพร่องที่สำคัญ คือ คณะกรรมการคำนวณราคากลางปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายและประกาศ
โดยคณะกรรมการคำนวณราคากลางได้สืบราคาจากบริษัทเพียงรายเดียวซึ่งเป็นเอเจนซี่โฆษณา มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือในการสืบราคาจากบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ได้รับสัมปทาน ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุมีราคาที่ไม่เหมาะสม ไม่เกิดความคุ้มค่าตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 (1) ทำให้การจัดจ้างได้รับพัสดุในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น จนก่อให้เกิดความเสียหาย เป็นเงิน 7.64 ล้านบาท
ขณะที่หน่วยงานของรัฐแห่งนี้ ชี้แจงว่า การจ้างประชาสัมพันธ์บนรถไฟฟ้า BTS ยังไม่ได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณราคากลาง และกรมบัญชีกลางยังไม่ได้จัดทำราคาอ้างอิงของพัสดุที่จะดำเนินการจัดจ้าง อีกทั้งสำนักงบประมาณหรือหน่วยงานกลางอื่น ๆ ก็ไม่ได้กำหนดราคามาตรฐานที่จะจัดจ้างลักษณะนี้
คณะกรรมการคำนวณราคากลาง จึงได้ดำเนินการกำหนดราคากลางโดยถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (4) โดยใช้ราคาที่ได้จากการสืบราคาจากท้องตลาด
ด้าน สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะกรรมการกำหนดราคากลางมีหน้าที่ระบุแหล่งที่มาหรือวิธีการคำนวณราคาที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยต้องพิจารณาจากคุณสมบัติของผู้เสนอราคาเป็นสำคัญ และเมื่อขอบเขตการดำเนินงาน (TOR) ข้อ 3.1 กำหนดว่า "ผู้เสนอราคาต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างในครั้งนี้"
ดังนั้น คณะกรรมการคำนวณราคากลางจึงมีหน้าที่ต้องสืบราคาจากเจ้าของหรือผู้ได้รับสัมปทานเป็นลำดับแรก การสืบราคาบริษัทเพียงรายเดียว โดยไม่ได้มีหลักฐานเป็นหนังสือในการสืบราคาจากบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ได้รับสัมปทาน ส่งผลให้การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุมีราคาที่ไม่เหมาะสม ไม่เกิดความคุ้มค่าตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 8 (1) ที่บัญญัติว่า "มาตรา 8 การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐและต้องสอดคล้องกับหลักการ ดังต่อไปนี้
(1) คุ้มค่าโดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐ มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน"
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะขอให้ดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการคำนวณราคากลาง ผู้ผ่านความเห็น และผู้อนุมัติราคากลางการจ้างประชาสัมพันธ์บนรถไฟฟ้า BTS โดยวิธีเฉพาะเจาะจง กรณีที่คณะกรรมการคำนวณราคากลาง คำนวณราคากลางสูงกว่าที่ควรจะเป็น จนเป็นเหตุให้ได้รับความเสียหายจากการจัดจ้างพัสดุในราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น จำนวนเงิน 7.64 ล้านบาท ขอให้ดำเนินการเพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหาย ด้วย
อย่างไรก็ดี ในการเผยแพร่ข้อมูลรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าว สตง. มิได้เปิดเผยรายชื่อหน่วยงานราชการที่ถูกตรวจสอบโครงการฯ นี้ เป็นทางการ
จึงทำให้ สำนักข่าวอิศรา ยังไม่สามารถติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้บริหารหน่วยงานของรัฐแห่งนี้ เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านได้
หากมีความคืบหน้าเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะรีบนำมาเสนอต่อไป